ธอส.สภาพคล่องเริ่มฝืดหลังปล่อยกู้เพลินยอดทะลุเป้ากว่าหมื่นล้านทุกเดือน แผนระดมทุนเริ่มเป๋หลังแบงก์ออมสินแทงกั๊กให้โอ/ดี 1.2 หมื่นล้านจากที่เคยบอกจะให้ 3 หมื่นล้านอ้างขัดพ.ร.บ. ส่วนดอกเบี้ยยังตกลงไม่ได้ ขณะที่ขุนคลังไม่เห็นด้วยกับแผนซีเคียวรีไทเซชั่นห่วงเป็นหนี้ต่างประเทศมากเกินไป ระบุขณะนี้ทำได้อย่างเดียวคือชะลอปล่อยกู้
นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์เริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ทะลุเป้าเดือนละกว่า 10,000 ล้านบาทมาโดยตลอดแต่แผนการระดมทุนของธนาคารยังประสบปัญหาทำให้เกิดความล่าช้าในการระดมทุนอย่างมาก
โดยธอส.ได้เปิดวงเงินกู้พิเศษ หรือ O/D ไว้กับธนาคารออมสิน จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน แต่ธนาคารออมสินได้อ้างว่าพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารออมสินได้กำหนดให้ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ ธอส.จึงได้เร่งหาแนวทางในการระดมทุนด้านอื่นเพิ่ม
นอกจากนี้ธอส.ยังได้ยื่นขออนุญาตกระทรวงการคลังเพื่อทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ ซีเคียวรีไทเซชั่น วงเงิน 30,000 ล้านบาทเพื่อระดมทุน โดยแบ่งเป็นขายให้ต่างประเทศ(ออฟชอร์) จำนวน 20,000 ล้านบาท และขายภายในประเทศ(ออนชอร์) จำนวน 10,000 ล้านบาท แต่นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้เนื่องจากไม่อยากให้มีหนี้สินกับต่างประเทศมากเกินไป จึงได้ให้ธอส.กลับไปทบทวนโครงการใหม่
ทั้งนี้การเปิดวงเงินกู้พิเศษกับธนาคารออมสินในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่าธนาคารของรัฐด้วยกัน และถือเป็นครั้งแรกที่ธอส.กู้เงินจากธนาคารออมสิน การดำเนินการอาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร ซึ่งถ้าหากมีปัญหาหรือติดขัดในจุดใดก็พร้อมที่จะเป็นตัวกลางเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาให้ตกลงกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย
"ผมเห็นว่าแนวทางเร่งด่วนที่ธอส.ต้องทำในตอนนี้คือชะลอการปล่อยสินเชื่อลงบ้าง ซึ่งเป็นหลักการปกติที่ต้องทำเมื่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในการปล่อยกู้ แต่ทั้งนี้ต้องมองดูภาพรวมทั้งหมดของธอส.ว่าทั้งปีตั้งเป้าปล่อยกู้ไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ช่วงนี้กระแสเงินสดรับอาจจะยังไม่เป็นตามเป้า จึงทำให้มองเห็นว่าช่วงนี้เกิดปัญหาสภาพคล่องได้" นายไชยยศกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2548 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของธอส.มีจำนวนสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท เติบโตจาก 6 หมื่นล้าน นับจากปี 2545 ส่วนปี 2549 ธอส.ตั้งเป้าสินเชื่อไว้ที่ 100,000 ล้านบาท โดยการระดมทุนนอกจากแผนที่กล่าวมาข้างต้นและธนาคารยังมีแผนที่จะออกพันธบัตรนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2549 จำนวน 18,500 ล้านบาท ซึ่งได้ขออนุมัติจากกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว และธนาคารออมสินยังมีแผนที่จะระดมทุนด้วยการออกสลากออมสินให้กับธอส.อีกจำนวนหนึ่งแล้วแต่ความต้องการของธอส. นอกจากนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เจรจากับสถาบันการเงินต่างประเทศ เพื่อขอกู้เงินในลักษณะเครดิตไลน์อีกจำนวน 10,000 ล้านบาท ที่เหลือจะใช้วิธีการซิเคียวริไทเซชั่นสินเชื่อกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)
โดยก่อนหน้านี้นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธอส.กล่าวว่า แม้การระดมทุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆ จะทำให้ธนาคารมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ถือว่าต่ำกว่าการระดมทุนด้วยเงินฝาก เพราะหากธนาคารต้องการระดมทุนด้วยการเงินฝากเพียงอย่างเดียว จะต้องมีต้นทุนจากการจัดตั้งสาขา พนักงาน และอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของลูกค้าได้
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะคิดกับลูกค้าอย่างแน่นอน แต่จะไม่เป็นส่วนที่ทำให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นได้มากนัก เพราะส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากของธนาคารก็ต้องลดลงตามไปด้วย แม้ว่าธนาคารจะต้องทำกำไร เพราะต้องเป็นไปตามระบบการประเมินผล แต่คงไม่ทำให้มีกำไรสูงจนเกินไป
ทั้งนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้านของธอส.เข้มงวดขึ้น อาจส่งผลให้ลูกค้าที่ยื่นกู้ในระยะนี้ได้รับการอนุมัติลดลงหรือมีการชะลอการอนุมัติสินเชื่ออกไป
|