ประวัติศาสตร์ทางการเมืองเมื่อช่วงปี 2516 ก่อให้เกิดผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแปลนกรุ๊ป
บริษัทที่มีวัตถุประสงค์ให้ธุรกิจของตนดำเนินไปพร้อม ๆ กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
7 ผู้เริ่มก่อตั้งประกอบไปด้วยวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ครองศักดิ์ จุฬามรกต
ธีรพล นิยม อำพล กีรติบำรุงพงศ์ เดชา สุทธินนท์ สันติพงษ์ ธรรมธำรง และพิมาย
วิระพรสวรรค์
ชีวิตภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อนกลุ่มนี้ มาเปิดร้านขายหนังสือที่หัวมุมซอยสุขุมวิท
23 แน่นอนในร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งนี้ต้องเต็มไปด้วยหนังสือด้านความคิดทางสังคม
มุมหนึ่งของร้านก็รับงานออกแบบไปด้วย เมื่อช่วง 6 ตุลาคม 2519 หนังสือทางด้านความคิดถูกสั่งห้ามขาย
ร้านเลยจำเป็นต้องปิดไป มาเปิดเป็นบริษัทอย่างจริงจังเมื่อปี 2523 บริษัทแรกที่ตั้งคือ
แปลน อาคิเต็ค
วัตถุประสงค์หลักในการทำบริษัทตอนนั้นก์คือต้องการทำธุรกิจที่มั่นคงเพื่อเลี้ยงชีพ
โดยผลกำไรที่ได้ส่วนหนึ่งจะต้องเอาไปทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม และเนื้องานต้องมีคุณภาพในเชิงสร้างสรรค์
16 ปีผ่านไปแปลนกรุ๊ปได้ขยายบริษัทอย่างต่อเนื่องถึง 15 บริษัท มีพนักงานรวมกันนับ
1,000 คน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท
ลักษณะการขยายงานของบริษัทแปลนในช่วงที่ผ่านมาก็จะแตกต่างจากองค์กรอื่น
ๆ ตรงที่ว่าในขณะที่บริษัทอื่น ๆ จะขยายงานตามภาวะของความต้องการของตลาด
โดยมองดูว่าธุรกิจใดทำกำไรสูงสุดก็เปิดบริษัทขึ้นมารองรับโกยเงิน ในธุรกิจนั้น
ๆ ไปซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดในการทำสงครามเศรษฐกิจ
แต่แปลนขยายตัวในทิศทางที่ต่างกันหลายบริษัทของกลุ่มแปลน เกิดขึ้นมาได้เพราะผู้นำมองศักยภาพของคนเป็นหลักเมื่อใครอยากขยายศักยภาพของตนก็เปิดโอกาสสนับสนุน
ดังนั้น ธุรกิจกลุ่มหลักของแปลนบางสายจึงอาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันอย่างเช่น
การตั้งบริษัทแปลนกราฟฟิคขึ้นมาเมื่อปี 2524 เป็นเพราะมีรุ่นน้องที่จบด้านออกแบบอยากทำงานด้านนี้เลยตั้งบริษัทขึ้นมา
และเมื่อปี 2525 ก็ตั้งบริษัทแปลนพับลิชชิ่งทำหนังสือรักลูกขึ้นมา
หนังสือรักลูก มีสุภาวดี หาญเมธี (ภรรยาของเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อดีตผู้นำนักศึกษา)
มาเป็นบรรณาธิการอำนวยการ ก่อนหน้านี้สุภาวดีทำงานอยู่ที่มูลนิธิเด็ก ซึ่งมีความสนใจเรื่องเด็กและเรื่องสถาบันครอบครัวอยู่แล้ว
ทั้งแปลนกราฟฟิค และหนังสือรักลูกอาจจะไม่เกี่ยวกับงานของแปลนอาคิเต็ค
แต่มันคือการเปิดโอกาสให้คน โดยยังคงผูกพันเกี่ยวรัดกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท
เพราะเนื้อหาของงานมีประโยชน์ต่อสังคม และต้องอยู่ได้ทางเศรษฐกิจเอง
แต่ร้านตัดเสื้อ "วิท วิท" ร้านเสื้อสวย แสนหวานที่ในสังคมไฮโซรู้จักกันดี
ว่าทั้งสวย ทั้งแพงนั้น ออกจะแตกต่างออกไป แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเกิดขึ้นได้เพราะ
พิมายและสันติพงษ์ เรียนจบทางด้านสาขาออกแบบอุตสาหกรรม และมีความชอบทางด้านนี้
