Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2539
"สุรพงษ์ ใจงาม เบื้องหลังแห่ง "ธนาคารส่วนตัว"             
 


   
search resources

ปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์
สุรพงษ์ ใจงาม
นิตยา วิรัชพันธุ์
Real Estate




สุพงษ์ ใจงามมีความฝันที่จะสร้างเมืองขึ้นที่ปราณบุรี เมื่อผนึกกับวิธีระดมทุนแบบของนิตยา วิรัชพันธุ์ โครงการจึงวิ่งฉิว แต่ความฝันต้องพังทลาย ปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ปิดเงียบมากกว่า 3 เดือน สุรพงษ์ตกเป็นจำเลยร่วมกับนิตยา จริงหรือเงินทั้งหมดมาอยู่ที่โครงการแห่งนี้ เขาอาจบริสุทธิ์และไม่เกี่ยวกับการกระทำของนิตยา เช่นเดียวกับที่แบงก์กรุงเทพไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่โครงการพันไร่ที่ปราณบุรีจะไปข้างหน้าต่ออย่างไร?

สำหรับคนกรุงเทพฯ ชื่อโครงการ "ปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์" ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก อีกทั้งชื่อ "สุรพงษ์ ใจงาม" ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

แต่หากได้ไปถึงอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้สัมผัสกับโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์รับรองได้ว่าทุกคนจะต้องตกตะลึงถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการ ผนวกกับความอื้อฉาวของที่มาของแหล่งเงินทุนยิ่งต้องตกตะลึงและมึนงงยิ่งขึ้น

เชื่อกันว่า เงินส่วนใหญ่ที่มาจากการฉ้อโกงของนิตยามาลงให้กับโครงการนี้ และก็เชื่อด้วยว่า โครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้นี้ก็ดำเนินไปได้ด้วยเงินจากนิตยาเป็นส่วนใหญ่ !

ชื่อสุรพงษ์ ใจงามก็เป็นชื่อที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับสำหรับคนเมืองปราณฯ มาก ๆ อีกด้วย

สุรพงษ์ ใจงามหรือ "เสี่ยปุ้ม" เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ปัจจุบันอายุ 41 ปี แต่ในบริคณห์สนธิจัดตั้งบริษัท ซึ่งตั้งในปี 2534 ระบุว่าขณะนั้นเขาอายุ 43 ปี ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2539 เขาน่าจะมีอายุ 48 ปี

เขาเป็นนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่พื้นฐานการศึกษาจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสำเร็จปริญญาตรีสาขาวิศวโยธาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ที่ใช้เวลาเรียน 8 ปีกว่าจะได้รับปริญญาบัตรในปี 2524

แหล่งข่าวอ้างว่า เขาเคยล้มเหลวกับการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างให้กับการเคหะแห่งชาติ

"ในอดีตสุรพงษ์เป็นนักธุรกิจโนเนมทำธุรกิจไม่ถึงขั้นมีชื่อเสียง เช็คก็มีปัญหาบ้าง เป็นคนราชบุรีแต่งงานแล้วมีลูกสองคน นิตยาศรัทธารักสุรพงษ์มาก ๆ เหมือนบัญชาจากสวรรค์ แต่เวลาที่เขามาทำธุระที่ชั้น 20 แบงก์กรุงเทพ นิตยาจะไม่แนะนำให้ใครรู้จักสุรพงษ์เท่าไหร่ คงกลัวความลับรั้วไหล" คนใกล้ชิดนิตยาเล่าให้ฟัง

สุรพงษ์เริ่มสนใจที่ดินปากน้ำปราณบุรีที่เขาให้ความเห็นในตอนแรกกับคนใกล้ชิดว่าปากน้ำปราณเป็นพื้นที่ปากน้ำแห่งเดียวที่ยังสมบูรณ์ จากนั้นเขาเริ่มเก็บถ่ายภาพทางอากาศด้วยเครื่องบินเล็ก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขาชื่นชอบ แล้วนำมาวางแผนพลิกสภาพที่ดินเดิมที่เป็นนากุ้งให้กลายเป็นโครงการในฝัน ที่ประกอบด้วยสนามบินและมารีน่า ตามที่ตนชอบ เพราะสุรพงษ์มีทั้งเครื่องบินและเรือยอช์ทที่ซื้อมาจากบริษัทอัลซิมูด นอกเหนือจากเรือเร็วที่เป็นของตัวเอง เรียกว่าแผนทำโครงการของเขาเกิดจากความชอบส่วนตัวก็คงไม่ผิด

