Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2539
"ไชยวรรณ รุ่นที่ 2 ถึงเวลาที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ"             
โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล สมสมัย ศักดาวัฒนานนท์
 


   
search resources

ไทยประกันชีวิต, บจก.
ไชย ไชยวรรณ
Insurance




ในไม่ช้า ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันครั้งสำคัญ คู่แข่งหน้าใหม่ที่อาจมีมากถึง 66 รายกำลังเคลื่อนทัพเข้าสู่สนาม สำหรับ "กลุ่มไทยประกันชีวิต" แล้วเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เป็นการท้าทายกันทางธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการท้าพิสูจน์ฝีมือของ "ไชยวรรณ รุ่นที่ 2" ด้วยว่าพวกเขาจะสามารถสานต่อธุรกิจที่ "วานิช ไชยวรรณ" สร้างไว้ได้หรือไม่?

ก่อนที่กลุ่มธุรกิจของไทยประกันชีวิตจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ดังเช่นทุกวันนี้นั้น วานิช ไชยวรรณ ต้องใช้เวลาก่อร่างสร้างมานาน 40 ปี โดยเริ่มต้นจากการค้าพืชผลเกษตรในชื่อห้างหุ้นส่วน นิววานิช เมื่อปี 2504 ก่อนที่จะถูกชักชวนให้มาทำธุรกิจธนาคาร ด้วยการเป็นกัมประโด (ผู้จัดการสาขาธนาคารพาณิชย์) ของธนาคารไทยพัฒนา (ธนาคารมหานครในปัจจุบัน) กับคำรณ เตชะไพบูลย์หรือโคโร่ เมื่อปี 2511 และในปีเดียวกันนั้นเขาได้ตัดสินใจเทกโอเวอร์บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย ซึ่งเป็นการเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยครั้งแรกของเขา

ปี 2513 วานิชได้เข้าไปซื้อกิจการของ บริษัท ไทยประกันชีวิต ซึ่งต่อมาเติบใหญ่จนกลายเป็นฐานให้เขาขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย

กุมภาพันธ์ 2515 วานิชได้เข้าสู่ธุรกิจสุราด้วยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท สุราแสงโสม ซึ่งนำไปสู่การสว็อปหุ้นจนในที่สุดเขาก็ได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนในสุรามหาราษฎา และกลุ่มสุราทิพย์ นอกเหนือจากก่อตั้งบริษัท สุราสัมพันธ์ ขึ้นเมื่อปี 2526 เพื่อเป็นผู้ขายส่งสุราขาวใน 14 จังหวัดภาคใต้จนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะคิดแตกไลน์มาทำเบียร์ไฮเนเก้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของกิจการสายการเงินนั้นวานิชเข้าไปซื้อบริษัท บูรพาทรัสต์ จำกัดในปี 2518 โดยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ ต่อมาก็ซื้อกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์และเครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ

วานิชยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันตระกูลไชยวรรณมีกลุ่มธุรกิจที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่อยู่ 6 สาย ประกอบไปด้วย สายประกันภัย สายการเงิน สายอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม สายโบรกเกอร์ประกันภัย และสายอสังหาริมทรัพย์ รวม 18 บริษัท คิดเป็นสินทรัพย์รวมเมื่อสิ้นปี 2538 ทั้งสิ้น 64,272 ล้านบาท ซึ่ง 90% เป็นสินทรัพย์ของสายธุรกิจประกันภัยและสายการเงิน

โดยในส่วนของสายประกันภัยนั้นไทยประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์รวมสูงสุดของกลุ่ม คือ 33,000 ล้านบาทเมื่อปี 2538 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องที่วานิชภูมิใจมาก ๆ เพราะตอนที่เขาซื้อบริษัทนี้มา ไทยประกันชีวิตติดอันดับบ๊วยของบริษัทประกันชีวิตทีเดียว ในขณะที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 2 รองจาก เอ.ไอ.เอ. แม้ว่าสัดส่วนการตลาดจะแตกต่างกันมากคือ ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 23% ขณะที่ เอ.ไอ.เอ. มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 50%

