กีรติ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทกรุงเทพพานิชประกันภัย จำกัด
หรือในชื่อเดิมว่า ร.ส.พ. ประกันภัย เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล พานิชชีวะกลุ่มคหบดีเชื้อสายจีนเก่าแก่
ที่มาตั้งรกรากดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
กีรติได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจประกันวินาศภัยของครอบครัวที่ดำเนินมากว่า
10 ปีจากเดิมที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่จาก 2 ตระกูลหลัก คือ พานิชชีวะ และศรีเฟื่องฟุ้ง
วันนี้ธุรกิจประกันภัยเปลี่ยนไป การแข่งขันมีความเข้มข้นรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีประกันภัย
ตามข้อตกลงของแกตต์และอาฟตา รวมทั้งองค์กรการค้าโลกหรือ WTO ดังนั้นธุรกิจประกันภัยที่มีอยู่เดิมจำเป็นต้องสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจของตนเองด้วยการสร้างพันธมิตรใหม่
ๆ ขึ้นเพื่อให้ธุรกิจของตนอยู่รอดและปลอดภัย
กีรติ เองก็เห็นเช่นนั้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นภายหลังการเปิดเสรีประกันภัย
เขาจึงได้ร่วมมือเซ็นสัญญากับธนาคารกรุงไทยให้มาถือหุ้นใน ร.ส.พ. ประกันภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า
"กรุงไทยพานิชประกันภัย" โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นใหม่คือธนาคารกรุงไทย
40% ตระกูลพานิชชีวะ และศรีเฟื่องฟุ้ง รวมกันกว่า 55% ที่เหลืออีกไม่ถึง
5% เป็นของเดช บุญหลง
กรุงไทยพานิชประกันภัยเดิมชื่อว่า ร.ส.พ. ประกันภัย ก่อตั้งโดยพลจัตวาประมาณ
อดิเรกสาร (ยศในขณะนั้น) ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการรับส่งสินค้าและวัสดุภัณฑ์
ได้ร่วมกับเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง และไพบูลย์ พานิชชีวะ ตั้งบริษัท ร.ส.พ.
ประกันภัยขึ้นมาเพื่อรองรับการประกันให้แก่รถขององค์การ ร.ส.พ. ซึ่งตอนที่ตั้งบริษัทมีบริการประกันรถยนต์ของ
ร.ส.พ. แต่เพียงอย่างเดียว และทางองค์การ ร.ส.พ. ถือหุ้น 1 ใน 3
หลังจากนั้น 2-3 ปี เมื่อประมาณหมดวาระจากผู้อำนวยการ ร.ส.พ. ลงทางผู้ถือหุ้นฝ่ายเอกชนก็ขอซื้อหุ้นในส่วนของ
ร.ส.พ. มาด้วย ดังนั้นจึงเหลือผู้ถือหุ้นใหญ่เพียง 2 ตระกูล และไม่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เพราะเห็นว่าชื่อเดิมเป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาดเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
เพียงแต่ได้ขยายบริการเพิ่มขึ้นไม่ได้รับประกันรถอย่างเดียวเหมือนตอนเริ่มต้น
กีรติเล่าถึงปฐมบทในการร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยว่า เกิดจากการที่กลุ่มผู้บริหาร
ได้คุยกันตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วว่าหากมีการเปิดเสรีประกันภัยจริงและยังไม่แน่นอน
ว่าจะเปิดกว้างกันมากแค่ไหน ดังนั้นเห็นว่าควรจะเพิ่มศักยภาพของ ร.ส.พ. ประกันภัยเพื่อให้มีอำนาจในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
เขายืนยันว่า ร.ส.พ. ประกันภัยเองมีฐานะทางการเงินที่ดีมาโดยตลอด ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องหรือเงินทุนหมุนเวียน
แต่เหตุที่ต้องดึงสถาบันการเงินใหญ่เช่นธนาคารกรุงไทยเข้ามานั้น จุดประสงค์หลักเพราะต้องการขยายฐานลูกค้าที่กรุงไทยสามารถรองรับตรงจุดนี้ให้ได้
อีกทั้งมีแนวความคิดในการบริหารงานที่สอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกัน จึงตกลงเซ็นสัญญา
และเปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อปลายปี หลังจากที่มีการเจรจาเงียบ ๆ กันเป็นเวลาพอสมควรและมีการเพิ่มทุนจาก
60 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทหลังจากที่ธนาคารกรุงไทยเข้ามาร่วมงานด้วย
หลังจากที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการของบริษัทตามไปด้วย
โดยธนาคารกรุงไทยได้ส่งตัวแทน 5 ท่านมาเป็นกรรมการบริหารของบริษัทจากคณะกรรมการทั้งหมด
13 ท่านโดย 8 คนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นเดิมหลังจากที่ได้พันธมิตรใหม่แล้ว
กีรติเชื่อว่าอัตราการเติบโตของบริษัทปีนี้ จะโตขึ้นไม่น้อยกว่า 26% จากปีที่ผ่านมา
ในปี 2538 ร.ส.พ. ประกันภัย มีรายได้ 976 ล้านบาท โดยมีรายได้หลักมาจากกลุ่มประกันภัยรถยนต์
และปีนี้ ภายใต้ชื่อกรุงไทยพานิชประกันภัยเขาตั้งยอดไว้ที่ 1,200 ล้านบาท
ซึ่งจะมีรายได้หลักมาจากประกันอัคคีภัย
นอกจากนี้การร่วมกับธนาคารกรุงไทยครั้งนี้จะทำให้เราขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น
และเพิ่มความสามารถในการขยายธุรกิจได้มากขึ้นซึ่งตอนนี้เรามีครบ 4 ประเภทแล้วคือประกันภัยรถยนต์,
ประกันอัคคีภัย, ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง, ประกันเบ็ดเตล็ด โดยจะขยายเพิ่มในส่วนของเบ็ดเตล็ดให้มากขึ้น
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดจากการเปิดประกันภัยเสรีนั้น กีรติเห็นว่าภาครัฐควรที่จะต้องพิจารณาความสมดุลในการขยายตัวของธุรกิจควบคู่ไปกับจำนวนของบริษัท
เพราะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ฉะนั้นถ้าเกิดการแข่งขันเสรีบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันย่อมมีผลกระทบ
ซึ่งหมายถึงกระทบต่อผู้บริโภคด้วย และอาจจะขยายวงกว้างไปสู่ความเชื่อถือทั้งระบบ
ดังนั้นควรที่จะกำหนดทิศทางให้เหมาะสมและควบคุมกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐานและระยะเวลาที่กำหนดไว้
รวมทั้งเห็นว่าเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยน ในการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยจะต้องสร้างธุรกิจของตน
ให้ประชาชนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส และในเรื่องนี้ควรที่ทุกฝ่าย จะต้องเร่งพัฒนาขยายเครือข่ายการบริการทางด้านต่าง
ๆ ให้กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งแนวทางในการพัฒนาและขยายบริการต่าง ๆ
ทั้งในส่วนของราชการและเอกชน
กีรติ ถือได้ว่าถูกวางตัวมาเพื่อรับภาระนี้อย่างแท้จริง เขาจบปริญญาตรีทางด้านประกันภัยจากอเมริกา
และจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศเดียวกัน เริ่มไต่เต้ามาตั้งแต่พนักงานปฏิบัติการในฝ่ายอัคคีภัยและเบ็ดเตล็ด
ในปี 2527 หลังจากนั้น 1 ปี เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝึกปรือวิทยายุทธ์อยู่หลายปีจึงได้ก้าวมาสู่ตำแหน่งกรรมการรองผู้อำนวยการของ
ร.ส.พ. ประกันภัย จนความสามารถเป็นที่ประจักษ์เขาจึงได้ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดคือกรรมการผู้จัดการใหญ่
เมื่อปีที่ผ่านมาในวัย 37 ปี ซึ่งถือได้ว่ามีชั่วโมงบินในการทำงานมาอย่างเชี่ยวกรากครบถ้วน
ณ วันนี้เขายังมีงานใหญ่รออยู่อีกหลายโครงการ โดยเฉพาะจะต้องนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน
1-2 ปีข้างหน้า รวมทั้งต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจโดยเฉพาะเมื่อเปิดเสรีประกันภัยแล้วคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก