|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แอร์เอเชียลั่นการขยายตัวอย่างกว้างขวางในตลาดมาเลเซีย ประกอบกับมาตรการปฏิรูปอุตสาหกรรมการบินครั้งมโหฬาร จะช่วยผลักดันแดนเสือเหลืองสู่การเป็นฮับการบินระดับภูมิภาคแข่งกับสิงคโปร์
ภายใต้แผนปรับโครงสร้างครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการบินมาเลเซียที่ทางการกัวลาลัมเปอร์ประกาศออกมาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว สายการบินแห่งชาติ ‘มาเลเซีย แอร์ไลนส์’ จะยกเลิกสิทธิที่เกือบเรียกได้ว่าผูกขาดเบ็ดเสร็จ ด้วยการส่งมอบเส้นทางบินภายในประเทศ 99% ให้แก่แอร์เอเชีย และสูญเสียสิทธิในการได้รับเงินอุดหนุนทั้งหมดจากรัฐ โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึง
มาเลเซีย แอร์ไลนส์ หรือเอ็มเอเอส จะเหลือเส้นทางบินภายในประเทศเพียง 19 เส้นทาง ซึ่งจะดำเนินการในฐานะสายการบินเต็มรูปแบบ แข่งขันกับแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินชั้นประหยัดหรือโลว์คอสต์
อนึ่ง ในบรรดา 19 เส้นทางบินที่เอ็มเอเอสจะต้องแข่งขันกับแอร์เอเชียนั้น ครอบคลุมถึงจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว เช่น ปีนัง, ลังกาวี, โกตา คินาบาลู และคูชิง รวมถึงเมืองหลวงของรัฐต่างๆ
นอกจากนั้น แอร์เอเชียยังมีสิทธิ์ขาดในการให้บริการเส้นทางบินเล็กๆ 96 เส้นทางบนคาบสมุทรมาเลเซีย รัฐซาบาห์ และซาราวักบนเกาะบอร์เนียว
โทนี เฟอร์นันเดซ ประธานบริหารแอร์เอเชีย สายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านขนาดกองบิน มองว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลดีทั้งต่อแอร์เอเชีย ซึ่งกระตือรือร้นขยายเส้นทางบินภายในประเทศ ตลอดจนถึงเอ็มเอเอส ที่จำเป็นต้องตัดทิ้งเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร
บิ๊กบอสแอร์เอเชียพยายามให้ภาพว่า นี่เป็นความพยายามร่วมกันระหว่างสองฝ่าย แม้ในความเป็นจริง แอร์เอเชียต้องห้ำหั่นกับเอ็มเอเอสในบางเส้นทางก็ตาม
“การจับมือกันจะหมายถึงชัยชนะสำคัญ เพราะท่ามกลางการแข่งขันระดับโลก จึงมีเหตุผลครบถ้วนในการผนึกความแข็งแกร่งของเราทั้งคู่”
ด้านไอดริส จาลา กรรมการผู้จัดการเอ็มเอเอส แถลงข่าวร่วมกับเฟอร์นันเดซโดยมีท่าทีระมัดระวังมากกว่าเกี่ยวกับพลวัตเบื้องหลังการจัดการแบบใหม่
“คุณต้องร่วมมือกับคู่แข่งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น คุณก็ต้องแข่งขันกับเขา” ไอดริสยังให้สัญญาว่า จะฟื้นสถานการณ์ทำให้เอ็มเอเอสกลับมามีกำไรอีกครั้งในปีหน้า
กลับมาที่เฟอร์นันเดซที่ยังคงมองโลกสวยสดงดงามเสมอมา สำทับว่าเขาเชื่อว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการบินจะส่งให้มาเลเซียเคลื่อนเข้าสู่ “ศูนย์กลางของการเดินทางที่ใช้ต้นทุนต่ำ ศูนย์กลางของการเดินทางที่สำคัญ และศูนย์กลางของการซ่อมบำรุง ความเป็นเลิศ ความปลอดภัย และการฝึกอบรม” และที่สำคัญที่สุดคือ บดบังรัศมีของสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ หรือเอสไอเอ สายการบินแห่งชาติแดนลอดช่อง
“ผมเชื่อมั่นว่า เอ็มเอเอสเหนือชั้นกว่าเอสไอเออย่างไม่ต้องสงสัย และทั้งหมดที่ผมจะพูดก็คือ ระวังตัวไว้! สิงคโปร์”
แต่เมื่อสอบถามไปยังเอสไอเอว่าคิดอ่านอย่างไรเกี่ยวกับทัศนะของเฟอร์นันเดซ โฆษกของสายการบินแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวเพียงว่า “เราไม่รู้ว่าเขากำลังพูดถึงอะไร”
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาคการบินแดนเสือเหลืองมีขึ้นขณะที่เอ็มเอเอส ที่ทางการกัวลาลัมเปอร์ถือหุ้นอยู่ 69% ประสบขาดทุนถึง 340.5 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนจนถึงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
ตรงข้ามกับแอร์เอเชียที่มีกำไรสุทธิช่วงครึ่งหลังของปี 2005 เพิ่มขึ้น 20% อยู่ที่ 17.6 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ 111.4 ล้านดอลลาร์
ในส่วนสิงคโปร์ แอร์ไลนส์มีกำไรสุทธิร่วงลง 14.6% เหลือ 243 ล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีที่แล้ว จากยอดขาย 2,170 ล้านดอลลาร์
สองเดือนที่แล้ว มาเลเซีย แอร์ไลนส์เปิดเผยว่า มีเส้นทางบิน 4 เส้นทางจาก 118 เส้นทางบินภายในประเทศที่ทำกำไร ดังนั้น การประคับประคองให้สายการบินอยู่รอดต่อไปได้ รัฐบาลมาเลเซียจึงต้องเข้าไปแบกรับยอดขาดทุนประจำปีที่ราว 81.3 ล้านดอลลาร์ ด้วยการให้การอุดหนุนทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม เฟอร์นันเดซคาดการณ์ว่า ภายหลังการปรับโครงสร้าง นักเดินทางต่างชาติจำนวนมากจะเดินทางสู่มาเลเซีย และมองกัวลาลัมเปอร์ในฐานะฮับการบินภายในภูมิภาค ก่อนก้าวขึ้นเครื่องบินของแอร์เอเชียเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแห่งต่างๆ ในมาเลเซียและประเทศอื่นในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไอดริสสำทับว่า ฝ่ายบริหารของเอ็มไอเอสกำลังเจรจากับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับชะตากรรมของพนักงาน 6,500 คนที่จะต้องถูกปลดออกจากจำนวนพนักงานทั้งหมด 23,000 คน ตามแผนปรับโครงสร้าง
กระนั้น ทั้งไอดริสและเฟอร์นันเดซยืนยันว่าพนักงานบางส่วนจะโอนย้ายไปอยู่กับแอร์เอเชีย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาจึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้
“นี่เป็นยุคใหม่สำหรับเอ็มเอเอสและแอร์เอเชีย เป็นวิสัยทัศน์ของสองผู้ชนะ ผมต้องการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากแอร์เอเชีย เราจะต้องปรับปรุงผลกำไร ลดต้นทุน ความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำกำไรของเรา” ไอดริสทิ้งท้าย
|
|
|
|
|