|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปมปริศนาที่เทมาเส็กแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ จ่ายให้ผู้ถือหุ้นใหญ่"ชินวัตร-ดามาพงศ์" ยอมขาดทุน ที่ซื้อหุ้นแพงกว่าความเป็นจริงมากกว่า 20% โบรกเกอร์ปรับเป้ารายได้หดทั้งจากสินค้าถูกต่อต้านและโปรโมชั่นสงครามราคา คนวงการหุ้นกังขาเหตุใดกองทุนสิงคโปร์ยอมขาดทุน
นับตั้งแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN จำนวน 1,487.74 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.59% เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมาให้กับจากบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ ราคาที่เสนอซื้ออยู่ที่ 49.25 บาท โดยจ่ายเงินให้กับลูกชายและลูกสาวและญาติของนายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 7.3 หมื่นล้านบาท
การซื้อหุ้นในครั้งนั้นเป็นการซื้อกันในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ทั้ง ๆ ที่ความต้องการที่แท้จริงคือต้องการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือในนามบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ชิน คอร์ป ถือหุ้นอยู่ 42.86% แต่ถ้าเทมาเส็กจะเข้ามาซื้อ ADVANC โดยตรงบริษัท SHIN จะต้องเสียภาษี ส่งผลให้สถานการณ์ลามกระทบจนเกิดการยุบสภาและการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร
ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นชิน คอร์ป บริษัทสื่อสารอันดับหนึ่งของประเทศไทยกับภาคการเมืองนั้น ยากที่จะแยกกันออกในทางพฤตินัย เนื่องจากทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ก่อตั้งกิจการในกลุ่มชิน คอร์ป และผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลในตระกูลและเครือญาติ
การขายหุ้นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้จะผ่านพ้นไปท่ามกลางข้อกังวลของประชาชนและภาคการเมือง ตัวแทนจากสิงคโปร์นามซีดาร์และแอสเพนที่มีคนไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย ระบุว่าได้จ่ายเงินให้กับผู้ขายหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว
ทุ่มเงินกว่า 1.4 แสนล้าน
นอกจาก 7.3 หมื่นล้านบาทที่จ่ายให้กับตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์แล้ว เทมาเส็กยังต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ SHIN ทั้งหมด โดยรับซื้อหุ้นอีกทั้งสิ้น 1,418.13 ล้านหุ้น ใช้เงินอีก 6.98 หมื่นล้านบาท และยังต้องรับซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น SHIN อีก 159 ล้านหน่วย เบ็ดเสร็จการเข้าซื้อหุ้น SHIN ครั้งนี้ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 1.47 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามมติกรรมการบริษัท SHIN ได้มีมติจ่ายปันผลงวด 6 เดือนหลังของปี 2548 หุ้นละ 1.35 บาท โดย 2 บริษัทที่เข้าซื้อจะได้เงินปันผล 3.92 พันล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2548 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้รับปันผลไปแล้ว 1.86 พันล้านบาท และถ้ากลุ่มเทมาเส็กใช้สิทธิแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญจะต้องใส่เงินอีก 3.26 พันล้านบาท และถ้าขายที่ราคา 36.50 บาทก็จะได้กำไรราว 2.55 พันล้านบาท หากเป็นเช่นนั้นเทมาเส็กก็จ่ายเงินเพียง 1.41 แสนล้านบาท
"ราคาที่เทมาเส็กซื้อถือว่าเป็นราคาที่แพงกว่าความเป็นจริงมาก ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใดทางเทมาเส็กจึงยอมจ่ายที่ราคาดังกล่าว ซึ่งกลุ่มทุนระดับโลกเช่นนี้จะต้องทราบว่าราคาที่แท้จริงควรเป็นราคาที่เท่าใด"แหล่งข่าวกล่าว
