Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2539
"สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เดอะ ก็อด มาเธอร์"             
โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างการบริหารงานของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7


   
www resources

โฮมเพจ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7

   
search resources

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
สุรางค์ เปรมปรีดิ์
TV




ความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ของช่อง 7 สีในวันนี้ มาจากผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หรือ 'คุณแดง' หรือ 'คุณนายแดง' คือเบื้องหลังความสำเร็จนั้น เธอสร้างช่วงเวลาไพร์มไทม์ของช่อง 7 สีให้กลายเป็นเวลาทอง ท่ามกลางการแข่งขัน เธอยืนต้านพายุจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ได้อย่างไร มาวันนี้เธอกำลังถูกท้าทายครั้งใหม่ โดยมีช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่เธอปั้นมากับมือเป็นเดิมพัน ช่อง 7 สีและ 'คุณนายแดง' เป็นเป้าของสงครามครั้งนี้!

สู่ถนนสายบันเทิง

หลังการเสียชีวิตของพันโทชายชาญ เทียนประภาส พี่ชายคนที่สอง เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2523 ประมาณ 1 ปี "สุรางค์ เปรมปรีดิ์" ก็ถูกขอร้องจากชาติเชื้อ กรรณสูต พี่ชายคนโต ที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด แทนชายชาญ ให้เข้ามาช่วยทำงานที่ช่อง 7 สี ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นธุรกิจของคนในตระกูลเทียนประภาสและกรรณสูต

การชักชวนของชาติเชื้อครั้งนั้นทำให้ชีวิตเรียบ ๆ ของสุรางค์ ที่มีความสุขอยู่กับการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเรวดี พร้อม ๆ กับการดูแลนิตยสารสตรีสารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ สืบทอดแทนคุณแม่คือ เรวดี เทียนประภาส ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

เพราะโดยพื้นฐานการศึกษาแล้ว ชีวิตของสุรางค์ (หรือที่คนรู้จักสนิทสนมจะเรียกเธอว่าคุณแดง) ถูกวางเป้าหมายไว้ให้เป็นครูมากกว่าอย่างอื่น เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ก่อนที่จะไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านการจัดโปรแกรมการศึกษาที่ยูซีแอลเอ โดยเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) แต่เรียนกันคนละรอบ สุรางค์เรียนรอบกลางวัน ส่วนท่านมุ้ย ซึ่งชอบชีวิตราตรี เรียนรอบกลางคืน

"คุณสุรางค์เรียนหนังสือเก่งมากแล้วก็ไม่หวงความรู้ จะช่วยติววิชาต่างๆ ให้เพื่อนตอนใกล้สอบเป็นประจำ" คนใกล้ชิดสุรางค์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างชื่นชม

ดังนั้นถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุในช่อง 7 แล้ว ชีวิตของสุรางค์จึงน่าจะอบอวลอยู่ในแวดวงการศึกษา เช่นเดียวกับ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ คู่ชีวิต อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องเข้ามาสู่เส้นทางบันเทิงช่วงหนึ่งเหมือนกัน ต่างกันเพียงว่า ดร. ไพโรจน์อยู่เงียบ ๆ เบื้องหลังช่วงสั้น ๆ แต่สุรางค์นั้นกระโดดเข้ามาเต็มตัว

ปัจจุบัน ดร. ไพโรจน์ลาออกจากการเป็นข้าราชการเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากอยู่ในตำแหน่งคณบดี คณะวิทยาศาสตร์นานถึง 4 สมัย หรือ 16 ปี

แม้ว่าก่อนการเสียชีวิตของชายชาญ สุรางค์จะเป็น "กรรณสูต" คนเดียวที่ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในเชิงบริหารในช่อง 7 สี มาก่อน แต่เธอก็มีความสัมพันธ์กับที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมีชื่อเป็นผู้ก่อตั้งช่อง 7 ด้วยคนหนึ่ง รวมทั้งเข้าเป็นกรรมการแทน "เฑียรร์ กรรณสูต" น้องชายของพ่อ ที่มีปัญหาขัดแย้งกับเรวดีจนต้องลาออกไปเมื่อเดือนกันยายน 2511 ขณะนั้นเธอมีหุ้นอยู่ในช่อง 7 จำนวน 80 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 800,000 บาท ของทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

ขณะนั้นหุ้นของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด แบ่งเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท

งานแรกที่สุรางค์ได้รับมอบหมายจากชาติเชื้อให้รับผิดชอบ คือ การขายเวลาให้กับช่อง 7 แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ต้องเข้ามาทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายรายการ ซึ่งแต่เดิม "ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวช" ภรรยาชายชาญเป็นคนดูแลรับผิดชอบ

ชัชฎาภรณ์ เข้ามาช่วยงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังจากการเสียชีวิตของเรวดี ตามคำชักชวนของชัยชาญ ซึ่งขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการของช่อง 7 แทนแม่ ที่สุดความใกล้ชิดกับชายชาญทำให้ทั้งสองอยู่ร่วมกันจนมีบุตรชายหนึ่งคน ว่ากันว่าในช่วงที่สามีเรืองอำนาจในช่อง 7 นั้น ชัชฎาภรณ์มีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านรายการของช่อง 7 จนได้รับการขนานนามว่า เจ้าแม่ทีวีทีเดียว

หลังจากสิ้นบุญชายชาญใหม่ ๆ ชัชฎาภรณ์ได้รับการคาดหมายจากหลายฝ่ายว่าจะได้เป็นรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีแทนสามีที่จากไป แต่ผู้ถือหุ้นได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการรักษาการกรรมการผู้จัดการขึ้นมาร่วมกันบริหารสถานีคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ดร. ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ นายพิสุทธิ์ ตู้จินดา นายสมภพ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสหสมภพ) ศรีสมวงศ์ ร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์ ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ และวีระพันธ์ ทีปสุวรรณ โดยมอบหมายให้ ดร.ไพโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการ และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ดร. ไพโรจน์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2523

