|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลังจากที่กลุ่มทรู ได้ซื้อหุ้นของยูบีซีคืนจากกลุ่ม MIH ของแอฟริกาใต้เมื่อปลายปี 48 ที่ผ่านมา จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยเบ็ดเสร็จ ก็ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญออกมา
ล่าสุด "ทรูยูบีซี" (ชื่อใหม่ของยูบีซี ซึ่งสังเกตว่าจะใช้แบรนด์หลักชื่อเดียวคือ "ทรู" และใช้ "ยูบีซี" เป็นซับแบรนด์สำหรับธุรกิจเคเบิ้ลทีวี) ได้ทำในสิ่งที่ผมเคยคาดเดาเอาไว้ นั่นคือการออกยูบีซีเวอร์ชั่น "โลว์คอสต์"
"ภาพรวมสถานการณ์ตลาดเคเบิ้ลทีวีมีการแข่งขันสูง และมีอัตราการเติบโตที่ถดถอย หรือเติบโตประมาณปีละ 10% เศษ จากเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้การเติบโตตลาดรวมจะมากกว่านี้
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ต้องลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออก ประกอบกับราคาค่าสมาชิกเคเบิ้ลทีวียังไม่เหมาะกับคนไทยในกลุ่มระดับกลางลงมา ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ"
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ. ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ ยูบีซี ฉายภาพกว้าง ๆ ให้เห็น หรือนั่นคือ "ราคา" ยังเป็นอุปสรรคของการเติบโต ซึ่ง "เคเบิ้ลท้องถิ่น" พยายามจะทลายกำแพงนี้
นี่ยังไม่นับความพยายามจะนำเสนอสินค้าคล้าย ๆ กับเคเบิ้ลทีวีอย่าง "ทีวีดาวเทียม" ของค่ายสามารถ (ที่จ่ายค่าอุปกรณ์เสร็จแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการรายเดือนอย่างเคเบิ้ลทีวี)
เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าและกระตุ้นให้ตลาดเคเบิ้ลทีวียังเติบต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ยูบีซีจึงออกแพกเกจใหม่ "True Knowledge (Bronze) Package" อัตราค่าบริการเพียงเดือนละ 340 บาท จับเป้าหมาย "ตลาดกลุ่มระดับรากหญ้า"
... กลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท ต่อเดือน แบ่งเป็นตลาดต่างจังหวัด 60% และ ตลาดกรุงเทพ 40%
แพกเกจราคาประหยัดนี้สามารถเลือกชมได้ 42 ช่องรายการ เน้นรายการที่เป็นสาระความรู้ แก่เยาวชน และ ครอบครัว ตั้งเป้าปีแรกจะมีผู้สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกในแพกเกจนี้ไม่น้อยกว่า 200,000 ราย
นอกจากนี้ ยูบีซียังได้เปิดตัวอีก 5 ช่องใหม่ โดยได้ลงทุนในเรื่องของระบบและการจัดทำเนื้อหารายการบางส่วนอีกเกือบ 500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดตัวจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ เริ่มที่ช่อง UBC Explore 1 (ช่อง 61) เป็นรายการสารคดีจากทุกมุมโลก , ช่อง UBC Movie Hits (ช่อง 53) เสนอภาพยนตร์ทำเงินจากต่างประเทศทั่วโลก และ ช่อง UBC Music Channel (ช่อง 34) เป็นช่องเพลงไทย และเพลงพื้นบ้านของแต่ละภาคของประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนในไตรมาสสามจะเปิดตัวช่อง UBC Explore 2 และ 3 ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโลโลยี และประวัติศาสตร์
"เราตั้งความหวังให้ ยูบีซี และ แพกเกจใหม่นี้เป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ ให้เข้าถึงคนไทยในทุกเซกเมนต์ นอกจากนั้นในอนาคตจะพิจารณาเปิดช่องรายการใหม่ๆเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง" ซีอีโอทรูยูบีซีเผย
หลังแพ็คเกจนี้ออกไป ยูบีซีหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน "โครงสร้างลูกค้า" โดยขยายฐานในกลุ่มรากหญ้าให้มีสัดส่วนใหญ่ขึ้น และดึงลูกค้าเก่าที่เคยเอาใจออกห่างให้กลับเข้ามาเป็นลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง
"สมาชิกเดิมสามารถเปลี่ยนมาใช้แพกเกจนี้ได้ แต่ด้วยการดีไซน์แพกเกจมองว่า ลูกค้าเก่าจะเปลี่ยนมาใช้แพกเกจใหม่น้อยมาก เพราะเราได้ศึกษาข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันมองว่า แพกเกจใหม่นี้ จะช่วยดึงลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการแพกเกจ โกลล์ แล้วบอกยกเลิกไปแล้ว ให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง"
ปัจจุบันสมาชิกยูบีซี แพกเกจโกลด์ มีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 90% (โดยมีอัตราค่าสมาชิกต่อเดือนที่ 1,412.97 บาท) อันดับ 2 คือ ซิลเวอร์ มีส่วนแบ่ง 7% (ค่าสมาชิกเดือนละ 750 บาท) และ แพกเกจแพลททินั่ม มีส่วนแบ่ง 3% (ราคาสมาชิกเดือนละ 2,000 บาท)
"หลังจากแพกเกจนี้ออกไป คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลง โดยแพกเกจใหม่จะมีส่วนแบ่งที่ 40% ในปีหน้า รองมาคือโกลด์ โดยสัดส่วนจะลดหลั่นกันลงไปตามสัดส่วน แต่จะได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น" ศุภชัยกล่าว
เหตุผลที่แท้จริงในการออกแพกเกจนี้คืออะไร? ทรูยูบีซีจะขยายฐานลูกค้าได้สำเร็จไหม? และคู่แข่งรายอื่น ๆในตลาด (อย่างเช่นเคเบิ้ลท้องถิ่น หรือจานดาวเทียม ฯลฯ) จะปรับตัวอย่างไร?