การซื้อบริษัทที่เป็นโฮลดิ้งส์จะต้องประเมินราคาจากบริษัทลูกตัวอื่น ๆ เข้ามาเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกต้อง แต่งานนี้มีการตั้งราคาที่บวกพรีเมี่ยมไว้ค่อนข้างสูงกว่า 20% ทั้งที่เมื่อประเมินความเสี่ยงจากบริษัทลูกแล้วผู้ซื้อควรจะต้องตั้งราคาซื้อแบบมีส่วนลดจากมูลค่าที่แท้จริง สุดท้ายราคาก็ต้องกลับเข้ามาสู่สภาพความเป็นจริง แต่อาจจะเร็วกว่าที่ควรเนื่องจากมีสถานการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
หากนับจากราคาที่รับซื้อที่ 49.25 บาท กับหุ้นที่ทำซื้อตรงและหุ้นในส่วนที่ทำคำเสนอซื้อ 2.9 พันล้านหุ้น เทียบกับราคาที่ 36.50 บาท เท่ากับเทมาเส็กขาดทุนไปแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาทหรือราว 26%
บอยคอตได้ผล
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของชิน คอร์ปอย่างเทมาเส็ก อาจต้องได้รับความเจ็บปวดอีกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทลูกไม่ว่าจะเป็น ADVANC หรือ ไอทีวี ที่คำสั่งศาลจะเป็นตัวชี้ว่ามูลค่าของ ITV จะลดลงแค่ไหน หลังจากที่ผ่านมาได้ยึดคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการที่กำหนดให้สถานีข่าวแห่งนี้เปลี่ยนสัดส่วนการนำเสนอข่าว 70% เหลือแค่ 50% และค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ 1,000 ล้านบาท ตามสัญญาสัมปทานเหลือเพียง 230 ล้านบาท
กรณีของ ADVANC ซึ่งเทมาเส็กต้องการมากที่สุดนั้นขณะนี้ได้รับผลกระทบจากกระแสการต่อต้านสินค้าจากสิงคโปร์ ด้วยการยกเลิกใช้ซิมการ์ดของเอไอเอส แล้วเปลี่ยนไปใช้บริการของเจ้าอื่นแทน แม้เครือข่ายของเอไอเอสจะครบคลุมและให้สัญญาณชัดเจนทั่วประเทศ เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น แต่จากตัวเลขลูกค้าเพิ่มสุทธิของบริษัทลดลงอย่างมากจาก 103,700 เลขหมายเมื่อเดือนมกราคม เหลือเพียง 33,600 หมายเลขในเดือนกุมภาพันธ์ หรือลูกค้าใหม่หดหายไปราว 68% โดยลูกค้าโพสเพดลดลง 25,800 หมายเลข ส่วนลูกค้าพรีเพดเพิ่มขึ้น 59,400 หมายเลขเท่านั้น
ลดเป้ารายได้
คาดว่าเดือนมีนาคมและเมษายนลูกค้าใหม่ของ ADVANC คงจะลดลงไปอีก เนื่องจากเป็นช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองเข้มข้นที่สุดและมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง เชื่อว่าโบรกเกอร์หลายแห่งได้มีการลดประมาณการรายได้ของบริษัทลง ทั้งจากปัจจัยการบอยคอตสินค้าของเอไอเอสและตัวโปรโมชั่นใหม่ที่เพิ่งออกมาทั้งระบบพรีเพดและโพสเพด นาทีแรก 3 บาท นาทีที่ 2-3 คิดนาทีละ 1 บาท และตั้งแต่นาทีที่ 4 โทรฟรี ถือเป็นการทำสงครามราคาของ ADVANC อย่างเต็มตัว โปรโมชั่นดังกล่าวย่อมทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขลดลง
ทั้งนี้คงต้องหวังพึ่งยอดลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามา จะต้องมากเพียงพอที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวบริษัท ซึ่งถือไม่ใช่เรื่องง่ายนักจากกระแสการต่อต้านสินค้าของเอไอเอสในเวลานี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ADVANC หลังจากการถือหุ้นใหญ่ใน SHIN เชื่อว่าผู้ที่เข้ามาซื้อน่าจะทราบดีทั้งในเรื่องราคาและตัวบริษัทที่ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับการเมือง ไม่มีใครรู้ว่าการจ่ายแพงของเทมาเส็กนั้นคุ้มค่าในนามของกองทุนที่เป็นภาคเอกชนหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้รับสิทธิประโยชน์จากประเทศไทยไปไม่น้อยเช่นกัน
|
|
|
|
|