|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แปรรูป กฟผ.สุดหินกว่าเดิมหลายเท่า หลังศาลปกครองสั่งยกเลิกพรฎ. 2 ฉบับกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ องค์กรผู้บริโภค-เครือข่ายปกป้องไฟฟ้าประปาสุมหัวต้านต่อเนื่อง หากรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นใครแต่ถ้าเป็นไทยรักไทยยิ่งถูกจับตาเป็นพิเศษ หากคิดนำกลับไประดมทุนเข้าตลาดฯ อีกเหตุมีใบเสร็จผลประโยชน์ทับซ้อนให้เห็นแล้ว "รสนา" ยัน "ไฟฟ้า-น้ำ" คนไทยต้องใช้ถือเป็นกิจการเกี่ยวกับความมั่นคง ช่วงปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้น หลังองค์กรอิสระเป็นง่อย
นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดเผยว่า สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยังยืนยันเจตนารมณ์ที่จะคัดค้านและต่อต้านการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากเห็นว่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐาน ของการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย เป็นความมั่นคงของชาติ หากรัฐบาลใหม่ยังดื้อรั้นหรือดึงดันที่จะนำไปแปรรูป เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกก็เท่ากับว่าพยายามขัดเจตนารมณ์ของศาลปกครองสูงสุด ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาและแก่นแท้ของการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ
"คุณจะมาอ้างว่ามันผิดแค่เทคนิคไม่ได้ เพราะหากดูรายละเอียดที่ศาลปกครอง ชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ชัดเจนว่ายุติแปรรูป กฟผ.ทันทีเพราะการที่จะไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด มันก็ยากที่จะมองว่าผลประโยชน์ไม่ทับซ้อนแล้ว และประชาชนเอง ก็จับตามองอยู่และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะต่อต้านมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวหากยังดื้อดึง"นางสาวรสนากล่าว
ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐบาลใดที่จะมาบริหารประเทศใหม่จากนี้ไป หากแปรรูป กฟผ.ก็จะถูกทุกภาคที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนจับตาและต่อต้านมากขึ้น และยิ่งหากเป็นรัฐบาลไทยรักไทยก็ยิ่งจะเข้มข้นกว่าเดิม เพราะความระแวงจะมีมาก และมีใบเสร็จให้เห็นอยู่แล้วว่ามีเจตนารมณ์ไปในทางที่ไม่ดี และมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นการต่อต้านก็จะทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม
นางสาวรสนากล่าวว่า หากมีการปฏิรูปทางการเมืองคงจะต้องมีการผลักดันให้องค์กรและตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรอิสระถูกแทรงแซงทางการเมือง จนทำให้ประชาชนไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้กับการที่ภาคการเมืองใช้อำนาจไปในทางทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งกรณีของศาลปกครองสูงสุดตัดสินเกี่ยวกับ กฟผ.กระทั่งมีใบเสร็จองค์กรอิสระยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้และการเมืองก็ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำ
ไฟฟ้า-ประปาต้องดูแลประชาชน