สุรพงษ์มีสายสัมพันธ์ที่ดีในวงการการบินพลเรือน โดยเฉพาะกับชมรมมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชมรมฯ ที่มีส่วนสนับสนุน สุรพงษ์และให้ความร่วมมือในการทำให้เกิดสนามบินในโครงการ

ทั้งสุรพงษ์และชมรมฯ เคยร่วมกันจัดกิจกรรมหลายครั้งที่สนามบินแห่งนี้ เช่นกิจกรรมเมื่อปลายปี 2538 ชมราฯ ได้ร่วมกับโลกความเร็ว และชมรมฯอนุรักษ์การบินพลเรือนหัวหิน-ปราณบุรี มีเบียร์สิงห์เป็นสปอร์เซอร์จัดงานแข่งรถ "เบียร์สิงห์ปราณบุรีแชมป์เปี้ยนชิพ 95" ขึ้นภายในสนามบินปราณบุรี เพื่อหาเงินเข้าชมรามูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ ที่สุรพงษ์เป็นสมาชิกอยู่

อีกทั้งการออกงานของสุรพงษ์ก็ยังคงคู่ไปกับชมรมที่เขาสังกัด ด้วยการเป็นหนึ่งใน 12 นักบิน ที่ขับเครื่องแทงโก้ (เครื่องบินที่ได้รับการบูรณะและฟื้นฟูสภาพ) ของชมรมฯ ในงานโชว์การบินของชมรมฯที่เชียงใหม่เมื่อ 19-20 มกราคม 2537

อย่างไรก็ดี แม้สุรพงษ์จะรักและมีความสามารถในด้านการบินจนเป็นที่รู้จักแต่เขาก็ไม่สามารถผ่านหลักสูตรนักบินเอกชน รุ่น 20 ของสถาบันการบินพลเรือนได้ เพื่อให้มีใบอนุญาตขับเครื่องบิน ความฝันครั้งนั้นไม่ทำให้ชีวิตของสุรพงษ์หมดความสุข เพราะเขายังใช้สายสัมพันธ์ในวงการการบินขับเครื่องบินเล่นได้สบายใจ

สำหรับการรวบรวมที่ดินในย่านปราณบุรีนั้น ว่ากันว่า สุรพงษ์ค้นข้อมูลเจ้าของที่ดินในบริเวณที่สนใจ โดยใช้พนักงานแบงก์กรุงเทพสาขาปราณบุรี สืบหาเจ้าของและเข้าหาคนท้องถิ่นเพื่องานต่าง ๆ ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ที่ดินในการรังวัดเจ้าหน้าที่อำเภอเพื่อการโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการจดจำนองที่ดินนับ 1,000 ไร่ที่จะใช้ทำโครงการ พร้อมกับการปั่นราคาที่ดินจากที่ซื้อมาไร่ละ 5 หมื่น-แสนเป็นไร่ละ 2 แสนบาทในการจดจำนอง

เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเขาติดปัญหากับป้าแช่ม เจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ไม่ยอมขายที่ให้ แต่ก็แก้ปัญหาไปได้ด้วยการเข้าหาขวัญเมือง ลูกเขยนักเลงของป้าแช่มเองที่เขามาช่วยคลี่คลายและถูกเลือกให้เป็นผู้จัดการบริษัท ปราณบุรี ก่อสร้าง จำกัด เพื่อคุมงานก่อสร้างในโครงการ