บทวิเคราะห์
ยูบีซีตกอยู่ในสถานภาพเดียวกันกับผู้นำตลาด(Market Leader) อื่นๆ นั่นคือไม่สามารถขึ้นราคาตามอำเภอใจได้อีกต่อไปแล้ว หลังการควบรวมกิจการยูบีซีก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาดอย่างไม่มีใครแข่งเพราะหลังจากนั้นไทยสกายทีวีก็ลาจากยุทธจักรเป็นการถาวร
อย่างไรก็ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจากค่าเงินบาทที่ลดลงเกือบ 70% ทำให้ยูบีซีจำเป็นต้องเพิ่มค่าสมาชิกหลายครั้ง ขณะที่ภาวะการขาดทุนสะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆแม้ปัจจุบันจะไม่ขาดทุนแล้วแต่การขาดทุนสะสมก็ยังคงอยู่
ยูบีซีจำต้องใช้การ Bundle สินค้าเพื่อเพิ่มสมาชิกใหม่อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันหนทางรอดทางเดียวเท่านั้นก็คือการอนุมัติให้มีโฆษณาซึ่งจนแล้วจนรอดรัฐบาลก็ยังไม่อนุมัติเพราะจะเป็นโยงใยไปสู่กรณีอื่นๆ
ปัญหาการขาดทุนสะสมของยูบีซีเกิดจากอะไรไม่ทราบแน่ชัด แต่ไม่น่าจะเกิดจากค่าเงินบาทที่ตกลงทำให้ค่าซื้อสิทธิ์แพงขึ้นไปทุกวันเป็นแน่
ปัญหาของยูบีซีเกิดจากการจัดการอย่างไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ทำตัวราวกับเป็นธุรกิจผูกขาดเช่นไฟฟ้าน้ำประปา แต่สองอย่างนั้นทุกคนต้องใช้ แต่กับยูบีซีแล้วไม่ใช่ หากผู้ใช้บริการเห็นว่ายูบีซีขึ้นราคามากจนเกินไปเกินกว่าที่ตนเองจะรับไว้ได้ ก็ต้องเริ่มหันมาถามตัวเองว่าจำเป็นต้องดูยูบีซีไหม ถ้าไม่จะมีอะไรมาทดแทนหรือเปล่า
คำตอบก็คือมี นั่นคือเคเบิ้ลท้องถิ่นที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดในต่างจังหวัดถึงสองล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา กลุ่มเคเบิ้ลต่างจังหวัดก็ถ่ายทอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรและการชุมนุมไล่นายกฯทักษิณ ซึ่งหาดูไม่ได้ในยูบีซี
ก่อนหน้านั้นยูบีซีจับลูกค้ากลุ่มเอและบีบวก ขณะที่เคเบิ้ลท้องถิ่นจับลูกค้าตั้งแต่ซีบวกลงไป เพราะคุณภาพภาพและคุณภาพของรายการย่อมเทียบกันไม่ได้แม้ว่าจำนวนช่องอาจจะมากกว่า
แม้จะมีเคเบิ้ลเถื่อนในกทม.เกิดมานานแล้วและส่งผลกระทบต่อยูบีซีพอสมควรแต่ความคลุมเครือว่าเคเบิ้ลกทม.เถื่อนกลายเป็นเคเบิ้ลถูกกฎหมายแล้วหรือยังย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดของยูบีซีในกทม.มากขึ้นเพราะอย่างน้อยยูบีซีก็ไม่ได้ผูกขาดในกทม.อีกต่อไป
การรุกของเคเบิ้ลเถื่อนในกทม.ที่ตั้งราคาเพียง 300 กว่าบาทนี้เองที่ทำให้ยูบีซีไม่สามารถเพิ่มสมาชิกได้
เพราะสมาชิกระดับบนกว่า 400,000 รายนั้นอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว เช่นเดียวกับมือถือ ซึ่งก็หมายความว่าคนที่มีก็มีไปหมดไปแล้ว ส่วนคนที่ไม่ทีก็ไม่ติด เพราะมีราคาแพงเกินไป
ดังนั้นยูบีซีจึงต้องหันมามองตลาดรากหญ้า ซึ่งยังมีความต้องการอีกมากและมีกำลังซื้อหากยูบีซีตั้งราคาให้สามารถแข่งขันได้กับเคเบิ้ลท้องถิ่น
การทำ Low-Cost เวอร์ชั่นครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครั้งสำคัญสำหรับยูบีซี เพราะตลาดรากหญ้าหรือ C+ ลงไปนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับเคเบิ้ลท้องถิ่นแล้ว ราคา 340 บาทต่อเดือน 42 ช่อง(โดยไม่มีฟุตบอล) สามารถต่อกรได้อย่างแน่นอน เพราะคุณภาพยูบีซีเหนือกว่ามากและยังสามารถสร้างช่องใหม่ๆของตนเองด้วยต้นทุนที่ไม่แพง หรือการร่วมผลิตกับผู้ผลิตหน้าใหม่ๆที่สามารถเพิ่มช่องได้ตลอดเวลา
ยูบีซีจึงเดินมาถูกทางแล้ว
|
|
|
|
|