นางสาวรสนากล่าวว่า กิจการเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้านั้น ไม่ควรจะดำเนินการแปรรูปหากแต่ควรจะปรับปรุงประสิทธิภาพเท่านั้นเพราะเมื่อใดที่แปรรูปแล้วนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรัชญาของการดำเนินงานที่จะต้องดูแลคนไทย โดยไม่แสวงหากำไรนั้นจะกลับเป็นตรงกันข้าม ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ปตท. ที่เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็ไม่สามารถตรึงราคาได้อีกต่อไป เพราะเป็นเอกชนแล้วแม้รัฐจะถือหุ้นใหญ่ก็ตาม แต่ต้องคำนึงผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ก็ยังโชคดีที่กิจการน้ำมันนั้น มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ซึ่งต่างจากไฟฟ้าที่เป็นระบบผูกขาด
"จริงๆ แล้วไฟกับน้ำนั้นถือว่าคนไทยใช้มาก น้ำมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น กิจการนี้ต่างกันเราเห็นว่าอะไรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของคนก็ไม่ควรจะแปรรูปให้จุดประสงค์ขององค์กรมันเปลี่ยนไป เหมือนกับที่เราบอกว่าบ้านเราเก่า เราไม่มีเงิน แล้วก็เอาบ้านไปขาย ซึ่งเมื่อคนอื่นมาซื้อมาปรับปรุง บ้านมันก็ไม่ใช่บ้านของเราแล้ว" น.ส.รสนากล่าว
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการปฏิรูปการเมือง โดยจะเสนอให้มีการทบทวนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ด้วยการการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ตามชุมชุมต่างๆ อย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กว่า 2 แสนล้านบาท ตามที่รัฐบาลมักหยิบยกนำมาเป็นข้ออ้าง ในการนำ กฟผ.เข้าตลาดฯ
"เชื่อว่ารัฐบาลไทยรักไทยยังมีแนวคิดที่จะแปรรูป กฟผ.อยู่ดี ซึ่งก็คงต้องเหนื่อยกันอีกหลายยก เพราะที่ทราบอาจจะปรับรูปแบบโดยการนำบริษัทลูกเข้าแทน ซึ่งก็ยังเป็นการพึ่งพิงตลาดทุนอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ มองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดี ที่จะมีการปฏิรูประบบไฟฟ้า เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาล น่าจะรับฟังความคิดจากภาค ประชาชนมากขึ้น" น.ส.สายรุ้งกล่าว
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า สร.กฟผ.และเครือข่ายปกป้องไฟฟ้าและประปาเพื่อชาติและประชาชน จะมีการต่อต้านการแปรรูปกฟผ.และประปาต่อไปอีกแน่นอน และเชื่อว่าภาคประชาชนจะตื่นตัว ในการจับตาการแปรรูปของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม
ประปาร่วมด้วย
นายสมสิทธิ์ ศรีนาชู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า สร.กปน.ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของ กปน.แล้วว่าควรจะต้องยุติการแปรรูป เพราะกิจการน้ำก็ไม่ต่างจาก กฟผ.มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลประชาชนคนจนอีกจำนวนมาก หากเข้าตลาดฯ แล้วปรัชญาการดำเนินงานย่อมเปลี่ยนไป ดังนั้นหากยังมีนโยบายแปรรูป ทาง สร.กปน.ก็จะต่อต้านต่อไป
ไทยรักไทยหัวชนฝาแปรรูปกฟผ.
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานที่ดี และสร้างผลประโยชน์กับประเทศและเศรษฐกิจ แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ. ทั้ง 2 ฉบับไปแล้ว เนื่องจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อเป็นนโยบายก็ควรจะดำเนินการ แต่จะดำเนินการด้วยวิธีที่ถูกต้อง และให้สังคมยอมรับ ซึ่งหากยังมีการต่อต้านอยู่รัฐบาลก็ต้องแบกรับภาระในการดูแลรัฐวิสาหกิจต่อไป
นักวิชาการชี้มาตรฐานดีขึ้น
