|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
พนักงานทีโอทีฟ้องศาลปกครอง “ เอาทีโอทีคืนไป เอาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยคืนมา” อ้าง 6 ประเด็นหลักเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น, แปรรูปขัดเจตนารมณ์กฎหมาย, มีผลกระทบกับความมั่นคง ,คลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะ,กรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทมีปัญหาคุณสมบัติ ด้านประธานบอร์ดทีโอทียันการแปรสภาพถูกกฎหมายทุกขั้นตอน
แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที กล่าวว่าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมานายชัยพฤกษ์ สิทธิศักดิ์ พนักงานบริษัท ทีโอที กับพวกรวม 11 คนได้ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด คดีดำหมายเลขที่ ฟ.11/2549 โดยมีความประสงค์จะขอฟ้อง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่1,นายกรัฐมนตรี ที่ 2,กระทรวงไอซีที ที่ 3,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ที่4 และคณะรัฐมนตรีที่ 5 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี
โดยผู้ฟ้องคดีต้องการ 1.ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2545 เป็นต้นไป 2.มีคำพิพากษาให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกลับคืนสู่ฐานะเดิมกล่าวคือให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตามเดิมและ3.มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นับแต่ศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 และหากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีบรรยายคำฟ้องหรือให้เหตุผลในการฟ้องครั้งนี้ประกอบด้วย
1.ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการวางจำหน่าย อย่างแพร่หลายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน และเรื่องที่ประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวจะต้องสรุปในเรื่องที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมิใช่กระทำเพียงการระบุเฉพาะหัวข้อเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับกิจการของโทรศัพท์สั้นๆเพียงบางประการ โดยมิได้จัดทำสรุปเรื่องเกี่ยวกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีสาระสำคัญเช่นใดบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับแสดงความคิดเห็นได้ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543
2.พระราชกฤษฎีกาขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 กล่าวคือพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจมีเจตนารมณ์ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกิจการและการบริหารไม่คล่องตัวหรือไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีการขาดทุนต่อเนื่อง จนทำให้เป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศชาติ รวมทั้งมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นกิจการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เหมือนกิจการโทรศัพท์ซึ่งเกี่ยวพันกับคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคม อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการสาธารณะโดยไม่หวังผลกำไรและกิจการโทรศัพท์เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องดำเนินการเอง
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ร่วมกันตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อแปรสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจแบบใหม่ ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารงานหรือการขาดทุนต่อเนื่องและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ทำให้การโอนบรรดากิจการ สิทธิ สินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังบริษัท ทีโอที ซึ่งหมายความรวมถึงทรัพยากรของชาติ อาทิ เสาส่งสัญญาณ สถานีทวนสัญญาณโทรคมนาคมพร้อมอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุโทรคมนาคม เสาโทรศัพท์และเคเบิลที่อยู่ในที่สาธารณะ อาคารชุมสายโทรศัพท์ อาคารอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ตลอดจนสิทธิความเป็นเจ้าของเคเบิลใต้น้ำที่จะตกเป็นกรรมสิทธิซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 5 ปี ทรัพย์สินดังกล่าวมีอยู่รวมทั่วประเทศเกือบ 2 พันแห่ง จึงไม่อาจนำไปแปรสภาพเพื่อให้เอกชนหรือนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารหรือถือหุ้นหรือแทรกแซงได้
3.เมื่อนำบริษัท ทีโอที เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจทำให้ต่างชาติหรือบุคคลอื่นที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติเข้ามาร่วมกันซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการแทรกแซงในกิจการวิทยุโทรคมนาคมซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 หรือไม่ว่าจะเป็นกรณีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเคยให้สัมปทานแก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หากต่อมาได้ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หากต่างชาติหรือบุคคลอื่นที่ผู้ไม่หวังดีอาจเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติตามกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประเทศ
4.การโอนอำนาจที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเคยมีอยู่ตามกฎหมายไปยังบริษัท ทีโอที ทำให้ไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม
5.หากเกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัท ทีโอที กับบริษัทรับสัมปทานที่ต่างชาติหรือผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ โดยใช้อำนาจเงินเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทรับสัมปทานนั้น แม้บริษัท ทีโอที จะใช้อำนาจมหาชนในการเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับสัมปทาน หากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติก็เป็นเรื่องที่จะมีประเด็นข้อโต้เถียงกันนานเพื่อหาข้อยุติ เช่น บริษัท ทีโอที ไม่มีอำนาจหรือแก้ไขบอกเลิกสัญญาเพราะเป็นบริษัทเอกชน โดยอาศัยหลักที่ว่าการแข่งขันด้านโทรคมนาคมอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้รัฐอาจสูญเสียความมั่นคงของชาติอันเนื่องจากมีผู้อื่นเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้รับสัมปทาน
6.คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท มีนายกิตติ อยู่โพธิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านสื่อสาร) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแล ดังนั้นย่อมเห็นได้ว่ารองปลัดกระทรวงคมนาคมมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการที่รัฐวิสาหกิจจะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างเห็นได้ชัดจึงขัดต่อมาตรา 9 พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจซึ่งกำหนดคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามกล่าวคือเป็นหรือภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง เคยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมลงทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้น
การขัดมาตรา 9 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญทำให้กระบวนการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่แรกเริ่ม ในทางกฎหมายไม่อาจทำให้นิติกรรมที่ทำขึ้นสมบูรณ์ได้เลย
“ทั้งนี้ศาลปกครองรับเรื่องไว้แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา”
อย่างไรก็ตามนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทีโอทีกล่าวถึงการแปรสภาพองค์กรจากเดิมที่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน ) และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ว่าเป็นการแปรสภาพที่ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน โดยกรรมการที่เกี่ยวข้องในการแปรสภาพไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆทั้งสิ้นหากเปรียบเทียบกับ บริษัท กฟผ. จำกัด ( มหาชน ) ที่ศาลปกครองสั่งระงับการแปรรูปไปแล้ว
|
|
 |
|
|