ดีกรีการแข่งขันของโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายจำเป็นต้องอ้าแขนรับพันธมิตรข้ามชาติ
ถึงแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ชื่อบริการโทรศัพท์มือถือ ของบริษัท Wirless
Communication Service หรือ WCS จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อ "ออเรนจ์" เป็นสัญลักษณ์หรือไม่
แต่การตัดสินใจเลือกบริษัทออเรนจ์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจากประเทศอังกฤษเข้ามาถือหุ้น
ในบริษัท WCS เป็นบทสะท้อนส่วนหนึ่งของธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเมืองไทยกำลังกลายเป็นสนามของผู้เล่น ที่เป็นบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติ
ความบอบช้ำจากวิกฤติเศรษฐกิจ และการเปิดเสรีโทรคมนาคมทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยทุกราย
ต้องเปิดรับพันธมิตรข้ามชาติเข้ามาถือหุ้น โดยหวังว่า เงินทุน ประสบการณ์
เทคโนโลยี และเครือข่ายของบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองในเกมการแข่งขัน ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ก่อนหน้าเอไอเอสจะให้สิงคโปร์เทเลคอมมาถือหุ้น 20% กลุ่มสามารถขายหุ้น 49%
ในบริษัทดีพีซีให้กับเทเลคอมมาเลเซีย แม้ว่าจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะทำให้บริษัทต้องขายหุ้นให้กับกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นในภายหลังก็ตาม
ภาพโฆษณาถึงเกมการแข่งขันฟุตบอล ที่พยายามส่งความหมายถึงความร่วมมือของบริษัทแทค
และบริษัทเทเลนอร์ จากเนเธอร์แลนด์ ก็มีขึ้นหลังจาก ที่แทคขายหุ้น 31% ให้กับบริษัทเทเลนอร์
เช่นเดียวกับการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี ขายหุ้น ที่ถือในบริษัทบิทโก้
จำนวน 34% ให้กับออเรนจ์ ส่งผลให้บิทโก้มีเงินทุนจดทะเบียน 18,000 ล้านบาท
ที่จะถูกนำมาใช้ในการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพราะตามเงื่อนไขของสัมปทาน ที่ทำไว้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) หน่วยงานต้นสังกัด WCS จะต้องมีเครือข่าย ที่สามารถรองรับการให้บริการ
1 แสนเลขหมาย ภายในเดือนกันยายน 2544 เป็นสาเหตุที่ทำให้การเจรจาระหว่าง
WCS และออเรนจ์ ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือน
ก่อนหน้านี้ ซีพี เข้าซื้อหุ้นจำนวน 97.5% ของ WCS เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ต่อมาได้จัดตั้งบริษัท บางกอกอินเทอร์ เทเลเทค หรือ บิทโก้ และซีพีขายหุ้นทั้งหมดของ
WCS ให้กับบิทโก้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง คอมปานี และทำธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์มือถือ
ส่วน WCS จะทำหน้าที่สร้างโครงข่าย และดำเนินธุรกิจด้านโทรศัพท์มือถือ 1800
เมกะเฮิรตซ์
เงินทุนก้อนแรก ที่ได้จากออเรนจ์ จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 20,000
ล้านบาท จะถูกใช้สำหรับการวางโครงข่าย เพื่อรองรับกับลูกค้า 100,000 ราย
เพื่อให้ทันกับข้อตกลง ที่ทำไว้กับกสท.
ถึงแม้ว่า กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์จะรอดพ้นจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้ของทีเอ
จะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่บริษัททั้งสองก็ไม่อยู่ในสภาพ ที่จะใช้เงินจำนวนมากในการลงทุนในกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท การพึ่งพาพันธมิตรข้ามชาติจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ออเรนจ์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2537 ปัจจุบันมีลูกค้า 7.2 ล้านคน ครองส่วนแบ่งตลาด
23.4 % ในตลาดมือถือของสหราชอาณาจักร เริ่มขยายการลงทุนในต่างประเทศ ในปี
2540 โดยลงทุนร่วมกับกลุ่มให้บริการระบบจีเอสเอ็ม 1800 รายใหม่ในออสเตรีย
เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ และอนุญาตให้ใช้ตราผลิตภัณฑ์ "ออเรนจ์"แก่ผู้ประกอบการในออสเตรเลีย
ฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล การที่ฟรานซ์เทเลคอมเข้าซื้อกิจการของออเรนจ์
ส่งผลให้ออเรนจ์ มีเครือข่ายการลงทุนใน 29 ประเทศ
ทุกวันนี้การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือในไทย ไม่ได้มีเพียงแค่ ค่ายเอไอเอส และแทค ที่ครองส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือแบบผูกขาด
แต่ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง ดิจิตอลโฟน ของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ที่ได้วางตัวไว้สำหรับเป็น
fighting brand ที่พร้อมจะงัดกลยุทธ์ราคามาใช้ได้ทุกเมื่อ และยังรวมไปถึง
เอซีทีโมบาย ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง องค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย
และวิทยุการบิน ที่จะเปิดให้บริการในปีหน้าเช่นกัน ถึงแม้กลุ่มนี้จะไม่มีพันธมิตรข้ามชาติ
แต่มีแนวโน้ม ที่จะเปิดรับให้กลุ่มเอกชนเข้ามาสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ราคาเครื่องลูกข่าย ที่ลดระดับลงมาเหลือ 3,000 กว่าบาท และค่าบริการรายเดือน
300 บาท ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เป็นบทสะท้อนถึงดีกรีของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
"จุดเด่นของออเรนจ์ คือ เรื่องของการตลาดของโทรศัพท์มือถือ จะมาเสริมให้กับ
WCS ได้ดีในเรื่องเหล่านี้" ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส
เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการ บริษัท WCS และกรรมการบริษัท bitco กล่าวเสริมถึงการเปิดทางให้ออเรนจ์เข้ามาถือหุ้น
สำหรับออเรนจ์แล้ว ถึงแม้ว่าการลงทุนใน WCS จะต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และมีคู่แข่ง ที่ครองตลาดอยู่ก่อนหน้านี้
แต่ด้วยนโยบายการให้บริการราคาถูก และคุณภาพของเครือข่าย และประสบการณ์ ที่มีอยู่เป็นสิ่งที่
เดวิท ฮอลลิเดย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท ออเรนจ์ จำกัด
เชื่อว่า WCS จะหาลูกค้าได้ไม่ยาก
"ถ้าบริการบกพร่อง ออเรนจ์ยินดีคืนเงิน" เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ออเรนจ์ทำสำเร็จมาแล้ว
และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารกลุ่มซีพี เชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้ของออเรนจ์จะสร้างความสำเร็จให้กับ
WCSได้เช่นกัน เป้าหมายของ WCS คือ การมีลูกค้าอย่างน้อย 1 แสนรายในปีหน้า
เป็นไปได้มากว่า กลยุทธ์การตลาดที่มีความเชื่อมาตลอดว่า จะต้องอยู่ในมือของคนท้องถิ่นถึงจะรู้ดีที่สุด
แต่อาจไม่ใช่เรื่องถูกต้องเสมอไป เมื่อทั้งเงินทุน และเทคโนโลยี ที่ต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติแล้ว
การตลาดกำลังจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก็คงต้องอาศัยประสบการณ์ของบริษัทข้ามชาติเช่นกัน
เพราะนี่คือ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด สำหรับการแข่งขัน