ช่อง 7 สี เกือบจะเป็นผู้ยึดครองตลาดช่วงเวลาไพร์มไทม์ การเปลี่ยนแปลงในเชิงแข่งขันเป็นไปในรูปแบบเดิม
ๆ มาช้านาน และสั่นสะเทือนช่อง 7 สีเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จนในที่สุดช่อง
5 และช่อง 3 เป็นผู้จุดประทุสงครามหน้าใหม่ รื้อการจัดผังรายการใหม่หมด ปรับเปลี่ยนเวลา
คือกลยุทธ์ของผู้ท้าทาย เป้าหมายคือช่วงชิงเวลาทองจากช่อง 7 สีให้ได้
ไพร์มไทม์ (PRIME TIME) ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 18.30-22.00 น. กำลังกลายเป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่หลายฝ่ายต่างกระโจนเข้ามา
เพราะเป็นช่วงเวลาที่เปรียบเสมือนหัวใจทำรายได้ให้กับธุรกิจฟรีทีวีที่ปัจจุบันมีมูลค่าถึงกว่า
2 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีเรตติ้งผู้ชมสูงสุดและโฆษณาเข้ามากที่สุด
ล่าสุดในปีนี้ดูเหมือนเกมการปะทุศึกไพร์มไทม์จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่าตัว
เมื่อช่อง 5 ในยุคของ พล.ท. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ได้เข้ามาเดินเกมท้าชนด้วยการตัดสินใจปรับเปลี่ยนผังรายการใหม่ในช่วงไพร์มไทม์
เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา และสิ้นเดือนมีนาคม ช่อง 3 ก็ลุกขึ้นปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ใหม่เช่นกัน
ช่อง 5 เปิดศึกไพร์มไทม์
การต่อสู้แย่งชิงผู้ชมในยุทธภูมินี้ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้น
แต่เป็นศึกที่ยาวนาน โดยมีสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 หรือวิกหมอชิตเป็นผู้ครองพื้นที่ในช่วงเวลา
18.30 - 20.30 น. โดยนำรายการข่าวมาเป็นจุดขายเป็นรายแรกและมีส่วนจุดพลุให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องปรับผังรายการข่าวเข้ามาใกล้เคียงกัน
แต่ด้วยความเด่นในด้านเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมในวงกว้างกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาของช่อง
7 เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้เค้กชิ้นนี้ไปโดยปริยาย
ขณะที่ช่อง 3 ในช่วงที่ผ่านมาก็มีฐานที่เหนียวแน่นในส่วนของละครและภาพยนตร์จีน
ซึ่งไม่ได้ให้น้ำหนักกับรายการข่าวเท่าไหร่นัก
ด้านช่อง 9 อ.ส.ม.ท. หลังจากแสงชัย สุนทรวัฒน์เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการก็ปรับภาพลักษณ์ของสถานีฯ
ช่อง 9 ใหม่โดยเน้นเสนอรายการที่เป็นอาหารสมองด้านความรู้และข่าวสารเป็นหลักเจาะกลุ่มผู้ชมเฉพาะ
ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาเกมการแข่งขันจึงกลายเป็นความพยายามของช่อง 5 ที่จะต้องพยายามหาจุดขายเพื่อสร้างเป็นจุดแข็งดึงเรตติ้งในช่วงไพร์มไทม์ขึ้นมา
เกมการช่วงชิงผู้ชมของช่อง 5 จึงเริ่มขึ้นเมื่อ พล.ท. แป้งเข้ามารับหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ให้กับวิกสนามเป้าได้เพียง
7 เดือนเศษ การตัดสินใจปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ใหม่ ได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการดึงเรตติ้ง
ด้วยการนำรายการละครมาแทนที่ในช่วงเวลา 18.45 น. และเลื่อนการนำเสนอรายการข่าวไปอยู่ที่เวลา
20.00 น. เป้าหมายก็เพื่อดึงผู้ชมรายการข่าวในเวลา 18.30 น.ของสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นให้มาดูละครที่ช่อง
