"กรณ์ จาติกวณิช" เดินหน้าตรวจสอบการทุจริตรักษาการนายกฯ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ง. ตรวจสอบเส้นทางการเคลื่อนไหวเงิน "วินมาร์คฯ" ระบุความผิด 2 ข้อหาตามพ.ร.บ.ฟอกเงินฯ พร้อมตั้งข้อสังเกตหลายประเด็นทั้ง "ทนง-ชัยวัฒน์" ที่เกี่ยวข้องกับการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทมีสายสัมพันธ์อันดีกับเครือชินคอร์ป และการปกปิดบิดเบือนข้อมูลการขายหุ้น 5 บริษัท มูลค่า 1.5 พันล้านบาท แต่แจ้งเพียง 900 ล้านบาท
วานนี้ (29 มี.ค.) เวลา 10.30 น. นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ด จำกัด (Win Mark Limited) ว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของกลุ่มครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษานายกรัฐมนตรี ที่ได้มาจากการลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 หรือไม่
พ.ต.อ.โกวิท ภิรมย์วงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ง. ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนฉบับดังกล่าว เปิดเผยว่า หลังจากได้รับหนังสือแล้ว จะนำเอกสารหลักฐานเรื่องดังกล่าวส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ก่อนที่จะเสนอให้ พ.ต.อ.ยุทธบูล ดิสสะมาน รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ง. นำเรื่องนี้บรรจุเป็นวาระพิจารณาธุรกรรมของ ป.ป.ง.โดยเร่งด่วน
ซึ่งคณะทำงานได้ติดตามการปกปิดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดบินเบือนของนายกฯ และพวกพ้อง ทำให้น่าสงสัยว่านายกฯ และพวกพ้องอาจเป็นเจ้าของผู้มีอำนาจแท้จริงของบริษัทวินมาร์คฯ และบริษัทวินมาร์คฯ อาจเป็นแหล่งฟอกเงินที่เกิดจากการสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำกำไรค่าเงินบาทในปี 2540
นายกรณ์ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือต่อป.ป.ง. ว่า จากกรณีที่คณะทำงานติดตามการปกปิดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง ทำให้น่าสงสัยว่าอาจเป็นเจ้าของผู้มีอำนาจแท้จริงของบริษัทวินมาร์คฯ และบริษัทวินมาร์คฯ อาจเป็นแหล่งฟอกเงินที่เกิดจากการสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อหาผลประโยชน์จากการลอยตัวค่าเงินบาท
โดยได้ชี้ให้เห็นมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จากกรณีหุ้นของบริษัท วินมาร์ค 2 ข้อ คือ 1. มูลฐานความผิดข้อที่ 4 จากการที่บริษัท เอสซี เอสเสท จำกัด ที่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร ได้มีการปกปิดข้อมูล และแจ้งข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ส่วนข้อ 2. มูลฐานความผิดข้อที่ 5 ในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ ซึ่งมีการบิดเบือนทรัพย์สินให้กับผู้อื่น ซึ่งตรงกับกรณีนี้ที่มีข้อสงสัยว่ามีการให้ข้อมูลภายในเรื่องการลอยตัวค่าเงินบาทให้กับบุคคลใด เพื่อเบียดเบียนทรัพย์สิน คือ เงินในกองทุนสำรองของประเทศ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบริษัทวินมาร์คฯ พบว่าในการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขายหุ้นบริษัทในเครือให้กับบริษัทดังกล่าว ในเดือน ส.ค.2543 ก่อนการเลือกตั้งปี 2544 เพียงไม่กี่เดือน โดยพบว่ามีการจ่ายเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จริง เป็นเงินอย่างน้อย 1,500 ล้านบาท จากที่แจ้งต่อสาธารณะชนทราบเพียงประมาณ 900 ล้านบาท จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท วินมาร์ค นำเงินนี้มาจากที่ใด และเกี่ยวข้องกับการทำกำไรจากการลอยตัวค่าเงินบาทหรือไม่
