|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สงครามมือถือรอบนี้ ดูเหมือนจะดุเดือดกว่าทุกครั้งที่เคยผ่านมา เมื่อเบอร์หนึ่งในตลาดอย่างเอไอเอส ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากการแข่งขันในตลาด และจากปัจจัยอื่น ๆ (โดยเฉพาะการเมือง) จนไม่ยอมใช้กลยุทธ์ "ยืนอยู่บนภู ดูเสือกัดกัน"
ชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่าเอไอเอสได้รับผลกระทบจาก 4 ปัจจัยหลักคือ
1.สถานการณ์การเมืองที่อยู่ในภาวะอึมครึม
2.ภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง ทำให้เกิดการใช้จ่ายน้อยลง
3.ผลกระทบจากคู่แข่งขันที่เปิดเกมแข่งขันที่รุนแรง อย่างมีการแจกซิมการ์ดหน้าตึกเอไอเอส
และ 4.การบอยคอตสินค้าเอไอเอส
"ตอนผมเข้ามาใหม่ๆคู่แข่งบอกไม่ฉวยโอกาส ผมก็สบายใจ แต่ความจริงไม่ใช่ คุณบอกไม้ล้มอย่าข้าม แต่คุณเหยียบเราเลย เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างแล้ว" ชำนาญกล่าวด้วยนำเสียงขุ่นเคือง
เอไอเอสตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูหลายลูก เพื่อยุติสงครามราคาลูกแรกทิ้งไปปลายเดือนมี.ค.สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมี.ค. เอไอเอสได้โต้ตอบดีแทคอย่างเฉียบพลัน
เริ่มจากวันที่ 28 มี.ค. เอไอเอส ออกแคมเปญ "เอาไปเลย" หลังจากนั้น ดีแทคก็ประกาศว่าจะออกแคมเปญพิเศษ โทรชั่วโมงละ 2 บาท ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีอายุโปรโมชั่นหนึ่งเดือน เริ่มต้นตั้งแต่ 1 เม.ย.
เมื่อเอไอเอสทราบข่าวนี้ ก็รีบประชุม และโต้กลับโดยเสนอโปรโมชั่นอย่างเดียวกัน เริ่มต้นวันเดียวกันลงสู่ตลาดด้วย"เป็นการตอบโต้ของเอไอเอสภายใน 24 ชั่วโมง คือตัดสินใจกันเช้าวันศุกร์ที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาและโปรแกรมใหม่ชั่วโมงละ 2 บาทมีผลทันทีในวันเสาร์ที่ 1 เม.ย."
การตอบโต้ครั้งนี้ของเอไอเอส เรียกว่าเป็น "กลยุทธ์สายฟ้าแลบ"
เป็นปรากฏการณ์ที่เอไอเอสเชื่อว่าคู่แข่งคิดไม่ถึง เพราะค่าบริการดังกล่าว ถึงแม้จะสามารถใช้ได้แค่ 1 เดือนแต่เป็นค่าบริการที่ต่ำสุดในระบบของเอไอเอสแล้ว
ลูกที่สองถูกทิ้งซ้ำในต้นเดือนเม.ย. ทิ้งพร้อมกันทั้งสองสมรภูมิ (ในวันที่ 4 เม.ย.)