5
"หลังจากเราปรับผังรายการตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม มาจนถึงวันนี้ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าเราตัดสินใจถูก
ซึ่งเราไม่มีเจตนาที่จะไปแข่งขันกับใครเพียงแต่อยากให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกดูรายการโดยไม่ถูกบังคับกับรูปแบบเดิม
ๆ" พล.ท.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีกองทัพบกช่อง 5 กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ด้วยน้ำเสียงภูมิใจ
"ช่อง 5 ฉลาดเป็นการเดินเกมที่ถูกต้อง เพราะหากเดินเกมตามช่อง 3 และช่อง
7 ซึ่งดำเนินโดยเอกชนที่มีความคล่องตัวและมีจุดแข็งในเรื่องละครและข่าวจะไม่สามารถชนกับสถานีฯ
2 ช่องนี้ได้ การหลบหลีกเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีที่ดีทำให้เรตติ้งของช่อง
5 เพิ่มขึ้นในฐานะ MEDIA PLANNER เราก็ต้องมองที่คุณภาพของรายการเป็นหลักว่าตรงกับเป้าหมายของสินค้าที่จะโฆษณาหรือไม่"
สุพาณี เดชาบูรณานนท์ MEDIA PLANNING DIRECTOR บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์
(ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ความสำเร็จของช่อง 5 ในการปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ ทำให้เรตติ้งเริ่มขยับสูงขึ้น
ทำให้ช่อง 3 ซึ่งทิ้งช่วงเพียงไม่ถึงเดือนได้ตัดสินใจเปิดเกมรุกปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ใหม่และทำให้ยุทธภูมินี้ยิ่งดูเข้มขึ้นอีกระดับ
การปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ของช่อง 3 เป็นการขยายไพร์มไทม์ให้มากขึ้นด้วยการนำเสนอรายการข่าวเป็น
2 ช่วงจากเดิมจะเสนอเพียงข่าวภาคค่ำเวลา 18.45 - 20.25 น. มาเป็นการเพิ่มรายการข่าวภาคแรกในช่วงเวลา
18.45 - 19.15 น. ต่อด้วยรายการภาพยนตร์จีน และเวลา 19.15 - 19.45 น. ตามด้วยรายการละคร
เวลา 20.00 น. จึงจะเข้ารายการข่าวภาคค่ำ
ประวิทย์ มาลีนนท์ รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 อ.ส.ม.ท.
กล่าวถึงเหตุผลในการปรับปรุงผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ว่า เนื่องจากปัจจุบันทุกช่องมีการเปลี่ยนแปลงเวลาในการเสนอรายการข่าวเร็วขึ้น
การปรับผังรายการครั้งนี้จึงเป็นการหลีกหนีการแข่งขันโดยหวังผลคือจะได้ผู้ชมรอบนอกกรุงเทพฯ
มากขึ้นและคาดหวังว่ารายการในช่วงหลังข่าวภาคแรกจะมีผู้ชมเท่ากับรายการละครหลังข่าวภาคค่ำ
เรตติ้ง พลิกจริงหรือ?
ผลการสำรวจเรตติ้งผู้ชมในช่วงเวลา 18.00 - 22.00 น. ของบริษัทดีมาร์ จำกัด
ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 26 พฤษภาคม ไปยังกลุ่มคนดูที่อายุ 6 ปีขึ้นไป
ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับเรตติ้งในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างวันที่
12 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม ที่ได้มีการเก็บสถิติไว้ ก่อนมีการปรับผังรายการของช่อง
3 และช่อง 5 (ดูตารางประกอบ) พบว่าในช่วงเวลา 18.45 - 20.00 น. เรตติ้งของผู้ชมช่อง
5 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ช่อง 3 ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีจำนวนเรตติ้งที่ขยับสูงขึ้น
ซึ่งผลจากการสำรวจของดีมาร์เปรียบเทียบก่อนปรับผังรายการและหลังปรับผังรายการของช่อง