"เพราะชาติเชื้อปฏิเสธที่จะกลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการสถานีแทนชายชาญ โดยอ้างว่ายังติดพันอยู่กับการทำเหมืองร่วมกับสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ ที่กาญจนบุรี เลยต้องให้ ดร. ไพโรจน์เข้ามาดูแล จนเมื่อชาติเชื้อยอมกลับมาทำงานที่ช่อง 7 อีกครั้งในปี 2524 ก็ได้ดึงคุณสุรางค์เข้ามาช่วยทำงานด้วย ส่วนคุณแป๊ด (ชัชฎาภรณ์) ก็ลาออกไป" คนที่ทำงานกับช่อง 7 ช่วงนั้นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

สาเหตุการลาออกจากช่อง 7 สีของชัชฎาภรณ์ไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่หลายคนสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการกลับมาช่อง 7 อีกครั้งของชาติเชื้อ หลังจากที่ลาออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2516 โดยอ้างว่ามีภารกิจส่วนตัวที่จะต้องไปดำเนินการโดยรีบด่วนและต้องใช้เวลานาน และที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้ตั้งร้อยเอกชายชาญ กรรณสูต (ยศและนามสกุลขณะนั้น) เป็นกรรมการผู้จัดการแทน

คนใกล้ชิดในช่อง 7 สี เล่าให้ผู้จัดการฟังว่า เหตุผลจริง ๆ ที่ชาติเชื้อลาออกจากช่อง 7 สี เพราะมีปัญหาขัดแย้งกับชายชาญ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นเรื่องพี่น้องไม่ถูกกัน เมื่อชาติเชื้อกลับมาบริหารช่อง 7 อีกครั้ง ชัชฎาภรณ์เลยไม่อยากอยู่ทำงานด้วยก็เป็นได้

ปัจจุบันชัชฎาภรณ์หายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิง แต่ยังมีหุ้นอยู่ในช่อง 7 อยู่ 9,800 หุ้นและยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด อยู่ด้วย ขณะที่ชนม์ชนก เทียนประภาส ลูกชายของเธอที่เกิดจากชายชาญ ถือหุ้นอยู่ 30,000 หุ้น หรือ รวมกัน 6.52%

ดัชนีชี้มหาชน

"ความสำเร็จของช่อง 7 สีในวันนี้ เกิดจากปัจจัยสำคัญสองประการ ประการแรก เป็นการมองการณ์ไกลของผู้บริหารยุคคุณชายชาญ ที่ลงทุนขยายเครือข่ายของสถานีออกไปให้ประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ สามารถรับสัญญาณได้ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายฐานผู้ชม แม้ว่าคุณชายชาญจะจากไปก่อนแผนนี้จะเสร็จ แต่โชคดีที่ผู้บริหารยุคหลังได้ทำต่อ ประการที่สอง คือ การผลิตรายการที่ตรงใจกับผู้ชมระดับชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของประเทศ อันนี้ถือว่าต้องยกเครดิตให้กับคุณแดง" แหล่งข่าวที่อยู่กับช่อง 7 สีมานานวิเคราะห์ให้ฟัง

พูดง่าย ๆ ช่อง 7 สีโชคดีมากที่ได้ผู้บริหารเหมาะสมกับช่วงเวลา

ในยุคของชายชาญนั้น ช่อง 7 สีเริ่มขยายเครือข่ายครั้งแรก ด้วยการสร้างสถานีถ่ายทอดที่สระบุรีเมื่อเดือนธันวาคม 2514 และที่ลำนารายณ์ ลพบุรี ในเดือนมีนาคม 2515 ทำให้ช่อง 7 สีสามารถขยายขอบเขตการส่งภาพไปไกลจากเดิม อีก 8 จังหวัด คือ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ชัยภูมิและอุทัยธานี รวมทั้งมีการสร้างห้องส่งใหม่ เพื่อขยายเวลาการออกอากาศ และ ผลิตรายการสดมากขึ้น

นอกจากนี้ชายชาญยังได้ร่างโครงการ "การขยายกิจการโทรทัศน์จากส่วนกลางสู่ชนบท" เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งสาระบันเทิงเพื่อให้ประชาชนท้องถิ่นไกล ๆ มีโอกาสได้รับข่าวสารและความบันเทิงไปพร้อมกับประชาชนส่วนกลาง ประกอบกับได้ศึกษาค่าเช่าช่วงสัญญาณดาวเทียมปาลาปา ค่าอุปกรณ์ภาคพื้นดินในการรับ-ส่งสัญญาณและความเป็นไปได้ทางเทคนิคอื่น ๆ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการได้ ในช่วงต้นปี 2522

อานิสงส์จากความคิดริเริ่มของชายชาญส่งผลให้ช่อง 7 สีในวันนี้มีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 30 สถานี และมีศูนย์ข่าวภูมิภาค 4 แห่ง ที่เชียงใหม่ ระยอง สงขลาและขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่การออกอากาศกว่า 90% ทั่วประเทศ

เมื่อผสมกับแนวคิดการผลิตรายการเพื่อมุ่งเจาะเข้าไปหากลุ่มคนดูระดับชาวบ้านเป็นหลักในยุคที่มีสุรางค์เป็นผู้จัดการฝ่ายรายการด้วยแล้ว ช่อง 7 สีก็ยิ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างล้นหลามทีเดียว ปริมาณผู้ชมจำนวนมากมายนี่เอง ทำให้เงินค่าโฆษณาทางโทรทัศน์มูลค่ามหาศาลในแต่ละปีตกอยู่ในมือของช่อง 7 สีมากที่สุดมาโดยตลอด

ล่าสุดปี 2538 มูลค่าการโฆษณาทางโทรทัศน์ประมาณ 20,000 ล้านบาท ช่อง 7 สีได้ส่วนแบ่งไปถึง 36.2% ตามมาด้วยช่อง 3 จำนวน 26.1% ช่อง 5 อีก 20.7% อีก 17% ที่เหลือเป็นของช่อง 9