"จีเอสเอ็ม เรียล" สำหรับโพสต์เพด จะยกเลิกระบบเหมาจ่ายรายเดือน เป็นจ่ายตามจำนวนที่โทรจริง ในอัตราเดียว 24 ชั่วโมง นาทีแรก 3 บาท นาทีที่ 2 และ 3 คิดนาทีละ 1 บาท จากนั้นโทรฟรีจนวางสาย ซึ่งอัตราค่าโทรตามโปรโมชั่นนี้จะสิ้นสุดปลายปี
และ "คุยไปเลย" ในระบบพรีเพด ปรับลดค่าโทรนาทีแรกจาก 5 บาท เหลือ 3 บาท ส่วนนาทีที่ 2 และ 3 คิดนาทีละ 1 บาท หลังจากนั้นโทรฟรีจนกว่าจะวางสาย เช่นเดียวกับโปรโมชั่นของจีเอสเอ็ม เรียล แต่มีระยะเวลาใช้งาน 6 เดือนหลังสมัครใช้บริการ เพื่อปลดล็อกราคาค่าบริการโทรมือถือ โดยมีเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าเก่า เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และลดยอดยกเลิกใช้บริการ
นี่เป็นฟอร์มใหม่ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนของเอไอเอส
นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่เอไอเอสเชื่อว่าพิสูจน์ให้เห็นองค์กรที่ถึงแม้จะใหญ่ขนาดไหน แต่มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะอัดแคมเปญการตลาดตอบโต้คู่แข่งแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
"เรากำลังจะบอกว่าช้างก็เต้นระบำได้ เดิมมีการพูดว่าตอบโต้ภายใน 7 วัน แต่เอไอเอสกำลังบอกว่าต้องตอบโต้กันระดับคิดเป็นชั่วโมงแล้ว สำหรับการแข่งขันตอนนี้" ชำนาญกล่าว
แล้วทางดีแทคมีความเห็นอย่างไร
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคคงลดราคาลงมาต่ำกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะต้นทุนบังคับ เนื่องจากดีแทคต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ รวมทั้งค่าแอ็กเซสชาร์จสูงถึง 40% ในขณะที่เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ขณะนี้ 30% ส่วนต่างที่ห่างกัน 10% ถ้าคิดจากฐานรายได้ 1 แสนล้าน ก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว
"เราคงหยุดแล้ว เพราะถ้าสู้ต่อไป ลดราคาลงมาอีกเราคงตายแน่ เพราะต้นทุนต่างกันมาก คราวนี้ต้องถอยก่อน ยังไงก็สู้ไม่ได้" ธนากล่าว
ส่วนสันติ เมธาวิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค มองว่าการออกแคมเปญใหม่ของเอไอเอสครั้งนี้ เท่ากับเป็นการโจมตีจุดอ่อนของดีแทค อย่างไรก็ตาม การเริ่มแข่งราคาของเอไอเอส มีข้อดีที่ทำให้ตลาดขยายตัวได้เร็วขึ้น
"ขณะนี้การแข่งขันยังไม่เป็นธรรม ก็ได้แต่ฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้ช่วยเร่งแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม และให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้น" สันติ กล่าว
วันนี้ดูเหมือนทัศนคติและพฤติกรรมของทีมการตลาดเอไอเอสได้เปลี่ยนแปลงไป เขาไม่ใช่เบอร์หนึ่งที่เย่อหยิ่ง ไม่ค่อยแยแสคู่แข่งในตลาดอีกต่อไป
"ราคาไม่ใช่เรื่องเดียวที่จะมาแข่งขันกัน ทุกอย่างไม่จบแค่นั้น เรายังมีการตอบโต้อย่างต่อเนื่อง พนักงานการตลาดและผู้บริหารเกือบ 300 ชีวิต วันนี้ไม่ได้นั่งออฟฟิส แต่จะเดินตลาดไปเยี่ยมช่องทางจำหน่าย ไปทำความเข้าใจกับคู่ค้า วันนี้เอไอเอสจะสร้างความตื่นตัวให้พวกเราเองแล้วมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น เราต้องตื่นตัว ตอบโต้ เปิดเกมรุกคู่แข่ง" ชำนาญกล่าว
อดีตมือการตลาดของเดอะมอลล์ผู้นี้ยังย้ำอีกว่าการรุกกลับของเอไอเอส คงไม่เห็นภาพผู้ใหญ่หรือผู้บริหารออกไปเต้น ไม่ไปเสแสร้ง แต่เอไอเอสจะคงภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเอไอเอสจะใช้กลยุทธ์ IMP หรือ Integrated Marketing Power ซึ่งเป็นการรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันและผสมผสานความเข้มแข็งด้านการตลาดในส่วนต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดพลังในการทำตลาด
เขากล่าวต่อว่า "สิ่งที่เอไอเอสต้องการสื่อออกไปคือเราต้องการหนีสงครามราคา ไม่ต้องการให้คนใช้โทรศัพท์มือถือมาคิดถึงเรื่องนาทีหรือวินาที แต่ต้องการให้บริการด้วยคุณภาพที่แตกต่างออกไป"
"ผมเข้าใจว่าตอนนี้ถูกกดดันหนัก ซึ่งไม่เป็นไร ดีแทคขอเป็นศาลาพักใจให้ ด่าได้ ไม่ต้องเครียด เพราะผมใช้หลัก IMP หรือ Insane Marketing People หรือการตลาดที่มีลูกบ้า ในการสู้ศึกมือถือ" ธนา แห่งดีแทค ฝากทิ้งท้าย
อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้เอไอเอสต้องสู้สุดกำลังขนาดนี้ เบอร์สองอย่างดีแทคควรจะต่อกรอย่างไร? และการสู้กันชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันครั้งนี้ ได้ให้บทเรียนอะไรแก่ใครบ้าง?
