ใครจะคาดคิดว่าซีโนบริต บริษัทเทรดดิ้งเฟิร์มเก่าแก่อายุครึ่งทศวรรษจะมาถึงจุดวิกฤติสุดขีด
ตระกูลโฮลท์ผู้ก่อตั้งต้องกลายเป็นแค่อดีต การตัดสินใจขายหุ้นให้กับไพโรจน์
เปี่ยมพงษ์สานต์แห่งบ้านฉาง เพื่อกอบกู้ธุรกิจได้กลายเป็นจุดเปลี่ยน แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ซีโนบริตต้องพบกับปัญหายิ่งขึ้น
ไชยา ริชาร์ด โฮลท์ ทายาทรุ่นที่ 3 ต้องระเห็จออกจากบริษัท ซีโนบริตกลับตกอยู่ในเงื้อมมือของ
"พ่อมดการเงิน" ที่ชื่อ "ธีระศักดิ์ สุวรรณยศ" แต่ธีระศักดิ์ก็ล้มเหลวที่จะนำซีโนบริตเข้าตลาดหลักทรัพย์
ความล้มเหลวไม่ใช่เพียงแค่เรื่องขาดทุนและหาทางแต่งตัวเลข ทำงบการเงินให้สวยหรูเท่านั้น
แต่ซีโนบริตล้มเหลวเรื่องการบริหารอย่างสิ้นเชิง ซีโนบริตกลับกลายเป็นบริษัทที่ใครต่อใครมองว่าเป็นบริษัทเล็ก
ๆ แต่กลายเป็นบริษัทเล็กที่ปราบพ่อมดระดับเซียนไปแล้ว
คำที่ว่า สร้างธุรกิจนั้นว่ายากแล้ว คงไม่ยากเท่ากับการรักษาไว้ คงเทียบได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับซีโนบริตในเวลานี้
แต่อะไรคือปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นกับซีโนบริต เลือกพันธมิตรผิด-บริหารธุรกิจผิดพลาด-เจ้าของไม่มีฝีมือ
หากเซอร์เจมส์ ริชาร์ด โฮลท์ยังมีชีวิตอยู่และรู้ว่าวันนี้ซีโนบริตที่สร้างมากับมือ
ตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ต้องกลายสภาพมาเป็นบริษัทไร้หางเสือ ไม่ใช่ของตระกูลโฮลท์อีกต่อไปคงปวดใจไม่น้อย
แม้จะไม่ใช่เรื่องยากที่เซอร์เจมส์ ริชาร์ด โฮลท์ จะสร้างซีโนบริตขึ้นมา
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เซอร์เจมส์จะทำให้ซีโนบริตเติบโตมาจนเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มขนาดกลางรายหนึ่งของไทย
เจมส์ ริชาร์ด โฮลท์ อดีตวิศวกรชาวอังกฤษข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานในไทยเมื่อ
60 ปีที่แล้ว มาใช้ชีวิตเป็นวิศวกรประจำอู่ต่อเรือกรุงเทพฯ หรือ BANGOKO
DOCK จนก้าวเป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัทรถไฟแม่กลอง ประเทศไทย
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เซอร์เจมส์ต้องตกเป็นเชลยศึก จากจุดนี้เองทำให้เซอร์เจมส์ได้มีโอกาสพบกับบ็อบบี้
แมคมิลั่น เศรษฐีชาวอังกฤษ เจ้าของบริษัทซีโนบริติช ที่มีธุรกิจอยู่ในย่านเอเซียและถูกจับเป็นเชลยศึกค่ายเดียวกัน
หลังจากสงครามเลิกเจมส์และบ๊อบบี้ซึ่งกลายเป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบานร่วมกันก่อตั้งบริษัทซีโนบริติช
(สยาม) ขึ้นในปี 2489 ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ส่งสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา
ดีบุก ไม้สักไปขายที่อังกฤษและญี่ปุ่นจนถึงสินค้าเครื่องมือด้านวิศวกรรม
เช่น เครื่องยนต์ ปั๊มน้ำ ยางรถยนต์
ถัดมาไม่กี่ปีเมื่อบ๊อบบี้ถึงแก่กรรม เจมส์ขอซื้อหุ้นในส่วนของบ๊อบบี้จากทายาท
และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซีโนบริติชตัดคำว่า
สยามออก
ด้วยวิสัยพ่อค้า จำต้องหาสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมตลอดเวลาและผลพวงที่เคยเป็นทหารเก่ายศพันโทของกองทัพอังกฤษ
ทำให้การติดต่อค้าขายกับราชการจึงไม่ใช่เรื่องยาก เจมส์ก็เริ่มหันมาค้าขายเครื่องจักรกับหน่วยงานรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นการขายหัวรถจักรให้กับการรถไฟ รวมทั้งเริ่มค้ายุทโธปกรณ์ เช่น
เครื่องรับส่งวิทยุสนามให้กับกองทัพบก
เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนหลายประเทศรวมทั้งไทยตื่นตัวในเรื่องอาวุธมาใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่ง
เจมส์จึงหันมาจับธุรกิจค้าอาวุธเต็มตัว โดยจัดตั้งเป็นแผนกยุทโธปกรณ์ขึ้นมาเพื่อรองรับ
และจากจุดนี้เองที่ทำให้ซีโนบริตขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ชื่อของซีโนบริตในเวลานั้น แม้จะไม่แพร่หลายสำหรับคนทั่วไป เช่นเทรดดิ้งเฟิร์มอื่นๆ
แต่ก็เป็นที่รู้จักดีในหมู่ผู้ใหญ่ในกองทัพ และหน่วยงานราชการในยุคก่อนไม่ยิ่งหย่อนกับนักค้าอาวุธในยุคเดียวกัน
ตัวเจมส์เอง ด้วยเหตุที่ค้าขายนำเข้าสินค้าจากอังกฤษมานาน จนได้รับพระราชทานยศจากราชินีอังกฤษให้เป็นท่านเซอร์
เมื่อระบบสื่อสารเข้ามามีบทบาทเซอร์เจมส์ขยับขยายจัดตั้งแผนกสื่อสารโทรคมนาคมขึ้นมาอีก
เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารให้กับกองทัพ รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจท่องเที่ยวอันเป็นผลพวงมาจากการเป็นนักการค้าระหว่างประเทศ
แม้ว่ากิจการซีโนบริตจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยเหตุที่สร้างธุรกิจมากับมือ
ทำให้เซอร์เจมส์พอใจที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
"หากมีโอกาสเซอร์เจมส์จะทำทุกอย่างไม่ว่ารับแฟ็กส์หรือพิมพ์เอกสาร"
พนักงานเก่าแก่ของบริษัทย้อนถึงอดีต
แต่ด้วยวัยที่มากขึ้น ประกอบกับกิจการทั้ง 4 สาย คือ วิศวกรรม ยุทโธปกรณ์
สื่อสารโทรคมนาคม และการท่องเที่ยวขยายเกินกำลังที่ได้รับ เซอร์เจมส์เริ่มมองหาผู้สืบทอดกิจการ
เมื่อพรไชย เจติยภาคย์ทายาทเพียงคนเดียว จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเซอร์เจมส์ก็เริ่มถ่ายทอดธุรกิจสู่ทายาทผู้สืบทอดกิจการ
พรไชย ไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ของเซอร์เจมส์เป็นลูกติดของภรรยาชาวไทย แต่ด้วยเหตุที่เซอร์เจมส์ไม่มีลูก
และเลี้ยงพรไชยมาตั้งแต่เด็ก จึงตั้งความหวังให้เป็นผู้สืบทอดกิจการ
แต่เซอร์เจมส์ ไม่ได้วางมือปล่อยกิจการให้พรไชยเลยทีเดียว ต้องใช้เวลาพิสูจน์ฝีมือหลายปีทีเดียวกว่าเซอร์เจมส์จึงจะแน่ใจปล่อยให้พรไชยขึ้นนั่งบริหารงานแทน
ซึ่งเซอร์เจมส์จะคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา
พรไชยไม่ได้ทำให้เซอร์เจมส์ผิดหวัง ทุ่มเทให้กับซีโนบริตเต็มที่สามารถสานต่อกิจการที่เซอร์เจมส์วางไว้ได้อย่างไม่มีปัญหา
ในช่วงนั้นเองพรไชย มีแนวคิดนำซีโนบริตรุกเข้าสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ เนื่องจากกองทัพมีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้
พรไชยจึงตัดสินใจขยายเข้าสู่ธุรกิจนี้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง
ตัวพรชัยเองแม้จะเก่งกาจในเรื่องค้าขาย แต่ด้วยความที่ธุรกิจคอมพิวเตอร์เป็นธุรกิจใหม่
ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และพรไชยก็มีธุรกิจเดิมทั้ง 4 สายล้นมืออยู่แล้ว
จึงติดต่อให้ไซมอน เจมส์ จอยส์ ผู้บริหารสำนักงานสาขาของทรอน อีเอ็มไอ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์
ที่ใช้ในราชการทหารมาช่วยธุรกิจทางด้านนี้
บางกระแสก็ว่าเป็นเพราะไซมอน เจมส์ จอยส์ เป็นผู้เสนอให้ไอเดียให้กับเซอร์เจมส์
และพรไชยซึ่งทั้งสองเห็นคล้อยตาม เพราะเป็นช่วงที่ธุรกิจคอมพิวเตอร์กำลังเข้ามามีบทบาทในไทยพอดี
ธุรกิจคอมพิวเตอร์ของซีโนบริตไม่ได้ทำในลักษณะซื้อมาขายไป แต่อยู่ในรูปแบบของซิสเต็มอินทริเกชั่น
หรือ เอสไอ ซึ่งเป็นการขายเป็นระบบตั้งแต่การจัดหาฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์บริการ
ตลอดจนการพัฒนา หรือปรับแต่งให้เหมาะสมกับลูกค้า ซีโนบริต ได้จัดตั้งแผนกใหม่
เรียกว่า ซีโนบริต อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม หรือ SIS ขึ้นมา เพื่อรองรับกับธุรกิจนี้โดยตรง
และให้ไซมอนเป็นคนคุม
หลังจากพิสูจน์ฝีมือหลายปี เซอร์เจมส์จึงตัดสินใจขึ้นนั่งเป็นประธานบริษัท
ปล่อยให้พรไชยนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการรับผิดชอบการบริหารซีโนบริตเต็มตัว
ในยุคของพรไชย จัดอยู่ในช่วงเฟื่องฟูของซีโนบริตไม่แพ้ยุคของเซอร์เจมส์
พรไชยสร้างผลงานความเป็นนักขายไว้หลายโครงการ อาทิ หัวรถจักรความเร็วสูง
หรือสปริ๊นเตอร์ ให้กับการรถไฟ เครื่องมือวิทยุสื่อสารให้กองทัพ เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินของนอร์ธเวสต์
และเลาด้าแอร์และขายคอมพิวเตอร์ให้การรถไฟ
"พรไชยสามารถสืบทอดกิจการต่อจากเซอร์เจมส์ได้ไม่ติดขัด เป็นเซลส์แมนเต็มตัวขายได้ทุกอย่าง"
แหล่งข่าวในซีโนบริตเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
พรไชยบริหารซิโนบริตจนอายุประมาณ 50 ก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากในสมัยหนุ่ม
ๆ ต้องตรากตรำกับธุรกิจ และจัดเป็นนักเที่ยวตัวยง
หลังจากไชยา ริชาร์ด โฮลท์ ลูกชายคนโตของพรชัย ที่เกิดจากภรรยาชาวอังกฤษ
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอ๊อกซฟอร์ดโปลีเทคนิค ประเทศอังกฤษและเริ่มงานที่โฟรโมสต์ได้
6 เดือน ก็ถูกเรียกกลับมาทำงานให้กับกิจการของครอบครัว
เซอร์เจมส์นั้นแม้จะมีทายาทสืบทอดธุรกิจ แต่ไม่มีทายาทสืบสกุล จึงขอไชยาซึ่งมีสถานะเป็นหลานปู่มาเป็นบุตรบุญธรรมและขอให้ใช้นามสกุล
ริชาร์ด โฮลท์ ชื่อสกุลของไชยาจึงกลายเป็น ริชาร์ด โฮลท์ แทนที่จะเป็นเจติยภาคย์ตามผู้เป็นพ่อ
ไชยาเรียนรู้สายธุรกิจขายตั๋วเครื่องบินไม่นาน ภายหลังจากเซอร์เจมส์เสียชีวิตลงในปี