3 และช่อง 5 ในครั้งนี้ ทำให้ในช่วงเวลาระหว่าง 19.00 น. - 20.00 น. แชมป์เก่าอย่างช่อง7
สีถูกแซงขึ้นมาโดยช่อง 5 และช่อง 3
ขณะที่ช่อง 5 เองแม้จะประสบความสำเร็จในการปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์
โดยสามารถนำละครมาเป็นจุดขายได้สำเร็จ แต่หากพิจารณาจากผลการสำรวจของดีมาร์แล้วจะพบว่า
หลังช่วงเวลา 18.45 - 20.00 น. จำนวนเรตติ้งผู้ชมของช่อง 5 กลับลดลงกว่าก่อนปรับผังรายการ
"ตรงนี้ไม่เป็นความจริง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแฮปปี้กันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นเอเยนซี่
บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงเวลาโฆษณาในรายการข่าวไปขายก็แฮปปี้
" พล.ท. แป้งกล่าวยืนยันถึงจำนวนเรตติ้งของช่อง 5 ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเฉพาะช่วงเวลา
18.45 - 20.00 น. เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงรายการข่าวด้วยซึ่งเป็นตัวเลขที่สวนทางกับผลสำรวจของดีมาร์ที่สรุปออกมา
โดย พล.ท. แป้งชี้แจงว่า ตัวเลขเรตติ้งในช่วงรายการข่าวภาคค่ำ 20.00 น.ที่ดีมาร์ทำการสำรวจนั้นเป็นการสุ่มตัวอย่างจากคนในพื้นที่เฉพาะกรุงเทพฯ
และปริมณฑล แต่กลุ่มผู้คนของช่อง 5 ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนในต่างจังหวัด ทางผู้บริหารช่อง
5 จึงได้มีการว่าจ้างให้สถาบันราชภัฏสำรวจครอบคลุมกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย 7 จุดทั่วประเทศ
ซึ่งขณะนี้ผลการสำรวจใกล้ที่จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว
"ผลสำรวจบอกเราว่า ในช่วงเวลา 18.30 - 21.00 น. กลุ่มผู้ชมมาอยู่ที่ช่อง
5 ถึง 40% ซึ่งเป็นตัวเลขเรตติ้งที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่าตัว" ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง
5 กล่าวยืนยัน
อย่างไรก็ตามสำหรับแผนงานขั้นต่อไปของช่อง 5 หลังจากเดินเกมปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์แล้ว
พล.ท.แป้ง กล่าวว่าขณะนี้ทางช่อง 5 มีเป้าหมายที่จะตรึงผู้ชมไว้ที่ช่อง 5
โดยเน้นไปที่การให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านรายการข่าว ซึ่งในขณะนี้นอกจากการปรับปรุงด้านฉาก
ผู้ประกาศ และการเสนอข่าวรูปแบบใหม่ เน้นเจาะประเด็นลึก ตลอดจนการเพิ่มการเสนอข่าวสั้นภาคดึกแล้ว
กล่าวกันว่า ขณะนี้ช่อง 5 มีแผนที่จะปรับโฉมรายการข่าวครั้งใหญ่ซึ่งคาดว่าในระยะอีก
3-4 เดือนที่จะถึงนี้จะเห็นการปรับเปลี่ยนที่ชัดเจน
"เรามีแผนจะทำอะไรอีกหลายอย่าง แต่จากการที่เราเป็นหน่วยงานภาครัฐ
การปรับเปลี่ยนจึงต้องค่อยเป็นค่อยไปจะเปลี่ยนจากดำเป็นขาวเลยคงไม่ได้เพราะติดในเรื่องงบประมาณ
เรามีแผนที่จะยืดเวลาไพร์มไทม์ออกไปอีก คาดว่าเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ช่อง
5 จะมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ส่วนจะออกมาในรูปแบบไหน เราต้องขอเก็บเป็นความลับไว้ก่อน"
ช่อง 3 มาเหนือชั้น
หากจะพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นได้ว่าศึกการชิงเค้กก้อนใหญ่ในช่วงไพร์มไทม์ในครั้งนี้
ผู้บริหารช่อง 3 มีการแก้เกมที่เหนือชั้น เพราะเท่ากับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง
2 ตัว กล่าวคือ ช่อง 3 สามารถทำลายจุดเด่นของช่อง 7 ได้ด้วยการตัดหน้านำรายการข่าวมาเสนอก่อน
คือเวลา 18.00 น.
