จะว่าไปแล้ว การรวบรวมที่ดินผืนใหญ่นับหมื่นไร่ ริมถนนสุขุมวิทเมื่อประมาณ
30 กว่าปีที่แล้ว มาพัฒนาเป็น "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" เป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ
อื้อจือเหลียง, อุเทน เตชะไพบูลย์ และ เล็ก เศรษฐภักดีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ดินแปลงปัจจุบันที่กำลังทยอยทำรายได้ให้กับตระกูลเตชะไพบูลย์
ผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลานั้น เจ้าสัวอุเทน ไม่ได้มีความคิดในเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมเลย
เพราะวัตถุประสงค์เดิมก็คือ ตั้งใจจะพัฒนาที่ดินผืนนี้เป็นสวนสนุกแบบดิสนีย์แลนด์ของอเมริกา
โดยตั้งชื่อบริษัทในครั้งนั้นว่าบริษัทแดนสำราญ จำกัด แต่พอปี 2515 ก็เปลี่ยนความคิดใหม่โดยจะตั้งเป็นโครงการอุทยานนครให้ศาสตราจารย์อัน
นิมมานเหมินทร์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบโครงการ
ซึ่งได้แบ่งการใช้ที่ดินออกเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตที่พักอาศัยและเขตพักผ่อนหย่อนใจ
โครงการเมืองอุทยานได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมบางปูเมื่อได้เข้าร่วมกับการนิคมแห่งประเทศไทยเมื่อปี
2520 นับว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมโครงการแรกของเมืองไทย
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อนนั้นที่ดินบางแปลงในนิคมบางปู อาจจะซื้อมาในราคาเพียงตารางวาละ
5 บาท ตกราคาไร่ละ 500 บาทเท่านั้น แต่ที่ดินบางแปลงที่ซื้อเพิ่มมาใหม่ในช่วง
2-3 ปีนี้ราคาตารางวาละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท หรือไร่ละประมาณ 8 หมื่นบาทถึง
1 ล้านบาท
ในขณะที่เมื่อนำมาพัฒนาแล้วปัจจุบันบริษัทขายที่ดินในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมขายไร่ละ
3 ล้านบาทขึ้นไป
บางปูเริ่มพัฒนาที่ดินขายตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา โดยแบ่งการพัฒนาเป็น
2 เฟส เฟสแรกมีจำนวนที่ดินประมาณ 3,700 ไร่ ซึ่งขายหมดไปแล้วตั้งแต่ปี 2530
ในปี 2533 บริษัทเริ่มทำในเฟสที่ 2 อีก 1,500 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2
โซนคือ โซนเอ 650 ไร่ ซึ่งกำลังขายอยู่ และโซนบี 970 ไร่ที่จะเปิดขายเร็ว
ๆ นี้
20 ปีที่ผ่านมาของการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ช่วงที่การขายหนักหนาสาหัสที่สุดของนิคมอุตสาหกรรมบางปู
คือหลังเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียใหม่ ๆ ที่นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศวิ่งหนีหายกันไปหมด
นอกจากเจอภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องหลังสงครามแล้วปรากฎว่าเศรษฐกิจที่ฟูฟ่อง
เป็นฟองสบู่นั้นได้ก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นอีกหลายสิบโครงการ นิคมบางปูจึงประสบปัญหาซ้ำสองคือเรื่องคู่แข่ง
ไพบูลย์ สำราญภูติ คือนักการตลาดมือหนึ่ง ที่ทางบริษัทหวังไว้ว่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ในช่วงวิกฤต
แต่ไพบูลย์ก็อาจจะไม่ค่อยสำราญนักในตอนนั้นเพราะนอกจากสองปัญหาดังกล่าวแล้ว
นิคมบางปูต้องมาเจอกับปัญหากับสำนักงานสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สาม สาเหตุจากที่ว่าปัญหาเรื่องระบบการกำจัดน้ำเสียในโครงการเฟสแรกที่สร้างปัญหาให้กับชุมชนใกล้เคียงเมื่อสิ่งแวดล้อมไม่ผ่าน
ทางสำนักงานที่ดินก็ไม่ยอมออกใบอนุญาต การโอนที่ดินอีกหลายแปลงก็เลยมีปัญหา
กว่าจะแก้ไขในเรื่องนั้นได้นิคมอุตสาหกรรมบางปูต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ข่าวคราวในเรื่องนั้นส่งผลกระทบถึงการขายโครงการในเฟส
2 เช่นกัน
อย่างไรก็ตามไพบูลย์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในอดีตหลังจากลาออกจากนิคมบางปูว่า
เขาประสบความสำเร็จในการขายให้กับนิคมบางปูไม่น้อยกว่า 500 ไร่และบรรลุเป้าหมายแล้ว
จึงได้ลาออกมา
หมดยุคไพบูลย์ นิคมบางปูหาผู้บริหารมารับผิดชอบต่อเป็นเวลานาน จนในที่สุดก็ได้ผู้บริหารหน้าใหม่ล่าสุดคือ
"วันจักร วรดิลก" อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
วันจักรเป็นกรรมการท่านหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ในฐานะตัวแทนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมานาน
จึงรับรู้ปัญหาของการนิคมบางปูมาโดยตลอด พอเกษียณจากการนิคมฯ เมื่อตุลาคม
2537 ก็เลยมานั่งตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปตำแหน่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูเตรียมไว้รอรับทันที
แน่นอนปัญหาแรกที่ต้องรีบจัดการก็คือ ปัญหากับสำนักงานสิ่งแวดล้อม วันจักรบอกว่า
เขาให้เวลาและทุ่มเทในเรื่องการประสานงานกับสิ่งแวดล้อมมาก จนในที่สุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์
2539 ปัญหาเรื่องนี้จึงได้เรียบร้อย
นอกจากนั้นเมื่อเดือนธันวาคม 2538 ได้มีประกาศจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาว่า
ห้ามตั้งและขยายโรงงานที่มีมลภาวะ ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากขอตั้งในเขตของการนิคม
นิคมบางปูกำลังรอรับ "ส้มหล่น" อย่างเต็ม ๆ พื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมในเขตโซนบี
อีก 970 ไร่ จึงกำลังจะเปิดขายในเร็ว ๆ นี้
นอกจากการขายพื้นที่ในโซนบี ยังเตรียมเปิดขายโครงการมินิแฟคตอรี่ในพื้นที่อีก
61 ไร่ ติดถนนสุขุมวิท พร้อม ๆ กับการขายโครงการที่อยู่อาศัยซิตี้วิลเลจ
ซึ่งมีทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ ซึ่งในส่วนนี้ได้ทำการพัฒนามาตั้งแต่ปี
2533 และขายหมดสร้างเสร็จแล้วประมาณ 1,000 หลัง เพื่อรองรับคนงานในจำนวนประมาณ
3 หมื่นคนในโรงงานประมาณ 300 โรงในเฟสแรก
ทุกวันนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ในนิคมบางปูยังคงเป็นของกลุ่มเตชะไพบูลย์ โดยมีอุเทน
เป็นประธาน ยอดยิ่ง เอื้อวัฒนกุล ลูกชายคนโตของอื้อจือเหลียง เป็นรองประธานและมีนิพิธ
โอสถานนท์ ลูกเขยคนโตของอุเทนเป็นกรรมการผู้จัดการ
นับเป็นที่ดินแปลงเก่าที่ยังทำเงินไปได้เรื่อย ๆ ของเตชะไพบูลย์ แถมยังเหลือพื้นที่ดินอีก
2,000 ไร่ ส่วนจะปล่อยขายได้เร็วหรือไม่ก็ต้องฝากไว้กับฝีมือการบริหารและสายสัมพันธ์ของผู้จัดการทั่วไปคนใหม่นี้