หากนับรวมสินทรัพย์ของไพบูลย์ประกันภัยและไทยประกันสุขภาพเข้าไปด้วย สายประกันภัยจะมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 34,012 ล้านบาท สูงที่สุดในบรรดาธุรกิจหลักของไชยวรรณอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับสายการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ เงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ และไทยเม็กซ์ลิสซิ่ง สินทรัพย์รวมทั้ง 4 บริษัท ในปี 2538 ที่ผ่านมามีมูลค่าทั้งสิ้น 24,525 ล้านบาท ดังนั้นแม้ว่าทั้ง 4 บริษัทจะไม่ได้เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในธุรกิจประเภทเงินทุนและหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นสายธุรกิจที่สำคัญเพราะใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสายประกันภัย

ส่วนอีก 4 สายธุรกิจที่เหลือ อย่างสายอุตสาหกรรม สายโรงแรม สายโบรกเกอร์ประกันภัยและสายอสังหาริมทรัพย์ (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ) ยังเป็นเพียงสายธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีสินทรัพย์รวมเพียง 5,735 ล้านบาท แบ่งเป็น1,960 ล้านบาท 1,953 ล้านบาท 104 ล้านบาทและ 1,718 ล้านบาทตามลำดับ

นอกจากสายธุรกิจ 6 สายดังกล่าวแล้ว ตระกูลไชยวรรณยังมีการร่วมทุนในลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย โดยส่วนที่ร่วมทุนกับต่างประเทศมี 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยเวสต์ แอสเสท แมนเจนเมนท์ จำกัด ดำเนินกิจการที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน เป็นการร่วมทุนกับประเทศฮ่องกง และบริษัท ทีเอสดี ลิสซิ่ง จำกัด ดำเนินกิจการให้เช่าและเช่าซื้อทรัพย์สินร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศสิงคโปร์

ส่วนบริษัทที่ร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศ ประกอบไปด้วย บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยเอเชีย จำกัด บริษัท มหาชัยพัฒนาที่ดิน จำกัด กลุ่มสุราทิพย์ บริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) บริษัท สุราแสงโสม จำกัด โรงแรมฮิลตันอินเตอร์เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ และบริษัท โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส จำกัด

"ผมไม่มีเทคนิคหรือปรัชญาในการทำธุรกิจอะไรมากมาย ผมทำของผมง่าย ๆ พูดไปคนอาจหัวเราะเอาก็ได้ แต่สิ่งที่ผมยึดอยู่ตลอดก็คือ ทำในสิ่งที่ตัวเองรู้และถนัดมากกว่าที่จะไปคิดทำทุกอย่างเพื่อหวังให้มีธุรกิจครบวงจรในมือ ผมว่ามันไม่ถูก เราควรจะแบ่งให้คนอื่นเขากินบ้าง ไม่ใช่คิดจะทำไปหมด เพราะมีเงินอย่างเดียว" นี่เป็นคำตอบของวานิช ไชยวรรณ เมื่อถูก "นิตยสาร ฮู อิส ฮู" ถามถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจของเขา

ขณะที่อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ซึ่งทำงานกับวานิชมาตั้งแต่ปี 2518 ให้ทัศนะกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"คุณวานิชมีจุดเด่นคือใช้คนเก่งและค่อนข้างจะติดตามงานมาก ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีระดับหมื่นล้านได้ เพราะคนที่เรียนรู้การทำธุรกิจจากประสบการณ์ของตัวเองจนพลิกผันมาเป็นคนร่ำรวยได้นั้นมีอยู่ไม่กี่คน"

บทบาทของ "ไชยวรรณรุ่นที่ 2"

ณ วันนี้ แม้ว่าวานิชจะวางมือจากการบริหารงานประจำวันแล้ว แต่เขาก็ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และทิศทางการทำธุรกิจให้กับกลุ่มไทยประกันชีวิตอยู่ รวมทั้งยังนั่งเป็นประธานกรรมการควบไปกับการเป็นกรรมการผู้อำนวยการที่บริษัท ไทยประกันชีวิตอีกด้วย นอกเหนือจากการนั่งอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ อีก 17 บริษัท (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ)

