ใครจะคาดคิดว่าวิศวกรหนุ่ม จากรั้วสถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือจะสร้างตัวโดยลำพัง
จนกลายมาเป็นเจ้าของกิจการประกอบเครื่องพีซีมีทุนหมุนเวียนรับร้อยล้านบาท
จากแผงวงจรทดลอง หรือซิงเกิลบอร์ดไมโครคอมพิวเตอร์ ที่ดิศักดิ์ ศรีสุวรรณ
และเพื่อนรุ่นน้องร่วมมหาวิทยาลัย ค้นคว้าขึ้นและสามารถคว้ารางวัลที่ 1 จากการจัดประกวดของสมาคมอิเล็กทรอนิคส์
ประเทศไทย กลายเป็นจุดเริ่มให้ดิศักดิ์ผันตัวเข้าสู่การเป็นนักธุรกิจแบบไม่ตั้งใจ
หลังจากจบการศึกษา ดิศักดิ์เริ่มนำแผงวงจรทดลองชิ้นนี้วางขายในตลาด โดยใช้วิธีลงโฆษณาบนหน้าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
ปรากฏว่าแผงวงจรชิ้นนั้นขายได้ดิศักดิ์เริ่มมองหาอุปกรณ์ประเภทอื่น ๆ
"เครื่องเลียนแบบ แอปเปิล ทู คือเครื่องคอมพิวเตอร์ชิ้นแรกที่ผมประกอบขึ้นเมื่อ
12 ปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงนั้นไอบีเอ็มยังไม่ได้ผลิตพีซี ในขณะที่เครื่องแอปเปิล
ทู ก็มีแต่เครื่องเลียนแบบที่ประกอบขึ้นอยุ่ในฮ่องกง" ดิศักดิ์ย้อนอดีต
ดิศักดิ์ใช้ช่องทางจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม คือ โฆษณาผ่านบนหน้านิตยสารทางด้านคอมพิวเตอร์
และใส่ชื่อเสียงเรียงนามพร้อมที่อยู่ให้ลูกค้าที่สนใจ จากจุดนั้นเองดิศักดิ์เริ่มหันมาจัดตั้งเป็นร้านค้าในชื่อของไมโครชาแนล
เพื่อจำหน่ายพีซีที่ประกอบขึ้นมาเองบนห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า
เมื่อร้านแรกเริ่มไปได้สวยดิศักดิ์ลงมือประกอบเครื่องพีซี และติดยี่ห้อเป็นของตัวเองใช้ชื่อว่า
"POWELL-โพเวลล์" พร้อมทั้งจัดตั้งเป็นร้านแห่งที่สองในชื่อเดียวกันบนห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า
ในช่วงนั้นเองดิศักดิ์มีโอกาสได้รู้จักกับกษิณ อร่ามเสรีวงศ์ซึ่งทำธุรกิจทัวร์จึงชักชวนมาเป็นหุ้นส่วนลงขันในร้านค้าทั้งสองแห่ง
ด้วยสัดส่วน 50:50 โดยดิศักดิ์รับหน้าที่พัฒนาสินค้า ส่วนกษิณรับหน้าที่จัดหาชิ้นส่วนจากต่างประเทศ
แม้ธุรกิจจะไปได้ดี แต่ทำได้เพียงปีกว่าปัญหาความไม่เข้าใจก่อตัวขึ้น และรุนแรงถึงขั้นแยกทางกัน
ดิศักดิ์ขายหุ้นทั้งหมดให้กับกษิณซึ่งดำเนินกิจการร้านทั้งสองต่อมาทุกวันนี้
"ตอนนั้นผมก็มานั่งคิดว่าจะทำอะไรดี ผมจบวิศวกรรมมาและทำคอมพิวเตอร์มาตลอด
ก็เลยหันมาประกอบคอมพิวเตอร์อีกครั้ง"
ดิศักดิ์นำเงินทั้งหมดที่ขายหุ้นได้ 3 ล้านบาทมาเป็นทุนทำธุรกิจประกอบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาอีกครั้ง
ใช้ชื่อว่า "ATEC-เอเทค" เปิดขายเป็นบูทเล็กๆ บนห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง
จากร้านประกอบคอมพิวเตอร์เล็ก ๆ เมื่อ 7 ปีที่แล้วปัจจุบันดิศักดิ์มีร้านโชว์รูม
จัดจำหน่ายพีซีเอเทคบนพันธุ์ทิพย์พลาซ่า 4 คูหา ซึ่งย้ายมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว
และเช่าพื้นที่บนชั้น 33 อาคารพญาไทพลาซ่า ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ และสถานที่ประกอบเครื่อง
ปีที่แล้วเอทคมียอดขายปีที่ผ่านมา 380 ล้านบาท มียอดจำหน่ายประมาณ 1,000
เครื่องต่อเดือน มีทุนหมุนเวียน 100 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ล่าสุดดิศักดิ์ได้เตรียมย้ายสถานที่ประกอบเครื่อง ไปอยู่ที่คอนโดอุตสาหกรรมเมืองทองธานี
บนเนื้อที่ 1,400 ตารางเมตร เพื่อขยายกำลังการประกอบให้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000
ต่อเดือน และเตรียมขยายตลาดไปต่างจังหวัด โดยผ่านดีลเลอร์ที่แต่งตั้งขึ้นหลายรายในต่างจังหวัด
รวมทั้งประเทศลาวด้วย
เร็ว ๆ นี้ ภาพยนต์โฆษณาพีซีเอเทคจะปรากฏบนจอทีวีเป็นครั้งแรก ซึ่งเอเทคจะกลายเป็นพีซีรายที่
4 ที่ทำโฆษณาบนหน้าจอทีวี เพราะก่อนหน้าที่นี้มีคอมแพค ไอบีเอ็ม และเอเซอร์เท่านั้น
ดิศักดิ์ให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพีซีท้องถิ่นที่ไม่ได้ด้อยกว่าพีซีนำเข้าแต่อย่างใด