"พี่แดงเป็นดัชนีชี้มหาชน ท่านรู้ว่ารายการอย่างไหนจึงจะได้รับความนิยมจากคนดู อย่างตอนที่นางฟ้าสีรุ้งกำลังจะจบ แกรมมี่มีความคิดว่าอยากทำเรื่องคนประเภทต่าง ๆ โดยจะให้ชื่อเรื่องว่า "คน ค้น คน" แต่พอไปเสนอพี่แดง ท่านก็ให้ไอเดียว่าทำไมไม่ทำละครที่มีตัวละครหลัก ๆ แล้วหาเหตุการณ์ต่าง ๆ มาใส่เข้าไปในแต่ละตอน เราก็เอาไปคิด ในที่สุดก็กลายมาเป็นสามหนุ่ม สามมุม ซึ่งได้รับความนิยมมากมาจนทุกวันนี้" บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารคนสำคัญของแกรมมี่เล่าถึง "สุรางค์" ให้ฟังอย่างชื่นชม

ผู้ทรงอิทธิพล

จะว่าไปแล้วในบรรดาผู้จัดการฝ่ายรายการด้วยกันนั้น ขณะนี้คงไม่มีใครสู้สุรางค์ได้ เพราะนอกเหนือจากความสามารถเฉพาะตัวที่รู้ว่าคนดูชอบหรือไม่ชอบดูอะไรแล้ว สุรางค์ยังมีข้อได้เปรียบผู้จัดการฝ่ายรายการคนอื่น ๆ มาก (โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายรายการของช่อง 5 และช่อง 9)

ประการแรก ถึงแม้ว่าขณะนี้ช่อง 7 สี จะไม่ใช่ธุรกิจที่ตระกูลกรรณสูตและเทียนประภาสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป แต่เป็นของคนในตระกูลรัตนรักษ์ ที่ยินยอมและเต็มใจมอบอำนาจการบริหารงานให้แก่ 2 พี่น้องแห่งตระกูลกรรณสูต อย่างชาติเชื้อและสุรางค์ โดยไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากนัก

รวมทั้งการเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองในช่อง 7 ของสุรางค์ในสัดส่วน 20.36% (สุรางค์ถือ 106,800 หุ้น ดร.ไพโรจน์ถือ 14,800 หุ้น) ยังทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารทุกคนไว้เนื้อเชื่อใจว่าเธอจะต้องทำทุกอย่างที่เป็นผลดีกับช่อง 7 สี ดังนั้นอะไรที่เธอคิดว่าดี เหมาะสมจึงถือประหนึ่งมติเอกฉันท์ที่ทุกคนต้องปฏิบัติ

แม้แต่ชาติเชื้อเองก็เป็นที่รู้กันว่าเขาเกรงใจน้องสาวคนนี้มาก ๆ ถ้ามีใครไปถามอะไรเขาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายรายการ ชาติเชื้อจะบอกเสมอว่าต้องถาม "คุณแดง" ก่อน ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท

ดังนั้นในฐานะผู้จัดการฝ่ายรายการ สุรางค์จึงมีสิทธิ์เต็มที่ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับรายการต่าง ๆ ที่นำเสนอทางช่อง 7 ไม่ว่าจะเป็นละครพื้นบ้าน การ์ตูน คอนเสิร์ต เกมโชว์ วาไรตี้ รายการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครหลังข่าวที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของสถานี เพราะเป็นเวลาที่มีผู้ชมดูทีวีมากที่สุด

ละครสไตล์สุรางค์

ละครหลังข่าวนับเป็นรายการที่สุรางค์ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดารายการบันเทิงทั้งหลายทั้งปวงที่นำเสนอทางช่อง 7 สี (ยกเว้นข่าวและกีฬาที่จะพูดถึงต่อไป) เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาทำเงินทำทองของสถานี

ปัจจุบันช่อง 7 สี เสนอละครหลังข่าวตั้งแต่เวลา 20.30-22.30 น. รวม 2 ชั่วโมง ตามกฎของ กบว. อนุญาตให้สถานีโฆษณาสินค้าได้ 10 นาที เมื่อบวกลบคูณหารออกมาแล้วจะพบว่า ในปี 2539 ช่อง 7 สีจะมีรายได้จากการโฆษณาในช่วงละครหลังข่าว 1,825 ล้านบาท (ปัจจุบันอัตราค่าโฆษณาในช่วงนี้นาทีละ 2.5 แสนบาท วันหนึ่งโฆษณาได้ 20 นาที เท่ากับ 5 ล้านบาท แต่อาจจะหย่อนจากนี้ไปบ้าง เพราะตามปกติสถานีจะลดราคาให้ผู้ซื้อเวลาประมาณ 15%)

เงินดังกล่าวถือว่าเป็นรายได้ของช่อง 7 สีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสถานีเป็นเจ้าของเวลาจึงมีสิทธิ์ในการขายโฆษณาเอง ส่วนละครนั้นเป็นการว่าจ้างให้ดาราวิดีโอ และกันตนาผลิตให้ โดยสุรางค์เป็นคนเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน

เริ่มตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์นวนิยายจำนวนมากมาไว้ในมือก่อนที่จะแจกจ่ายให้กับดาราวิดีโอ และกันตนามาเลือกไปทำตามความเหมาะสม รวมไปถึงการตรวจบท การตรวจเทปก่อนออกอากาศ

ว่ากันว่าสุรางค์จะชื่นชมนิยายของ ว. วินิจฉัยกุลและโบตั๋นมากเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นแนวชีวิตหนัก ๆ ที่กินใจคน จนมีบ่อยครั้งที่บทบาทส่งให้นักแสดงในเรื่องได้รับรางวัล อย่าง "ปัญญา นิรันดร์กุล" ที่เคยได้รับรางวัลจากเรื่องตะวันชิงพลบของ ว. วินิจฉัยกุล มาแล้ว

"สมัยที่สตรีสารยังดำเนินการอยู่ถือเป็นอันรู้กันว่า นิยายที่ลงตีพิมพ์ที่นี่จะต้องให้คุณแดงเลือกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละครก่อน เว้นเสียแต่ว่าเธอไม่เอาจึงจะไปขายให้เจ้าอื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่คุณแดงก็ซื้อไว้ เพราะเชื่อว่านิยายที่ผ่านการกลั่นกรองจากคุณนิลวรรณ ปิ่นทองแล้วจะต้องเป็นเรื่องที่ดีอย่างแน่นอน" คนที่เคยอยู่กับสตรีสารเล่าให้ฟัง