แต่ทุกคนรู้ดีว่าวานิชกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายโอนอำนาจให้กับทายาทของเขา ที่จะก้าวขึ้นมาสานต่อธุรกิจของกลุ่มไทยประกันชีวิตให้ก้าวหน้าต่อไป

ยุคนี้จึงอยู่ระหว่างรอยต่อของวานิชกับไชยวรรณรุ่นที่ 2 โดยขณะนี้ทายาทของวานิช 5 คนได้เข้ามาเรียนรู้งานกับบริษัทต่าง ๆ ของไทยประกันชีวิตแล้ว โดยมี 2 คนอยู่ที่ไทยประกันชีวิต และอีก 3 คนกระจายไปดูธุรกิจต่าง ๆ


วานิช ไชยวรรณ มีทายาทชายหญิงทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 5 หญิง 3 โดย 6 คนแรกสำเร็จการศึกษาแล้ว เหลือเพียงผู้ชาย 2 คนสุดท้องเท่านั้นที่ยังเรียนหนังสืออยู่

"ไชย ไชยวรรณ" บุตรชายคนโตเป็นคนแรกที่เข้ามาสู่ธุรกิจของตระกูล ปัจจุบันเขาเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต และนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอีก 4 บริษัทคือ บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย บริษัท ซี. แลงค์ และ บริษัท โรงแรมริมเพ ระยอง

"ผมเข้ามาทำงานที่ไทยประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2525 เริ่มจากตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนดูแลด้านการลงทุน ก่อนที่จะเข้าไปรับผิดชอบด้านบัญชี ด้านการบริหารงานภายในและสาขาด้วย หลังจากนั้นก็มาดูแลด้านบุคลากร ด้านการอบรมและการตลาด ถ้าพูดในภาพรวมก็คือผมดูด้านการบริหารงานภายในสำนักงานใหญ่ทั้งหมด รวมทั้งระบบกิจการสาขาการอบรมและการสร้างบุคลากรของบริษัท" ไชยเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ต่อจากไชย ก็เป็น "วรรณ ไชยวรรณ" ลูกชายคนที่ 2 คนนี้ได้รับมอบหมายจากวานิชให้เป็นผู้ดูแลธุรกิจสุรา ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจดั้งเดิมของวานิชแขนงหนึ่ง นอกเหนือไปจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันเขามีตำแหน่งที่เป็นทางการของเขาคือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพารักษ์ บิสสิเนส จำกัด

ลูกชายคนที่สามคือ ชัช ไชยวรรณ ซึ่งเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ เป็นคนเดียวที่ไม่ได้เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวและได้ข่าวว่าขณะนี้กำลังไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศด้วย

ขณะที่ลูกสาวคนที่ 4 คือ ชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา (ไชยวรรณ) ปัจจุบันเป็นกรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบงานฝ่ายคอมพิวเตอร์ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายบัญชีและการเงิน

โดยก่อนหน้านั้นเธอได้หาประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างในช่วงสั้น ๆ ด้วยการเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อ ของธนาคารไทยทนุ แล้วจึงมาเป็นรองผู้จัดการฝ่ายรับประกันภัย บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย จำกัด เป็นกรรมการบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ไทยเคหะ จำกัด และบริษัท โรงแรมริมเพระยอง

คนต่อมา คือ วีณา ไชยวรรณ ซึ่งเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวเมื่อ 3 ปีที่แล้วหลังจากที่ไปหาประสบการณ์ที่ฝ่ายสินเชื่อโครงการธนาคารทหารไทยและฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไทยฟูจิอยู่ช่วงหนึ่ง ก็ถูกพ่อขอร้องให้เข้ามาช่วยทำธุรกิจครอบครัว เริ่มต้นจากฝ่ายพิธีการหลักทรัพย์และพิธีการเช่าซื้อ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ จำกัด