บทวิเคราะห์?
เอไอเอสกำลังอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากมากๆ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมาก็ว่าได้ เพราะความได้เปรียบที่มีอยู่เริ่มมลายหายไปทีละอย่างสองอย่าง
เครือข่าย จากเดิมเครือข่ายเอไอเอสครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่แทคยังมีปัญหาใช้ได้ไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตามความได้เปรียบในส่วนนี้เริ่มหมดไป เพราะแทคขยายเครือข่ายได้ครอบคลุมทั่วถึงแล้ว แม้จะไม่เทียบเท่าเอไอเอส แต่ทว่าก็ไม่ใช่ความได้เปรียบที่เอไอเอสจะนำมาเป็นจุดขายอีกต่อไป ความได้เปรียบนี้ยังคงดำรงอยู่หากคู่แข่งนั้นคือทรูมูฟ แต่ทว่าเอไอเอสไม่ได้ถือว่าทรูมูฟคือคู่แข่ง อย่างดีทรูมูฟก็กระตุกหนวดเสือได้เป็นบางครั้งบางคราวได้เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องในอดีต แต่วันนี้เอไอเอสคงไม่ยอมเหมือนเดิมแล้ว
ต้นทุน ต้นทุนเอไอเอสต่ำกว่าแทคและทรูมูฟมาก เพราะไม่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อกับทศท.200 บาท ส่งผลให้มาร์จิ้นของเอไอเอสสูงกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ นอกจากนี้เอไอเอสยังเน้นการการวางตำแหน่งเป็นมือถือพรีเมี่ยม คิดราคาแพงกว่าคนอื่น คิดเป็นนาที และไม่ยอมลงมาแข่งเรื่องราคา การตัดสินใจแต่ละครั้งเชื่องช้า ส่งผลให้สูญเสียผู้ใช้บริการไปอักโข วินาทีนี้ต้นทุนก็ยังต่ำอยู่ และเอไอเอสก็ใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนนี่แหละเปิดศึกกับแทคได้ทันควัน แม้มาร์จิ้นจะน้อยลง แต่ก็ดีกว่าเสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนั้นเป็นเรื่องที่เอไอเอสยอมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
เอไอเอสสูญเสียส่วนแบ่งตลาดด้วยเหตุผลสองประการ
หนึ่ง - โพสต์เพด ราว 6-7 หมื่นราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ที่ไม่ชอบนายกฯทักษิณและไม่ต้อนรับสิงคโปร์ ตัวเลขขนาดนี้ถือว่ามากเพราะโพสต์เพดหนึ่งรายเท่ากับพรีเพด 3 สายทีเดียว
สอง - พรีเพด สูญเสียส่วนแบ่งตลาดเนื่องจากค่าโทรสูงกว่าที่อื่น
ข้อแรกคงแก้ไม่ได้ แม้นายกฯจะเว้นวรรคแล้วก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันเช่นนี้ เอไอเอสจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ แม้มาร์จิ้นจะต่ำก็ตาม
อีกเหตุผลประการหนึ่งก็คือชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เพิ่งรับงานใหม่ ย่อมต้องพิสูจน์ฝีมือของตนเองว่าแน่สักขนาดไหน เพราะชำนาญไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มาก่อน ชำนาญมาจากสายห้าง ดังนั้นวิธีคิดของเขาก็คือเมื่อห้างอื่นลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ เราก็ลดได้ ประเภทตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะถือว่าตนเองมีสายป่านที่ยาวกว่าและขู่ไปด้วยว่า อย่าก่อสงครามราคาอีกม่ายงั้นเจอดี
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แทคถอยฉากเป็นดีที่สุด ไม่เช่นนี้เลือดจะไหลไม่หยุด แชร์ก็ไม่เพิ่ม เพราะเอไอเอสยอมทุกอย่างเพื่อรักษาแชร์ไว้
ไว้สถานการณ์ดีๆ ก็ลุยอีกรอบก็แล้วกันนะ
|
|
|
|
|