ปัจจุบันร้านวิท วิทหยุดกิจการไปแล้วเมื่อปี 2535 โดยพิมายได้ติดตามสามีคือวิฑูรย์ไปอยู่ที่จังหวัดตรัง
สันติพงษ์ ไปทำงานที่มูลนิธิสานแสงอรุณ
หรือแม้แต่การเป็นผู้บุกเบิกการตั้งบริษัทผลิตเครื่องเล่นทางด้านการศึกษาของเด็ก
คือบริษัทแปลนครีเอชั่น และแปลนทอยนั้นก็เกิดขึ้นเพราะ วิฑูรย์จบทางด้านอินดัสเตรียล
ดีไซน์ เลยต้องการทำของเล่นเพื่อการศึกษาของเด็ก
ส่วนธุรกิจดั้งเดิมของแปลนในสายสถาปัตยกรรม ก็ได้รับการขยายตัวจนครบวงจร
มีบริษัทที่อยู่ในสายธุรกิจนี้ 5 บริษัท มีขอบเขตการดำเนินการทำธุรกิจและการให้บริการในโครงการสถาปัตยกรรม
นับตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาโครงการทางด้านการลงทุน วางผังออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคาก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้าง
ทุกวันนี้ รายได้หลักของแปลนกรุ๊ปมาจาก 3 บริษัทหลัก ๆ คือบริษัทแปลนทอย
บริษัทแปลนอาคิเต็ค และบริษัทแปลนเอสเตท
โดยเฉพาะแปลนทอยนั้นในปี 2537 สร้างผลกำไรประมาณ 37 ล้านบาท ส่วนแปลนเอสเตทนั้นตัวเลขปี
2537 ขาดทุนหุ้นละ 4 บาท แต่ปี 2536 ได้กำไรประมาณ 24 ล้านบาท
ทั้ง 7 คนนั้นมีข้อตกลงที่ต่อเนื่องจากวัตถุประสงค์หลักเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ
ผลกำไรที่แต่ละคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทในเครือทุกบริษัท จะต้องจัดสรร 60% มาเป็นส่วนกลางเพื่อนำไปทำกิจกรรมทางสังคม
ที่เหลืออีก 40% จะนำมาเฉลี่ยเป็นส่วนตัวของแต่ละคน
กิจกรรมทางสังคมที่เป็นรูปธรรมในการใช้เงินส่วนนี้เป็นทุนในการดำเนินงานก็คือมูลนิธิสานแสงอรุณ
ณ วันนี้ในองค์กรของแปลนนับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ แต่อีกด้านพวกเขากำลังสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
แปลนอาคิเต็คซึ่งเคยเป็นผู้นำในการออกแบบและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในวงการสถาปนิกเป็นสิ่งที่เขาได้รับการยอมรับมาตลอดการทำงานที่อิสระทำให้เขาได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดี
ๆ ให้เกิดขึ้นกับวงการ
แต่พวกเขาต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงและหาวิธีการให้สิ่ง 2 สิ่งดำเนินไปด้วยกันอย่างสวยงาม
จะทำอย่างไรให้มันมีความพอดีที่พบกันครึ่งทางไม่ใช่ยอมให้ธุรกิจนำไปสุดกู่
อย่างเช่นในแง่ของสถาปนิก จำเป็นต้องเขียนแบบให้มีที่ว่างมากขึ้นแต่จะทำอย่างไรให้ที่ว่างนั้นเป็นจุดขายของโครงการได้
ที่สำคัญอาคิเต็คของบริษัทก็ต้องมีความรู้ทางธุรกิจเข้ามาช่วยเช่นกัน ต้องวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ
เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นแล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับโปรดักส์
มีบ้างเหมือนกันที่คนของแปลนบางคนทนความอึดอัดในเรื่องนี้ไม่ได้ และได้ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่เพื่อสร้างองค์กรใหม่เช่นเดียวกับแปลนกรุ๊ปในจุดเริ่มต้น
แต่กระแสความรุนแรงของธุรกิจที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทใหม่ ๆ พวกนั้นประสบปัญหาเช่นกัน