"ตอนนี้ดิฉันได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนของริมเพ ระยอง ซึ่งประกอบด้วยโรงแรมโนโวเทล ระยอง โครงการอาพาร์เมนต์ และไอบิสที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 6 แห่ง นอกจากนี้ถ้าคุณพ่ออยากให้ช่วยดูอะไรก็จะสั่งมาเป็นเรื่อง ๆ ไป" วีณาเล่าให้ฟัง

คนที่หก คือ วรางค์ เสรฐภักดี (ไชยวรรณ) ปัจจุบันเป็นผู้จัดการสายการเงินและการลงทุน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด

วรางค์เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปหาประสบการณ์ทำงานในฐานะลูกจ้างกับบริษัทอื่น เช่นเดียวกับพี่สาวทั้งสองคนก่อนที่จะถูกพ่อขอร้องให้เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว

"จบใหม่ ๆ สมัครงานเยอะมาก และก็ได้ไปทำงานด้านคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ ที่ทิสโก้ อยู่ประมาณ 1 ปี 4 เดือน ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ระบบงานต่าง ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่ไทยประกันชีวิตได้เยอะ"

อย่างไรก็ดีแม้ว่าวานิชจะพยายามจัดวางลูก ๆ ของเขาให้เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบงานในธุรกิจต่าง ๆ ของเขาอย่างครบวงจร โดยพยายามดูความเหมาะสมของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าจะพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าลูก ๆ ของเขาจะต้องเข้าไปไต่เต้าแม้ว่าจะเติบโตเร็วกว่าพนักงานทั่ว ๆ ไป อยู่บ้างก็ตาม

"แม้ว่าคุณวานิชจะให้ลูกเข้ามาช่วยงาน แต่ก็ไม่ได้ให้เข้ามาในฐานะเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สอง อย่างคุณไชยเองทุกวันนี้ก็ยังเป็นเบอร์สี่ของไทยประกันชีวิต ต่อจากคุณอภิรักษ์ กรรมการผู้จัดการ คุณไตรมาส แผ้วประยูร และคุณจิตต์ ขลิบเงิน ซึ่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่" คนใกล้ชิดกับตระกูลไชยวรรณวิเคราะห์ให้ฟัง ทั้งนี้เนื่องจากวานิชไม่ต้องการให้คนมองว่าธุรกิจของเขาเป็นธุรกิจครอบครัวแต่เป็นธุรกิจที่ใช้มืออาชีพในการบริหาร ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ไทยประกันชีวิตประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

ดังนั้นลูก ๆ ของเขาจึงต้องเข้าไปไต่เต้าเหมือนกับพนักงานทั่วไป แต่อีกฐานะหนึ่งก็ต้องคอยให้กำลังใจบรรดามืออาชีพให้ทำงานอย่างเข้มแข็งในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน

ไชย ไชยวรรณ

คืออนาคต "ไทยประกันชีวิต"?

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตระกูลไชยวรรณ จะทำธุรกิจด้วยการว่าจ้างมืออาชีพให้เข้ามาเป็นผู้บริหารงาน แต่ในอนาคตก็จะต้องมีไชยวรรณรุ่นที่ 2 สักคนเข้าไปเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการขยายธุรกิจของกลุ่มอันเป็นภารกิจสืบเนื่องจากที่วานิช ไชยวรรณได้กระทำมา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า "ไชย ไชยวรรณ" ในฐานะบุตรชายคนโต จะต้องถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนพ่อ ซึ่งดูเหมือนไชยเองก็รู้ตัวดีอยู่ไม่น้อย

แม้เขาจะปฏิเสธว่ายังไม่มีการพูดถึงเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดในสถานภาพการเป็นผู้ถือหุ้นและในฐานะผู้บริหารงาน อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งพูดกัน