ขณะเดียวกันก็ยังตีกันช่อง 5 ด้วยการนำรายการภาพยนตร์จีนและละครซึ่งเป็นจุดแข็งมาชนกับช่อง
5 ในช่วงเวลา 18.45 - 20.00 น. และล่าสุดได้มีการนำภาพยนตร์จีนเรื่องเปาบุ้นจิ้นมาเสนอในช่วงหลังข่าวภาคค่ำทุกวัน
ตามด้วยละครซึ่งเป็นจดแข็งที่กล่าวกันว่าล่าสุดเรตติ้งชนะละครของช่อง 7 ไปแล้ว
"การปรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ของช่อง 5 และช่อง 3 ผมมองว่าช่อง
3 ได้เปรียบที่สุด เป็นการเดินเกมที่มาเหนือเมฆ เป็นการนำข้อดีของช่อง 5
และข้อพลาดของช่อง 7 มารวมกันแล้ววางกลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบให้กับช่อง
3 ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล" แหล่งข่าวในวงการผลิตรายการทีวีกล่าวให้ความเห็น
ขณะที่เกมการแย่งชิงพื้นที่ในช่วงไพร์มไทม์กำลังเริ่มเปิดฉาก หลายฝ่ายเริ่มจับตากระแสการแข่งขันในยุทธภูมิไพร์มไทม์
ซึ่งในวันนี้แม้ช่อง 7 จะเริ่มเสียเรตติ้งให้กับคู่แข่งแต่ดูเหมือน สุรางค์
เปรมปรีดิ์ หรือคุณแดงซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าแม่ช่อง 7 ยังคงใช้การนิ่งเงียบสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์
และยังไม่มีทีท่าว่าจะออกมาเคลื่อนไหวตั้งรับแต่อย่างใด
"ผมไม่คิดว่าช่อง 7 จะเสียเปรียบ แม้ช่วงหลังเรตติ้งตกแต่โฆษณาไม่เคยลดลงผมว่าจุดแข็งของช่อง
7 ยังไม่ถูกบั่นทอนแต่กำลังถูกท้าทายมากกว่า" แหล่งข่าวระดับสูงในวงการทีวีกล่าวให้ความเห็น
"ช่อง 7 ในฐานะลีดเดอร์ เราคงต้องรอดูสถานการณ์ และไม่จำเป็นต้องเล่นเกมตาม
เพียงแต่ต้องประเมินดูถ้ารับได้ก็ไม่จำเป็นต้องปรับอะไร" แหล่งข่าวระดับสูงในช่อง
7 กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ช่อง 7 ในฐานะแชมป์ไพร์มไทม์ที่กำลังถูกท้าทายจะยังคงนิ่งเงียบ
แต่ว่ากันว่าขณะนี้ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
โดยภายในช่อง 7 ได้มีการเร่งเสริมสร้างประสิทธิภาพภายในไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงด้านรายการข่าวหรือแม้แต่รายการกีฬาที่ล่าสุดผู้บริหารช่อง
7 ยอมตัดรายการประจำในช่วงไพร์มไทม์ เพื่อนำเวลามาถ่ายทอดสดฟุตบอลศึกยูโร'
96 นับเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านรายการกีฬา ซึ่งตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทำให้เรตติ้งผู้ชมในช่วงถ่ายทอดสดพุ่งสูงขึ้นโดยปริยาย
ช่อง 3 - ช่อง 7 คู่ชกที่แท้จริง
ขณะเดียวกันช่อง 7 ก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านรายการละครใหม่จากระบบไร้สต็อคอันเป็นจุดอ่อนของช่อง
7 มาเป็นระบบสต็อค ซึ่งมอบหมายให้ดาราวิดีโอสร้างทีเดียว 3 เรื่องคือ เรื่องดั่งดวงหฤทัยซึ่งยกกองไปถ่ายทำถึงเนปาล
ต่อมาคือเรื่อง 111 และสุดท้ายคือเรื่องด้วยแรงอธิษฐาน
"อาจจะเป็นเพราะระยะหลัง เรตติ้งด้านรายการละครของช่อง 7 ลดลง ขณะที่เรตติ้งด้านรายการละครของช่อง
3 สูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาระบบการจัดการด้านละครช่อง 3 จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าช่อง
7 มีผู้จัดในสังกัดหลายคน ขณะที่ช่อง 7 ยังไม่มีระบบสต็อคละคร ตรงจุดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณแดงปรับนโยบายมาเป็นระบบสต็อคเพื่อลบจุดอ่อนของตัวเอง"
แหล่งข่าวในวงการผลิตรายการให้ความเห็น
การเคลื่อนไหวในเชิงรุก โดยใช้ช่วงเวลาไพร์มไทม์เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อได้ว่าจะเป็นการดิ้นรนของทีวีแต่ละช่องที่จะมีให้เห็นไปจนถึงสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
หากมองในแง่ธุรกิจแล้ว จะเห็นได้ว่าแม้ช่อง 5 จะเป็นผู้เปิดเกมแต่จุดอ่อนของช่อง
5 ก็คือการเป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งความคล่องตัวในการขยายงานจะสู้เอกชนไม่ได้