แม้สุรพงษ์จะไม่ใช่นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่เข้ามาบุกเบิกปากน้ำปราณ แต่เขากับโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ก็ถือได้ว่าเป็นโครงการใหญ่โครงการแรก ๆ ในย่านนี้ อีกทั้งเป็นโครงการที่มีสิ่งปลูกสร้างและกิจกรรมที่จะดึงดูดคนกรุงเทพฯ และนักลงทุนมาที่ปราณบุรีอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ครรชิต อร่ามกิจโพธา หรือ "กำนันเม้ง" ผู้กว้างขวางในย่านปากน้ำปราณ กล่าวถึงสุรพงษ์อย่างชื่นชมว่า เขาเป็นผู้ริเริ่มที่ทำให้ปราณบุรีเป็นที่รู้จัก จากเดิมที่ อ. ปราณบุรีเป็นเพียงเมืองทหาร เพราะมีค่ายทหารอยู่หลายแห่ง อีกทั้งเป็นเมืองปิดเล็ก ๆ ปลายปากแม่น้ำเพชรบุรี หรือที่เรียกกันว่าปากน้ำปราณ ที่มีเพียงไร่สับปะรด และเป็นแหล่งใหญ่ของการจับปลาหมึกซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในเขตอำเภอนี้ และทำให้มีโครงการอื่นเกิดขึ้นตามมา

ความฝันของปราณบุรีน่าจะเป็นจริงโครงการใหญ่ที่สุดในย่านนี้ก็น่าจะเป็นไปได้นิตยาก็น่าจะมีความสุขกับการหมุนเงินต่อไป รวมทั้งสุรพงษ์ก็น่าจะมีสบายใจกับการขับเครื่องบินส่วนตัวเพื่อขึ้นไปบนฟ้า และลงมามองดูด้วยความชื่นชมกับโครงการที่เขาเนรมิตขึ้นมา

ถ้านิตยาไม่ถูกจับเสียก่อน !

บริษัทปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 มีทุนจดทะเบียนบริษัทเริ่มแรก 5 ล้านบาท มีการเพิ่มทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อ วันที่ 30 กันยายน 2537 จำนวน 45 ล้านบาท รวมของเดิมเป็น 50 ล้านบาท

มีกรรมการทั้งหมด 8 คน คือสุรพงษ์ ใจงาม กรรมการผู้จัดการที่เป็นผู้มีอำนาจลงนามเพียงผู้เดียวของบริษัทถือหุ้นใหญ่จำนวน 17,500 หุ้น นอกจากนี้มีนายพัลลภ องค์เจริญ อายุ 59 ปี พี่ชายของนิตยาถือหุ้น 12,500 หุ้น นายอำพล เรืองธุรกิจ อายุ 39 ปี น้องเขยของสุรพงษ์ ถือหุ้น 2,500 หุ้น นางอรพรรณ เรืองธุรกิจ น้องสาวของสุรพงษ์ ถือหุ้น 10,000 หุ้น เรือตรีวิษณุ โลหิตคุปต์ จำนวน 1 หุ้น นายนวพร เศวตวงศ์ จำนวน 1,500 หุ้น นายสืบสกุล ประเสริฐ จำนวน 1 หุ้น นายสุรสิทธิ์ อุดมผลวนิช จำนวน 2,499 หุ้น

จากรายงานการประชุมในการตั้งบริษัทครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ระบุว่า ให้มีการรับรองบัญชีรายชื่อ และฐานะของผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีการพิจารณาให้สัตยาบันแก่กิจการที่ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทได้กระทำ และการออกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัทให้กรรมการออกเงินส่วนตัวคนละ 20,000 บาท และให้กรรมการชำระค่าหุ้นในครั้งแรกหุ้นละ 25 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท

รวมแล้วบริษัทปราณบุรีฯ มีเงินเริ่มต้นเพียง 1,250,000 บาท ในการดำเนินงานและพิจารณาให้ตั้งคณะกรรมการชุดแรกได้ 3 คน คือสุรพงษ์ ใจงาม อรพรรณ เรืองธุรกิจ และพัลลภ องค์เจริญ ซึ่งสุรพงษ์ ยังคงเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการลงนามในเอกสารต่าง ๆ ของบริษัท

บริษัทนี้ใช้บ้านเลขที่ 19/262 หมู่ 6 ต. บางเขน เขตดอนเมือง กทม. ซึ่งเป็นบ้านของสุรพงษ์รูปแบบทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท

บ้านหลังดังกล่าวจากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ล่าสุด พบว่าปิดเงียบไม่มีผู้พักอาศัยหรือมีป้ายบ่งบอกใด ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการ โทรศัพท์ก็ไม่มีผู้รับสายปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต้องการติดต่อไปก็ไม่สามารถติดต่อกับบริษัทนี้ได้อีกเลย