"ผมคิดว่าถ้าต้องไปนั่งตรงนั้นคงเหนื่อย อีกอย่างเราก็ไม่รู้ใจคุณพ่อ เพราะต่อไปธุรกิจอาจจะมีการจัดสรรให้เปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยก่อน ซึ่งพูดตอนนี้คงไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจมันเปลี่ยนเร็วมาก อย่างสมัยคุณพ่ออาจจะทำแค่บริษัทประกัน และมีเหล้านิดหน่อย แต่ขณะนี้เอาแค่บริษัทไฟแนนซ์เราก็มี 2 บริษัท ยังเครดิตฟองซิเอร์เป็น 3 บริษัท ประกันเรามี 3 บริษัท ไม่รวมโบรกเกอร์ที่เราไปร่วมหุ้นกับเซ็ดจวิค แล้วยังมีเบียร์ ในอนาคตเราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะขยายธุรกิจอะไรออกไปอีก ดังนั้นการจะให้ผมมานั่งดูธุรกิจทั้งหมดในกลุ่มที่ 20-30 บริษัท ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง"

โดยไชยอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการถือหุ้น เดิมวานิชเป็นผู้ถือหุ้นคนเดียว แต่ต่อไปก็จะมีเขาและน้อง ๆ เข้ามาถือหุ้นด้วย สำหรับเรื่องการบริหารก็คงจะใช้มืออาชีพมากขึ้นไม่จำเป็นต้องให้ไชยวรรณเข้าไปบริหาร ซึ่งขณะนี้ในหลาย ๆ บริษัทก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทยเอเชีย-แปซิฟิก บริวเวอรี่ ผู้ผลิต และจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้นก็มีวสันต์ สุริยาอรุณโรจน์ เป็นผู้จัดการทั่วไป ส่วนของโรงแรมก็มีผู้บริหารเป็นชาวต่างประเทศหรือแม้แต่ที่ไทยประกันชีวิตและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ ก็มีผู้บริหารมืออาชีพเป็นผู้ดูแล

ยกเว้นกรณีของไพบูลย์ประกันภัยที่เขาต้องไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการเองซึ่งไชยบอกว่าเป็นเพราะบุคลากรด้านประกันภัยหายาก ส่วนที่โรงแรมริมเพ ระยองและ ซี. แลงค์นั้นเป็นเพราะผู้ร่วมทุนต่างชาติต้องการให้มีคนในตระกูลไชยวรรณเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร

ถึงแม้จะมีตำแหน่งบริหารในหลาย ๆ บริษัท แต่ไชยก็จะใช้ 60% ของเวลาทำงานที่ไทยประกันชีวิต ซึ่งเขาต้องดูแลเรื่องบัญชี การเงิน การอบรมสาขา การพนักงาน ประชาสัมพันธ์ จะมียกเว้นก็เฉพาะฝ่ายขายอย่างเดียวที่เขาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ไชยยอมรับว่าการทำงานกับบริษัทของตัวเองต้องเหนื่อยกว่าปกติ เพราะถ้าเขาทำไม่ดี คนก็จะมองว่าคุณพ่อทำให้ไว้ดีแล้วทำไมลูกทำไม่ได้ ถ้าทำดีคนก็อาจจะมองว่าเพราะคุณพ่อทำมาให้ดีอยู่แล้วเข้าทำนองสร้างง่าย รักษายาก

"แต่ผมไม่อึดอัดที่มาเป็นไชยวรรณคนโต เพราะบังเอิญผมเป็นคนสนุกกับงานที่ทำ"

แม้แต่งานในไทยประกันชีวิต ที่ไชยบอกว่าเป็นธุรกิจที่เหนื่อย และหากไม่ได้เกิดมาเป็นไชยวรรณ เขาคงไม่เข้ามาทำ

"ถ้าคุณพ่อไม่ได้ทำบริษัทประกันไว้ให้ ผมคงไม่เข้ามาทำธุรกิจนี้ หรือถ้าเข้ามาเป็นลูกจ้างสักพักผมคงลาออก เพราะว่าธุรกิจนี้เหนื่อยกว่าการทำไฟแนนซ์และธุรกิจอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนื่อยในเรื่องของคน เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตบ้านเราต้องอาศัยความไว้วางใจ ความคุ้นเคย ดังนั้นหากไม่ใช่ธุรกิจของตระกูลผมคงเลือกทำอย่างอื่น"