พร้อมทั้ง ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 คือ นายทนง พิทยะ ซึ่งเป็นรมว.คลังในสมัยนั้น เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงสายการเงินของบริษัทเครือชินวัตร ขณะที่นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสมัยนั้น และเป็นผู้จัดการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ช่วงปลายปี 2539-2540 ในปัจจุบันกลับมาดำรงตำแหน่งประธาน บมจ.เอสซี แอสเสท ซึ่งอาจจะเป็นเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ การชี้แจงของพ.ต.ท.ทักษิณ ถึงมูลค่าการขายหุ้น 3 บริษัท มูลค่ารวมประมาณ 900 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตรี้ จำกัด บริษัท พีทีคอร์เปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เอสซีเค เอสเทค จำกัด มูลค่ารวม 906 ล้านบาท
จากการตรวจสอบกลับพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีการขายหุ้นอย่างน้อย 5 บริษัท ไม่ใช่แค่ 3 แห่ง มูลค่าที่ราคาพาร์กว่า 1,500 ล้านบาท โดย 2 บริษัทที่เพิ่มมาคือ บริษัท เอส ซี ออฟฟิช ปาร์ค จำกัด และบริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ จำกัด มูลค่ารวมทั้ง 5 บริษัท ประมาณ 1,493.6 ล้านบาท
"พ.ต.ท.ทักษิณ มีการจงใจปกปิดมาโดยตลอด เพราะหากเป็นนักลงทุนต่างประเทศจริงเหมือนที่กล่าวอ้าง ก็ไม่น่าจะมีเหตุให้ต้องปิดบัง หรือบิดเบือนข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด"
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า เหตุใดบริษัทวินมาร์คฯ ซึ่งถือหุ้นบริษัทโอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ (ปัจจุบันคือ บมจ.เอสซี แอสเสท) มาถึง 3 ปีกลับโอนหุ้นให้กองทุนแวลู แอสเสทส์ ฟัน แอลทีดี (VAF) มาเลเซีย ซึ่งถือหุ้นเพียง 3 สัปดาห์ ได้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นเป็น โอเวอร์ซีส์ โกล์ฟ ฟันด์ อินซ์ (OGF) และออฟชอร์ว ไดมามิกส์ ฟันด์ อินซ์ (ODF) หลังจากนั้นมีการยื่นไฟลิ่งให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 3 กองทุนมีที่อยู่เดียวกันคือ L1, LAT7, BLK F, Saguking Commercila Bldg.Lan Patau-Patau, 87000 Labuan Ft, Malaysia ต่อมากองทุนที่เข้ามาสวมแทนวินมาร์ค ได้สละสิทธิหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 71 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท ให้กับน.ส.พิณทองทา และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก่อนที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หากคำนวณราคาตลาดที่หุ้นละ 15 บาท ทำให้ลูกสวนนายกฯ ได้ประโยชน์ถึง 355 ล้านบาท
นายกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการชี้แจงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานกรรมการบริหาร บริษํท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่ได้มีการชี้แจงข้อสังสัยในหลายๆ ประเด็น เพียงแต่ยืนยันว่า วินมาร์คฯ และกองทุนทั้ง 3 แห่ง คือ VAF, OGF และ ODF ไม่มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของคณะทำงานยังพบว่า บริษัทวินมาร์คฯ บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น ไอซ์แลนด์ มีที่อยู่ P.O.Box 3151 Road Town Tortola British Virgin Island ซึ่งเป็นที่อยู่เกียวกันกับบริษัท แอมเพิล ริช ที่มีข้อสงสัยว่าจะมีการซุกหุ้นชินคอร์ป
"ช่วงที่ผ่านมาได้มีการวิจารณ์ว่าระบอบทักษิณครอบงำไปหมดแล้ว หลายคนบอกว่าไม่ควรมายื่นเรื่องให้ ป.ป.ง. ตรวจสอบ แต่ผมยังไม่หมดหวัง ปัญหาการเมืองทั้งหมดมาจากการหลบเลี่ยง ประกอบกับปัญหาที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ผมหวังว่า ป.ป.ง.จะสร้างความกระจ่างด้วยการตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยลดกระแสต่อต้านนายกฯลงได้ เพราะ ป.ป.ง.สามารถตรวจย้อนหลังไปได้โดยไม่ติดปัญหาช่วงเวลา" นายกรณ์ กล่าว
|