2533 ก็ขึ้นมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนพรไชย ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจึงต้องวางมือไปก็นั่งเป็นประธานบริษัท
พรไชยบินไปผ่าตัดโรคหัวใจที่สหรัฐทิ้งงานทั้งหมดไว้ให้กับลูกชายสานงานต่อ
และเมื่อกลับจากรักษาตัวพรไชยก็หันไปเอาดีกับธุรกิจสนามกอล์ฟ ที่พรชัยซื้อที่ดินเอาไว้พันกว่าไร่แถวสระบุรี
เมื่อสิบปีที่แล้ว (อ่านล้อมกรอบ) ส่วนงานที่ซีโนบริต พรไชยก็เพียงแต่ดูแลอยู่ห่าง
ๆ หรือในกรณีที่มาประชุมบอร์ด
ชิโนบริตภายใต้บังเหียนของไชยา ได้กลายเป็นยุคที่ซีโนบริตก้าวสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัว
และถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของซีโนบริต
ไชยาเชื่อว่าธุรกิจอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแรง และที่ผ่านมาซีโนบริตก็เคยฝากผลงานขายเครื่องให้กับหน่วยงานใหญ่
ๆ มาหลายโครงการ เช่น การบินไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะขยายธุรกิจทางด้านนี้ในขณะที่ธุรกิจค้าอาวุธ
ซึ่งเคยทำรายได้หลักมากกว่า 80% กำลังเริ่มลดบทบาทลงไปตามยุคสมัย
ในขณะที่บางกระแสก็ว่า เป็นเพราะธุรกิจค้าขายอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น จำเป็นต้องลงไปคลุกคลีสร้างสายสัมพันธ์กับทหารโดยส่วนตัวของไชยาซึ่งใช้ชีวิตในต่างประเทศมาตั้งแต่เด็กไม่ถนัดกับการทำธุรกิจในลักษณะนี้
มอบหมายให้กับผู้บริหารเก่าแก่ของบริษัทดูแลธุรกิจทางด้านนี้ไป
ไชยา อาศัยไซมอนเป็นมือขวาคอยให้คำปรึกษาในธุรกิจนี้ ลงมือผลักดันแผนกซีโนบริต
อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม หรือ SIS เต็มที่ มีการติดต่อนำคอมพิวเตอร์หลายยี่ห้อเข้ามาจำหน่าย
เช่น แอมดาห์ล, ฮิวเลตต์แพคการ์ด และซอฟท์แวร์ทางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
เป้าหมายของไชยา คือการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ในรูปแบบของซิสเต็มส์อินทริเกชั่น
ตามแนวทางที่ไซมอนเคยวางไว้ตั้งแต่ในยุคนั้น
และไม่ผิดหวังในการประมูลจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูลลูกค้าหรือระบบ
ซีซีเอสเอส ให้กับโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น
หรือทีเอ มูลค่า 300-500 ล้านบาท ซิโนบริตเป็นม้ามืดคว้าโครงการไปครอง
ว่ากันว่า เป็นเพราะสายสัมพันธ์อันยาวนานของพรชัย ที่ค้าขายกับกองทัพมานาน
และซีพีผูกสัมพันธ์กับบรรดาบิ๊กทหารเหล่านี้อยู่ หากสังเกตให้ดีในช่วงที่ทีเอเปิดประมูลโครงการ
CCSS เป็นในยุคที่ รสช. ครองอำนาจพอดี
จากผลงานชิ้นโบว์แดงในครั้งนั้นเองยิ่งทำให้ไชยาย่ามใจทุ่มเทไปกับธุรกิจทางด้านนี้อย่างเต็มตัว
เป้าหมายของไชยาและไซมอน คืองานประมูลโครงการขนาดใหญ่ เพราะในเวลานั้นซีโนบริตเองก็เริ่มมีชื่อเสียง
และยังพอมีเงินทุนที่สะสมมาจากธุรกิจค้าอาวุธ
ไชยาและไซมอน ลงมือสร้างทีมงานอย่างเร่งด่วน จ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก
เพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำแผนก SIS เพิ่มขึ้นเป็น 200 คน และเริ่มประชาสัมพันธ์บริษัทออกสู่ภายนอกมากขึ้น
ภาพลักษณ์ของซีโนบริตในเวลานั้นดูอหังการและมุ่งมั่นยิ่งนัก
แต่ไชยาลืมคิดไปว่า งานประมูลโครงการไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ โดยเฉพาะโครงการใหญ่
ๆ ที่ต้องอาศัย "คอนเนคชั่น" ชนิดถึงลูกถึงคน ตั้งแต่ระดับล่างไปจนระดับใหญ่
ที่สำคัญ "เงิน" ก็ต้องถึงด้วย ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วหลายโครงการที่ชนะกันด้วย
"เส้นสายภายใน" เพียงอย่างเดียว
หากสังเกตให้ดีจะมีเพียงบริษัทคอมพิวเตอร์ไม่กี่แห่งที่ทำธุรกิจในลักษณะนี้เช่น
กลุ่มซีดีจี ของนาถ ลิ่วเจริญ, พีซีซีของล็อกซเล่ย์, ชินวัตรคอมพิวเตอร์
ซึ่งในช่วงหลังบริษัทเหล่านี้ก็พยายามหันไปหาลูกค้าเอกชน หรือ ขยายไปยังธุรกิจอื่น
ๆ
ดังนั้นพอทำได้ไปเพียงปีกว่าซีโนบริต ก็เริ่มออกอาการมีกระแสข่าวการถูกเทคโอเวอร์เกิดขึ้นเป็นระยะ
ๆ
ผลที่ปรากฏขึ้น คือ ซีโนบริตขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง งบดุลของบริษัทในปี
2536 ซีโนบริตไม่มีเงินลงทุนระยะสั้นเลย ในขณะที่ปี 2535 ยังมีอยู่ถึง 1750
ล้านบาท
รวมทั้งเงินกู้จากสถาบันการเงินของซีโนบริตที่ปรากฎในงบดุลปี 2536 มีอยู่ถึง
105 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้นำอาคารและที่ดิน ในขณะที่ปี 2535 ไม่ได้มีการกู้ยืมเลย