หายเงียบไปเหมือนกับตัวสุรพงษ์ที่ "ผู้จัดการ" พยายามติดต่อหลายทางแต่ไม่พบตัว เช่นเดียวกับโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ที่เงียบหายไปพอ ๆ กัน

โครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ไม่ปรากฏในแผนที่หรือป้ายปักทางไปโครงการก็ไม่มีให้เห็นเลยในปราณบุรี

การเดินทางไปจึงต้องคลำทางไปสมควร

หลังจากเลี้ยวเข้าถนนเพชรเกษมเข้าไปทางวนอุทยานแห่งชาติปราณบุรีตรงหลักกิโลเมตรที่ 246 "ผู้จัดการ" เริ่มจากการมองหาป้ายบอกทางของโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ซึ่งมีหลายคนบอกมาว่าเคยเห็นตั้งป้ายไว้ แต่ป้ายที่พบกับเป็นป้ายของ "ภัทรมารีน่า" ซึ่งถูกระบุว่าเป็นโครงการที่อยู่ติดกัน "ผู้จัดการ" จึงเริ่มต้นที่โครงการภัทรมารีน่า

ก่อนถึงทางแยกเข้าภัทรมารีน่าบริเวณเขาเจ้าแม่ ตรงไปเล็กน้อยจะพบป้อมที่สร้างอย่างสวยหรู หลังคากระเบื้องแดงเหมือนเพิ่งสร้างใหม่ ๆ แต่ไม่มียามหรือผู้ใดอยู่ทั้งสิ้น ขับตรงไปบนถนนลูกรังสีแดงที่ปรับแต่งอย่างดีไปอีกเล็กน้อย

สิ่งแรกที่เห็นคือประตูที่ปิดตาย และป้ายเขียนบอกชื่อทุกกิจการของสุรพงษ์ ตั้งแต่ป้ายสนามบิน (หัวหิน-ปราณบุรี) ภายใต้ชมรมมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ PRAN BURI MACHINERY, SANCTUARY VALLEY, ปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์และ ปราณบุรี ซิตี้ มารีน่า

เมื่อมองลอดรั้วเหล็ก จะเห็นลานสนามบินสำหรับเครื่องบินขนาดเล็กของเอกชนแล้ว มีกลุ่มบ้านสไตล์แคลิฟอร์เนียอยู่ลิบ ๆ ซึ่งมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน

ความตั้งใจจะเข้าไปชมโครงการได้รับการปฏิเสธจากยามเฝ้าประตู ที่ไม่ยอมให้บุคคลภายนอกเข้าออกในโครงการทั้งสิ้น โดยอ้างคำเดียวว่า "นายสั่ง" เมื่อทุกคนถามถึงเหตุผลก็ไม่ได้เหตุผลดีเพิ่มเติมมากไปกว่านั้น

จากประตูฟากหนึ่งที่ติดภูเขาเจ้าแม่ ออกสู่ถนนใหญ่วิ่งอ้อมเป็นวงกลมรัศมีขนาดใหญ่กินอาณาบริเวณเกือบพันไร่ "ผู้จัดการ" พบเส้นทางที่ไปสู่ปากน้ำปราณฯ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่ไปโรงแรมคลับ อัลเดียน่า

ที่นี่มีประตูสำหรับเข้าโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์อีกประตูหนึ่ง ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นประตูใหญ่ แต่ประตูด้านนี้ปิดตายเหมือนกัน และยามที่นี่ปฏิเสธไม่ให้ "ผู้จัดการ" เข้าไปเช่นกัน

ประตูทั้งสองด้านปิดตายมาเกือบ 3 เดือนแล้ว

หลังจากเข้าโครงการทางถนนไม่สำเร็จ "ผู้จัดการ" ตัดสินใจลองใช้เส้นทางแม่น้ำเพื่อจะเข้าไปให้ถึงในโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ โดยเริ่มจากปากน้ำปราณฯ โดยใช้เรือหางยาว

หลังจากใช้เวลาล่องเรือทวนแม่น้ำขึ้นไปเกือบ 1 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และผ่านโค้งน้ำหลายสิบโค้ง ก็เข้าเขตของโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ โดยสังเกตจากอาคารสีส้มยอดแหลมเป็นรูปจั่วอยู่หนึ่งหลัง ที่ในอนาคตจะเป็นปราณบุรีซิตี้มารีน่า หรืออู่จอดเรือของโครงการ