แต่ก็มีบางเรื่องเหมือนกันที่ผู้รับจ้างผลิตเป็นคนเลือก ซึ่งถ้าเสนอไปและสุรางค์เห็นดีด้วย เธอก็เป็นผู้จะดำเนินการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์

นอกจากจะเลือกเรื่องนวนิยายเองแล้ว สุรางค์ยังมีที่ปรึกษาที่เป็นเพื่อนสนิทประเภทครูบาอาจารย์ช่วยกันติดตามเลือกนิยายใหม่ ๆ ให้อีกแรงหนึ่งด้วย นิยายดัง ๆ ส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือเธอเพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในการผลิตออกมาให้ชม

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสุรางค์จะเลือกทำละครจากเนื้อเรื่องก่อนเสมอไป ตรงกันข้ามกลับมีบ่อยครั้งทีเดียวที่เธอจะเลือกดาราก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะช่อง 7 สี มีดารามากมายในสังกัดที่จะต้องคอยดูแลแจกจ่ายบทบาทให้ทั่วถึง เช่นเมื่อถึงคิวของ ศรราม เทพพิทักษ์ สุรางค์และผู้จัดก็จะมาช่วยกันพิจารณาว่า นิยายเรื่องไหนเหมาะกับศรราม ก็เลือกละครเรื่องนั้น

"แต่อย่างดั่งดวงหฤทัยซึ่งมีนัท มีเรียกับศรรามเป็นดารานำ อันนี้เนื้อเรื่องเป็นตัวกำหนดนักแสดง" สยาม สังวริบุตร ผู้ควบคุมการผลิตละครของดาราวิดีโอเล่าให้ฟัง

ไม่ว่าจะมีที่มาจากเรื่องหรือตัวแสดง แต่กฎเหล็กข้อแรกที่สุรางค์ถือเป็นหัวใจของการทำละครก็คือ ต้องเป็นเรื่องที่ดูสนุก เพราะเป็นรายการภาคบันเทิง ส่วนเรื่องสาระนั้นถือว่าเป็นเรื่องรอง จึงไม่น่าแปลกที่ละครช่อง 7 มักจะได้รับฉายาจากกลุ่มปัญญาชนและสื่อมวลชนส่วนใหญ่ว่า "น้ำเน่า"

"ช่อง 7 พยายามเลือกเรื่องที่มีสาระมานำเสนอทุกเรื่อง แม้ว่าบางเรื่องจะไม่มี เราก็พยายามสอดแทรกข้อคิดบางแง่เข้าไป แต่จะไม่ใช่เป็นลักษณะสอนคนดู เพราะเรามั่นใจว่าคนดูไม่โง่หรอก เขาดูละครเพราะอยากตักตวงความสุข ไม่ใช่ดูเพราะอยากจะได้แง่คิด" สยามแก้ตัว

ตัวสุรางค์เองก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะเมื่อถูกนักข่าวรุมถามว่า เมื่อไรช่อง 7 จะปรับปรุงละครให้หายเน่าเสียที เธอตอบทันควันว่า จะปรับปรุงแน่ แต่จะให้เน่ามากกว่าเดิมอีก

"คุณแดงคงคิดว่าก็ในเมื่อละครยิ่งเน่าเท่าไร คนดูก็ยิ่งตอมทีวีมากกว่ายุงตอมน้ำเน่าเท่านั้น ทั้งเอเยนซี่และเจ้าของสินค้าก็แห่กันมาซื้อโฆษณาแน่นขนัด การทำละครน้ำเน่าจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร" ผู้สังเกตการณ์วงการทีวีรายหนึ่งให้ความเห็น

แต่ก็ใช่ว่าละครทุกเรื่องที่ช่อง 7 สี ผลิตจะประสบความสำเร็จเสมอไป มีหลายเรื่องที่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ชม อย่างเช่นเรื่อง "อยู่เพื่อรัก" ซึ่งถือว่าล้มเหลวมาก ๆ มือระดับสุรางค์ก็พลาดเป็นเหมือนกัน (อ่าน "ดาราวิดีโอ ลูกรักของสุรางค์")

อยากใกล้ชิดอย่าใส่น้ำหอม

นอกจากจะควบคุมดูแลการทำละครหลังข่าวอย่างใกล้ชิดแล้ว สุรางค์ยังเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้เช่าเวลา รวมทั้งการวางผังรายการตลอดทั้งวันด้วยตัวเองว่าเวลานี้ควรเป็นรายการอะไรจึงจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายและได้รับความนิยม

บทบาทนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อความนิยมของสถานีไม่น้อยทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้ว เวลาส่วนใหญ่ของช่อง 7 สี จะเป็นลักษณะให้ผู้ผลิตเช่าเวลาไปทำ ดังนั้นถ้าการคัดเลือกผู้เช่าเวลาและทำการควบคุมคุณภาพของรายการไม่ทำอย่างเข้มแข็งแล้ว สถานีเองจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

ดังนั้นความเฮี้ยบของสุรางค์ที่ขึ้นชื่อลือชามาก ๆ จึงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานตรงนี้ไม่น้อย เพราะเป็นอันรู้กันว่า ถ้าได้รับเวลาจากช่อง 7 ไปแล้ว ผู้เช่าจะต้องทำตามกฎกติกาที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ว่าได้รับอนุญาตให้ทำเกมโชว์แล้วจะเปลี่ยนไปเป็นรายการวาไรตี้หรือเปลี่ยนรายการวาไรตี้เป็นรายการเพลงตามอำเภอใจ เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