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพการขาดเงินทุนหมุนเวียนของซีโนบริตในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ แหล่งข่าวในซีโนบริตชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงมากไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้มา
ผลก็คือการได้โครงการ CCSS เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายแล้ว ปรากฏว่าซีโนบริตไม่เหลือกำไร
"เฉพาะแค่เงินเดือน ปาเข้าไปเดือนละสิบกว่าล้านแล้วปีละ 200 ล้าน
เท่ากับว่าโครงการ CCSS ไม่มีกำไรเหลือเลย" แหล่งข่าวกล่าว
แต่สถานการณ์อาจไม่เลวร้ายลงไปอีกหากซีโนบริตยังพอมีรายได้จากโครงการอื่นมาหล่อเลี้ยง
แต่เนื่องจากไชยาไปมุ่งโครงการขนาดใหญ่จนไม่สนใจโครงการระยะสั้น ซึ่งเป็นตัวทำรายได้หล่อเลี้ยงบริษัทในขณะที่โครงการขนาดใหญ่นั้นต้องอาศัยทั้งเวลา
คอนเนคชั่น และต้นทุนเมื่อไม่มีรายได้ มีแต่ค่าใช้จ่าย
"บางโครงการกินเวลาถึง 1-2 ปีเมื่อไม่มีรายได้มาหล่อเลี้ยง เงินทุนสำรองได้จากธุรกิจค้าอาวุธก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับโครงการ
ไม่ว่าจะเป็นค่าเอ็นเตอร์เทน พาไปดูงาน" แหล่งข่าวกล่าว
ในขณะที่บางกระแสก็ว่า เป็นเพราะพรไชยนำเงินของซีโนบริตไปใช้ในธุรกิจส่วนตัว
คือโครงการฟอร์เรสต์ ฮิลส์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากทั้งโครงการสนามกอล์ฟ
โรงแรม รีสอร์ท ที่ดิน จัดสรร จนเป็นเหตุให้ซีโนบริตเกิดเงินทุนหมุนเวียนไม่ทันที่จะใช้ภายในบริษัท
เมื่อซีโนบริตเจอภาวะวิกฤติพรไชยจึงต้องหันกลับเข้ามาในซีโนบริตอีกครั้ง
พรไชยเลือกวิธีการหาพันธมิตรเพื่อมากอบกู้ธุรกิจ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ
และธุรกิจส่วนตัวที่มีอยู่ ที่สำคัญปัญหาของซีโนบริตไม่ใช่เรื่องการบริหารเพียงอย่างเดียว
แต่มีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แต่การตัดสินใจของพรไชยในครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของซีโนบริตยิ่งวิกฤตหนักไปอีก
พรไชย หันไปหาชาญชัย ชินเจริญคนสนิทพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์เพื่อนนักเรียนเซ็นต์คาเบรียลให้มาช่วยเหลือเพราะชาญชัยมี
"คอนเนคชั่น" ในแวดวงการเมืองและไฟแนนซ์
ชาญชัยติดต่อลิขิต หงส์ลดารมภ์นักธุรกิจที่ทำธุรกิจค่อนข้างจะหลากหลายมีสายสัมพันธ์ทั้งการเมือง
และธุรกิจการเงินเป็นที่ปรึกษาสถาบันการเงินกลายแห่งและธีระศักดิ์ สุวรรณยศ
มือการเงินที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน และในช่วงนั้นก็กำลังลาออกจากนครหลวงเครดิตเข้ามาร่วมเป็นทีมที่ปรึกษา
2 คนที่มาเป็นที่ปรึกษานี้มีอะไรๆ คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะบทบาทการเป็น "สะพานเชื่อม"
ต่อไปยังกลุ่มทุนอื่น ๆ
ละครฉากใหญ่ของซีโนบริตกำลังเริ่มต้นที่จุดนี้ !
ลิขิตเข้ามาซื้อหุ้นในซีโนบริต แต่ไม่มากนัก และมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา
ส่วนธีระศักดิ์นั้น ตอนแรกธีระศักดิ์ไม่ได้สนใจซีโนบริตเลย แต่ด้วยความเกรงใจและมื่อลงมาศึกษา
โดยให้คูเปอร์แอนด์ไรแบนด์ที่ปรึกษาทางการเงินจากต่างประเทศศึกษาดูก็มองเห็นลู่ทาง
เนื่องจากในช่วงธุรกิจทางด้านไอทีในช่วงนั้นกำลังบูมมีหลายบริษัทร่ำรวยจากธุรกิจนี้
เช่น กลุ่มชินวัตรที่เพิ่มนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่นาน และชื่อของซีโนบริตขณะนั้นยังขายได้
มีโครงการใหญ่ ๆ อยู่ในมือถึงสองโครงการ
เมื่อมองเห็นลู่ทางธีระศักดิ์ จึงไปชวนไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์แห่งบ้านฉางให้เข้ามาซื้อหุ้น
เพราะธีรศักดิ์นั้นนั่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินกลุ่มบ้านฉาง และสนิทสนมกับไพโรจน์เป็นอย่างดี
ไพโรจน์เองก็สนใจธุรกิจทางด้านไอทีอยู่แล้ว เคยดึงคนในวงการไอทีเข้ามาเพื่
อขยายเข้าสู่ธุรกิจนี้ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท
เคเอสซีของค่ายเอแบค ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท
หลังจากได้ผู้ถือหุ้น ธีระศักดิ์จัดการเพิ่มทุนจดทะเบียนซีโนบริตจาก 15
ล้านเป็น 100 ล้านบาท โดยไพโรจน์ถืออยู่ 35% ส่วนไชยาและครอบครัวถืออยู่
40% ที่เหลืออีก 25% เป็นของรายย่อย
ความหวังของพรไชยในเวลานั้น คือ ต้องการหาพันธมิตรเพื่อมาช่วยฟื้นฟูธุรกิจทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ซีโนบริตผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้
ในขณะที่ความหวังของธีระศักดิ์และไพโรจน์ในเวลานั้นคือ นำซีโนบริตเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อฟันกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น
