"คุณไชยเพอร์เฟค เป็นคนหนุ่มที่ผ่านการศึกษาหลักสูตรบริหารมา และก่อนทำงานที่ไทยประกันชีวิต
คุณไชยเคยเดินทางไปดูงานในหลายประเทศทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนค่อย
ๆ เรียนรู้งานจากพื้นฐานจนเก่ง เป็นนักพูดที่เก่ง ถือเป็นคนรุ่นหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ
มีขั้นตอนการเรียนรู้งานที่ดี ตัวท่านเองเป็นคนตรง คนฉลาด" อภิรักษ์
ซึ่งทำงานที่ไทยประกันชีวิต 21 ปี จนมีโอกาสได้ร่วมงานกับทั้งวานิชและไชยเล่าให้ฟัง
แต่จะให้เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของวานิชและไชยนั้น อภิรักษ์กล่าวว่า
เป็นคนละยุคกัน ดังนั้นคนที่มีความเก่งเฉพาะตัวมาก คือ ใช้คนเก่ง ค่อนข้างจะติดตามงานมาก
อย่างสานิช จึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีระดับพันล้านได้ ซึ่งคนระดับนี้มีไม่กี่คน
ที่เรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตัวเอง
"ท่านเป็นคนละเอียดรอบคอบ ซึ่งตรงนี้เหมาะสมกับยุคที่ไทยประกันเพิ่งเกิดมีธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่เมื่อธุรกิจขยายขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงต้องให้คนมาช่วยดูแล
ดังนั้นการเริ่มต้นแบบคุณวานิชถือว่าถูกต้องที่เริ่มดูรายละเอียดใช้คนให้เป็น"
แต่ในยุคหลังเมื่อฐานธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้น มีคนเยอะพนักงานเป็นพัน ด้านการตลาดเป็นหมื่น
การบริหารจึงต้องเปลี่ยนแนวเอาระบบการกระจายอำนาจมาใช้ ซึ่งตรงนี้ไชยเข้ามามีส่วนร่วมมาก
เมื่อกระจายอำนาจ งานก็เร็ว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปสู่สาขาเป็นสิ่งที่บริษัททำมากที่สุด
เพราะไทยประกันชีวิตมีสาขาเยอะเมื่อการจายอำนาจไป การทำงานก็จะเร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่านสำนักงานใหญ่
"ช่วง 14 ปีที่คุณไชยเข้ามาช่วยงาน สิ่งที่เขาเน้นอันดับแรกคือ การฝึกอบรม
เขารู้ว่าถ้าต้องการให้องค์กรใหญ่โตในอนาคต การฝึกอบรมเป็นหัวใจ จุดแรกท่านจะทำด้านนี้
ซึ่งนโยบายอันนี้เราทำมาตั้งแต่สมัยพ่อ ดร. กอปร กฤตยากีรณ เป็นกรรมการผู้จัดการ
และเราก็เน้นมาทุกยุคทุกสมัย" อภิรักษ์กล่าว
ในส่วนของอภิรักษ์ เขาเข้ามาทำงานที่ไทยประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแข่งขันไม่รุนแรง
ขึ้นอยู่กับตัวใครตัวมัน คนไหนมีวิชั่นไกลก็จะสามารถขยายตลาดได้ดี
"ต้องชมอดีตกรรมการผู้จัดการของบริษัทหลาย ๆ ท่านที่มีวิชั่นไกล วางแนวธุรกิจที่ดีเพราะค่อนข้างจะเห็นความสำคัญของการขยายตลาด
ภาพพจน์ของบริษัท เราทุ่มงบด้านการตลาด การฝึกอบรม งบประชาสัมพันธ์มากกว่าทุกบริษัท
ผมก็สานต่อแนวนโยบายของอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ มันก็โตมาเรื่อย ๆ งานใหญ่ขึ้นมาระบบที่ใช้ก็เปลี่ยนเป็นระยะ
ๆ"
ดังนั้นไทยประกันชีวิตจึงต้องพยายามสร้างฐานการเงินของบริษัทให้มั่นคง
มีเงินพอที่จะเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานเพื่อรักษาคนแก่ไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างคนใหม่ขึ้นมาและพยายามรักษาเอาไว้
"การก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในวงการประกันภัย เราก็หวังแต่ตัวเลขยังห่างจาก
เอ.ไอ.เอ. เป็นเท่าตัว ตอนนี้เราแชร์ 23% ซึ่งระยะใกล้ยังไม่เห็น แต่ในขณะที่เรายังไม่ชนะเขา
เราก็หันมาทำระบบเราให้มั่นคง รักษาระดับมาร์เกตแชร์ให้ยืนอยู่ มีผลกำไรดี
เพื่อมีเงินจ่ายเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานและลูกค้า ให้มีประสิทธิภาพ"
เมื่อถามถึงเรื่องการขึ้นมารับตำแหน่งของไชยแทนวานิชนั้น อภิรักษ์ค่อนข้างสงวนท่าทีการให้ความเห็นมาก
ๆ เขาบอกว่า
"จริง ๆ แล้วคุณไชยจะมารับช่วงเมื่อไหร่ก็เหมาะสม เพราะท่านได้ผ่านการเคี่ยวมานาน
แต่เนื่องจากธุรกิจของคุณวานิชท่านเยอะมากเหลือเกิน มันก็จำเป็นต้องโลว์บทบาทของคุณไชยไว้
เพื่อไปดูแลเป็นหูเป็นตาแทนคุณพ่ออยู่หลายกิจการ เวลาก็จำกัดมันขึ้นอยู่ว่าท่านจะสามารถดึงงานที่ดูแลเกี่ยวข้องกับไทยประกันออกไปได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้ายังให้ทำหลายอย่างเช่นปัจจุบัน คุณไชยอาจจะยังไม่อยากยุ่ง เพราะส่วนมากเจ้าของกิจการจะไปแสวงหากิจการใหม่
ๆ ทำให้ต้องดึงลูกหลานไปช่วยงานในธุรกิจใหม่แบ่ง ๆ กันไป ตอนนี้ท่านก็เริ่มแบ่งงานออกไป"
แต่ในส่วนของไทยประกันชีวิตนั้น อภิรักษ์กล่าวว่า ไม่ต้องการให้คนหนึ่งคนใดเป็นวันแมนโชว์
เพราะปัจจุบันด้านการตลาดคุณไตรมาสก็รับไปเต็ม ๆ ด้านบริหารงานบุคคลและอบรม
คุณไชยก็รับไปเต็ม ๆ ส่วนเขาก็ดูในด้านนโยบายใหญ่ ๆ บริษัท การดำเนินกิจการที่ทำให้มีกำไรเป็นการมองภาพกว้าง