ยอดส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนพุ่งเกิน 100% สมาคมส่งออกฯชี้ “พาณิชย์” ต้องเร่งเจาะตลาดจีนเพื่อเปลี่ยนค่านิยมให้คนจีนหันมาบริโภคข้าวเมล็ดยาวจากไทยมาขึ้น โดยเฉพาะ “ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้” มั่นใจจะทำให้ยอดส่งออกมีปริมาณสูงขึ้น ขณะเดียวกันไทยต้องเผชิญปัญหาพ่อค้าจีนนำข้าวท้องถิ่นผสมข้าวหอมมะลิไทย ออกตีตลาดขายในราคาถูกกว่า บางรายใส่ยี่ห้อ “ไทย”ส่งผลให้คนจีนตำหนิข้าวไทยไร้คุณภาพ
สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยไปจีนที่ผ่านมา นับว่าไม่ค่อยดีนัก แม้ข้าวหอมมะลิไทยจะตีตลาดจีนได้ และได้ชื่อว่าเป็นข้าวชั้นดีที่มีความหอมอร่อย เนื่องจากมีพ่อค้าหัวใสจำนวนมากนำข้าวท้องถิ่นจีนที่มีเกรดต่ำกว่ามาผสมข้าวหอมมะลิไทย และบรรจุในถุงที่มียี่ห้อหรือตราสินค้าเป็นของไทย ทำให้สินค้าไทยมีคุณภาพตก!
ศก.จีนพุ่ง-ดันยอดส่งออกเพิ่ม
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่าปัญหาข้าวหอมมะลิในจีน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ผู้ส่งออกไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักจะซื้อข้าวหอมไทยไปขายโดยจะนำไปบรรจุหีบห่ออีกทีหนึ่ง ทั้งนี้เพราะชาวจีนนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิของไทย ดังนั้นพ่อค้าข้าวชาวจีนจึงมักจะนำข้าวท้องถิ่นของจีนมาผสมกับข้าวหอมไทยแล้วบรรจุในหีบห่อทีมีตราสินค้าหรือยี่ห้อของจีนแล้วพิมพ์ข้างหีบห่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิจากไทย
“พ่อค้าจีนยังโฆษณาว่าเป็นข้าวหอมของไทย ทำให้ข้าวหอมไทยเสียชื่อมาก เพราะเมื่อนำข้าวจีนมาผสมจะทำให้คุณภาพข้าวที่บริโภคเปลี่ยนไป ผู้บริโภคก็ติว่าข้าวไทยไม่อร่อย บางรายก็ถึงขนาดลอกเลียนแบบยี่ห้อของไทย”
นอกจากนี้พ่อค้าจีนยังนำข้าวผสมนั้นไปขายในราคาที่ถูกกว่า จึงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปจากข้าวไทยได้
อย่างไรก็ดี แม้ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัญหาหนักอกสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทย ซึ่งยังหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าในปี 2549 นี้ การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มที่สดใสขึ้น!
โดยตั้งแต่ต้นปี 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีปริมาณข้าวไทยที่ส่งไปจีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยข้าวหอมมะลิเกรดเอ ที่ในเวลาเดียวกันของปีก่อน(ม.ค.-ก.พ.2548) ส่งออกไปแค่ 18,000 ตัน แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ตัน
ขณะที่ข้าวหอมปทุมธานีที่มีรสชาติใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิก็มีตัวเลขส่งออกดีเช่นกันใน 2 เดือนแรกของปี โดยปีก่อนส่งออกไปประมาณ 16,000 ตัน แต่ปีนี้ส่งไปได้แล้ว 35,000 ตัน
โดยภาพรวมแล้วในปี 2548 เฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวหอมปทุมธานีส่งออกไปจีนเกือบ 440,000 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณไม่มากนัก ในปีนี้เมื่อดูจากตัวเลขส่งออก 2 เดือนแรก จึงคาดว่าจะมีตัวเลขส่งออกทั้งปีสูงกว่าปีก่อนหลายเท่าตัว
“โชคยังดีที่จำนวนการส่งออกอยู่ในภาวะที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากเศรษฐกิจจีนที่โตอย่างรวดเร็ว และประชาชนจีนมีเงินมากขึ้น มีอำนาจซื้อมากขึ้น หากเศรษฐกิจจีนยังเติบโตอย่างนี้ตลอด ตลาดข้าวไทยในจีนก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก แม้จะมีคู่แข่งสำคัญคือเวียดนาม แต่ข้าวหอมมะลิไทยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอันดับ 1”
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยผู้ส่งออกด้วยการเข้าไปทำแผนประชาสัมพันธ์เปิดตลาดใหม่ ๆ เพิ่ม ปัจจุบันคนจีนส่วนใหญ่ยังนิยมทานข้าวท้องถิ่นที่เป็นข้าวเมล็ดสั้น มีเพียงจีนตอนใต้บริเวณเหนือฮ่องกงขึ้นไป และเมืองกวางเจาที่นิยมทานข้าวเมล็ดยาว จึงอยากให้มีการทำประชาสัมพันธ์เปลี่ยนค่านิยมผู้บริโภคให้หันมาบริโภคข้าวเมล็ดยาวมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ หากเปิดตลาดส่วนนี้ได้ ไทยจะสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิเข้าจีนได้อีกจำนวนมาก
ข้าวหอมปทุมดาวรุ่ง!