หลังการเข้ามาของไพโรจน์ การบริหารงานของซีโนบริตที่เคยอยู่ในมือของไชยา
ก็ถูกโอนถ่ายมาอยู่ในฝ่ายของไพโรจน์ซึ่งนั่งเป็นรองประธานบริษัท ส่วนพรไชยเป็นกรรมการผู้จัดการ
ไพโรจน์นั้นไม่ได้ดูแลเองทั้งหมดแต่ก็ให้ความสนใจพอสมควร โดยมอบหมายให้มีธีระศักดิ์เป็นผู้รับผิดชอบ
ธีระศักดิ์ แม้ไม่ได้เข้ามานั่งบริหารเต็มตัว หรือมีตำแหน่งประจำที่ซีโนบริต
ลักษณะของผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ที่มีบทบาทต่อความเป็นไปของซีโนบริตอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องการเงิน
ธีระศักดิ์ ส่งเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์จากแคปปิตอลแมเจนเม้นท์ ซึ่งช่ำชองเรื่องเทคโอเวอร์กิจการในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นกรรมการ
และช่วยเป็นที่ปรึกษาโครงการ
"เราหวังจะให้คุณเชิดศักดิ์มาช่วยหาโครงการประมูลให้ เพราะเคยอยู่ชินวัตรมาก่อน
จะได้มาช่วยมาก่อน จะได้มาช่วยเรื่องสร้างคอนเนคชั่น ก็มาช่วยเรื่องลดคนลดค่าใช้จ่ายอยู่
แต่เขาช่วยซีโนบริตได้ไม่เต็มที่ เพราะคุณเชิดศักดิ์ก็มีงานอยู่หลายแห่ง"
แหล่งข่าวในซีโนบริตกล่าว
หลังพลาดหวังจากเชิดศักดิ์ ธีระศักดิ์ก็นั่งดูแลอยู่พักใหญ่ จนมาได้เพื่อนคือ
วิเชษฐ์ บัณฑุวงศ์ นักธุรกิจกลุ่มตึกดำ และเป็นมือบริหารการเงินให้กับยูนิคอร์ด
ซึ่งเวลานี้ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการเงิน
ขณะเดียวกันในด้านการบริการหลังจากไซมอน จอยส์มือขวาไชยายื่นใบลาออกธีระศักดิ์ได้ดึงมรกต
ปุณณะกิตติมือบริหารตลาดแบงค์กิ้งจากไอบีเอ็มและทีมงานเข้ามาช่วยในเรื่องการตลาดร่วมกับไชยา
แม้ว่ามรกตจะมีผลงานขายคอมพิวเตอร์ และเอทีเอ็มให้กับธนาคารได้แต่ก็เป็นโครงการขนาดเล็ก
สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มไพโรจน์ ที่ต้องการได้โครงการใหญ่ ๆ ที่สร้างรายได้ให้ในคราวเดียวกันเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับปัญหาการขัดแย้งภายใน จนมรกตและทีมงานตบเท้าลาออก
จากนั้น ธีระศักดิ์ไปดึงเอาไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้บริหารดาต้าแมท อดีตเจ้าของบริษัทออกัสก์
2525 เข้ามาแทนมรกตแต่ในที่สุดก็ต้องลาออกไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับไชยา แม้จะรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเช่นในสมัยที่เป็นธุรกิจครอบครัว
เพราะอำนาจการตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดบริหาร
"คุณไชยา ทำใจไม่ค่อยได้กับเรื่องนี้แต่เดิมเคยตัดสินใจได้เวลามีประชุมบอร์ดบางครั้งเมื่อเถียงกันมาก
ๆ ไชยาระงับอารมณ์ไม่ได้ถึงกับตบโต๊ะและเดินออกไปเลย" แหล่งข่าวย้อนอดีต
แหล่งข่าวเล่าว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไชยา และผู้ถือหุ้นใหม่ที่มากที่สุด
คือ คณะกรรมการบริหาร และทีมที่ปรึกษาต้องการเลิกจ้างผู้บริหารจากต่างชาติเพื่อลดค่าใช้จ่าย
เพราะในช่วงนั้นรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ไชยาไม่ยอมเพราะเป็นทีมงานที่สร้างมากับมือ
และเป็นส่วนที่ไชยาเห็นว่ามีความจำเป็นในการขยายธุรกิจ
ในขณะที่ปัญหาการบริหารงานภายในของซีโนบริตยังไม่ดีขึ้น ผลการดำเนินงานก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายมีรายได้เข้าบ้างแต่เป็นงานขายของขนาดเล็กแต่ยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามา
ธีระศักดิ์ใช้วิธีการแก้ปัญหา ด้วยการเพิ่มทุนอีก 2 ครั้ง คือ จาก 100
ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาทเพื่อหวังจะฟื้นฟูซีโนบริตอีกครั้ง
ปรากฎว่าไชยาและครอบครัวไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มเติม ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก
40% เหลืออยู่กว่า 10% ขณะที่หุ้นของบ้านฉางเหลืออยู่ 20% และมีกลุ่มนายประกิต
ประทีปปะเสน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ อดีตเจ้านายเก่าที่ธีรศักดิ์ชักชวนให้เข้ามาถือหุ้นประมาณ
22% ที่เหลือเป็นของรายย่อย
การเข้ามาของประกิตเหมือนกับการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทนอกตลาดอื่น ๆ เขามองบริษัทเล็ก
ๆ นอกตลาดที่พอมีอนาคตเข้ามาซื้อหุ้น ซึ่งหลายครั้งจะซื้อในนามบริษัทธนสถาปนา
จำกัด แต่งตัวบริษัทโนเนมนั้น ๆ เข้าตลาดหุ้น เสร็จแล้วก็ขายทิ้งทำกำไร
ชื่อ "ซีโนบริต" ในช่วงนั้นยังขายได้ประกิตมองว่า โอกาสเข้าตลาดหุ้นไม่น่าจะยากนัก
เลยริบโดดเข้าอุ้มในทันที
แต่คราวนี้ไม่เป็นดังคาด !
