"พาณิชย์"ยันเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่อ ไม่ว่าระบอบทักษิณจะคงอยู่หรือไม่ เผยมีความจำเป็นในการเปิดตลาด และสกัดการเสียเปรียบคู่แข่ง นักวิชาการขอให้ทบทวน เพราะนโยบายเอฟทีเอแบ่งคนออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งคนค้านและสนับสนุน แต่เชื่อคงหยุดไม่ได้ เหตุรัฐบาลตั้งธงลุย ระบุถ้าอยากทำต่อ ควรให้เกิดประโยชน์แก่คนทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะแค่ของตนและพวกพ้อง ขณะที่เอกชนขอให้ทำต่อ
แหล่งข่าวจากจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมงานของกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะการเจรจากับสหรัฐฯ ได้ชะลอการเจรจาลง เพื่อรอให้มีรัฐบาลใหม่ มากำหนดนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เพราะการทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ หากกำหนดท่าทีในการเจรจาไม่ชัดเจน อาจจะถูกคัดค้านและต่อต้านจากกลุ่มคนในประเทศที่ได้รับผลประทบได้
"ตอนนี้ กำหนดการเจรจาต่างๆ ที่ตั้งไว้ เราได้แจ้งไปทางสหรัฐฯ ว่าขอชะลอการเจรจาออกไปก่อน เพราะขณะนี้รัฐบาลของเราเป็นรัฐบาลรักษาการ การดำเนินการใดๆ อาจจะทำได้ไม่เต็มรูปแบบ โดยหากมีรัฐบาลใหม่ เมื่อใด ไทยจะให้คำตอบที่ชัดเจนว่าพร้อมหรือไม่พร้อมในการเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ"แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ คงต้องเดินหน้าต่อไป เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากอาเซียน โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา 17,065 ล้านเหรียญสหรัฐ หากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ไทยจะเสียประโยชน์ในการบุกเจาะตลาดจากการที่สหรัฐฯ ลดภาษีสินค้า และจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ
ยกตัวอย่างสถานะล่าสุด หลังจากจบการเจรจารอบ 6 เมื่อเดือนม.ค.2549 ที่ผ่านมา ในส่วนสินค้าอุตสาหกรรม สหรัฐฯเสนอลดภาษีเป็นศูนย์ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ เป็นมูลค่ากว่า 12,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 74% ของการนำเข้ารวมจากไทย ส่งผลให้สินค้าไทยกว่า 8,100 รายการ จากทั้งหมด 10,500 รายการ เข้าตลาดสหรัฐฯ โดยไม่เสียภาษีนำเข้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกรายการ ผลิตภัณฑ์ทำจากไม้และยาง เครื่องแก้วและเซรามิค ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีเครื่องประดับ กลุ่มอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มบางรายการ
ส่วนไทย ได้เสนอยกเลิกภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ทันทีประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 71% ของมูลค่าการนำเข้ารวมของไทยจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่อ่อนไหว แต่รายการสินค้าที่มีความอ่อนไหวมากของไทย เช่น เนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์นม ข้าวโพด มันฝรั่ง ชา กาแฟ หัวหอม ไทยเสนอให้มีกรอบการลดภาษีนานกว่า 10 ปี หรือเป็นสินค้าที่อยู่ในโควตา และสามารถใช้มาตรการปกป้อง หากนำเข้าสินค้าเหล่านั้นมากจนมีผลกระทบต่อสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศ