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัทอุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไปจีนส่วนใหญ่ไทยจะส่งข้าวหอมมะลิ เนื่องจากเดิมจีนผลิตข้าวโดยเน้นแต่ปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ แต่ปัจจุบันคนจีนมีเงินมากขึ้นต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ข้าวหอมมะลิไทยจึงขายดีในเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะจีนตอนใต้ที่นิยมทานข้าวเมล็ดยาว ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง และเซินเจิ้น
อย่างไรก็ดี แต่เดิมจีนได้ให้โควตานำเข้าข้าวจากไทยปีละ 2 แสนตัน ซึ่งก็มีปัญหาว่าการนำเข้าข้าวตามโควตาต้องไปผ่านรัฐวิสาหกิจที่ชื่อ CEROIL ของปักกิ่ง ทำให้มีปัญหาเรื่องไลเซ่นการนำเข้า แต่ปัจจุบันเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก หรือ WTO ทำให้ปัญหานี้หมดไป อีกทั้งเมื่อจีนต้องการนำเข้าข้าวจำนวนมากถึงปีละ 5 ล้านตัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นข้าวเมล็ดยาว และการส่งออกเป็นไปอย่างเสรี ไทยจึงยังมีโอกาส
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เมื่อข้าวหอมปทุมธานีของไทยได้ไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดในจีนไปจำนวนมากใน 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจีนเองมีการปรับปรุงคุณภาพข้าวอย่างเต็มที่ แนวโน้มในอนาคตข้าวหอมมะลิไทยในจีนจึงน่าเป็นห่วง ขณะที่ข้าวหอมปทุมธานีเป็นดาวรุ่งดวงใหม่แทน
อุตฯ จีน ขาดข้าวเหนียว
ปัญหาดังกล่าว กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศ ประธานบริษัทกมลกิจ จำกัด กล่าวว่า ข้าวหอมปทุมธานีทำการตลาดได้ดีมากในจีน เนื่องจากมีลักษณะเหมือนข้าวหอมมะลิ แต่ราคาถูกกว่าถึงประมาณตันละ 80 เหรียญสหรัฐฯ (ข้าวหอมมะลิมีราคาประมาณตันละ 450-460 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ข้าวหอมปทุมราคาประมาณ 365 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) จึงทำให้ข้าวหอมปทุมมีการแย่งชิงตลาดข้าวหอมมะลิไป รวมทั้งเรื่องการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าวจีนที่ปัจจุบันได้พัฒนาจนสามารถทำให้ข้าวจีนมีผลผลิต 1000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไทยมีปัญหาในจุดนี้ จึงต้องเร่งหาทางแก้ไข โดยอยากให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง และสร้างความร่วมมือกับผู้ส่งออกมากขึ้น
อย่างไรก็ดีปีนี้มีการส่งออกข้าวเหนียวไปจีนมากขึ้น โดย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ปีนี้มีปริมาณการส่งออกข้าวเหนียวไปจีน 25,155.5 ตัน เทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันมีการส่งออกข้าวเหนียวที่ 2,043.95 ตันเท่านั้น (เพิ่มขึ้นมากกว่า 1000%)
ทั้งนี้เชื่อว่าการที่จีนนำเข้าข้าวเหนียวมากขึ้นนั้น เป็นเพราะจีนต้องการนำข้าวเหนียวไปใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งจีนปลูกข้าวเหนียวไม่มาก จึงมาซื้อจากไทย
ตรวจสอบประวัติคู่ค้าก่อนถูกโกง!
สำหรับผู้ไม่เคยค้าขายข้าวในจีน และอยากจะเริ่มส่งออกข้าวไปจีน ต้องระวังใน 2 จุดคือ คู่ค้าคนจีนมีจำนวนมาก มีทั้งคู่ค้าที่ดีและไม่ดี ก่อนไปทำการค้าจึงต้องตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าให้ดีก่อน เพราะระบบการค้าขายข้าวให้คนจีน จะเป็นระบบเชื่อเงิน หรือเครดิต เทอม ส่งของไปก่อนชำระที่หลัง ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 30,45 และ 60 วัน แล้วแต่ข้อตกลง ซึ่งหากเราไม่ปล่อยเครดิตคนจีนจะไปซื้อเจ้าอื่นแทน ประเด็นนี้ทำให้หากเจอคู่ค้าไม่ดี จะถูกโกง ซึ่งมีคนไทยเสียรู้ในส่วนนี้มาก ผู้ส่งออกจึงต้องมีความรัดกุมทั้งในการทำสัญญา และตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าก่อน
อีกประการสำคัญผู้ส่งออกต้องดูแลเครื่องหมายการค้าของตัวเองให้ดี อย่าให้ถูกลอกเลียนแบบ จนแย่งตราสินค้าของเราไป
|