"ถ้าไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทเล็ก ๆ ติดอันดับสุดท้ายผมอาจจะไม่สนใจ เพราะหนึ่งเป็นธุรกิจมาร์จินต่ำ สองต้องเหนื่อยกับคนค่อนข้างสูง สาม ไม่สามารถใช้เวลาของตัวเองตามที่ต้องการได้ แต่ตอนนี้เราอยู่อันดับที่ 2 ทำไมผมจะไม่ทำตรงนี้ให้ดีขึ้น"

ไชยพูดถึงการรับมือนโยบายเปิดประกันภัยเสรี ที่จะทำให้มีบริษัทประกันชีวิตใหม่ 35 บริษัท บริษัทประกันวินาศภัยใหม่ 31 บริษัท ซึ่งจะต้องเกิดการแย่งตัวบุคลากรว่า ในส่วนของบุคลากรนั้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2538 จนถึงปัจจุบันมีฝ่ายขายในระดับบริหาร คือระดับภาค เขตและศูนย์ ลาออกไปประมาณ 200 คน จากจำนวนพนักงาน 8,000 กว่าคนหรือคิดเป็น 2.5% ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากและไม่มีผลกระทบต่อการผลิตผลงานของบริษัท

"ทั้งนี้เนื่องจากเราพยายามทำให้พนักงานอยู่ได้อย่างสบายใจ ในความหมายของไทยประกันชีวิตก็คือ การจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานสากล การสร้างวัฒนธรรมเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เรามีการพบปะพูดคุยกับพนักงานเสมอ ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยที่คนต่างชาติไม่เข้าใจ"

ที่สำคัญไชยย้ำว่า ไทยประกันชีวิตจะยังคงเป็นบริษัทคนไทยตลอดไป จะไม่ดึงต่างชาติมาร่วมทุนเด็ดขาด ยกเว้นจะเป็นลักษณะของพันธมิตรเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคอลโนว์ฮาว

"เราเป็นบริษัทประกันที่เข้มแข็งในธุรกิจประกันเสรีไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เงินทุน เทคโนโลยีการจัดการ และความน่าเชื่อถือของสินค้า" ไชยประกาศ

สำหรับแนวทางในการขยายธุรกิจของกลุ่มไทยประกันชีวิตในอนาคตนั้น ไชยกล่าวว่า จะเน้นในสิ่งที่บริษัทมีความถนัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจไฟแนนซ์

"ทุกอย่างที่เรามีอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีต่อไป ดีกว่าที่จะขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าคนเรามีขีดความสามารถและความชำนาญเฉพาะอย่าง การที่เราขยายธุรกิจใหม่และสนุกกับมันโดยไม่กลับมามองถึงธุรกิจที่เป็นฐาน เป็นต้นกำเนิดของเรา บางครั้งจะทำให้เราผิดพลาดได้"

นี่ถือเป็นสไตล์การบริหารงานของไชยวรรณ ที่ไชยยอมรับว่า ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ขณะเดียวกันก็มีความแอคเกรสซีฟแฝงอยู่ด้วย แต่ไม่ OFFENSIVE จะเป็นลักษณะแอคเกรสซีฟแบบคอนเซอร์เวทีฟมากกว่า คือจะทำก็ต่อเมื่อมีคนมาทำงานให้โดยที่คนคนนั้นจะต้องเป็นคนดีมีความสามารถ เพราะแม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีกำไรดี แต่ถ้าไม่มีคนทำให้ก็ไม่ทำ

"เราจะไม่รุกแบบไม่สนใจ คุณพ่อเป็นคนค่อนข้างระมัดระวังในการขยายธุรกิจหรือทำธุรกิจ ซึ่งเท่าที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อผมมองว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะว่าเรามีของที่ดีอยู่แล้ว ถ้าทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แค่นี้ก็เหนื่อยพอแล้ว ขณะเดียวกันถ้าเราจะขยายธุรกิจเราต้องระมัดระวังมากกว่า คือไม่ใช่แค่ขยายแต่จะขยายอย่างระมัดระวัง"