"ระบบควอลิตี้คอนโทรลของคุณแดงจะเข้มมาก ผู้บริหารช่องอื่นเขาจะห้ามแค่ว่าไม่ให้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ความขัดแย้งเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่คุณแดงดูยิ่งกว่านั้น คือดูเข้าไปถึงเนื้อในรายการเลย ว่าตรงนี้ชักไม่ใช่ตามแนวที่วางไว้แล้วนะ ตรงนี้เปลี่ยนเป็นอย่างนี้ดีไหม บางทีก็ให้ไอเดียว่าทำอย่างนี้ดีกว่า คุณแดงจะหมั่นตรวจสอบผังที่วางเอาไว้อย่างสม่ำเสมอว่าผู้ผลิตแอบไปดัดแปลงหรือเปลี่ยนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า วันดีคืนดีใครแอบไปเปลี่ยนจะรู้ทันที" ผู้เช่าเวลารายหนึ่งเล่าให้ฟัง

ดังนั้นสิ่งที่ผู้เช่าเวลาของช่อง 7 สีต้องทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอก็คือ ต้องส่งโครงเรื่อง เรื่องย่อ หรือบทละครให้ดูล่วงหน้า เช่นเดียวกับเทปที่ตัดต่อมาพร้อมจะออกอากาศก็ต้องส่งให้ตรวจล่วงหน้าเช่นกัน

"แม้แต่บางทีรายการไหนมีเหล้าเป็นสปอนเซอร์เยอะ ๆ เธอก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวคนจะโจมตีว่าเป็นสถานีมอมเมาประชาชน คุณแดงละเอียดถึงขนาดนั้น"

นี่ยังไม่นับรวมถึงกฎข้อใหญ่ๆ ที่ผู้ผลิตรายการให้ช่อง 7 สี พึงกระทำให้ครบถ้วนก็คือ ต้องทำงานแข่งกับตัวเองเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ การเงินจะต้องไม่เสีย ควรจ่ายค่าเช่าเวลาตามกำหนด และที่สำคัญต้องโลว์โปรไฟล์ หรือ อย่าพยายามโปรโมตตัวเองเกินงามแต่อนุญาตให้ประชาสัมพันธ์รายการได้ไม่ว่ากัน

หลายคนอาจจะบอกว่า เธอเป็นคนจู้จี้ในรายละเอียดของรายการ แต่หลายคนก็บอกเช่นกันว่า นั่นคือคุณสมบัติของผู้บริหารที่เก่งที่ต้องทำเช่นนั้นมิใช่ปล่อยให้ใครทำอะไรก็ได้ และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่า การควบคุมและจู้จี้ของเธอประสบความสำเร็จ

นอกจากจะควบคุมผู้รับจ้างผลิตและผู้เช่าเวลาอย่างเข้มข้นแล้ว การควบคุมงานในฝ่ายรายการที่สถานีเป็นผู้ผลิตเอง สุรางค์ก็ควบคุมแบบเข้มข้นไม่แพ้กัน โดยถ้าไม่ลงมาควบคุมด้วยตัวเองก็จะควบคุมผ่าน "พลากร สมสุวรรณ" ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายรายการ

ฝ่ายรายการของช่อง 7 สีจะแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายโปรดักชั่น ฝ่ายโปรโมชั่น และฝ่ายกำกับเวลาและติดต่อกับ กบว. สำหรับรายการที่ผลิตเองก็จะเป็นรายการย่อย ๆ เช่น รายการการ์ตูน รายการธรรมะ ข่าวบันเทิง รายการภาพยนตร์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ หรือรายการโปรโมชั่น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดของช่อง 7สีที่มีการทำสปอตแนะนำรายการเด่น ๆ ให้ผู้ชมทราบก่อนว่า ละครคืนนี้จะเดินเรื่องอย่างไร จันทร์กระพริบจะมีใครมาออก เพื่อผู้ชมที่สนใจจะได้ติดตามกันชนิดไม่มีพลาด

โดยส่วนที่สุรางค์จะควบคุมมากเป็นพิเศษ คือ คนที่จะออกหน้ากล้องซึ่งถือว่าเป็นหน้าตาของบริษัท เธอจะต้องเป็นคนเทสต์ด้วยตัวเองพร้อมกับให้คอมเมนต์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้แนะนำรายการของสถานีแต่ละช่วง ผู้ประกาศข่าว ทั้งข่าวในประเทศ ข่าวกีฬา สะเก็ดข่าว เป็นต้น

สำหรับสคริปต์รายการ และเทปที่จะออกอากาศนั้น แน่นอนว่าต้องส่งให้เธอพิจารณาก่อนเช่นกัน

"คุณแดงเป็นคนละเอียดรอบคอบ งานทุกชิ้นจะต้องผ่านตาเธอก่อน มีปัญหาอะไรก็จะพูดตรง ๆ เป็นคนมีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แต่อาจจะมีบางครั้งที่พนักงานพูดอะไรที่เธอไม่เห็นด้วยออกไป จะถูกดุทันที แต่เมื่อกลับไปคิดอีกครั้งและเห็นว่าเป็นความคิดที่ถูกก็จะต้องกลับมารับฟังใหม่ ที่สำคัญคือจะพิจารณาผลงานลูกน้องอย่างยุติธรรมมาก" พนักงานส่วนใหญ่กล่าวถึงสุรางค์ให้ฟังในลักษณะนี้

นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าจะทำงานกับสุรางค์ชนิดที่ไม่ให้เธอเขม่นเอาได้ ควรแต่งตัวให้เรียบร้อย ห้ามโป๊ ถ้าเล็บสะอาดได้ก็จะดี เพราะบางครั้งเธอชอบตรวจเล็บตามประสาคุณครูเก่า อย่าใส่น้ำหอมฉุน ๆ และไม่จำเป็นต้องมอบเครื่องสำอางเป็นของกำนัลหรือของขวัญเพราะคุณแดงไม่ชอบแต่งหน้า

นอกจากนี้จะต้องรู้จักแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะเธอถือคติว่าผิดได้แต่อย่าบ่อย

อาจจะด้วยบุคลิกส่วนตัวที่ดูเจ้าระเบียบ เฉียบขาด และจริงจังกับการทำงานของเธอนี่ ทำให้คนตั้งสมญานามให้เธอว่า "คุณนายแดง" ทั้งที่เธอไม่ได้เป็น "คุณนาย" โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสีหลายฉบับเรียกเธอเช่นนั้น ยิ่งในข้อเขียนที่หยอกล้อและไม่เอาจริงเอาจัง