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บลจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อกรณี กฟผ.จะเป็นมาตรฐานใหม่ต่อแนวทางการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจจากนี้ไป ที่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและสิ่งสำคัญสุดต่อให้รูปแบบหรือเทคนิตต่างๆ ทำถูกต้องและดีอย่างไร หากประชาชนไม่ไว้ใจคนที่ทำหน้าที่แปรรูป ก็ยากที่จะดำเนินการได้เพราะย่อมถูกต่อต้าน ซึ่งจากนี้ไปหากมีการขุดคุ้ยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา หากมีปัญหาเช่นเดียวกับ กฟผ.ก็ยิ่งทำให้ความไว้ใจน้อยลงแต่หากไม่มีมาก ก็จะทำให้ปัญหาของกฟผ.เบาลงไปด้วย
"ภาพรวมการแปรรูปยังดำเนินการต่อไปได้ แต่จะต้องมีการแยกอำนาจผูกขาดที่เป็นในส่วนของอำนาจรัฐออกมา ทั้งด้านสายส่ง ระบบท่อก๊าซ เพื่อปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าโดยรวม และมีพระราชบัญญัติประกอบกิจการไฟฟ้ารองรับที่จะมีองค์กรอิสระมากำกับดูแล เพื่อความเป็นธรรม"นายปิยสวัสดิ์กล่าว
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลหน้าเข้ามา ก็จะต้องเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป ไม่ใช่แค่ กฟผ.เท่านั้น เพราะการแปรรูปจะทำให้ลดต้นทุนการลงทุนได้มาก และช่วยลดภาระหนี้สินสำหรับประเทศด้วยแต่ที่ผ่านมากรณีของ กฟผ.มีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร
"นโยบายไม่ผิดแต่ขั้นตอนดำเนินงานหลายๆ ด้านผิดพลาด อยากให้พิจารณาว่าการแปรรูป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องผิดทั้งหมด กรณีกฟผ.เองผิดพลาดที่ใช้โครงสร้างแบบผูกขาดหรือ ESB ก็ควรทบทวนและใช้โครงสร้างที่มีความเหมาะสมกว่านี้ ไม่ใช่เป็นเอกชนแล้วยังผูกขาดก็ไม่ถูกต้อง"นายเทียนไชยกล่าว
น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 หากพิจารณาเป็น พ.ร.บ.ทุนมีหน้าที่เพียงครึ่งเดียว คือการแปลงสภาพองค์กรให้เป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) ส่วนการกระจายหุ้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจพ.ร.บ.นี้ ซึ่งหากตีความเช่นนี้ รัฐบาลก็เข้าข่ายทำเกินอำนาจ ด้วยการใช้ พ.ร.บ.ทุนฯ มากระจายหุ้น ทั้งที่ถูกต้องจะต้องมาทำกฏหมายใหม่เพื่อการกระจายหุ้นอีกฉบับหนึ่ง และหากไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาล เชื่อว่าจะมีการเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป หากแต่ระวังกระบวนการมากขึ้น แต่ทั้งนี้ หากการแปรรูปโดยยังคงระบบผูกขาด ไม่แยกอำนาจรัฐออกมาชัดเจนทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม ก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดิม
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ต้องการเห็นการนำสิทธิผูกขาดซื้อ-ขาย และระบบท่อก๊าซธรรมชาติออกม าเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและการดำเนินการ จะต้องทำให้เสร็จก่อนการแปรรูป โดยตัวอย่าง ปตท.จะเห็นว่าการแยกท่อก๊าซฯ ถูกระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ปตท. ซึ่งเป็นการคุ้มครองหรือประกันความเสี่ยงนักลงทุน แต่กับผู้บริโภคกลับไม่มี ดังนั้นอนาคตก็ควรจะต้องสร้างระบบการประกัน ไว้ให้กับประชาชนเช่นกัน
สำหรับการแปรรูป กฟผ.หากยังเป็นระบบผูกขาด ก็ยังคงเป็นปัญหาอีกเช่นกัน ซึ่งได้เคยสอบถามถึงผลการศึกษาของบริษัทบอสตัน คอนเซ้าท์ติ้งกรุ๊ป ที่ไม่แยกระบบสายส่ง และผลิตไฟฟ้าออกจากกันนั้น ทางบริษัทฯชี้แจงว่าเป็นเงื่อนไขของ บมจ.กฟผ.ที่กำหนดไว้แล้วตั้งแต่แรกทำให้ต้องเลือกรูปแบบนี้ ดังนั้นเห็นว่ารูปแบบต้องเปลี่ยนใหม่
|
|
|
|
|