Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน11 เมษายน 2549
ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% บาทแข็งรอบ 7 ปี - ส่งออกเจ๊ง             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
Economics
Import-Export
Interest Rate




แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% นับเป็นครั้งที่ 12 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นต่อ จนกว่าเงินเฟ้อลดและดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก ด้าน"ไทยพาณิชย์" ปรับตามทันควัน ขณะที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง วานนี้แตะ 37.98 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งสุดในรอบ 7 ปี นักค้าเงินคาดมีโอกาสถึง 37 บาทต่อดอลลาร์ ธปท.ประกาศดูแลค่าบาทไม่ให้กระทบการส่งออก ด้านผู้ส่งออกครวญค่าบาทแข็งทำขาดทุนยับ ทั้งสินค้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเล ข้าว ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน (วานนี้) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.75% จากเดิม 4.5% เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองก็ไม่ได้กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก รวมทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคาที่ผ่านมาจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย แต่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งไตรมาสลดลงจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ธปท.จะคงส่งสัญญาณให้ตลาดเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศเริ่มปรับตัวลง และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับขึ้นมาเป็นบวก ซึ่งล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคมยังติดลบอยู่ 0.6%

“ต้องรอดูอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับตัวในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ด้วย ที่ผ่านมาเงินเฟ้อยังลดลงไม่เร็วเพียงพอซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อของประเทศปรับลดลงได้เร็วก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาเร่งตัวเร็วขึ้น จากที่เครื่องชี้ทั้ง 2 ตัวอยู่ในอัตราที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว” นายบัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในระยะต่อไปจะอยู่ในทิศทางที่ทรงตัวต่อเนื่องจาก 3-4 เดือนที่ผ่านมา และจะทยอยปรับลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเริ่มทรงตัวในไตรมาสที่ 2 และอยู่ในระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 12 ติดต่อกัน หรือตั้งแต่เดือน ส.ค. 2547

*"ไทยพาณิชย์"ขยับตามทันควัน

ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะสั้น 3 เดือน และ 6 เดือน เงินฝากประจำระยะยาว12 เดือน และ 24 เดือน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยเฉพาะลูกค้าเงินฝากประจำ 12 เดือน ที่มีวงเงินตั้งแต่ 3 ล้านขึ้นไปปรับขึ้นอีกร้อยละ 0.50 ต่อปี นอกจากนี้ยังได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทนิติบุคคลเพิ่มอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี ขณะเดียวกันได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมทุกประเภท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปีเช่นกัน ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2549 เป็นต้นไป

โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.25-4.00 ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.50-4.25 ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 4.00-4.75 ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 4.50 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเงินฝากประจำ 36 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยดอกเบี้ยเงินฝากนิติบุคคลประเภท 7 วันอยู่ที่ร้อยละ 3.25-4.00 ต่อปี ประเภท 14 วันอยู่ที่ร้อยละ 3.50-4.125 และประเภท 1 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 3.75-4.25 ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารปรับเป็น MLR ร้อยละ 7.50 ต่อปี MOR ร้อยละ 7.75 ต่อปี และ MRR ร้อยละ 8.00 ต่อปี

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

**บาทดีดแข็งค่าแตะ 37.98 บาท/ดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทในวานนี้ปรับตัวแข็งขึ้นในรอบ 7 ปีที่ 37.98 บาท/ดอลลาร์ หลังจากเปิดตลาดที่ระดับ 38.16/20 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 38.14/17 บาท/ดอลลาร์

นายบัณฑิต กล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการแข็งค่าขึ้นที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และแข็งค่าตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง รวมทั้งมีเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในภูมิภาคตามปัจจัยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งค่าเงินบาทของไทยได้รับประโยชน์ และแข็งค่าขึ้นตามด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่เป็นข้อจำกัดหรือเป็นปัญหาต่อการส่งออก เนื่องจากภาคเอกชนของไทยจะสามารถปรับตัวรับการแข็งค่าของเงินบาทได้ดี ทำให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ดี

"ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างตอ่เนื่อง ซึ่งค่าบาทได้รับอานิสงค์ไปด้วย ดังนั้น ธปท.ก็จะดูแลไม่ให้มีความผันผวนเกินไป เพื่อให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจปรับตัวได้ และสิ่งที่จะต้องดูแล ก็คือควรค่าเงินบาทปรับตัวตามความเป็นจริงของตลาด แต่ไม่ใช่ผันผวนเกินไปจนกระทบภาคธุรกิจและการส่งออก"นายบัณฑิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในระยะนี้ช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ที่ก่อนหน้านี้เกรงว่าอาจหลุดกรอบที่ธปท.ได้กำหนดไว้ โดยภาวะเงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะนำมาพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไป หลังจากที่วันนี้ได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอีกครั้งที่ร้อยละ 0.25

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ยอมรับว่าสูงกว่าประมาณการของธปท. แต่คาดว่าราคาจะมีเสถียรภาพในระดับราคาที่สูง ซึ่งธปท.เชื่อว่าหากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับนี้ไปถึงสิ้นปีก็จะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่สูงไปกว่านี้มากนัก ทำให้เงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในกรอบของธปท. แม้จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า-บริการในบางรายการ

นายบัณฑิต กล่าวว่า ธปท.มองว่าการลงทุนและบริโภคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมีการชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 48 จนถึงขณะนี้ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้เร็ว ก็จะทำให้การลงทุนและการบริโภคกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วไปด้วย โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนในระยะต่อจากนี้ยังมาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในปีนี้ ขณะที่สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์และความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่ในระดับสูง

นายสมชัย สัจจพงษ์ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าเป็นการแข็งค่าขึ้นเพียงช่วงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลเข้ามาเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทกลุ่มเหล็กแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ติดตามดูแลอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นเวลานาน เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นก็ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าระดับค่าเงินบาทที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น กระทบต่อศักยภาพการส่งออกมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่ากระทบต่อการส่งออกในช่วงนี้หรือไม่นั้น คงไม่กระทบมากนัก เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าจะสั่งออร์เดอร์ประมาณ 2 - 3 เดือนล่วงหน้าอยู่แล้ว

**ชี้บาทแข็งไม่เกี่ยวการเมือง

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินประเทศในแถบเอเชียมีการแข็งค่าขึ้นเกือบทุกประเทศ จึงดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค ดังนั้นจึงไม่น่าที่จะเกี่ยงข้องกับปัจจัยทางการมืองมากนัก ซึ่งมองในด้านบวกแล้ว การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น เป็นการลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยนโยบายหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการที่จะดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ยังคงมีทิศทางขาขึ้นอยู่ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออาร์พี 14 วัน ที่ธนาคารแห่งประเทศยังคงต้องดำเนินโยบายที่ขเมงวดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้ปรับสูงขึ้นจนเกินกว่าระดับเป้าหมาย โดยในช่วงนี้จะต้องระมัดระวังเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นพิเศษ เพราะประเทศไทยปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิต และแรงงานที่เต็ม 100 % แล้ว หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จะกระทบไปยังราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ เมื่อถึงตอนนั้นผลกระทบอื่นๆทางเศรษฐกิจจะตามมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าธปท.น่าจะพิจารณาในภาพรวมมองทุกๆปัญหาทั้งหมด เพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป จะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนลดลง

สำหรับการลงทุนนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องหรือกระทบกับการลงทุนขณะนี้มากนัก โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก หากเศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนก็จะเข้ามามากตามเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลต่อการพิจารณาการลงทุนให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งปัจจัยการเมืองน่าจะมีปัญหากับการลงทุนมากกว่าดอกเบี้ย

โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ที่ผ่านมา ภาวะการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงกับการลงทุนอยู่มาก ซึงได้เริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น จนกลับมาเป็นบวกแล้ว ดังนั้นในระยะต่อไปหากมีการปฏิรูปทางการเมืองเป็นที่น่าพอใจของทุกๆฝ่าย การลงทุนน่าจะกลับเข้ามาเหมือนเดิม

นักวิเคราะห์การเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าเงินไทยแข็งค่าเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคนี้เนื่องจากนักลงทุนมีการโยกเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ ประกอบกับมีการคาดการว่าอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคนี้จะปรับขึ้นอีก จึงคาดว่าค่าเงินบาทในเร็ว ๆ นี้จะมีโอกาสแข็งค่าไต่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าในปี 2549 เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปถึงระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

