"การที่บริษัทเสนอขายกองทุนตราสารหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ไทยมีสูงมาก
โดยคาดว่าในปีอีก 5-6 ปีข้างหน้า สัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุนและตราสารหนี้จะอยู่ที่
50% แม้ว่าการลงทุนในหุ้นทุนจะยังได้รับผลทุนผลกระทบจากความผันผวนของดัชนี
แต่หุ้นทุนยังคงให้ผลตอบแทนที่สูง ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนคงที่
แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่งประมาณ
1%"
นั่นคือคำกล่าวชี้แจงอย่างหนักแน่นของวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไทยเอเชีย
จำกัด ที่กล่าวถึงเหตุผลที่ออกกองทุน ตราสารหนี้ใหม่อีก 2 กองทุน โดยให้ธนาคารเอเชีย
หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตัวแทน สนับสนุนการขายและรับซื้อหน่วยลงทุนกองทุน
"การที่แนวโน้มการเติบโตของกองทุนตราสารหนี้ (FIXED INCOME) มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมนี้มีอัตราการเติบโตสูงถึง 111.08% จากปีก่อน
ในขณะที่กองทุนประเภททุนและกองทุนที่ลงทุนเฉพาะเจาะจงมีอัตราการเติบโตลดลง
2.27% และ 17.78% ทำให้เราตัดสินใจออกกองทุนใหม่"
แนวความคิดของวรวรรณ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับของจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเชีย
จำกัด (มหาชน) ที่เชื่อมั่นว่าการจัดตั้งกองทุนเปิดเอเชียตราสารหนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันตลาดตราสารหนี้
กำลังเติบโตและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายรวมในชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ในไตรมาสแรกของปีนี้สูงถึงร้อยละ
38.6 จากระยะเดียวกันของรอบปี 2538 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 95,020 ล้านบาท
จากภาวะการเติบโตรวมทั้งอัตราผลตอบแทนที่จูงใจแก่นักลงทุน
สำหรับกองทุนดังกล่าวคือเอเชียตราสารหนี้ทวีกำไร และ เอเชียตราสารหนี้ปันผลโดยมีมูลค่ากองทุนละ
5,000 ล้านบาท กำหนดราคาขายหน่วยลงทุนครั้งละ 10 บาท โดยต้องจองซื้อขั้นต่ำ
10,000 บาท มีนโยบายในการลงทุนตราสารหนี้ ที่มีคุณภาพดี แต่มีนโยบายการจ่ายปันผลที่แตกต่างกัน
กล่าวคือกองทุนเปิดตราสารหนี้ทวีกำไรไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล แต่จะนำเงินกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่ม
สำหรับกองทุนเปิดตราสารหนี้ปันผล มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรในแต่ละงวด โดยกองทุนทั้งสองกองจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินส่วนที่เกินทุน
และยกเว้นภาษีเงินปันผลในนิติบุคคลที่ถือหน่วยลงทุน
สำหรับผลการดำเนินการของกองทุนรวมตราสารหนี้ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ วรวรรณ
เล่าว่าทั้งระบบ เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2538 มีอัตราขยายตัวขึ้นถึง
3,259.92 ล้านบาท โดย บลจ.ที่มีส่วนแบ่งการตลาดด้านนี้สูงสุดคือ บลจ. บัวหลวง
เท่ากับ 33.99% หรือมีอัตราการเติบโตถึง 246.94% มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุนรวม
15,234 ล้านบาท อันดับสองคือ บลจ. วรรณอินเวสเม้นท์ มีอัตราการเติบโต 47.23%
มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย 6,210 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ
13.86% ขณะที่บริษัทไทยเอเชียซึ่งมีจำนวนกองทุนตราสารหนี้ 4 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุนจำนวน
2,182 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 4.87%
อย่างไรก็ตามกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ.ไทยเอเชีย ณ วันที่ 24 พ.ค. 2539
มีทั้งสิ้น 7 กองทุน โดยมีมูลค่ารวมทั้งหมด 3,199.69 ล้านบาท
วรวรรณเล่าถึงแผนงานในปีนี้ว่าภายในสิ้นปีนี้ไทยเอเชียพยายามจะเพิ่มกองทุนและสร้างมูลค่าเม็ดเงินให้ได้ถึง
11,043 ล้านบาท
ในส่วนประเภทของกองทุนเมื่อเทียบสิ้นปี 2538 กับไตรมาสแรกของปีนี้ ในส่วนของกองทุนรวมประเภทลงทุนในหุ้นมีถึง
156,220 ล้านบาทลดลง 2.27% กองทุนประเภทตราสารหนี้ มูลค่ารวม 44,814 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นกว่า 100% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่น่าพอใจ แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวลดลง
ซึ่งลูกค้าอาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินลดลง แต่สามารถที่จะเลี่ยงมาลงทุนในตราสารหนี้ประเภทอื่นแทนได้
นอกจากงานประจำในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่บริษัทไทยเอเชียแล้ว วรวรรณยังทำงานรับใช้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำกัดในฐานะกรรมการสมาคมอีกด้วย
วรวรรณ ได้เล่าถึงการประชุมคณะกรรมการสมาคม บลจ. ว่า ได้มีการแบ่งงาน โดยมีคณะทำงานขึ้นมาดูแล
และการพัฒนาตลาดทุนกฎเกณฑ์ใหม่และตราสารอนุพันธ์มีธีระ ภู่ตระกูลเป็นประธานคณะทำงาน
ส่วนเรื่องจรรยาบรรณและการฝึกอบรมนั้น วรวรรณจะเป็นผู้รับผิดชอบเองและในเดือน
ก.ค. นี้จะมีการฝึกอบรมผู้จัดการกองทุนตามที่ ก.ล.ต. ได้กำหนด
สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ววรวรรณมีประวัติการศึกษาที่น่าสนใจโดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรม
จากมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นจึงบินข้ามฟ้าไปศึกษาต่อทางด้านการตลาดที่
NORTH TEXAS STATEUNIVERSITY DENTON, TEXAS, ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อจบการศึกษา วรวรรณก็เริ่มงานครั้งแรกที่บริษัทดาต้าแมท ในตำแหน่ง
ACCOUNT EXECUTIVE เพียงสองปีก็ย้ายงานมารับผิดชอบตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย งบประมาณและวางแผนที่ธนาคารเอเชีย
เธอใช้ชีวิตการทำงานที่ธนาคารเอเชียเกือบ 7 ปี ซึ่งตำแหน่งล่าสุดก่อนจะออกก็คือเป็นผู้จัดการศูนย์บุคคลธนกิจ
หลังจากออกจากธนาคารเอเชียแล้วเธอยังคงคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเงินตลอดมาจนมาเป็นผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายวางแผนและสารสนเทศและเลขานุการคณะกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนาประมาณ
2 ปีเศษ จนกระทั่งธนาคารเอเชียเปิดบริษัทในเครือคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยเอเชีย
จำกัด เมื่อปี 2538 เธอจึงได้รับการเชื้อเชิญให้มาอยู่ใต้ชายคาของธนาคารเอเชียเป็นคำรบสอง
การกลับมาครั้งนี้ แม้ว่าธุรกรรมการเงินจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น
แต่วรวรรณก็เชื่อว่ากองทุนตราสารหนี้ยังไปได้ดี แม้ว่าจะเริ่มช้ากว่าธนาคารอื่นไปบ้างก็ตาม