TYONG แจ้งงบไตรมาส 3 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 48 ขาดทุนหนักกว่า 121% เนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัทย่อย 6 แห่ง และตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากการปล่อยกู้บริษัทย่อยอีกทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แจงหลังจัดประเภทเงินลงทุนในบริษัทเหล่านี้เป็นเงินลงทุนในบริษัทย่อยรอการโอนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และไม่นำงบมารวมกับบริษัทแม่ จะทำให้ตัวเลขเงินทุนเป็นบวก 3,398 ล้านบาท
นายสุธา ลิปตวัฒน์ และนายรังสิน กฤตลักษณ์ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารแผน บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน)( TYONG ) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 48 ว่าบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 186.10 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 877.35 ล้านบาท ส่งผลให้จากที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.65 บาทเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 35 สตางค์ หรือขาดทุน 121.21% ขณะที่งวดเก้าเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ที่มีผลขาดทุน 1,583 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานสำหรับงวดเก้าเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 1,239ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 344 ล้านบาท
เนื่องจาก ผลจากการบันทึกเงินลงทุนในบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท สหกรุงเทพพัฒนา จำกัด บริษัท วาเคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เทพประทานพร็อพ เพอร์ตี้ จำกัด บริษัท ดิเอ็กซ์เช้นจ์สแควร์ จำกัด และบริษัท ไทม์ สเตชั่น จำกัด โดยวิธีส่วนได้เสียในปีที่แล้ว และในปีนี้จนถึง 30 พฤษภาคม 2548 โดยหลังจากนั้นได้จัดประเภทเงินลงทุนในบริษัทเหล่านี้เป็นเงินลงทุนในบริษัทย่อยรอการโอนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และไม่รวมงบการเงินของบริษัทเหล่านี้ในการจัดทำงบการเงินรวม ซึ่งมีผลให้ตัวเลขเงินทุนเป็นบวก 3,398 ล้านบาท
โดยผลส่วนใหญ่เกิดจากเงินลงทุนในรถไฟฟ้าติดลบ 219 ล้านบาท จากรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลง 1,909 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลง 1,690 ล้านบาท เงินลงทุนในกิจการโรงแรมติดลบ 64 ล้านบาท จากรายได้จากกิจการโรงแรมลดลง 108 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนจากกิจการโรงแรมลดลง 44 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าและการบริการลดลง 82 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 86 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการขายบริการและบริหารลดลง 341 ล้านบาท ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายลดลง 1,305 ล้านบาท ขณะที่ส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทย่อยรอการโอนตามแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มขึ้น 2,706 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยลดลง 675 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3,384 ล้านบาท เพิ่มเติมในปีนี้ สำหรับเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย โดยมีการตั้งค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 278 ล้านบาท สำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย รอการโอนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 814 ล้านบาท เป็นผลจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ยังไม่เกิดจริงของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายลดลง จำนวน 747 ล้านบาท มีผลมาจากในปีนี้บริษัทฯบันทึกดอกเบี้ยจ่ายให้แก่ธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทอื่นๆ จนถึง 30 พฤษภาคม 2548 เนื่องจากบริษัทฯได้ ปรับปรุงหนี้สินของบริษัทฯให้เป็นไปตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ หรือคำสั่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2548 (วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ)
|