นับตั้งแต่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความคิดที่จะตรวตราบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เข้มงวดขึ้น
หรือจับบริษัทที่ไม่มีอนาคตในการดำเนินงานเข้ามาไว้ในกลุ่มซี (COMPLIANCE)
หลายบริษัทจึงต้องเตรียมเสนอแผนการปรับปรุงฟื้นฟูบริษัทในแนวทางที่เป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้ให้ประจักษ์ต่อ
กลต. มิเช่นนั้นถ้าถูกตราไว้ว่าเป็นหุ้นกลุ่มซีจากที่ กลต. ได้เล็งมานาน
ก็อาจจะหมดอนาคตกันได้ในทันที
บริษัท บ้านฉาง กรุ๊ป ผู้นำทีมโดยไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัท
เป็นหนึ่งในบริษัทที่โดนหมายตาว่าจะเข้าข่ายหุ้นกลุ่มซีบริษัทหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกหลายบริษัททำให้บ้านฉางในช่วงนับแต่
พ.ศ. 2538 ต้องเร่งวางแผนการดำเนินการเพื่อฟื้นบริษัทให้ได้ก่อนที่จะถูกคนลืมไปเหมือนกับอีสเทิร์นซีบอร์ด
ปัจจุบันบ้านฉางมีหนี้สินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท และตามบัญชีงวดล่าสุดสิ้นสุดเมื่อวันที่
31 ธันวาคม 2538 ขาดทุน 385.6 ล้านบาท คิดเป็นส่วนขาดทุนต่อหุ้น 1.90 บาท
ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น่ามองแม้โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตัวเลขในรอบบัญชีของ พ.ศ.
2537 ซึ่งบ้านฉางยังมีกำไรอยู่บ้างจำนวน 40.4 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกำไรหุ้นละ
25 สตางค์ เพราะคิดเป็นกำไรที่ลดลงถึง 1,053% ภายในช่วงปีเดียว
หนี้สินของบ้านฉางมีทั้งเงินกู้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จำนวน
60% เป็นหนี้ที่มีธนาคารกรุงเทพจำกัด เป็นเจ้าหนี้ซึ่งเหตุนี้เองที่ทำให้มีข่าวว่าธนาคารกรุงเทพส่งคนเข้ามาดูแลงานในบ้านฉาง
แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากทั้งสองฝ่ายในที่สุด และจากเหตุการณ์หวั่นเกรงว่าหนี้ที่บ้านฉางอยู่จะแก้ไม่ตก
ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายแนะนำให้กลุ่มบ้านฉางขยายกิจการจากที่ธุรกิจ
อสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ บ้าง ระหว่างรอให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตอีสเทิร์นซีบอร์ด
ที่บ้านฉางลงไปถึง 90% ของโครงการทั้งหมด จะฟื้นตัวเมื่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดได้สานต่อแล้วเสร็จในอีก
4 ปีข้างหน้า ซึ่งตรงกับตัวเลข 2000 ที่คนนิยมอ้างถึง เพระเมื่อนั้นบ้านฉางก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโครงการในพื้นที่ดังกล่าวได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น
จากเหตุผลที่โครงการ 90% ที่มีอยู่ในอีสเทิร์นซีบอร์ด ยอดขายไม่คืบหน้า
เพราะเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นยังไม่เอื้อประโยชน์ รวมทั้งบริษัทย่อยของบ้านฉางมีผลประกอบการขาดทุน
ทำให้บ้านฉางต้องหาวิธีเอาตัวรอดให้มากที่สุด
บ้านฉางตัดสินใจชะลอโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่เกือบทั้งหมดพร้อมกับประกาศขายโรงแรมรีสอร์ททั้ง
3 แห่ง ที่ดินในชลบุรีและระยองที่ไม่มีศักยภาพ โดยหวังว่าหากขายได้จะมีหมุนเข้ามาจากรายได้ส่วนนี้ประมาณ
1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเร่งขยายให้ได้ภายในปีนี้
เงินดังกล่าวส่วนหนึ่งจะใช้หนี้กับเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 400 ล้านบาท
อีก 400 ล้านบาท ใช้รองรับการดำเนินโครงการที่เหลือ นอกจากนั้นจะใช้หมุนเวียนในบริษัท
เท่าที่ผ่านมา นโยบายการแก้ปัญหาของบ้านฉางมีบางส่วนที่ทำและเห็นผลแล้ว
คือการลดต้นทุนดำเนินงานในองค์กรเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ 30-40% คือจากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายเดือนละ
10 ล้านบาท เหลือ 6 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนนี้รวมจากผลที่ปลดพนักงานไปเมื่อต้นปีรวม
70 คน และการได้เงินหมุนเวียนบางส่วนจากการเพิ่มทุนอีก 1,600 ล้านบาท โดยแบ่งจำหน่ายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน
2:1 95 ล้านหุ้น หรือ 950 ล้านบาท เงินจากการขายหุ้นบริษัทบ้านฉางแคมพัสซิตี้ให้กับอิงอร
แสงสิงแก้ว มูลค่า 15 ล้านบาท และถ้าขายที่ดินตามที่คิดไว้ได้บ้านฉางก็จะมีเงินหมุนเวียนในปีนี้เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้บ้านฉางยังมีแผนขยายการลงทุนมากขึ้นในสาธารณูปโภคและะรกิจพลังงานทั้งในและต่างประเทศ
ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ (ดูตาราง) จะมีแผนงานที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อยู่อีกนิดหน่อย
คือแผนการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยระยะยาวในเวียดนามทั้งที่ดำเนินงานเองโดยบ้านฉางและดำเนินงานโดยบริษัทเอเชี่ยนฯ
ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามที่ดิงห์วู
โดยทางบ้านฉางคาดว่าในสิ้นปี 2539 นี้ อย่างน้อยบริษัทจะชำระหนี้ได้ก่อนประมาณ
2,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องแบบนี้ถ้าไม่รอดูก็คงไม่รู้ว่าบ้านฉางจะปลดหนี้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่