**ส่งออกร้องจ๊ากขาดทุนยับ

นายเธียรชัย มหาศิริ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 7 ปีว่า ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มแล้วในขณะนี้ เพราะการซื้อขายสินค้ากับลูกค้าต่างประเทศจะมีการโค้ดราคาล่วงหน้า โดยคิดอัตราค่าเงินบาที่ระดับ 39-39.5 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ จะทำให้ทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐ มูลค่าเงินหายไปหรือขาดทุน 1 บาท หรือทุก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินหาย 1 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทยต่อเดือนมีการส่งออก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจาก 39 บาท/เหรียญสหรัฐ มาเป็น 38 บาท/เหรียญสหรัฐ ธุรกิจจะขาดทุนอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท และหากแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 37 บาท/เหรียญสหรัฐ จะขาดทุกสูงถึง 600 ล้านบาท

"ตอนนี้ลำบากมาก เพราะหากจะโค้ดราคาส่งออกใหม่ลูกค้าก็คงไม่ยอม เพราะราคาสินค้าสิ่งทอไทยแพงอยู่แล้ว เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง และอาจจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทนทั้ง อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา อินเดีย บังคลาเทศ ลาว เขมร ซึ่งมีค่าแรงงานถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า"

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย ยังเจอสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้การเจรจาเอฟทีเอหยุดชะงักลง จากเดิมที่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับญี่ปุ่นในเดือนเมษายนนี้ ทำให้ลูกค้าจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยและซื้อสินค้าเครื่องนุ่มห่มจากไทยมากขึ้น ก็ต้องรอดูสถานการณ์ รวมทั้งเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่ลูกค้าในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยมีสัดส่วนส่งออกเครื่องนุ่มห่ม 51% อาจหันไปลงทุนและทำการซื้อขายกับมาเลเซียแทน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอาหารและประมงค้าขายไม่ได้เลย ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประมงที่โดนผลกระทบหนักสุด เพราะมีการโค้ดราคาสินค้าอยู่ที่ 40 บาท/เหรียญสหรัฐ ดังนั้นหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ทางกลุ่มจะมีการประเมินผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อไป

"รัฐบาลต้องแก้ไขเรื่องค่าเงินบาทเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่งั้นกลุ่มอาหารประมงตายกันหมด การส่งออกก็คงจะลดลง เพราะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีการประเมินตัวเลขเป็นทางการ"

นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แล้วแต่ว่าจะหนักเบาต่างกันไป

สำหรับสินค้าข้าวนั้น เป็นตลาดของผู้ซื้อ จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นทำให้ราคาข้าวไทยสูงตามไปด้วย ซึ่งผู้ซื้ออาจหันไปซื้อข้าวจากประเทศที่มีราคาถูกกว่า เช่น เวียดนาม จีน เป็นต้น โดยขณะนี้ราคข้าวไทยที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท เมื่อคิดจากอัตราค่าเงินบาท 40 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 38.3 บาท/เหรียญสหรัฐ จะทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้น 4.25% ซึ่งขณะนี้ราคาส่งออกข้าวเอฟโอบีของไทย สำหรับข้าวขาว 5% อยู่ที่ 295 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"ปัจจุบันราคาข้าวไทยก็มีราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่งอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนราคาข้าวในประเทศเราสูง จากนโยบายผลักดันราคาข้าวของรัฐบาล และยิ่งเมื่อเจอผลกระทบค่าเงินบาท ราคาข้าวก็จะยิ่งสูงขึ้นไป ซึ่งตามปกติค่าเงินเก่า ราคาข้าวไทยก็สูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของสมาคมผู้ส่งออกข้าวออกต่างประเทศ ยังมั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยปีนี้จะได้ถึง 7.5-8 ล้านตัน เพราะตลาดผู้ซื้ออย่างอิหร่านเริ่มหันมานำเข้าข้าวไทยมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมามีการสั่งซื้อถึง 4-5 แสนตัน เพราะติดใจข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดี ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้อปรับตัวกับผลกระทบ โดยจับตลาดบนให้มากขึ้น"

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง กับตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อการลงทุนสูงกว่าในภูมิภาคอาเซียน ทำให้นักลงทุนถือเงินเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าจะอยู่ในระยะสั้นเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หากยืดเยื้อไปกว่านั้นจะกระทบต่อการส่งออกแน่นอน โดยเป้าส่งออกที่หอการค้าคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 13.5%   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us