“วราเทพ” โต้ “สนธิ” แน่จริงนำหลักฐานทุจริตโรงงานยาสูบเชียงใหม่มาชี้แจงอย่ากล่าวหาเลื่อนลอยจะได้ฟ้องร้องอย่างถูกต้อง ระบุที่ยังไม่ฟ้องขณะนี้เพราะสงสารโดนหลายคดีแล้ว ยันรัฐบาลรักษาการไม่ตัดสินใจก่อสร้างแน่นอนต้องให้รัฐบาลใหม่ฟันธง ด้านผอ.โรงงานยาสูบชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหาอย่างละเอียดยิบ ให้เวลา CYC ส่งข้อมูลทั้งหมดในเดือนพฤษภาคาก่อนพิจารณาให้เสร็จในเดือนมิถุนายนแล้วส่ง ครม.ตัดสินใจ หากโครงการไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะยกเลิกและหาวิธีก่อสร้างใหม่
นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า การที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่ามีการทุจริตก่อสร้างโรงงานยาสูบที่บ้านแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นการกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ซึ่งการกล่าวหาของนายสนธินั้นได้นำข้อมูลมาจากหนังสือร้องเรียนของบริษัทคู่แข่งที่พลาดการประมูลมาประกอบ โดยในเอกสารนั้นเปรียบเทียบเฉพาะเรื่องราคาเท่านั้นไม่มีการอ้างถึงด้านเทคนิคแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากนายสนธิมีเอกสารหลักฐานอื่นก็ขอให้นำมาชี้แจงและระบุให้ชัดเจนหรือหากมีการกล่าวพาดพิงอีกก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล แต่ในขณะนี้จะยังไม่ดำเนินการฟ้องร้องเพราะเห็นใจนายสนธิที่โดนฟ้องร้องอยู่หลายคดี
“หากมีการทุจริตจริงผมว่าข้อมูลนี้คงไม่หลุดรอดจากสายตาของฝ่ายค้าน หรือพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน เพราะถ้าเป็นข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์น่าจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยของนายสนธิที่มักนำข้อมูลไปปราศรัยให้คนเข้าใจผิด” นายวราเทพกล่าวและว่า หากโรงงานยาสูบได้ข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่แล้วก็จะเสนอมายังกระทรวงการคลังเพื่อตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันก็คงไม่สามารถตัดสินใจดำเนินโครงการได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้ตัดสินใจก่อสร้าง
นายสุชน วัฒนพงษ์วานิช ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2534 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 เพื่อก่อสร้างโรงงานยาสูบที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540
ส่วนการกล่าวหาว่ามีการวิ่งเต้นเพื่อเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างไปที่จังหวัดเชียงใหม่เนื่องจากมีการกว้านซื้อที่ดินไว้นั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินของโรงงานยาสูบอยู่แล้ว มีการทำแผนแม่บทสำหรับก่อสร้างโรงงานมาตั้งแต่ปี 2525 และได้ทยอยสร้างอาคารเก็บใบยาถึง 16 หลัง เพื่อรองรับแผนการก่อสร้างดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่ก่อสร้างอยู่ใกล้กับสถานีทดลองยาสูบแม่โจ้ ทำให้สะดวกต่อการดำเนินการต่างๆ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมสูง
ในขณะที่การกล่าวหาว่ามีการล็อบบี้ให้บริษัท China Yunnan Corporation for International Techno – Economic Cooperation หรือ CYC เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างนั้น เป็นการจัดจ้างตามมติครม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 โดยเป็นการก่อสร้างแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล คณะกรรมการโรงงานยาสูบจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ โดยให้ปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้นเป็นประธาน
ซึ่งคณะกรรมการได้เลือกประเทศจีนเป็นเป้าหมายอันดับแรก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีโรงงานผลิตบุหรี่มากกว่า 200 โรงงาน มีการผลิตและบริโภคบุหรี่สูงที่สุดในโลก ประมาณ 1 ใน 3 ของความต้องการตลาดรวม มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงงานบุหรี่มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อเครื่องจักร เป็นประเทศที่มีโอกาสทำการค้าต่างตอบแทนได้และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันมายาวนาน
“โรงงานยาสูบได้แจ้งผลการคัดเลือกไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งไปยังรัฐบาลจีน ซึ่งประเทศจีนได้มอบหมายให้ CYC เป็นผู้ดำเนินการเพียงรายเดียว และให้สถาบันเฉิงตู จากมณฑลเสฉวน ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบในจีนหลายโรงงานเป็นผู้ออกแบบและให้ผู้เชี่ยวชาญจากโรงงาน Honghe และ Hongta ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่และทันสมัยในมณฑลยูนนานมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ CYC” นายสุชนกล่าว
นายสุชน กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรสำคัญยังคงใช้เครื่องจักรจากยุโรปตามเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด แต่เครื่องจักรประกอบได้มีการใช้เครื่องจักรจีนเพิ่มขึ้น โดยฝ่ายจีนขอให้ไทยพิจารณายืดหยุ่นกฎเกณฑ์บางประการและพิจารณาใช้เครื่องจักรจีนเพิ่มขึ้น สำหรับเครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องจักรที่มีขนาดความเร็ว 10,000 มวนต่อนาที และ 14,000 มวนต่อนาที เป็นเครื่องจักรที่ผลิตในสหภาพยุโรปและเป็นที่นิยมในโรงงานผลิตบุหรี่ชั้นนำทั่วโลก
ด้านกำลังการผลิต โรงงานยาสูบได้ปรับประมาณการจำหน่ายบุหรี่จากปัจจัยและมาตรการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายบุหรี่ เช่น การบริโภคบุหรี่ลดลงจากมาตรการห้ามวางโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย จึงคาดว่ายอดจำหน่ายบุหรี่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณปีละ 30,000 ล้านมวน ซึ่งสูงกว่ากำลังการผลิตที่โรงงานเชียงใหม่
ส่วนมูลค่าโครงการที่เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาท ในเบื้องต้นมีการอนุมัติวงเงิน 13,014 ล้านบาท และขอเพิ่มเป็น 16,932 ล้านบาท เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้นและมีรายการเพิ่มเติมคือ ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิต ระบบเก็บจ่ายพัสดุอัตโนมัติ และระบบผลิตยาเส้นพองเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ โดยราคาที่จีนเสนอมานั้นสูงกว่างบที่ตั้งไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาทซึ่งต้องมีการเจรจากันอีกครั้ง
“ในตอนแรกเราเสนอการก่อสร้างแบบเคาน์เตอร์เทรด 50% แต่ได้ขอเปลี่ยนเป็นบาร์เตอร์เทรด 100% แทน และจีนได้ขอลดลงเหลือ 50% ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นมา 18,000 ล้านบาทนั้น เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษี เครื่องจักรและค่าธรรมเนียมการทำบาร์เตอร์เทรดของจีน ที่ไทยต้องเป็นผู้รับภาระทั้งหมด แต่ราคายังไม่ได้มีการสรุปต้องมีการเจรจากันอีกครั้ง” นายสุชนกล่าว
นายสุชนกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทย-จีน จึงมีการยืดหยุ่นเป็นกรณีพิเศษเพื่อสัมพันธไมตรี โดยCYC ก็สามารถส่งข้อเสนอได้ทันตามกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2548 และได้ส่งรายละเอียดเพิ่มเติมตามลำดับในขณะนี้มีความสมบูรณ์ประมาณ 70% ซึ่งไม่ได้ส่งผลเสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากโรงงานผลิตในปัจจุบันยังรองรับความต้องการของตลาดได้
“ขณะนี้โรงงานยาสูบกำลังพิจารณาข้อเสนอของ CYC ว่ารายละเอียดต่างๆ มีความสมบูรณ์เพียงพอและราคาเหมาะสมหรือไม่ โดยให้เอกชนจีนส่งข้อมูลการก่อสร้างทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมนี้และจะพิจารณาในเดือนมิถุนายน หากสมบูรณ์และเหมาะสมก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติ แต่ถ้าราคาสูงเกินไปและความชัดเจนของข้อเสนอมีปัญหาก็จะขออนุมัติยกเลิกและจะได้ดำเนินการวิธีอื่นต่อไป” นายสุชนกล่าว
ทั้งนี้ จากมาตรการรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ และไม่ให้มีการตั้งโชว์บุหรี่หน้าร้าน เมื่อลูกค้าไม่เห็นบุหรี่หน้าร้าน ทำให้ตัดสินใจไม่ซื้อบุหรี่ง่ายขึ้น และทำให้การทำการตลาดยากกว่าเดิม ซึ่งคาดว่ายอดขายบุหรี่ในปี 2549 เดิม 32,000 ล้านบาท จะลดลงเหลือเพียง 30,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% โดยมีกำไรประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนกำลังการผลิตของโรงานที่เชียงใหม่ มีจำนวน 25,000 ล้านมวนต่อปี ซึ่งลดลงจากปัจจุบันที่ผลิต 30,000 ล้านมวนต่อปี เป็นการคาดการณ์ความต้องการของตลาดในช่วง 5 – 6 ปีข้างหน้า ตามการคาดการณ์การสูบบุหรี่ที่ลดลง อย่างไรก็ตามหากการสร้างโรงงานต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ปี จะส่งผลดีต่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องย้ายไปทำงานที่จังหวัดเชียง เพราะจะมีเวลาเตรียมตัวเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี
|