สาเหตุที่กลุ่มบ้านฉางไม่เพิ่มทุนแหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นเพราะในช่วงนั้นกลุ่มบ้านฉางเริ่มมีปัญหาในเรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา
ขณะเดียวกันก็เริ่มหมดหวังกับซีโนบริตแล้ว ส่วนไชยาและพรไชย ไม่สามารถหาเงินมาใช้เพิ่มทุนได้
ธีระศักดิ์ จึงไปชวนให้กลุ่มประกิตเข้ามา
หลังจากเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่
โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ไชยานั่งเป็นประธานกลุ่มธุรกิจอินดัสเตรียลเทคโนโลยี
ไตรรัตน์เป็นประธานกลุ่มธุรกิจอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ส่วนณัฐินันท์ วงศ์วรรณ
ลูกชายพ่อเลี้ยงณรงค์วงศ์วรรณ จากไอบีเอ็มที่กลุ่มไพโรจน์ดึงตัวเข้ามา นั่งเป็นประธานบริหารและจัดการภายในซึ่งประธานแต่ละกลุ่มจะขึ้นตรงต่อประธานกรรมการของบริษัท
เท่ากับว่า นับจากนี้อำนาจการบริหารทั้งหมดที่อยู่ในมือไชยาจะไปขึ้นตรงกับคณะกรรมการของบริษัท
และทีมที่ปรึกษา
แต่ผลจากการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของซีโนบริตย่ำแย่ลงไปอีก
ขาดความเด่นชัดในการบริหารงานนโยบายเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารไม่มีอำนาจตัดสินใจ
"ลูกค้าใหม่ ๆ แทบไม่มีเข้ามา รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าเก่าที่ซื้อเครื่องเพิ่มเติม
พอมีปัญหา เขาจะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนผู้บริหารจนบริษัทไม่มีทิศทางที่แน่นอน"
ความไม่แน่นอนของซีโนบริตนั้น แหล่งข่าวในซีโนบริตวิเคราะห์ว่ามาจากเหตุผล
2 ประการคือ
หนึ่ง - ความเชื่อมั่นของไชยาในการที่จะดำเนินธุรกิจไปตามแบบแผนเดิมของตนเองต่อไป
และฝากความหวังกับทีมงานชาวต่างชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไซมอน
ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหม่ที่ส่งทีมบริหารเข้ามาต้องการปรับทิศทางการบริหาร
และลดค่าใช้จ่ายลง ลดพนักงาน โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงานต่างประเทศซึ่งเป็นเงินสูงมาก
ไซมอนและพรรคพวกจึงเป็นเป้าที่ผู้ถือหุ้นใหม่ต้องการให้ออกมากที่สุด ขณะที่ไชยาก็ถือว่ากลุ่มนี้เป็นขุมกำลังสำคัญของเขา
ในที่สุด ไชยาต้องเป็นฝ่ายถอย ไซมอนลาออกในที่สุด
ความขัดแย้งระหว่างไชยากับผู้ถือหุ้นใหม่เป็นปมที่ยืดเยื้ออยู่เป็นเวลานาน
และเป็นบาดแผลเรื้อรังสำหรับซีโนบริต โอกาสที่ซีโนบริตจะฟื้นขึ้นมาหลังจากที่อัดฉีดเงินเข้าไปจึงทำได้ลำบาก
สอง - อย่างไรก็จาม ความผิดพลาดของซีโนบริตก็ไม่ได้มาจากตัวไชยาเสียทีเดียว
ปัญหาสำคัญที่แท้จริงอาจจะมาจากตัวผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งหมดก็ได้
น่าตลกมากที่ซีโนบริตมีผู้ถือหุ้นและผู้บริหารชื่อดังมากมาย ทุกคนล้วนมีชื่อเสียงทั้งในวงการเมือง
การเงิน วงการไอที
แต่ทุกคนมาจบเห่ที่ซีโนบริตกันหมด
ว่ากันว่า ผู้ที่เข้ามาในซีโนบริตล้วนจะรีบเข้ามากอบโกยชื่อเสียง ในอดีตของซีโนบริต
เชื่อฝีมือ "พ่อมดการเงิน" ที่ร่ายเวทคาถาอาคมเพื่อที่จะนำซีโนบริตเข้าตลาดหุ้นเร็ว
ๆ เพื่อขายหุ้นทิ้ง ฟันเอากำไร
ทุกคนมองว่า เรื่องซีโนบริตเป็นเรื่องเล็ก ๆ ปะหน้าทาแป้งเสียหน่อยก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทุกคนลืมไปว่า พ่อมดการเงินเก่งแต่เรื่องจับแพะชนแกะ แต่งตัวเลขสวย ๆ สร้างภาพพจน์ดี
ๆ
แต่การบริหารอาจตรงกันข้ามกับฝีมือการทำตัวเลข !