สำหรับคนทั่วไป ถ้าอยากจะเรียกก็ต้องเรียกกันลับหลังเท่านั้น และก่อนเรียกต้องเหลียวหน้าดูหลังให้ดี ไม่งั้นอาจจะไม่ปลอดภัย

จับหัวใจช่อง 7

เพิ่งจะเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมาเห็นจะได้ ที่สุรางค์ได้ลงมาดูแลฝ่ายข่าวอย่างใกล้ชิดขึ้น แต่เดิมที่เธอเพียงแต่ประสานกับฝ่ายข่าวในแง่ของเลย์เอาท์ของผังรายการว่าช่วงเวลาการออกอากาศ การเบรคโฆษณา การออกสป็อตโปรโมชั่นของฝ่ายข่าวแต่ละวันจะเป็นลักษณะใดเท่านั้น

แต่ภายหลังจากการเกษียณอายุของร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท สุรางค์ก็ได้ขึ้นมานั่งในตำแหน่งดังกล่าวแทน และก็ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลฝ่ายข่าวด้วย แม้ว่าผู้จัดการฝ่ายข่าวของช่อง 7 สีตามตำแหน่งจะเป็นชื่อของชาติเชื้ออยู่ก็ตาม

การเข้ามาของสุรางค์ในฝ่ายข่าวทำให้มีการตั้งคณะบริหารงานฝ่ายข่าวโดยรวบรวมบรรดาผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ของสถานีเข้ามาเป็นคณะกรรมการ มีเธอเป็นประธานบอร์ดดูแลพัฒนางานข่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านรายการข่าวให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ข่าวเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำรายได้ให้สถานีเป็นอันดับสองรองจากละครหลังข่าวทีเดียว และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาไพร์มไทม์ด้วย (อัตราค่าโฆษณาช่วงข่าวภาคค่ำของช่อง 7 สีนาทีละ 2 แสนบาท)

การเปลี่ยนแปลงของฝ่ายข่าวที่เกิดขึ้นหลังจากที่สุรางค์เข้ามาดูแลฝ่ายข่าวก็เช่น การร่นเวลาออกอากาศข่าวภาคค่ำจากเดิมจะเริ่มในเวลา 18.45 น. ให้เร็วขึ้นมาเป็น 18.30 น. โดยนำข่าวภูมิภาคมาเสนอก่อน

"เพราะเวลา 18.30 น. ค่อนข้างจะเร็วไปสำหรับคนกรุงเทพฯ ในการดูข่าว ขณะที่คนต่างจังหวัดกลับถึงบ้านกันหมดแล้ว คุณแดงฉลาดมากที่เลื่อนข่าวภูมิภาคมาเริ่มต้นและตามด้วยข่าวเกษตรก่อนที่จะต่อด้วยข่าวการเมืองในประเทศ เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของคนดูทุกกลุ่ม" คนทีวีด้วยกันให้ความเห็น

นอกจากนี้ "สะเก็ดข่าว" ที่จับเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการทำข่าวแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองพูดผิด พูดเร็ว ตอบคำถามแล้วฟังไม่รู้เรื่องมานำเสนอในช่วงท้ายข่าว ก็ทำให้ข่าวของช่อง 7 ได้รับความสนใจจากผู้ชมเพิ่มมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่าเป็นความคิดริเริ่มของสุรางค์ แต่นักข่าวในช่อง 7 บอกว่าเธอเป็นคนลงไปสั่งให้ทำข่าวลักษณะนี้ด้วยตัวเอง

ในส่วนของกีฬานั้น ถือว่าเป็นอีกรายการหนึ่งที่ช่อง 7 และสุรางค์ให้ความสำคัญมาก ๆ

เพราะส่วนตัวแล้ว สุรางค์เป็นคนชอบเล่นกีฬา กีฬาที่เล่นประจำสม่ำเสมอ คือ เทนนิสและกอล์ฟ ในส่วนของเทนนิสนั้นอาจจะได้รับอิทธิพลมาจาก ดร. ไพโรจน์ผู้สามีซึ่งคนใกล้ชิดเล่าให้ฟังว่าเล่นเทนนิสเก่งมาก โดยช่วงทำงานอยู่มหิดลเขาจะเล่นเป็นประจำทุกวันศุกร์ ขณะที่สุรางค์ก็จะเล่นเป็นประจำตอนเย็น ๆ กับคนในช่อง 7 สี

ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็จะออกรอบตีกอล์ฟกับก๊วน ที่ตี ๆ กันประจำนอกจากเธอกับสามีแล้วก็จะมี พิษณุ นิลกลัด สักกรินทร์ บุญญฤทธิ์ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป และบ่อยครั้งจะร่วมก๊วนกับ พล.ท. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สนามที่ตีประจำก็มีสนามกอล์ฟปัญญา สนาม ทบ. สนามราชพฤกษ์

"คุณแดงเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆ เธอเป็นคนขี้โรคมาก จนเมื่อได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าทางโภชนาการและการออกกำลังกายอย่างจริง ๆ ทำให้กลับกลายเป็นคนแข็งแรง จนเดี๋ยวนี้แม้แต่หวัดก็ไม่เป็น" คนใกล้ชิดของสุรางค์เล่าให้ฟังพร้อมกับให้ข้อสังเกตว่าการออกกำลังการบ่อย ๆ นี่เองทำให้สุรางค์ดูอ่อนกว่าวัย ทั้ง ๆ ที่เธออายุถึง 54 ปีแล้ว (สุรางค์เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2485)

ดังนั้นเมื่อบ่อยครั้งที่กีฬามาพ้องกับธุรกิจโทรทัศน์ ช่อง 7 สีจึงไม่ลังเลใจที่จะเข้าไปจับ

พูดง่าย ๆ หัวใจของช่อง 7 สีมีสามอย่าง นอกจากข่าวและละครแล้ว ยังมีกีฬาด้วย ส่วนอะไรจะเป็นตัวเด่นในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

อย่างฟุตบอลยูโร'96 ที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ จะเห็นได้ชัดว่าช่อง 7 สีปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ด้วยการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมได้ชมเกือบทุกนัด แม้ว่าบางวันจะตรงกับเวลาหลังข่าวที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของสถานี แต่ช่อง 7 สียุคนี้ก็ไม่ลังเลที่จะถ่ายทอดสดอีกต่อไป เพราะถ้าเทียบกันแล้ว ฟุตบอลทำรายได้ให้ช่อง 7 ไม่แพ้ละครเสียแล้ว เช่นถ้าต้องถ่ายทอดฟุตบอลในช่วง 3 ทุ่ม ช่อง 7 ก็จะตั้งเรทค่าโฆษณานาทีละ 2.5 แสนบาทเท่ากับค่าโฆษณาของละครทีเดียว ถ้าเป็นช่วงเวลาอื่นก็ลดหลั่นกันไป

งานนี้เรียกว่านอกจากจะได้รับเสียงชื่นชมจากคอกีฬาแล้ว ยังได้เงินคุ้มค่าอีกด้วย

"ดูแต่คนอ่านข่าวกีฬาของช่อง 7 ซิ คุณแดงยังเลือกน้องอาย (ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ หรือ ธีระ โพธิ์พานิช อดีตนักยิมนาสติกทีมชาติมาอ่านเลย นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ แต่เธอมีเจตนาที่จะสร้างภาพความเป็นผู้นำด้านกีฬาให้กับช่อง 7 ถือว่าเป็นความคิดที่ลึกซึ้ง แสดงให้เห็นความฉลาดและละเอียดลออมาก ๆ" คนในวงการให้คอมเมนท์

ไอบีซี เกมหินของคุณแดง

แม้ว่าช่อง 7 จะมีนิสัยระมัดระวังในเรื่องของลงทุนอย่างมาก นอกเหนือจากธุรกิจทีวีแล้ว แทบไม่มีธุรกิจอื่นใดที่ช่อง 7 ยอมควักกระเป๋าไปลงทุนมากนัก

เว้นแต่โครงการเคเบิลทีวี ที่ช่อง 7 ยอมทุ่มทุนเข้าไปเต็มตัว

เคเบิลทีวี นับเป็นสื่อใหม่ในยุคของมัลติมีเดียกำลังจะเข้ามามีอิทธิพล ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับฟรีทีวี ไม่เพียงแค่ช่อง 7 เท่านั้นที่ต้องการขยายเข้าสู่เคเบิลทีวี ฟรีทีวีค่ายอื่น ๆ ก็ให้สนใจธุรกิจนี้

แต่ช่อง 7 สี เป็นสถานีโทรทัศน์เพียงช่องแรกและช่องเดียวในเวลานี้ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจเคเบิลอย่างเต็มตัว ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ เช่น สถานีทีวีช่อง 3 แม้จะได้รับอนุมัติจากกรมประชาสัมพันธ์มาแล้ว แต่ยังไม่กล้าผลีผลาม ต้องระงับแผนลงทุนไว้ก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่ยื่นขอสัมปทานรายอื่น ๆ เพราะเคเบิลทีวีไม่ใช่ธุรกิจทำเงินอีกต่อไป

วิธีลงทุนของช่อง 7 คือ เข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ให้บริการเดิมที่มีสัมปทานอยู่ในมือ แทนที่จะเป็นผู้ไปขอสัมปทานใหม่และลงทุนเองทั้งหมด

ช่อง 7 หรือในนามบีบีทีวี แซทเทลวิชั่น ได้ไปซื้อหุ้นในไอบีซีจากกลุ่มชินวัตรด้วยสัดส่วน 18.08% เช่นเดียวกับแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่เข้าไปซื้อหุ้นในไอบีซีสัดส่วนเท่ากัน

ภาพการร่วมมือของพันธมิตรทั้งสามรายจึงดูลงตัวมากที่สุดในเวลานั้น

นั่นเป็นเพราะช่อง 7 เชี่ยวชาญในเรื่องซอฟต์แวร์รายการ ส่วนชินวัตรชำนาญในเรื่องฮาร์ดแวร์ ในขณะที่แกรมมี่นั้นมีความชำนาญในเรื่องการตลาด และมีช่องทางจัดจำหน่ายอย่างมากมาย เมื่อนำเอาทั้งสามส่วนมารวมกันจึงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับไอบีซีเคเบิลทีวีให้โลดแล่นต่อไปได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการที่ต้องต่อกรกับยูทีวี เคเบิลทีวีของค่ายซีพี ที่มีทั้งพลังเงินทุนและเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในมือ

แต่เหตุการณ์ยังไม่เป็นเช่นนั้น

การนำระบบดีทีเอช มาทดแทนการส่งสัญญาณแบบเดิมด้วยระบบไมโครเวฟ หรือ MMDS ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการรับสัญญาณ ซึ่งไอบีซีต้องทุ่มเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก กลับไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้เท่าที่ควร

ในเวลาเดียวกันไอบีซี ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเสาเถื่อน ติดตั้งครั้งเดียวดูฟรีตลอดที่ออกมาระบาดอย่างหนัก ทำให้ไอบีซีต้องสูญเสียลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก

ผลก็คือ ไอบีซีขาดทุนไตรมาสแรกของปีนี้ สามร้อยกว่าล้านบาท

สถานการณ์ที่ทรุดลงของไอบีซี ทำให้หลายคนเริ่มประเมินว่า การเข้าไปซื้อหุ้นของช่อง 7 ดูจะไม่คุ้มค่าเสียแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ช่อง 7 และแกรมมี่จะมองในแง่ส่วนต่างราคาหุ้นอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมองถึงสินทรัพย์ในไอบีซี ที่มีอยู่นับพันล้านบาท ที่ช่อง 7 และแกรมมี่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านี้ด้วย ดังนั้นการมาถือหุ้นในไอบีซีไม่ได้ทำให้ช่อง 7 หรือ แกรมมี่เสียประโยชน์แต่อย่างใด