ผ่านไปอีก 4-5 โค้ง ล่องเข้าไปตรงทางแคบเล็กน้อย ก็ปรากฏอ่าวเล็ก ๆ ตีโอบ 2 ด้าน โดยมีคลับเฮ้าส์พร้อมท่าเทียบเรือโดดเด่นเป็นสง่า เป็นจุดศูนย์กลางของโครงการ

คลับเฮ้าส์ที่นี่เพิ่งสร้างเสร็จหมาด ๆ เป็นอาคารชั้นเดียว 2 หลัง สร้างอย่างดี คอมเพรสเซอร์แอร์ยังอยู่ครบ เดินตรงไปพบโรงเก็บเครื่องบินเล็ก ซึ่งยังมีเครื่องบินจอดอยู่ 4 ลำด้านซ้ายเป็นโรงเก็บรถโกคาร์ท สระว่ายน้ำที่น้ำเริ่มมีตะไคร่ขึ้นเขียว และหอสูง

ทางด้านขวาคือรันเวย์สนามบิน และมองออกไปลิบ ๆ คือ บ้านพักอาศัยสไตล์แคลิฟอเนียที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ

ภูมิทัศน์ที่นี่ดีมาก ๆ เพราะบริเวณโครงการเป็นจุดรับลมที่ดีเหมาะกับการพักอาศัย ทิวทัศน์ที่มีภูเขาล้อมรอบ ต่างจากบริเวณคุ้งน้ำที่แล่นเรือมาที่เป็นจุดอับลม

หากโครงการทั้งหมดสร้างเสร็จ จะเป็นโครงการที่สมบูรณ์และสวยงามมากเหมาะสำหรับเศรษฐีชาวกรุงเทพฯ ที่จะขับเครื่องบินเล็กมาลงที่นี่ พักอยู่ในบ้านส่วนตัว และขับเรือยอซท์มากินลมเล่นที่ปากแม่น้ำปราณฯ

เป็นความฝันและความสุขในจินตนาการของสุรพงษ์ ใจงามอย่างขนานแท้ !

เขาลือกันว่าโครงการนี้ล้มละลายไปแล้ว พวกเพื่อนกันที่ทำงานอยู่ไม่ได้รับเงินเดือนมา 3 เดือนแล้ว เดือนหนึ่งก็ประมาณ 6-7 พันบาท เห็นบอกว่าผลัดว่าไปนอกแล้วจะกลับมาจ่าย ก็ไม่จ่ายคนก็เลยออกกันหมด ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนไปทำงานที่ภัทรมารีน่า ชาวบ้านย่านนั้นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

บัญชา จันทโนทัย ลูกชายพลเรือโทบริสุทธิ์ จันทโนทัย เจ้าของอู่ต่อเรือซิลค์ไลน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ไปปักหลักอยู่ที่ปราณบุรีหลายปีแล้ว และเป็นหนึ่งในผู้เคยได้พบปะกินข้าวกับสุรพงษ์และรู้จักกันมา 5 ปี นับแต่ที่สุรพงษ์เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการปราณบุรีที่นี่ ทั้งยังมีอู่ตั้งอยู่ติดกับส่วนปราณบุรี ซิตี้ มารีน่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ เล่าว่า เขาติดต่อสุรพงษ์ไม่ได้เลย

"คุณสุรพงษ์เขาไม่ค่อยสนิทกับใคร ผมรู้จักตั้งแต่ตอนที่เขาเข้ามาที่นี่จนป่านนี้ก็ยังไม่สนิท ไม่รู้ว่าเขาชอบอะไร แม้เขาก็เป็นลูกค้าผมเอาเรือมาซ่อม เป็นพวกเรือเร็ว ตอนนี้ก็ยังมีที่ซ่อมค้างอยู่บ้างมูลค่านิดหน่อยซึ่งก็พอรับไหว ส่วนมารีน่าที่ติดกันกับอู่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะเดี๋ยวนี้เขาไม่มาแล้ว สำนักงานที่กรุงเทพฯ แถววิภาวดี ผมโทรศัพท์ไปเบอร์เดิมเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว" บัญชาเล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์กับสุรพงษ์ในฐานะคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีอู่ติดกับโครงการ