นอกจากนี้ ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ไทยเสนอให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบ ลดมาตรการอุดหนุนภายในในสินค้าบางรายการ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขัน ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งครอบคลุมการค้าบริการ การลงทุน การเปิดเสรีภาคการเงิน โทรคมนาคม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือรูปแบบ และแนวทาง ในการเปิดตลาดรายสาขา โดยไทยเสนอเรื่องมาตรการปกป้อง และข้อจำกัดเพื่อปกป้องดุลการชำระเงินด้วย
ขณะที่การเจรจาหัวข้อบริการทางการเงิน ไทยได้ผลักดันให้สามารถใช้มาตรการเพื่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจมหภาค เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจจากการ เปิดเสรี ส่วนด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งที่คนกลัวเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งสหรัฐฯ ได้มีข้อเสนอแล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายยังตกลงที่จะให้มีความร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯได้ง่ายขึ้น โครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย โครงการความร่วมมือเกี่ยวกับมาตรฐานและความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นรัฐบาลไทยรักไทยหรือไม่ แต่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าการเจรจาเอฟทีเอคงต้องเดินหน้าต่อ เพราะจะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว แต่ก็ยอมรับว่าในการเจรจามันต้องมีคนได้คนเสีย ซึ่งก็ต้องมีมาตรการออกมารองรับ แต่การจะมาหยิบยกแค่ความเสียหายในบางส่วน แล้วยกเลิกการเจรจาทั้งหมด คงไม่ได้ ไม่เช่นนั้น ไทยจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง
โดยเฉพาะเอฟทีเอกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็ต้องทำต่อ ซึ่งในส่วนของญี่ปุ่น ที่แต่เดิมจะมีการลงนามในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และชะลอการลงนามไป เพราะรัฐบาลยุบสภา หากมีรัฐบาลใหม่ ก็ควรจะหาทางลงนามให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะสินค้าเกษตรของไทยจะสามารถเปิดตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการเปิดเสรีสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่นนั้น สินค้าข้าวซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของญี่ปุ่นไม่มีการเจรจา ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดให้ไทยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้แก่
1.กลุ่มที่ญี่ปุ่นเลิกภาษีทันที เช่น กุ้งสด กุ้งต้ม กุ้งแช่เย็น แช่แข็งและกุ้งแปรรูป ลดจากประมาณ 5% ผลไม้เมืองร้อนสด เช่น ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด มะพร้าว ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง หรือแช่ในน้ำตาล ลดจาก 10-12% ผักและผลไม้แปรรูป-กระป๋อง ลดจาก 15% เป็นต้น ผักสดแช่เย็น แช่แข็งประเภทฟักทอง ถั่วต่างๆ เห็ด มะกอก กระเจี๊ยบ
2.กลุ่มที่ญี่ปุ่นยอมลดภาษีให้แต่ไม่เป็นศูนย์ หรือไม่ได้เป็นศูนย์ทันที เช่น ไก่ปรุงสุก ลดจาก 6% เป็น 3% ใน 5 ปี ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ลดจาก 11.9% เป็น 8.5% ใน 5 ปี อาหารทะเลสำเร็จรูป ลดจาก 9.6% เป็น 0% ใน 5 ปี ปลาหมึกกล้วยแช่เย็นแช่แข็ง ลดจาก 9.6% เป็น 0% ใน 5 ปี ปลาแช่เย็นแช่แข็ง ยกเลิกภาษีใน 5 ปี ปลาปรุงแต่ง (ปลาแซลมอน) ยกเลิกภาษีใน 5 ปี เป็นต้น
