เมื่อรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเปิดเสรีโรงเหล้าในปี 2542 ปฏิกิริยาตอบรับที่เกิดขึ้นจากเจ้าของสัมปทานรายเก่าก็คือ
การออกสินค้ามาตีกันรายใหม่ที่จะเข้ามาทำธุรกิจแข่งในอนาคต ทั้งนี้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาไว้ในมือเสียแต่เนิ่น
ๆ
โดยกลุ่มสุรามหาราษฎร์ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่แม้ว่าจะเป็นผู้กุมตลาดเหล้าไทยระดับล่างเอาไว้ในมือเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว
ก็ยังแนะนำ "แม่โขง สุพีเรีย" ออกมาดักตลาดตั้งแต่กลางปี 2537
ก่อนหน้าใครทั้งหมด
ขนาดยักษ์ใหญ่ยังแสดงอาการไม่ประมาทถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้ผลิตสุราในประเทศอีก
2 รายอย่างประมวลผลและยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ แอนด์ ดิสทิลเลอรี่ จะแนะนำสินค้าของตัวเองออกมาบ้าง
โดยประมวลผลแนะนำวิสกี้ "กันน์"อออกสู่ตลาดเมื่อเดือนพฤศจิกายน
2538 หลังจากที่ยูไนเต็ด ไวนน์เนอรี่ฯ ออกวิสกี้ "แบล็คแคท" ได้ประมาณ
1 เดือน
ขณะที่บริษัท ซีแกรม ผู้แทนจำหน่ายสก็อตช์ วิสกี้ดัง ๆ อย่างชีวาส รีกัล
ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เพราะได้ว่าจ้างให้ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ ช่วยผลิตวิสกี้
"มาสเตอร์เบลนด์" ออกมาขายด้วยเช่นกัน
เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร แต่ถ้าพิจารณาจากราคาเหล้าในประเทศที่พากันเข้าตลาดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
จะเห็นว่า "กันน์" ของประมวลผลน่าจะจับคู่ชกกับ "มาสเตอร์
เบลนด์" ของซีแกรม ด้วยราคาที่ใกล้เคียงกัน คือ กันน์ขวดละ 250 บาท
มาสเตอร์ เบลนด์ ขวดละ 260 บาท
ขณะที่ "แบล็คแคท" ของ "ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ" ดูเหมือนจะชนกับ
"แม่โขง สุพีเรีย" เพราะราคาขายขวดละ 100 กว่าบาทเหมือน ๆ กัน
ถ้าจะพูดว่างานนี้ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ คงต้องรับบทหนักกว่าใคร ก็คงไม่ผิด
เพราะนอกจากแบล็คแคทจะชนกับแม่โขง สุพีเรียแล้ว วิสกี้ "วีโอ"
สินค้าหลักของบริษัทอีกตัวหนึ่งก็ต้องแข่งกับ "กันน์" และ "มาสเตอร์
เบลนด์" เหมือนกัน
เพียงแต่ยังไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของแบล็คแคทจะเหมือนกับ "สิงห์เจ้าพระยา"
และ "สิงห์มหาราช" ของค่ายประมวลผลที่ต้องประสบปัญหายอดขายลดลงเป็นจำนวนมากหรือไม่
กล่าวคือ เมื่อปี 2535 มียอดขายประมาณ 4,000 ลังต่อเดือน แต่เมื่อปี 2538
ที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียงเดือนละ 2,000 ลัง และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องแนะนำวิสกี้
"กันน์" มากู้สถานการณ์
อาจจะด้วยสาเหตุนี้ก็ได้ที่ทำให้ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ ต้องเอาจริงเอาจังกับการผลักดัน
"แบล็คแคท" ให้แจ้งเกิดให้ได้ โดยคนที่ต้องรับบทหนักกว่าใคร ก็คงจะต้องเป็น
"วงศ์ชนก ชีวะศิริ" ในฐานะผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร
บริษัท ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ แอนด์ ดิสทิลเลอรี่ จำกัด นั่นเอง
"วงศ์ชนก" เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวในเวลาที่ใกล้เคียงกับการแนะนำ
"แบล็คแคท" เข้าสู่ตลาด ภายหลังจากที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยบอสตัน
สหรัฐอเมริกา ด้วยวัยเพียง 29 ปี
เรียกว่าความอ่อนอาวุโสประกอบกับความงามของเธอ จึงช่วยสร้างสีสันให้วงการนี้ไม่น้อยทีเดียว
ส่วนเรื่องฝีมือคงต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง
สำหรับเหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตั้งแต่อายุยังไม่ถึง
30 ปีก็คือ เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของไพศาล ชีวะศิริ ประธานกรรมการบริษัท ยูไนเต็ด
ไวน์เนอรี่ฯ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในวงการสุราไทยมายาวนานกว่า 30 ปี
วงศ์ชนก กล่าวถึงกำเนิดของแบล็คแคทว่า เกิดจากประสบการณ์การผลิตสุราอันยาวนานของบริษัท
ประกอบกับความคิดที่จะผลิตเหล้าตลาดล่างทุกชนิดที่ดีกว่าสุราปรุงพิเศษเข้าสู่ตลาด
การผลิตของแบล็คแคทจึงเป็นกระบวนการผลิตวิสกี้อย่างแท้จริง
สาเหตุที่ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ สนใจตลาดล่าง เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด โดยวงศ์ชนกเล่าให้ฟังว่า
ปัจจุบันตลาดเหล้ารวมมีมูลค่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเหล้าขาวและเหล้าสีที่ผลิตในประเทศ
20,000 ล้านบาท 10,000 ล้านบาทที่เหลือเป็นเหล้านอก แม้ว่าจะแตกต่างจากที่ผู้บริหารของซีแกรมเคยกล่าวอ้างว่ามีมูลค่าถึง
60,000 ล้านบาท หรือ 80 ล้านลังต่อปี แบ่งเป็นเหล้าไทย 78 ล้านลัง หรือ 50,000
ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเหล้าขาว 58 ล้านลัง และเหล้าสี 20 ล้านลัง แต่ก็แสดงนัยอย่างเดียวกัน
คือ ตลาดล่างเป็นตลาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจมาก
ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ คาดหวังว่า แบล็คแคทจะมียอดขายเดือนละ 100,000 ลังต่อเดือน
หรือปีละ 1.2 ล้านลัง ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงการแนะนำสินค้าใหม่ ๆ ที่ทำยอดขายได้เดือนละ
60,000 ลัง ด้วยการทุ่มเงิน 150 ล้านบาทให้กับการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
เป็นต้นไป
โดยมีภาพยนตร์ขนาดความยาว 120 วินาทีเป็นไฮไลต์สำคัญ เน้นจุดขาย "แบล็คแคท
แบล็คไทย" ราคาเพียงขวดละ 130 บาท นำเสนอสไตล์หนังไทยมินิซีรีส์ ขึ้นต้นด้วยคำพูดของชายหนุ่มหน้าซื้อทำนองว่า
"ผมชื่อฤทธิ์ ชอบกินแบล็ค"
ในปีนี้ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่ฯ จะใช้งบโฆษณารวมทั้งสิ้น 300 ล้านบาท นอกจากจะกระตุ้นตลาดแบล็คแคท
สินค้าใหม่และเป็นเหล้าธงของบริษัทแล้วจะมีการโฆษณาเหล้าวีโอ และคูลเลอร์
คลับ ซึ่งเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งที่มีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 50% ในขณะที่ตลาดรวมมีอัตราการเติบโตเพียง
20% ปัจจุบันคูลเลอร์ คลับ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% หรือทำรายได้ให้บริษัทปีละ
200 ล้านบาท ขณะที่วีโอมียอดขายอยู่ระหว่างเดือนละ 10,000-15,000 ลัง และกำลังได้รับผลกระทบจากการดัมป์ราคาของเหล้านอกอายุ
5 ปีอยู่พอสมควร ทำให้บริษัทต้องจัดรายการส่งเสริมการขายกู้สถานการณ์
นอกจากการโฆษณาเพื่อกระตุ้นยอดขายแล้ว วงศ์ชนก กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะขยายไลน์สินค้าออกไปอีก
โดยบริษัทสนใจตลาดบรั่นดีและเหล้าจีน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้า
คาดว่าจะแนะนำเข้าสู่ตลาดได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
"แม้ว่าขณะนี้บริษัทจะมีปัญหาเรื่องไม่สามารถขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่
200,000 ลังต่อเดือนได้อีกก็ตาม แต่เราจะหยุดทำตลาดหรือขยายไลน์สินค้าที่คิดว่ามีอนาคตไม่ได้
เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ทันรับมือกับการเปิดตลาดเหล้าเสรี" วงษชนกกล่าว
ใจสู้ขนาดนี้เห็นทีจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว