Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์24 เมษายน 2549
ต้นทุนชีวิตพุ่งไม่หยุด อำนาจซื้อหดเตือนภัยรีดภาษีฝืด-NPLแบงก์เพิ่ม             
 


   
search resources

Economics




น้ำมัน-ไฟฟ้า-ดอกเบี้ยกู้-น้ำหวาน-ค่ารถเมล์ พร้อมใจขึ้นราคา ทำค่าครองชีพสูงลิ่ว บั่นทอนกำลังซื้อ ทางออกดีที่สุดคือจ่ายเท่าที่จำเป็น สุดท้ายหากสถานการณ์ยืดเยื้อกระทบจัดเก็บภาษีแน่นอน ท้ายสุดความสามารถชำระหนี้ลด NPL หวนคืน

หลังจากเทศกาลสงกรานต์คนไทยทั้งประเทศก็ต้องกลับมาเผชิญกับความจริงของชีวิต แถมด้วยการดาหน้าขึ้นของราคาสินค้า เริ่มจากการค่าโดยสารรถขนส่งมวลชนกรุงเทพที่ปรับเพิ่ม 1 บาท โดยรถร้อนหรือรถธรรมดาปรับจาก 6 บาทเป็น 7 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะทางละ 1 บาท รถครีมน้ำเงินจากระยะเริ่มต้น 10 บาทปรับเป็น 11 บาท ราคา 18 บาทปรับเป็น 19 บาท มีผลตั้งแต่ 17 เมษายนที่ผ่านมา

ตามมาด้วยกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้น้ำอัดลงปรับเพิ่มได้อีกขวดละ 1 บาทในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำตาลทรายเพิ่มอีก 3 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อ 7 มีนาคม 2549 โดยน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิจาก 14.25 บาทเป็น 17.50 บาท ซึ่งขณะนี้ราคาขายทั่วไปอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัมยังหาซื้อได้ค่อนข้างยาก

กรณีของน้ำอัดลมที่ได้รับอนุญาตให้ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 บาทต่อขวดนั้น อีกไม่ช้าย่อมจะลามไปถึงน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มอื่นที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แม้ว่าน้ำอัดลมจะไม่ใช่สินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่นิยมบริโภคเครื่องดื่มประเภทนี้

แถมด้วยราคาสุกรหน้าฟาร์มปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อราคาขายปลีกเนื้อสุกรที่ 95-100 บาท คาดว่าจะมีผลในวันที่ 21 เมษายนเป็นต้นไป สิ่งที่จะตามมาหลังราคาเนื้อสุกรได้อนุญาตให้ปรับเพิ่ม 1 บาทที่ราคาหน้าฟาร์มนั้น กว่าจะตกมาถึงมือผู้บริโภคจริง ราคาขายอาจจะต้องปรับเพิ่มอีก 4-5 บาท โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนคือราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนขนส่งสินค้า

ส่วนที่ปรับเพิ่มไปแล้วและส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือค่าไฟฟ้าที่มีการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(FT) เพิ่มขึ้นอีก 19.01 สตางค์ ส่งผลให้ค่า FT ขยับขึ้นเป็น 75.84 สตางค์ต่อหน่วย ใครที่ได้ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมคงตกใจกับค่าไฟที่แจ้งมาไม่น้อย หากบ้านพักอาศัยติดเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 200-300 บาท

น้ำมันสถิติใหม่

ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกทำสถิติใหม่ขยับขึ้นเหนือ 70 เหรียญต่อบาเรล สูงที่สุดในรอบ 23 ปี ส่งผลให้มีการปรับราคาน้ำมันในประเทศขึ้นอีกรอบเมื่อ 19 เมษายน 2549 น้ำมันเบนซิน 95 จะสูงกว่า 28.34 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล 26.69 บาทต่อลิตรใกล้เคียง 27 บาทต่อลิตรทุกขณะ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเรือโดยสารในกรุงเทพมหานครเตรียมขอปรับราคาขึ้นอีก 1 บาท

ทั้งนี้คงต้องรอท่าทีของรถร่วมบริการ ขสมก.ว่าจะขอปรับราคาเพิ่มอีกหรือไม่ ปัจจุบันค่าโดยสารรถธรรมดาอยู่ที่ 8 บาท ส่วนรถร่วมมินิบัสคิดค่าโดยสารอยู่ที่ 6.50 บาท ทั้งนี้คงต้องจับตารถตู้โดยสารที่วิ่งชานเมืองกับพื้นที่ชั้นในกรุงเทพว่าจะปรับเพิ่มอีกระยะละ 5 บาทหรือไม่

เฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานของคนกรุงเทพ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องพึ่งบริการรถเมล์โดยสารย่านชานเมือง ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัว ส่วนใหญ่มักจะใช้บริการกันอย่างน้อย 2 ต่อ ค่าเดินทางไปกลับเฉียด 100 บาท หรือรายที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ต้องแบกรับค่าน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยน้ำมันเบนซิน 95 ปรับขึ้นจากปลายปี 2548 คิดเป็น 7.3% เบนซิน 91 เพิ่มขึ้น 7.5% และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 12%

เงินเฟ้อเพิ่มวัดใจแบงก์ชาติ

เมื่อภาพรวมของราคาสินค้าและบริการที่ดาหน้าปรับเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนทุกชนชั้น เงินในกระเป๋าย่อมลดลงจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายมากขึ้นทั้งที่ปริมาณการใช้สินค้าและบริการคงเดิม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นกลุ่มชนชั้นกลางลงมาจนถึงรากหญ้า

นอกจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มว่าอาจจะปรับขึ้นไปถึง 75 เหรียญต่อบาเรล ยิ่งเป็นการบ่งบอกถึงแนวโน้มว่าราคาสินค้าและบริการมีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกตามต้นทุนน้ำมัน ที่ผ่านมากรมการค้าภายในพยายามตรึงราคาสินค้า ส่วนใหญ่มักทำได้แค่ยืดระยะเวลาออกไปเท่านั้น ท้ายที่สุดสินค้าหลายประเภทก็ต้องปรับราคาขึ้น

ยังมีปัจจัยที่กระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะทุกวันนี้ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งออกโปรโมชั่นดอกเบี้ยเงินฝากอัตราพิเศษ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากแบบปกติ แต่ในทางกลับกันดอกเบี้ยเงินกู้ก็ปรับตัวขึ้นตามมา

ผู้ที่มีภาระต้องชำระเงินกู้กับสถาบันการเงินที่อิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาระที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มได้ แม้ว่าบางกรณีอาจจะไม่ทำให้ต้องจ่ายเงินผ่อนชำระเพิ่มให้กับธนาคาร แต่ระยะเวลาการเป็นหนี้ก็จะยืดออกไปนานกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้ผ่อนบ้าน

เมื่อค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อตามไปด้วย โดยเงินเฟ้อเดือนมีนาคมสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 5.7% คาดว่าเดือนเมษายนตัวเลขน่าจะสูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมเนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าเดิม และสินค้าและบริการหลายตัวปรับราคาขึ้น

ปัญหาที่จะตามมาคือนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า จะควบคุมเงินเฟ้อด้วยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติจะใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวควบคุมเงินเฟ้อ หากดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินกว่า 8% ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

รูดบัตรน้อยลง

"ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า กำลังซื้อของคนในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องตามทิศทางของค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น นี่คือปัญหาใหญ่หากรัฐไม่สามารถควบคุมได้ จะลามไปทุกภาคส่วน ท้ายที่สุดจะวนกลับมาที่ภาครัฐอยู่ดี" นักการเงินรายหนึ่งประเมิน

สอดคล้องกับตัวเลขการใช้บัตรเครดิตล่าสุด เมื่อเปรียบเทียบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 มกราคม 2549 และกุมภาพันธ์ พบว่าแม้จำนวนบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้น 8.9 หมื่นบัตร แต่จำนวนยอดสินเชื่อคงค้างกลับลดลง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายรวมและยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลงทุกรายการ

ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่ากำลังซื้อของคนไทยลดลงไปไม่น้อยผ่านการใช้จ่ายบัตรเครดิต ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่ยอดการใช้จ่ายในเดือนมกราคมน่าจะไม่ลดลงเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ตัวเลขการใช้จ่ายกลับลดลงจากเดือนธันวาคม ทั้งที่จำนวนบัตรเพิ่มขึ้น

"ตัวเลขดังกล่าวหากตีความแล้วจะพบว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนหากวัดจากการใช้บัตรเครดิตแล้ว ถือว่าลดลงไปไม่น้อย แต่ยอดใช้จ่ายตามตัวเลขที่แสดงนั้นไม่ได้ลดลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นเพราะราคาสินค้าและบริการหลายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ใช้บัตรเครดิตเพื่อเติมน้ำมัน เติมเท่าเดิมแต่ต้องจ่ายมากกว่าเป็นต้น" ผู้บริหารบัตรเครดิตรายหนึ่งกล่าว

พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ลดลงถือเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ขณะนี้ประชาชนต้องช่วยตัวเองด้วยการรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และต้องไม่ลืมว่าผู้ที่จะมีบัตรเครดิตได้ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการวางแผนชีวิตที่ค่อนข้างรอบคอบ เชื่อว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มผู้มีบัตรเครดิตก็ต้องปรับตัวรับสถานการณ์ค่าครองชีพที่พุ่งไม่หยุดในขณะนี้เช่นกัน

เก็บภาษีได้น้อย-NPL พุ่ง

เมื่อกำลังซื้อหด อำนาจซื้อก็ลดลงตามไปด้วย ต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักที่สุดของรัฐบาลในการจัดเก็บคือภาษีมูลค่าเพิ่มที่แทรกอยู่ในทุกจุดของสินค้าและบริการ ถ้าประชาชนลดการบริโภคลง ลดการใช้บริการอื่น ๆ ลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจะจัดเก็บได้ก็น้อยตามไปด้วย

เช่นเดียวกันเมื่อมีผู้ซื้อน้อยลง สินค้าและบริการบางประเภทก็ต้องได้รับผลกระทบดังนั้นผู้ประกอบการบางรายอาจมีปัญหาเรื่องรายได้ไม่เข้าเป้า เมื่อรายรับของบริษัทน้อยภาษีก็เสียน้อยลง หากสถานการณ์เลวร้ายมากอาจจะกระทบต่อแผนการชำระหนี้กับสถาบันการเงินที่กู้ยืมมาได้

หากความสามารถในการซื้อของภาคประชาชนลดลงจนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ก็จะกลายเป็น 2 แรงบวกทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ ความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) แม้ว่าขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 10% แต่ถ้าปล่อยให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารที่จะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม กำไรของธนาคารก็จะลดลง ภาษีนำส่งก็ต้องลดลงตามไปด้วย

กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่าการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2550 จะจัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่ 1.476 ล้านล้านบาท แต่ผลกระทบจากค่าครองชีพที่พุ่งขึ้น หากปล่อยให้เกิดเป็นระยะเวลานาน สุดท้ายปัญหาก็จะตกอยู่กับรัฐบาล อาจจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาล

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 เมษายน 2549 ให้เลื่อนการเสนอเงื่อนไขการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ออกไปเพื่อรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ หลังจากเดิมกำหนดไว้ว่าจะให้นักลงทุนเสนอเงื่อนไขเข้าร่วมลงทุนในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นการสะท้อนถึงปัญหาเรื่องเงินที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ระดับหนึ่ง แม้จะมีข้ออ้างที่รอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจก็ตาม แต่เป็นการบ่งบอกถึงความไม่แน่นอนของโครงการนี้สูงขึ้นทุกขณะ คนที่ซื้อบ้านโดยคาดหวังจะพึ่งพาบริการของรถไฟฟ้าในอนาคตคงต้องทำใจที่จ่ายเงินซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่แพงกว่าปกติ

บาทแข็งมีได้มีเสีย

ขณะนี้ยังถือว่าโชคดีจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากระดับ 40 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 37.85 บาทต่อดอลลาร์(18 เม.ย.) และมีสิทธิที่จะแข็งค่าขึ้นอีก ช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันไปได้ไม่น้อย หากค่าเงินบาทอ่อนที่ระดับ 40 บาทเช่นเดิม แน่นอนว่าคนไทยจะต้องเติมน้ำมันแพงกว่าลิตรละ 28 บาทแน่ แถมยังช่วยให้ตัวเลขดุลการค้าน่าจะออกมาไม่ติดลบอีกด้วย

แต่ในภาคการส่งออก ค่าเงินบาทที่แข็งถือว่าไม่ใช่ผลดี เนื่องจากผู้ประกอบการจะขายสินค้ายากขึ้น เพราะค่าเงินบาทที่แข็งจะทำให้สินค้าจากประเทศไทยมีราคาแพงขึ้น และเมื่อแลกคืนเป็นเงินบาทก็จะได้เงินน้อยลง

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ล้วนส่งผลต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจ หากรัฐปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่มีมาตรการเข้ามาแก้ไขปัญหา ท้ายที่สุดผลกระทบนี้ก็จะย้อนกลับไปสู่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us