ธุรกิจที่พอจะถือได้ว่าเป็นผลงานสร้างในยุคที่ไชยเข้ามาทำงานให้กับกลุ่มธุรกิจไทยประกันชีวิตมีอยู่ 2 ส่วนหลัก

ธุรกิจแรก คือ โรงแรม แม้ว่าเดิมวานิชจะเข้าไปถือหุ้นอยู่ในฮิลตันอินเตอร์ เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการบริหารแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อปี 2531 กลุ่มไทยประกันชีวิตจึงได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างเป็นงานเป็นการ แม้ว่าจะค่อนข้างบังเอิญก็ตามที

เพราะเดิมไทยประกันชีวิตวางแผนจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงานและตัวแทนขายประกันขึ้นที่ระยอง แต่เมื่อมาพิจารณาอีกครั้งพบว่า การสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่ใดที่หนึ่งประโยชน์ใช้สอยจะน้อยและการไปอบรมที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียวพนักงานก็จะเบื่อ เลยเปลี่ยนมาเป็นการสร้างโรงแรมแทน ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่ฝึกอบรมได้แล้ว ยังสามารถขายบริการได้อีกด้วย การเกิดขึ้นของบริษัท โรงแรมริมเพ ระยอง จึงดูอาจจะเป็นกรณีที่ผิดปกติ

"แต่เมื่อตัดสินใจทำ เราก็มองหาเชนที่จะเข้ามาบริหารให้ เพราะเราไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อน ในที่สุดก็เซ็นสัญญาให้กลุ่มแอคคอร์มาบริหารให้"

ปัจจุบันนอกจากโนโวเทล ริมเพ ระยองแล้ว ยังขยายเครือข่ายไปที่โนโวเทลสมุย รีสอร์ และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาวที่จะใช้ชื่อไอบิสอีก 6 สาขาในต่างจังหวัด

อีกธุรกิจหนึ่งคือ เบียร์ไฮเนเก้นซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ไทยเอเชีย-แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด อันเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มไทยประกันชีวิต บริษัท เอเชียแปซิฟิค เบฟเวอร์เรจ สิงคโปร์ ไทยน้ำทิพย์ และธนาคารทหารไทย

"หลังจากเราทำเหล้ามานาน เราก็มองว่าน่าจะขยายไปสู่ธุรกิจเบียร์ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่ในช่วงแรกทำไม่ได้เพราะไม่มีใบอนุญาต เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วเราก็ไม่ได้ทำเอง แต่เลือกไฮเนเก้น ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเบียร์อันดับหนึ่งของโลกเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ"

ว่ากันว่าไชยเป็นผู้เจรจาในเรื่องการร่วมทุนครั้งนี้ด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดทีเดียว

นี่อาจจะทำให้คนใกล้ชิดมองว่า งานหลัก ๆ ของไชยตอนนี้ นอกจากการนั่งบริหารที่ไทยประกันชีวิตแล้ว คือ การเป็นตัวเชื่อมระหว่างวานิชกับธุรกิจอื่น ๆ ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เบียร์ไฮเนเก้น

"สำหรับที่ไทยประกันคุณไชยจะไม่ขึ้นมาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่จะขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการโดยตรง เช่น ขึ้นมาในตำแหน่งคุณวานิช โดยจะปล่อยให้แต่ละฝ่ายตัดสินใจในการบริหารงานกันไป มีปัญหาบอกจะไม่ก้าวก่าย แต่จะวางแนวไว้ว่าแต่ละธุรกิจควรเดินไปในทิศทางใด" คนใกล้ชิดไชยวิเคราะห์ให้ฟัง

ส่วนถ้ามองในแง่บารมีแล้ว แน่นอนที่วานิชย่อมมีมากกว่า แต่มองในมุมกลับคนรุ่นที่ทำงานกับวานิชมาก็ต้องโรยราไปตามยุคกันไป ขณะเดียวกันคนที่ทำงานร่วมรุ่นกับไชย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับสายงานก็ต้องโตตามมาสนับสนุนเขาแน่นอน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us