บทเพลงเพื่อชีวิต "คนสร้างบ้าน" ดังกระหึ่มขึ้นในองค์กรของแปลนมาตั้งแต่ประมาณปลายปี
2531 พร้อม ๆ กับการเกิดกิจกรรมค่ายอาสาสมัครขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการ "แปลนอาสา"
โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ กิจกรรมค่ายที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือ
การไปออกค่ายสร้างโรงเรียนวัดจันทร์ ที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ไปสร้างโรงเรียนวัดดอนกุฎี ที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแน่นอนที่องค์กรธุรกิจเอกชนองค์กรหนึ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในวงการธุรกิจ
และจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกัน สร้างความเป็นหนึ่งในยุทธจักรของตนจะสนใจกิจกรรมงานค่าย
และสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทในเครือทุกระดับ ไปใช้ชีวิตร่วมกันกับชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล
การออกค่ายในช่วงแรกนั้น ๆ กรรมการงานค่ายก็จะมาจากกรรมการของแต่ละบริษัทในเครือ
งานหลักอย่างหนึ่งของแต่ละบริษัทก็คือ ต้องช่วยกันหาทุน เช่นเมื่อมีโครงการ
"น้ำใจสู้ภัยใต้" นั้น ร้านเสื้อผ้าวิทวิทอาจจะเอาเศษผ้าที่เหลือในร้านตัดเสื้อผ้าออกจำหน่ายหาทุน
หนังสือรักลูกจัดนิทรรศการน้ำท่วมและออกร้านจำหน่ายสิ่งของและรับของบริจาค
บริษัทแปลนทอยเอาของเล่นจำนวนหนึ่งมาขาย บริษัทแปลนกราฟฟิคขายเสื้อยืด
แม้กระทั่งในช่วงเวลาของการสู้รบทางเศรษฐกิจที่เพิ่มกระแสความรุนแรงในช่วงปี
2534-2535 หลายบริษัทกำลังเคร่งเครียดในการปรับยุทธศาสตร์ สร้างยุทธวิธีเพื่อความอยู่รอดกันอย่างเคร่งเครียด
องค์กรของแปลนก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่กลับมีเวลาส่วนหนึ่งไปฟ้อนเซิ้ง
ครวญเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาอยู่ที่ชุมชนวัดหนองคู จังหวัดสุรินทร์ที่โรงเรียนบ้านหนองบัว
จังหวัดสุรินทร์
"ก็เคยมีเด็กใหม่ ๆ บางคนที่เข้ามาไม่เข้าใจเหมือนกัน สถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
แต่ประธานบริษัทกลับไปนั่งออกค่าย" ธีรพล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง
ความขัดแย้งระหว่างนักกิจกรรมในองค์กร และเด็กใหม่ไฟแรงที่ก้าวมาในช่วงนั้นก็เกิดขึ้นบ้างเช่นกัน
ถึงแม้ว่ากันว่าคนที่มาสมัครงานในบริษัทของแปลนหากเป็นเด็กที่เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
"ที่เราสนใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษเพราะมองว่า คนที่เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
จะรู้จักการทำงานเป็นทีม กล้าแสดงความคิดเห็น และมีความคิดกับเราคล้าย ๆ
กัน การทำงานอาจจะง่ายขึ้น" คนในแปลนคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
ประกอบกับเนื้องานที่มากขึ้นการรับคนก็จำเป็นต้องหลากหลายเช่นกันด้วย การที่จะมุ่งเน้นรับเฉพาะเด็กกิจกรรมนั้นเป็นไปไม่ได้
เพียงแต่แปลนเป็นองค์กรทางธุรกิจที่คนกลุ่มนั้นใฝ่ฝันที่จะเข้ามาร่วมงานด้วยความเชื่อมั่น
และศรัทธาในกลุ่มผู้นำองค์กรเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามกิจกรรมการออกค่ายในช่วงหลังเริ่มขาดหายไป สาเหตุมาจากงานค่ายเป็นโครงการที่จำเป็นต้องใช้เวลา
และกำลังคนมากพอสมควร ดังนั้นแม้การหาทุนที่เกิดขึ้นในระยะต่อมายังมีอยู่ตลบอดเวลา
แต่กิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น จำเป็นต้องปรับให้เล็กลงและสอดคล้องกับองค์กรนั้น
ๆ แทนเช่นการไปสร้างโรงเรียนของบริษัทเฉพาะในสายสถาปัตย์ทั้ง 5 บริษัท โครงการอบรมแม่บ้านในสลัมของทีมงานหนังสือรักลูก
หรือโครงการ "ผ้าป่า เพื่อป่า จ. น่าน" เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมขององค์กรแปลนก็คือ "มูลนิธิสานแสงอรุณ"
ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 ภารกิจของมูลนิธิก็คือ การดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์อันจะสร้างความคิดและจิตสำนึกในการพัฒนาศักยภาพของคนเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต
และสังคม
กิจกรรมที่มูลนิธิกำลังดำเนินอยู่ในโครงการสวนแสงอรุณ
ที่น่าสนใจคือ เงินในการดำเนินงานของมูลนิธิมาจากเงินปันผลในฐานะผู้ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจแปลน
ซึ่งปัจจุบันถืออยู่ในหลายบริษัท
ในอนาคตอันใกล้ ธีรพลเล่าว่า สัดส่วนผู้ถือหุ้นของมูลนิธิจะเพิ่มขึ้น อาจสูงถึง
60% ส่วนผู้ถือหุ้นเดิม โดยเฉพาะถือในนามส่วนบุคคลจะลดลง ซึ่งก็ต้องกลับไปย้อนที่คำถามเดิมว่าถือหุ้นน้อยลง
ผลตอบแทนย่อมน้อยลง ผู้ถือหุ้นพอใจหรือไม่ ถ้าพอและยินยอมให้ถือหุ้นผ่านมูลนิธิ
รูปโฉมการถือหุ้นในแปลนก็จะเปลี่ยนไป และเงินเพื่อทำกิจกรรมด้านสังคมของมูลนิธิจะเพิ่มขึ้น
นอกจากผู้ก่อตั้งจะถือหุ้นในนามส่วนบุคคลแล้ว จะถือหุ้นผ่านมูลนิธิ ซึ่งมีความแตกต่างกัน
เพราะเงินปันผลของมูลนิธิจะไม่แบ่งให้กับผู้ถือหุ้น แต่จะเก็บไว้เป็นทุนให้กับมูลนิธิเท่านั้น
หากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของแปลนเปลี่ยนไปในลักษณะเช่นนี้ แปลนก็จะเป็นกลุ่มที่มีลักษณะการถือหุ้นแปลกมากบริษัทหนึ่ง
และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจก็อาจจะเปลี่ยนไปหรือมีความชัดเจนขึ้นในระยะยาว
แนวความคิดในการตั้งมูลนิธินั้น จริง ๆ แล้วเป็นแนวความคิดที่มีลักษณะต่อเนื่องกับการสร้างองค์กรของแปลน
เป็นแนวความคิดเดิมที่ผู้ร่วมก่อตั้งพยายามย้อนกลับไปเพื่อหาจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นรากเดิม
โดยปล่อยให้องค์กรเก่าเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความเป็นจริงในกระแสธุรกิจของสังคม