เผอิญซีโนบริตต้องการทั้งเงินอัดฉีดและฝีมือการบริหารที่เยี่ยมยอดจริง
ๆ ก่อนที่จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้และข้าตลาดหุ้นอย่างสง่าผ่าเผย
เมื่อสถานการณ์ย่ำแย่ลง แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงกลางปีที่แล้วไชยาและพรไชยบอกขายหุ้นทั้งหมดให้กับกลุ่มไพโรจน์
ซึ่งเชื่อกันว่าพ่อลูกคู่นี้คงเบื่อหน่ายเต็มทีกับเรื่องที่เกิดขึ้นและคิดว่าคงไม่มีโอกาสกลับมากุมอำนาจในซีโนบริตได้อีกแล้ว
ทางกลุ่มไพโรจน์เสนอราคาซื้อไปที่ราคาหุ้นละ 25 บาท แต่แล้วเหตุการณ์เกือบกลับตาลปัตร
เมื่อไชยาเห็นว่าราคาหุ้นเท่านี้เขาน่าจะซื้อคืนมาได้ จึงเสนอซื้อกลับในราคาเท่านี้
แต่จนแล้วจนรอด ไชยาก็หาเงินมาไม่ได้ และในที่สุดไชยาก็ต้องยอมจำนนขายหุ้นทั้งหมดให้กับไพโรจน์
และขอลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารซีโนบริตเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
เป็นอันสิ้นสุดยุคของตระกูลโฮลท์ อย่างแท้จริง และทุกวันนี้ตัวไชยาก็หายไปจากสังคม
เก็บตัวเงียบ
ต่อจากนั้นไม่นานไตรรัตน์ ฉัตรแก้วก็ลาออก มีเพียงณัฐินันท์ วงศ์วรรณ ที่ต้องรักษาการตำแหน่งแทน
สภาพของซีโนบริตในเวลานี้ เปรียบแล้วไม่แตกต่างไปจากเรือที่ไร้หางเสือ
ไม่มีผู้บริหารหลัก
แหล่งข่าวเล่าว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ถึงปลายปีที่แล้ว ซีโนบริตแทบไม่มีรายได้เลย
ธุรกิจซบเซาอย่างมาก โอกาสเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องพูดถึง
ธีระศักดิ์ และไพโรจน์ก็เริ่มถอยห่างออกไป
ธีระศักดิ์นั้น ในระยะหลัง ๆ ก็เริ่มถอนตัวออกไป แต่ก็ยังมีบทบาทอยู่ ปัจจุบัน
ธีระศักดิ์ มีธุรกิจส่วนตัว คือบริษัท ดี.เอส. พลูแดนเชียส ทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน
และเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบ้านฉาง และมีกระแสข่าวว่ากำลังไปรับงานใหญ่ในสถาบันการเงินแห่งใหม่
ในขณะที่ไพโรจน์ก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
และโอกาสที่จะเป็นกำลังพยุงคนอื่นขึ้นมาได้ก็ลำบากเต็มที เพราะลำพังตัวเองก็แทบแย่แล้ว
ไพโรจน์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าซื้อหุ้นซีโนบริตเพียงเพราะต้องการช่วยเพื่อน
คือ พรไชย ซึ่งรู้จักกันมานานหลายสิบปีแล้ว และก็ยังยืนยันที่จะช่วยเหลือต่อ
แต่ส่วนตัวแล้วไม่คิดจะหันมาจับธุรกิจทางด้านนี้ เพราะกำไรน้อย
สำหรับพรไชยเอง เนื่องจากมีธุรกิจส่วนตัว และซีโนบริตไม่ใช่ของตระกูลโฮลท์หรือ
เจติยภาคย์อีกต่อไป ทำได้ดีที่สุดคือรอเวลาและความหวัง
หลังจากที่แทบจะไม่มีใครเอาซีโนบริตแล้ว "ผู้จัดการ" พยายามหาว่าใครเป็นผู้บริหารที่แท้จริงของซีโนบริต
กลับเป็นเรื่องตลกมากที่หาใครแทบไม่เจอ เวลานี้ซีโนบริตเดินไปได้ด้วยกำลังของพนักงานเพียงลำพัง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ลิขิต หงส์ลดารมภ์มานั่งที่ซีโนบริตบ่อยผิดปกติ
ลิขิตเป็นลูกชายของสุนทร หงส์ลดารมภ์ เป็นพี่น้องกับทองฉัตรกับ ดร. จีระ
หงส์ลดารมภ์ เคยเป็นเขยคนโตของตระกูลพรประภาในอดีต ว่ากันว่าลิขิตชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง
และทำงานไม่เป็นที่ชัดเจน เป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับหลายกลุ่มมีบริษัทหงสาเป็นของตนเอง
ทำสิ่งพิมพ์หมดเงินไปกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น มาตุภูมิ ก่อนที่จะขายให้กับคนอื่น
เคยทำงานการเมือง เป็นผู้ช่วยโฆษกรัฐบาลสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย
แต่ใครบางคนระบุว่า เขาเป็นคน "ระดมทุน" เก่ง คือหาโครงการ หาบริษัทแล้วก็หาเงินอัดฉีดเข้าไป
โดยตัวเองเป็นเพียง "ตัวกลาง" เท่านั้น แต่ไม่เหมาะที่จะนั่งโต๊ะทำงานประจำวันสักเท่าใด
ในช่วงที่ลิขิตมานั่งทำงานที่ซีโนบริตบ่อยมากขึ้นนี้ โดยไม่มีตำแหน่งหน้าที่ที่ชัดเจน
ผู้ถือหุ้นซีโนบริตเฉือดเนื้อบริษัทออกเป็นส่วน ๆ เพื่อขายทิ้งหาเงินมาใช้หนี้
เริ่มจากลดภาระค่าใช้จ่ายก่อน ด้วยการปลดผู้บริหารต่างประเทศ ที่ไชยารับเข้ามาในช่วงเริ่มต้นบริษัท
จาก 22 คนเหลืออยู่เพียง 5-6 คน และต้องหันมาเน้นโครงการคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก
เสนอขายอาคารซีโนบริต บนถนนวิภาวดีรังสิต มูลค่า 180 ล้านบาทและให้ซีโนบริตกลับมาเป็นผู้เช่าเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
แต่ยังไม่ปรากฎรายชื่อผู้ซื้อจนปัจจุบัน
ว่ากันว่าการเข้ามาของซีโนบริตของ ลิขิต ทำเหมือนตัวเขาเองเป็นผู้บริหารแต่เอาเข้าจริง
ลิขิตก็ไม่ได้เป็นผู้บริหารแท้จริง นอกจากมานั่งในห้องทำงานเก่าของไชยาเท่านั้น
ระหว่างนี้ ลิขิตก็เสนอซื้อหุ้นบริษัทซีโนบริตเทเลคอม บริษัทลูกของซีโนบริต
ซึ่งทำธุรกิจเป็นผู้จัดหาและบริหารโครงการด้านเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งซีโนบริตถือหุ้น
40% ไชยา 15% และผู้บริหารต่างชาติ 15%
ไชยาและไซมอนจัดตั้งซีโนบริตเทเลคอมตั้งขึ้นมาในปี 2535 ภายหลังจากได้งานติดตั้งระบบ
CCSS ให้กับทีเอ ก็มองเห็นช่องทางในการขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องในธุรกิจนี้
ลูกค้าของบริษัทจะเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคม คือ ทีเอ ทีทีแอนด์ที องค์การโทรศัพท์