โดยเฉพาะในแง่ของคุณภาพเพียงแต่ค่านิยมของคนไทยที่ยังยึดติดอยู่กับยี่ห้อเท่านั้น
ซึ่งในสายตาของเขาแล้ว เชื่อว่าบทบาทของพีซีท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า คงจะครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 50% ของตลาดโดยรวม
"ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะเป็นคนที่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ในขณะที่ลูกค้าทั่วไปจะยึดติดกับยี่ห้อ
ดังนั้นเราต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพีซีท้องถิ่น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมเท่าใด"
ดิศักดิ์กล่าวอย่างมุ่งมั่น
นับได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวของพีซีท้องถิ่นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากการสำรวจของสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์
พบว่ามูลค่าตลาดของพีซีในปีที่แล้วมีอยู่ถึง 271,300 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า
11,598 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชื่อดังจากต่างประเทศ อาทิ คอมแพค ไอบีเอ็ม
เดค ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เอเซอร์ ต่างให้ความสำคัญกับตลาดพีซีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงสร้างราคาที่ลดต่ำลงมากจนแทบไม่เห็นความแตกต่าง
กระทั่งมีการประเมินว่า จะส่งผลให้บรรดาพีซีประกอบในประเทศทั้งหลายคงต้องล้มหายตายจากไปแน่นอน
แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พีซีท้องถิ่น
อย่างเอเทค และโพเวลล์ หรือแม้แต่เหล่าบรรดาร้านค้าบนห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า
ซึ่งประกอบเครื่องขายเองแบบไม่มียี่ห้อ ไม่มีการโปรโมตสินค้า ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดจำนวนหนึ่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์กระทั่งผู้ค้าพีซีบางรายยังยอมรับว่าพีซีท้องถิ่นเหล่านี้มีบทบาทเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
ดิศักดิ์เล่าว่า เป็นเพราะราคาเครื่องพีซีท้องถิ่นในประเทศที่ต่ำกว่าพีซีนำเข้า
แต่คุณสมบัติของเครื่องไม่ได้แตกต่างกัน เพราะใช้ชิ้นส่วนมาจากแหล่งผลิตเดียวกัน
ซึ่งล้วนอยู่ในย่านเอเชีย-แปซิฟิก (ดูตารางประกอบ) ดังนั้นการที่ไทยอยู่ใกล้แหล่งผลิตทำให้ต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่า
ในขณะที่พีซีนำเข้าต้องซื้อชิ้นส่วนเหล่านี้ไปประกอบ และส่งกลับมาขายอีกครั้งหนึ่งซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ชิ้นส่วนบางประเภทที่ราคาเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ มาก เช่น ซีพียู
หรือแรม ดิศักดิ์เล่าว่าจะใช้วิธีสต็อคสินค้าในเวลาที่สั้นมากไม่เกิน 1 สัปดาห์
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดต่ำลงไปอีก
ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของพีซีท้องถิ่นก็ทำได้เร็วกว่า ซึ่งดิศักดิ์
เล่าว่า พีซีท้องถิ่นคล่องตัวมากกว่าเครื่องนำเข้ามาก จะเห็นได้ว่า ในขณะที่พีซีท้องถิ่นจะมีเครื่องใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่วางตลาด
แต่พีซีนำเข้ายังต้องรอเวลาไปอีกระยะหนึ่ง
ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ ได้มาจากซัปพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วน เช่นตอนนี้รู้แล้วว่า
เทคโนโลยี ดีวีดีจะมาแทนที่ซีดีรอม ก็จะเตรียมตัวประกอบและวางจำหน่ายได้ก่อนพีซีนำเข้า
"คอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องออกสินค้าใหม่ทุก 2 เดือน
เพราะในขณะที่คนอื่นเดิน แต่เราต้องวิ่ง และต้องวิ่งให้เร็วกว่าด้วย"
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บรรดาพีซีนำเข้าทั้งหลายคงประมาทไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าพีซีท้องถิ่นจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าแต่อาจเป็นกองทัพมดที่ไม่อาจมองข้าม