3.กลุ่มที่ญี่ป่นให้โควตา เช่น กล้วย ให้โควตาปลอดภาษี 4,000 ตันในปีแรก และทยอยเพิ่มเป็น 8,000 ตันในปีที่ 5 แป้งมันสำปะหลังแปรรูปที่ใช้ในอุตสาหกรรม ให้โควตาปลอดภาษี 200,000 ตัน กากน้ำตาล ให้โควตา 4,000 ตันในปีที่ 3 และเพิ่มเป็น 5,000 ตันในปีที่ 4 สับปะรดสดให้โควตาปลอดภาษี 100 ตันในปีแรก และเพิ่มเป็น 300 ตันในปีที่ 5 4.กลุ่มที่ต้องนำกลับมาเจรจาใหม่ในอีก 5 ปีหรือน้อยกว่า เช่น น้ำตาลทรายดิบ สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลังดิบ และ5.กลุ่มที่ญี่ปุ่นไม่ยอมเจรจา เช่น ข้าวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว สินค้าที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลในอัตราส่วนที่สูง สินค้าที่จำหน่ายโดยรัฐบาล เช่น ข้าว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นเสนอจะลด/เลิกภาษีให้ไทย ได้แก่ รองเท้า ยกเลิกโควตาและลดภาษีเป็น 0% ใน 7-10 ปี อัญมณีและเครื่องประดับ ยกเลิกภาษีทันที ยกเว้นไข่มุกเทียมยกเลิกภาษีใน 7 ปี และสิ่งทอยกเลิกภาษีทันที
ขณะที่ไทยเสนอเปิดตลาดให้ญี่ปุ่นในส่วนสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ต่างๆ อาทิ แอปเปิล พีช แพร์ ลูกเบอร์รีต่างๆ มะละกอ มะนาวฝรั่ง พรุน ยกเลิกภาษีทันที ส่วนสตรอเบอร์รี่ แตงโม และแตงอื่นๆ แครอท จะทยอยเลิกภาษีใน 2 ปี สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เหล็กรีดร้อนที่ไม่มีการผลิตในไทย หรือภาษีต่ำอยู่แล้ว จะยกเลิกภาษีทันที เหล็กรีดร้อนที่ผู้ผลิตไทยผลิตได้ไม่พอ จะให้โควตาปลอดภาษีนำเข้าเพื่อผลิตรภยนต์ เหล็กรีดร้อนอื่นๆ และนอกโควตาจะยังคงภาษีไว้ 10 ปี และยกเลิกภาษีในปีที่ 11 เหล็กอื่นๆ มีทั้งยกเลิกภาษีทันที คงไว้ 6 ปี และยกเลิกในปีที่ 7 รวมถึงคงภาษีไว้ 8 ปีเริ่มลดในปีที่ 9 และเป็นศูนย์ในปีที่ 10
ส่วนสินค้ายานยนต์ ประเภทที่มีภาษีเกิน 20% จะลดเหลือ 20% ทันที แล้วคงภาษีไว้ที่อัตราปัจจุบัน 4 ปี ยกเลิกในปีที่ 5 ประเภทที่มีภาษีเท่ากับหรือต่ำกว่า 20% จะคงภาษีไว้ที่อัตราปัจจุบันเป็นเวลา 4 ปี และยกเลิกในปีที่ 5 ประเภทอ่อนไหว (เครื่องยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์) 5 รายการ คงภาษีที่อัตราปัจจุบันไว้ 6 ปี และยกเลิกในปีที่ 7 ขณะที่ยานยนต์สำเร็จรูปนั้น ขนาดต่ำกว่า 3000 ซีซีจะเจรจาใหม่ในอีก 5 ปี ส่วนขนาดเกิน 3000 ซีซีขึ้นไปลดภาษีลงปีละ 5% จากอัตราปัจจุบันที่ 80% ในปีแรก และทยอยลดจนเป็น 60% ใน 3 ปี แล้วคงอัตราที่ 60% ไว้จนกว่าจะมีการเจรจาใหม่
สำหรับการเปิดเสรีภาคบริการนั้น ญี่ปุ่นรับจะเปิดเสรีให้ไทยใน 138 สาขา ซึ่งในจำนวนนี้ 65 สาขาย่อยเป็นการเพิ่มเติมจากที่ญี่ปุ่นผูกพันไว้ในองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เช่น บริการโฆษณา บริการร้านอาหาร บริการจัดการประชุม บริการโรงแรม บริการจัดเลี้ยง บริการก่อสร้าง บริการวิศวกรรมโยธา บริการค้าปลีก-ส่ง บริการดูแลคนป่วย/คนสูงอายุ บริการสปา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความร่วมมือด้านต่างๆ ร่วมกันอีก เช่น ความร่วมมือสาขาเกษตร ป่าไม้ และประมง ประกอบด้วย 2 ด้านคือ ความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร และความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังจะให้การสนับสนุนไทยในโครงการครัวไทยสู่โลก โครงการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) โครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็ก โครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โครงการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ เอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เอฟทีเอไทย-อินเดีย เอฟทีเอไทย-เปรู เอฟทีเอไทย-บิมเทคส์ เอฟทีเอไทย-เอฟต้า โดยเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เจรจาจบแล้ว อยู่ระหว่างการรอลงนาม ขณะที่เอฟทีเอที่เจรจาเสร็จและลงนามไปแล้ว ได้แก่ เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย เอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ และอาเซียน-จีน