โดยเฉพาะช่อง 7 จะได้ประโยชน์ในการนำซอฟต์แวร์รายที่มีอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ หรือกีฬาจากต่างประเทศ รวมทั้งละครท้องถิ่นที่ช่อง 7 มีอยู่ในมือเป็นจำนวนมากมาขายให้กับไอบีซีและที่ผ่านมาช่อง 7 ก็ได้ขายภาพยนตร์เหล่านี้ให้กับไอบีซีบ้างแล้ว แต่เนื่องจากเป็นภาพยนตร์จีน หรือภาพยนตร์ฝรั่งเก่า ๆ รายการดังกล่าวจึงไม่ได้รับความนิยม

ดังนั้นแม้จะมีข่าวคราวกระแสการถอนตัวของช่อง 7 และแกรมมี่ออกมาเป็นระลอก แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ จากสุรางค์ และไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บิ๊กบอสของแกรมมี่

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารครั้งล่าสุด สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารคนสำคัญของช่อง 7 ขึ้นนั่งแท่นประธานกรรมการบริหารพร้อมกับมือบริหารคนสำคัญของช่อง 7 สี อีกสองคนคือ พลากร สมสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายรายการ และศรัณย์ นิรุตมวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ขึ้นนั่งเป็นกรรมการ

ในขณะที่ทางแกรมมี่ นอกจากไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะนั่งเป็นกรรมการแล้ว ได้ส่งมือบริหารอย่างดวงใจ หล่อเลิศวิทย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และอัญชลี จิวะรังสินี ผู้จัดการฝ่ายการเงิน เข้ามานั่งเป็นกรรมการ

ส่วนผู้บริหารของชินวัตร คือ บุญคลี ปลั่งศิริ นั่งเป็นรองประธาน ส่วนนิวัฒน์ บุญทรง เป็นกรรมการ

นิวัฒน์ บุญทรงให้เหตุผลในการแต่งตั้งสุรางค์เป็นประธานในครั้งนั้นว่า เพราะไอบีซีต้องการความชำนาญในเรื่องของซอฟต์แวร์ และความสามารถทางด้านการตลาด

เพียงแต่เวลานี้สุรางค์ยังไม่ได้ออกฝีไม้ลายมือในเรื่องเหล่านี้นัก เพราะไอบีซีต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้า โดยเฉพาะเรื่องการระบาดของเสาเถื่อน ทำให้ภาพลักษณ์ของไอบีซีเวลานี้ไม่ดีนัก

การประชุมระหว่างผู้บริหารของทั้งสามฝ่ายจะถูกจัดให้มีขึ้นทุก ๆ สัปดาห์ ซึ่งนโยบายที่ออกมาจะมาจากความเห็นของทั้งสามฝ่าย ยังไม่มีนโยบายพิเศษออกมาจากสุรางค์

ผู้บริหารของไอบีซีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า สิ่งที่ไอบีซีต้องเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้ คือ การแก้ปัญหาในเรื่องของเสาเถื่อน ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญให้ได้ เพราะหากแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ไม่ได้ แผนการบุกตลาดหรือการหารายการมาก็ไม่มีประโยชน์

"คิดว่าไม่เกิน 1-2 เดือน เมื่อการติดตั้งระบบสแกรมเบิ้ลสัญญาณทั่วประเทศเสร็จลง เมื่อนั้นไอบีซีจะเริ่มหันมาใช้นโยบายบุกตลาด รวมทั้งในเรื่องรายการอย่างเต็มตัว" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อปัญหาเทคนิคคลี่คลายลง แผนการบุกตลาดเริ่มขึ้น เมื่อนั้นก็อาจได้เห็นฝีไม้ลายมือของสุรางค์อย่างเต็มที่ ซึ่งจะน่าประทับใจเหมือนที่ช่อง 7 หรือไม่ ยังต้องรอดู

การท้าทายจากช่อง 3 และช่อง 5

ความสำเร็จอย่างยิ่งของคุณแดงก็คือการทำให้ช่วงเวลาไพร์มไทม์ของช่อง 7 สีเป็นช่วงเวลาทำเงินทำทองที่สำคัญยิ่ง

บทบาทของคุณแดงคือการสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเป็นฝ่ายรุกในฐานะผู้นำธุรกิจโทรทัศน์ ขณะที่โทรทัศน์ช่องอื่น ๆ เป็นฝ่ายตาม

แต่ในช่วงปีนี้เองที่ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ เป็นฝ่ายรุกกลับอย่างชัดเจน

แม้ที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างสถานีจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ช่องอื่น ๆ อาจจะเป็นฝ่ายรุกเพื่อช่วงชิงโฆษณาบ้าง แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด

แต่ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกครั้งใหญ่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างของเวลา" สำหรับผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ โดยเริ่มจากช่อง 5 และช่อง 3

การปรับช่วงเวลาไพร์มไทม์ของทุกสถานีมีเป้าหมายหลักคือ ช่วงชิงเวลาไพร์มไทม์มาจากช่อง 7 สีเป็นสำคัญ การปรับผังเวลาใหม่ เป็นการทำลายความเคยชินเดิม ๆ เกือบหมด

เกือบจะเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่คุณแดงอยู่ในท่าทีสงบและเป็นฝ่ายตั้งรับ คอยศึกษาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นเช่นไร

บทเรียน 15 ปีในธุรกิจโทรทัศน์ ทำให้คุณแดงยังมั่นใจในศักยภาพและขุมพลังอันเข้มแข็งของช่อง 7 และไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแก้เกมใด ๆ

อีกทั้งกลยุทธ์ของคุณแดงก็แยบยลยิ่งนัก ดังเช่นกรณีไอบีซี ที่ใครเคยคิดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของฟรีทีวี เป็นคู่แข่งถ่ายทอดสดกีฬาเด็ด

แต่วันนี้คู่แข่งก็กลายเป็นพันธมิตรที่คุณแดงกลายมาเป็นประธานบริษัทนั้นเสียเอง

การรุกของช่อง 3 และช่อง 5 ครั้งนี้ก็เช่นกัน รอจนสถานการณ์สุกงอม การโต้กลับของคุณแดงอาจปรากฏ และน่าจะสนุกกว่าที่คาด

โปรดติดตามตอนต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us