บัญชากล่าวด้วยว่า สุรพงษ์มีแผนจะโปรโมตตลาดโครงการในส่วนของ ปราณบุรี ซิตี้ มารีน่า ให้เป็นที่ที่เรือและรถสามารถเข้าจอดได้ถึงหน้าบ้าน โดยนำเรือล่องเข้าไปตามทางปากน้ำปราณเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่ "ผู้จัดการ" ใช้เดินทางเข้าไปสำรวจในโครงการซึ่งบัญชายืนยันว่าเรือยอชท์สามารถแล่นผ่านแม่น้ำที่คิดกันว่าตื้นเขินนั้นเข้าไปได้ เพราะครั้งหนึ่งชาตรี โสภณพานิช ก็เคยนำเรือยอช์ทขนาด 40 ฟุต ล่องเข้ามาชมโครงการนี้แล้วครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับโครงการภัทรมารีน่าแล้ว โครงการของสุรพงษ์ค่อนข้างอยู่ลึกกว่ามาก และแม่น้ำก็คดเคี้ยวกว่าจะมาถึงปากแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าทางโครงการกำลังให้ลูกจ้างเตรียมขุดทางลัดออกปากแม่น้ำ ระยะทาง 2 กิโลเมตรระหว่างแม่น้ำที่ผ่านภายในโครงการซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษเพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำทีเดียว

ในส่วนของปราณบุรี ซิตี้ ยอชท์ คลับที่เตรียมค้างไว้ยังไม่คืบหน้าไปมากกว่าการมีอาคารเพียงหนึ่งหลัง กับร่องน้ำที่เตรียมขุดไว้สำหรับเป็นทางล่องเรือเข้าไปที่ยังไม่มีการขยายหรือจะกลบใหม่เพื่อปรับพื้นที่ และบริเวณรอบอาคาร นอกจากสระที่ขุดไว้ก็คือป่าโกงกางที่บางตา

แต่เมื่อโครงการชะงักไปเสียก่อนไม่เพียงส่วนของปราณบุรี ซิตี้ มารีน่า ที่ค้างเติ่งอยู่แล้วนั้น สนามบินเล็กและคลับเฮาส์ที่เสร็จสมบูรณ์ ก็ถูกปิดสนิทพร้อมกับตัดน้ำตัดไฟ พร้อมกับเครื่องบินเล็ก 4 ลำ กับรถโกคาร์ทที่จอดเงียบอยู่ด้านหลังคลับเฮาส์ ทิวแถวบ้านที่สวยงามสไตล์แคลิฟอร์เนีย พื้นที่ดินที่เตรียมไว้สำหรับบ้านพักอาศัยในส่วนของแซงชัวรี่ วัลเล่ย์ รวมทั้งศาลเจ้าพ่อหัวสะพาน ที่คงจะเตรียมสร้างไว้เป็นที่พึ่งทางใจ ก็ถูกทิ้งไว้เหมือนกันทุกอย่าง

หลังนิตยาถูกจับกุม ความฝันของนิตยาและสุรพงษ์ที่มีแผนจะเปิดตัวโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ปลายปี 2539 นี้ พร้อมกับการเตรียมย้ายสำนักงานบริษัทจากทาวน์เฮาส์ที่บางเขน มาอยู่ที่อาคารภัทรคอมเพล็กซ์ บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งหรูหรา ภูมิฐานและน่าเชื่อถือกว่ามาก และได้มัดจำไว้หลายสิบล้านกับทางภัทรเรียลเอสเตทแล้ว ก็คงต้องล่มตามกันไป

ส่วนตัวสุรพงษ์หายตัวไป โชคดีที่เขายังไม่ถูกแจ้งจับร่วมกับนิตยา เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าสุรพงษ์ร่วมมือหรือรับรู้การกระทำของนิตยา

เพียงแต่ตกเป็นจำเลยที่ 15 ในข้อหาฉ้อโกงที่ลูกค้าฟ้องแบงก์กับนิตยาเท่านั้น

โครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์จึงกลายเป็นโครงการในฝันที่ค้างเติ่ง และถ้าไม่มีใครมาสานต่อโครงการแห่งนี้ก็อาจเป็นเพียงอนุสรณ์แห่งสายสัมพันธ์ระหว่างนิตยาและสุรพงษ์ที่ลือลั่นเท่านั้น !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us