การสื่อสารฯ
ที่ผ่านมาซีโนบริตเทเลคอมทำยอดขายได้พอสมควร ปีละ 980-100 ล้านบาทแม้ขนาดโครงการจะไม่ใหญ่
แต่เนื่องจากธุรกิจทางด้านนี้กำลังเติบโต และบริษัทมีสินค้าหลายชนิดอยู่ในมือ
คือ เอทีแอนด์ที ฮิวเลตต์-เพคการ์ด จึงมีงานเข้ามาอยู่ตลอดเวลา
ซีโนบริต เทเลคอมจึงเป็นบริษัทที่ยังพอมีอนาคตสดใสอยู่บ้างในสถานการณ์ปัจจุบันของซีโนบริต
และการเข้ามานั่งในซีโนบริตของลิขิตก็มีความหมายมากพอสมควรในตัวเขา
แหล่งข่าวเล่าว่า ลิขิตทำหน้าที่เป็นตัวกลาง "แหล่งทุน" ในการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้
ซึ่งผู้ซื้อคือ ผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกบางกระแสกล่าวว่า
ธีระศักดิ์เองก็เสนอขายซีโนบริตเทเลคอมให้กับบริษัทล็อกซเล่ย์ ซึ่งยังไม่เป็นที่ตกลง
คาดว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้นครั้งนี้ประมาณ 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ ซีโนบริตยังอาจจะขายหุ้นในบริษัทคอมเมอร์เชียล ยูเนียนทำธุรกิจประกันภัยของแบงก์ทหารไทย
ซึ่งซีโนบริตมีหุ้นอยู่ในนั้นจำนวนหนึ่ง
เงินที่ได้จากการขายตึกและเฉือนหุ้นในบริษัทลูก แหล่งข่าวกล่าวว่า เพื่อต้องการนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้
และดอกเบี้ยที่มีอยู่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท
แต่ใคร ๆ ก็รู้ว่า ในที่สุดลิขิตก็ไม่ใช่ผู้บริหารที่แท้จริง หรือแม้จะมีตำแหน่งเป็นทางการในอนาคตก็เป็นไปได้ยาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ที่จะตัดสินใจเรื่องนี้คือ ไพโรจน์ ซึ่งไพโรจน์ก็มักจะพูดกับคนใกล้ชิดเพียงว่า
"ก็แล้วแต่อี๊ดเค้า"
"อี๊ด" ในที่นี้คือธีระศักดิ์ ซึ่งแน่นอนที่ธีระศักดิ์ไม่สนใจลิขิตมากนัก
เพียงแต่ในช่วงนี้เป็นช่วงซื้อเวลาสำหรับเขา
แม้แต่ธีระศักดิ์จะเบื่อหน่ายกับซีโนบริตเต็มที เพราะแผนทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่เขาคาดไว้
การบริหารที่ผ่านมาก็มีแต่เรื่องวุ่นวาย อีกทั้งตัวเขาเองก็กำลังมี "ของเล่น"
ใหม่หลังจากที่ออกจากไอทีเอฟ
แต่ธีระศักดิ์ต้องรับซีโนบริตไว้ในอกอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะเป็นผู้ที่ดึงกลุ่มทุนหลายกลุ่มมาละลายเงินเล่นในซีโนบริต
ทั้งกลุ่มไพโรจน์และกลุ่มประกิต ประทีปเสน
เขาจำเป็นต้องให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวในทางที่ดีแก่ซีโนบริตตลอดเวลาอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ถือหุ้นเชื่อว่า
เขากำลังพยายามพลิกฟื้นซีโนบริตอย่างเอาจริงเอาจัง
ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า เขากำลังพยายามหาทางขายซีโนบริตออกไปให้เร็วที่สุด
และมีการเจรจาในหลายที่ แต่ไม่สำเร็จ
ล่าสุดมีชื่อของ "ศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์" ปรากฏขึ้นมาอีก กระแสข่าวกล่าวว่า
ธีระศักดิ์ได้ไปทาบทามศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ อดีตผู้บริหารของกลุ่มชินวัตร
ที่ออกมาทำธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ของตนเองภายใต้ชื่อบริษัทเอไอที ให้เข้ามานั่งบริหารงานและอาจเข้ามาถือหุ้นบางส่วนด้วย
ศิริพงษ์ เคยร่วมงานกับชินวัตรมาตั้งแต่ในยุคแรก ๆ เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ
บริษัทชินวัตรเพจจิ้ง ให้บริการวิทยุติดตามตัวโฟนลิงค์ก่อนลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว
ศิริพงษ์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่ามีการทาบทามจริง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
เพราะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเงื่อนไขของศิริพงษ์ คือ จะต้องมีอำนาจบริหารและอำนาจในการตัดสินใจที่แน่ชัดไม่ได้เป็นแค่มือปืนรับจ้าง
"ผมต้องเป็นซีอีโอ เพื่อให้มีอำนาจตัดสินใจ เพราะคนที่แล้วมาเขาทำได้
แต่เขาไม่มีอำนาจที่แท้จริง" ศิริพงษ์เล่า
ในสายตาของศิริพงษ์แล้ว ปัญหาของซีโนบริต เกิดจากการมีผู้ถือหุ้นหลายฝ่าย
ทำให้มีปัญหาในการตัดสินใจ ไม่รู้ว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ไม่เด่นชัดซึ่งเป็นปัญหามากในการบริหารธุรกิจ
ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่มากเกินไป จนทิ้งโครงการเล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้หมุนเวียน
ศิริพงษ์มองว่า ซีโนบริตยังมีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้อีก เพราะมีความพร้อมในด้านสินค้า
และตัวบริษัทอยู่แล้ว ซึ่งทำได้ทั้งการหันมามองโครงการขนาดเล็ก รวมทั้งฟื้นธุรกิจเทรดดิ้งที่เคยทำในอดีต
การเข้ามาของศิริพงษ์ หรือแผนเยียวยาต่าง ๆ ที่ทำอยู่ในเวลานี้จะช่วยชีวิตให้กับซีโนบริตได้หรือไม่
ยังไม่มีคำตอบ
ไป ๆ มา ๆ อนาคตของซีโนบริต ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธีระศักดิ์
ความหวังของธีระศักดิ์ในเวลานี้ ก็อาจเหลืออยู่เพียงแค่ขอให้ขายหุ้นได้แค่นั้นก็พอ
และพ่อมดการเงินบางคนก็ต้องมีบทเรียนที่เจ็บปวดกับบริษัทที่ใครต่อใครบอกว่าเป็นบริษัท
เล็ก ๆ ไม่มีความหมายอะไร
แต่ที่แน่ ๆ ซีโนบริตในเวลานี้ ไม่ใช่ซีโนบริต เมื่อ 50 ปีที่แล้วอีกต่อไป