ธีรพลเขาเคยเขียนถึงความรู้สึกที่มีต่อบริษัทซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ในวารสารแปลน
เมื่อประมาณปี 2531 ว่า
"สำนักใหญ่ขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้น ก็ย่อมมีแรงเสียดทานมากขึ้น จะทำศึกด้วยกลยุทธ์เก่า
ๆ หาได้ไม่ เมื่อเกิดความผันตัวอย่างรวดเร็วแน่นอน อาหมวย แลซือตี๋ ซือเฮีย
ล้วนต้องรู้สึกกดดัน ว้าวุ่น เหงา หนาว เป็นธรรมดา ใช่แล้วเราต้องบีบตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง
ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทั้งหลายต้องยกระดับ สำนักเราจึงจะแคล้วคลาดและพัฒนาขึ้น"
ในช่วงนั้นธีรพลเรียกร้องให้บรรดาขุนพลของเขาปรับตัวโดยการพัฒนา "ความคิด"
ของตนเอง
องค์กรที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานั้นได้สร้างปัญหาหลักในเรื่องการสื่อสารในองค์กร
และปัญหาของการเตรียมบุคลากรรวมทั้งวัฒนธรรมที่ดีขององค์กร ที่มีความเคยชินในการทำงานแบบพี่น้องผองเพื่อนนั้นทำให้ก่อให้เกิดความอะลุ้มอล่วยกันสูง
ระบบต่าง ๆ ที่วางไว้ในองค์กรจึงค่อนข้างหย่อนยาน
แปลนกรุ๊ป ต้องเน้นในเรื่องการพัฒนาองค์กรภายในเน้นการสื่อสารในองค์กรให้มีความเข้าใจมากขึ้นตั้งแต่นั้นมาโดยให้ความสำคัญของคนมากกว่าระบบ
เพราะคนคือผู้ใช้ระบบ
ในปี 2533 ผู้บริหารของแปลนต้องทำการสำรวจองค์กรของตนอีกครั้งพร้อมทั้งพยายามหาข้อสรุปว่าทำอย่างไรที่จะให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข
การออกไปใช้ชีวิตร่วมกันในต่างจังหวัด ด้วยวิธีการออกค่ายนั้นแปลนหวังว่าจะลดปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง
แต่โครงการนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาต่อมา
ในปี 2536 ก็ได้มีการผ่องอำนาจครั้งสำคัญในองค์กรของแปลน คณะกรรมการกลุ่มแปลนได้มีการปรับเปลี่ยนจากผู้ร่วมก่อตั้ง
7 คน เพิ่มเป็น 12 คนประกอบไปด้วยกรรมการผู้จัดการของแต่ละบริษัทร่วมกับผู้อำนวยการสำนักบัญชีกลางโดยมีธีรพลเป็นประธานกลุ่ม
ปัจจุบัน ธีรพลกับอำพลจะรับผิดชอบหลักในสายสถาปัตย์ เดชา ดูแลในสายสื่อและพิมพ์
ส่วนวิฑูรย์รับผิดชอบในสายอุตสาหกรรม ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือไม่ได้ลงมาบริหารงานเองแล้ว
แต่ทั้ง 7 คนยังพบกันอยู่เสมอในฐานะกรรมการมูลนิธิแสงอรุณ
"ผู้ก่อตั้งหลายคนไปอยู่ป่าเขา พอมาเจอกันทีก็คุยกันเรื่องต้นไม้"
ธีรพลกล่าว
ถึงแม้คนรุ่นหนึ่งกำลังถอยออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดและปรัชญาดั้งเดิมในการทำธุรกิจของแปลนกรุ๊ปจะเปลี่ยนเปลงไป
ธีรพลเชื่อมั่นว่าคนรุ่นหลังของแปลนยังสานต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมของบริษัทต่อไปได้
เพราะที่ผ่านมาองค์กรของแปลนยึดมั่นในการทำงานเป็นทีม และสร้างสรรค์วัฒนธรรมขององค์กรร่วมกันมาตลอด
เขามั่นใจว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติที่เป็นจริง
ย่อมสามารถดำรงอยู่และปรับตัวพัฒนาให้แข็งแรงไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้"
คนของแปลนในรุ่นต่อไปคือผู้ที่จะพิสูจน์ความจริงของความคิดนี้