ติงอย่ามองแค่ตนและพวกได้ถึงทำ
นายอัทธิ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลคงจะผลักดันเอฟทีเอให้เดินหน้าต่อ แต่คงไม่ง่ายที่จะทำสำเร็จ เพราะเริ่มมีกระแสการคัดค้านที่หนาตัวขึ้น ภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกร ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เริ่มแสดงความกังวล และเริ่มออกมาคัดค้านการทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา
"เห็นว่ารัฐบาลควรทบทวนการทำเอฟทีเอว่าจะเดินไปข้างหน้าหรือหยุดไว้ก่อน แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่หยุด เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะทำเอฟทีเอ ดังนั้น ในเมื่อไม่หยุด และบอกว่าจะมีการปฎิรูปการเมือง ก็ควรจะปฎิรูปนโยบายเศรษฐกิจไปด้วย โดยเฉพาะเอฟทีเอ ที่เป็นนโยบายก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคม ไม่ใช่มองแค่ว่า SMEs อยู่ไม่ได้ เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ใครอยู่ไม่ได้ ก็ตายไป"
นายอัทธ์ย้ำว่า ในการเจรจา ไม่ใช่มองแค่ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการในภาคที่ตนรู้จัก หรือผู้ประกอบการที่สนับสนุนรัฐบาลได้ประโยชน์ ก็เดินหน้าเจรจา แต่คนอื่นตายช่างมัน เพราะการจาควรจะมองในทุกๆ ภาคส่วน ต้องมองทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม หรือกลุ่มธุรกิจ (คลัสเตอร์) ต้องทำให้คนทั้งระบบได้ประโยชน์ โดยต้องยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา การเจรจากับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่พัฒนาแล้ว ต้องระวังให้มาก และต้องคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มาก
เอกชนหนุนเดินหน้าเอฟทีเอ
นายเธียรชัย มหาศิริ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนเห็นว่านโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การเจรจาเอฟทีเอต่อทันที เพราะมีความสำคัญกับการค้าไทย โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เพราะหากไทยมีท่าทีชะงักการเจรจา สหรัฐฯ อาจถอนการลงทุนในไทยกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้ และการชะลอหรือหยุดการเจรจา จะทำให้ไทยขาดแต้มต่อในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
"ขณะที่ไทยก็ต้องการเอฟทีเอเป็นเครื่องมือการค้าระหว่างประเทศ หลังจากต้นทุนอุตสาหกรรมไทยสูงขึ้นทุกปี ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง หากการเจรจาเอฟทีเอไม่มีจะทำให้คู่ค้าหันไปวางแผนระยะยาวการสั่งสินค้าจากเวียดนาม และจีนแทน"
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โอกาสที่การเจรจาเอฟทีเอโดยเฉพาะกับสหรัฐฯ จะยืดเยื้อคงมีสูง เพราะรัฐบาลที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ คงให้ความสำคัญกับการปฎิรูปการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้ เห็นว่าไม่ควรที่จะทิ้งเอฟทีเอ ควรจะมีการเดินหน้าต่อ แต่ควรจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้มากขึ้น เพื่อให้การเจรจาเอฟทีเอไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้อีกกลุ่มเสียประโยชน์
|