|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สัปดาห์นี้ขอนำเนื้อหาสืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือพัฒนาการของ Balanced Scorecard มาใช้ในประเทศไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นเรื่องของการนำ BSC มาใช้ในภาคเอกชน โดยดูจากผลการวิจัยที่ผมทำ สัปดาห์นี้จะขอมาดูพัฒนาการของ BSC ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจนะครับ
ในภาคราชการนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พยายามที่จะนำระบบ BSC มาประยุกต์ใช้กับหน่วยราชการทุกหน่วย โดยให้ออกมาอยู่ในรูปของคำรับรองการปฏิบัติราชการ ซึ่ง BSC เวอร์ชันราชการไทยนั้นก็มีสี่มิติเช่นเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากด้านการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน และการเรียนรู้และพัฒนา เป็น ประสิทธิผลตามแผนยุทธศาสตร์ (หรือประสิทธิผลตามแผนปฏิบัติราชการ) คุณภาพการให้บริการ ประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาองค์กร
อย่างไรก็ดี ในการจัดทำ BSC ของภาคราชการนั้นค่อนข้างจะเน้นเป็น KPI Scorecard มากกว่าการเป็น Strategy Scorecard นั้นคือมุ่งเน้นในเรื่องของตัวชี้วัดเป็นหลักมากกว่าการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ โดย BSC ฉบับราชการนั้นจะเริ่มต้นที่สิ่งที่จะวัดและตัวชี้วัดเลย แทนที่จะเริ่มต้นที่แผนที่กลยุทธ์หรือ Strategy Map อย่างเช่น BSC ทั่วๆ ไป อย่างไรก็ดีหลังสองสามปีผ่านไปตอนนี้ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ทางสำนักงานก.พ.ร.เขาจะให้ส่วนราชการจัดทำ Strategy Map กันมากขึ้นนะครับ นอกจากนี้ส่วนราชการหลายๆ แห่งที่ผู้บริหารเขามีความสนใจก็ได้มีการนำหลักการ BSC มาใช้ในหน่วยงานของตนเอง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ Strategy Map ไล่ไปจนถึงตัวชี้วัด และเชื่อมโยงสู่แผนงานโครงการต่างๆ
สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้นที่ผ่านมายังอยู่ในรูปของความสมัครใจมากกว่าครับ นั้นคือรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว หลายแห่งเริ่มไปแล้วก็หยุดไป (ก็มี) หรือบางแห่งก็ยังไม่ได้เริ่มจัดทำอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในช่วงต่อไปข้างหน้านี้เข้าใจว่ารัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งจำเป็นต้องมีการทำ BSC
เนื่องจากมีนโยบายจากกระทรวงการคลังซึ่งกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหลายให้มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Management) (EVM นั้นเป็นอีกมุมหนึ่งของ EVA หรือ Economic Value Added ที่คุ้นเคยกัน) โดยภายใต้ระบบ EVM นั้นรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะต้องมีการทบทวนหรือจัดทำ BSC และนำ EVM มาเชื่อมโยงกับเข้ากับ BSC
ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นได้นะครับว่า ในปัจจุบันการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยนั้นได้ก้าวหน้าและใช้กันอย่างกว้างขวางพอสมควรทั้งในภาคเอกชน ราชการ และรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดีประเด็นที่สำคัญน่าจะอยู่ในเรื่องของการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์กับองค์กรมากกว่า เนื่องจากได้พบเจอในหลายองค์กรที่เมื่อนำ BSC มาใช้แล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ซึ่งต้องเรียนตรงๆ ว่าสาเหตุสำคัญอยู่ที่ตัวผู้บริหารระดับสูง จะพบว่าในหลายๆ องค์กรที่นำ BSC มาใช้จนสำเร็จนั้น ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญ สนับสนุน เข้าใจ รวมทั้งใช้ BSC อย่างต่อเนื่อง
พัฒนาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ BSC ในเมืองไทยก็ คือ การนำ BSC ไปบูรณาการกับการเครื่องมือทางการบริหารอื่นๆ ในภาคราชการนั้น ก็ได้มีความพยายามจากสำนักงาน ก.พ.ร. ที่จะแสดงให้เห็นว่าการนำเครื่องมือทางการบริหารต่างๆ มาใช้นั้นสามารถที่จะบูรณาการเข้าด้วยกันได้ ทั้งในการวางยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด การบริหารความเสี่ยง การบริหารโครงการ Competencies การบริหารความรู้ ฯลฯ
ส่วนในภาครัฐวิสาหกิจนั้น การนำเรื่องของ EVM มาบูรณาการกับ BSC ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พบเจอ นอกจากนี้ผมก็เจอในองค์กรธุรกิจบางแห่งที่พยายามบูรณาการระหว่าง BSC กับการบริหารความเสี่ยงเข้าไว้ด้วยกัน ผมเองเชื่อว่าสุดท้ายแล้วก็คงจะหนีแนวทางของการบูรณาการเครื่องมือทางการบริหารต่างๆ ไม่พ้น เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหนและอย่างไรเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ทาง Robert Kaplan หนึ่งในสองผู้คิดค้น BSC ที่ได้มาพูดที่เมืองไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขาก็พยายามที่จะบูรณาการระหว่าง BSC กับ ABC (Activity-Based Costing) หรือการคิดต้นทุนตามกิจกรรม เข้าไว้ด้วยกัน โดย Kaplan มองว่าองค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า กลยุทธ์คือสิ่งที่องค์กรทำเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า BSC เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบอกว่าองค์กรมีแนวทางในการสร้างคุณค่าอย่างไร ส่วน ABC นั้นจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรทราบว่าต้นทุนในการสร้างคุณค่านั้นเป็นเท่าไร และผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคุ้มกับต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่?
พูดถึง Robert Kaplan ก็ขอนำเสนอถึงสิ่งที่เขาได้มาพูดที่กรุงเทพเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหน่อยนะครับ ดังที่ได้เรียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเขาเพิ่งมาเมื่อสองปีที่แล้ว ทำให้การมาอีกรอบหนึ่งอาจจะกระชั้นไปหน่อย จำนวนผู้เข้าฟังเลยสู้ครั้งที่แล้วไม่ได้ ส่วนเนื้อหานั้นเท่าที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารที่เข้าร่วมรับฟัง ส่วนใหญ่ก็บอกว่าดี ได้รับประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี
แต่ถ้าถามผมแล้ว ผมเองอาจจะมองว่าไม่ได้มีสิ่งใดแปลกใหม่มากนัก เนื้อหาที่เขานำเสนอนั้นสามารถหาอ่านได้จากบทความหรือหนังสือต่างๆ ที่เขาเขียน เพียงแต่บางท่านที่ไม่ได้อ่านหนังสือและบทความเหล่านั้นการมารับฟังกับตัวจริงๆ ก็อาจจะเป็นประโยชน์มากกว่า
นอกจากนี้ในการสัมมนาครั้งนี้เขาจะพูดถึงเรื่องของ ABC หรือ Activity-Based Costing ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีตัวเลขทางด้านการเงินมาแสดงเยอะพอสมควร ถ้าผู้ฟังที่ไม่ค่อยถนัดด้านนี้ก็อาจจะหลุดไปได้พอสมควรครับ อย่างไรก็ดีถ้ามองในภาพรวมแล้วก็ถือว่าดีและได้ความรู้พอสมควร และเชื่อว่าอีกไม่เกินสองหรือสามปี เขาก็คงจะมีหนังสือเล่มใหม่ที่ต่อจากเล่มที่แล้วมาออกมาให้พวกเรากันอีก และถึงเวลานั้นเขาก็คงมาทัวร์เมืองไทยอีกรอบ
โดยสรุปการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นะครับ เพียงแต่การนำมาใช้นั้นเป็นลักษณะของการขยายผลออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปผูกและเชื่อมโยงกับเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งในทัศนะของผมแล้วจะนำมาใช้อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้เป็นประโยชน์แก่องค์กรเป็นหลักครับ
|
|
|
|
|