โดยเฉพาะเมื่อต้องมาแข่งขันในเกมที่ต้องแข่งขันกันระยะยาว ที่ต้องอาศัยสายป่านด้านเงินทุนและแผนงานที่ต่อเนื่อง
ขณะนี้ผู้บริหารของช่อง 5 มีเทอมของการบริหารงาน
"ช่อง 5 ไม่ได้รับผลประโยชน์จากเรตติ้งที่เพิ่มขึ้นในช่วงไพร์มไทม์
เนื่องจากเป็นการให้เช่าเวลาในช่วงรายการละคร ขณะที่รายการข่าวก็ให้บริษัทเอกชนรับเหมาเวลาโฆษณาไปขาย
ตรงนี้จะทำให้ช่อง 5 ไม่สามารถเล่นเกมระยะยาวได้เพราะผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้จัดละคร
และบริษัทที่ขายโฆษณา" แหล่งข่าวในวงการทีวีกล่าว
ขณะที่ช่อง 7 และช่อง 3 บริหารงานโดยเอกชน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไพร์มไทม์เปรียบเสมือนอู่ข่าวอู่น้ำที่สถานีฯ
ทั้ง 2 แห่งเป็นผู้บริหารช่วงเวลาเองทั้งการผลิตและขายโฆษณา ผู้สันทัดกรณีหลายท่านเชื่อมั่นว่าในระยะยาวแล้วคู่ชกที่แท้จริงในศึกไพร์มไทม์น่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างช่อง
7 กับช่อง 3
โดยเฉพาะการจัดทัพครั้งใหม่ของตระกูล "มาลีนนท์" ที่ผลักดันบริษัท
บี อี ซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของช่อง 3 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นน่าจะมีความหมายต่อการรุกสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจทีวี
ซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) คิดเป็นสัดส่วนถึง
93% ของรายได้รวมของบริษัท
การนำบีอีซีฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้บริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเมนต์
จำกัดหรือช่อง 3 ซึ่งเป็น 1 ใน 14 บริษัทในเครือของบีอีซีฯ พลิกภาพจากการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัวสู่ความเป็นมืออาชีพ
ที่จะต้องมีการกำหนดทิศทางและแผนงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
โดยมีแหล่งเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นจุดเสริมสร้างความแข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันการก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนจะทำให้ช่อง 3 เปิดโอกาสให้มืออาชีพเข้ามาร่วมงานมากขึ้นซึ่งอาจจะทำให้เกิดแนวคิดหรือการพัฒนารูปแบบใหม่
ๆ เข้ามาเสริมนอกเหนือจาก 3 กุนซือใหญ่ในตระกูลมาลีนนท์คือ "ประสาร-ประวิทย์-ประชา"
"ปีนี้เราน่าจะได้เห็นการปรับปรุงในลักษณะการจัดทัพของช่อง 3 ซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มมุมมองใหม่
ๆ มิติใหม่ ๆ เข้ามาเป็นสีสันให้เกมการแข่งขันเข้มข้นขึ้น" ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็น
การขยายช่วงไพร์มไทม์ น่าจะเป็นอีกกลยุทธ์ที่สถานีโทรทัศน์นำมาใช้เพื่อขยายรายได้
โดยแนวโน้มในการขยายช่วงไพร์มไทม์เริ่มมีมาอย่างต่อเนื่องจากเดิมไพร์มไทม์จะเริ่มที่เวลา
20.00 - 22.00 น. แต่ปัจจุบันช่วงไพร์มไทม์เริ่มขยายเวลามาเป็น 18.00 - 22.00
น. โดยหลังเวลา 22.00 น. จะเรียกว่าเลท ไพร์มไทม์ (LATE PRIMETIME) ซึ่งเวลาตรงนี้อาจกลายเป็นเวลายุทธศาสตร์ในอนาคตก็เป็นได้
"อนาคตอันใกล้นี้ เราเชื่อว่าความหมายของไพร์มไทม์ในแต่ละช่องจะไม่เหมือนกัน
คือจะขยายช่วงไพร์มไทม์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ต้องดูว่าช่องไหนจะสามารถหารูปแบบรายการมาเสนอได้ตรงกับความต้องการของผู้ชมได้มากที่สุด"
มีเดีย แพลนเนอร์ ของบริษัทโฆษณารายหนึ่ง กล่าวให้ความเห็น
ศึกไพร์มไทม์ในวันนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีใครชนะเด็ดขาด
ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันว่า ระหว่างผู้ที่ท้าชนคือช่อง 5 และช่อง
3 กับผู้ที่ถูกท้าทายคือช่อง 7 จะพลิกเกมสู้กันรูปแบบไหน และท้ายสุดใครจะได้เค้กชิ้นใหญ่นี้ไปครอง
เพราะทุกฝ่ายเชื่อว่าเกมนี้ยังไม่จบง่ายๆ