แม้ว่าแบงก์กรุงเทพจะแจ้งให้ สศก. จับนิตยาในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร แต่ลูกค้าตระหนักดีว่าการหาความจริงออกมาเพื่อเรียกเงินคืนจากนิตยาในคุกลาดยาว
ก็เหมือนรีดเลือดจากปู
"เสียดายว่าจับนิตยาเร็วไปหน่อย ถ้าไม่ประโคมข่าวคงจะได้เงินคืนมากกว่านี้"
หนึ่งในผู้เสียหายที่มีอยู่ 17 รายบ่นให้ฟังเหมือนที่เคยได้ยินจากลูกแชร์ชม้อยเปี๊ยบ
หนึ่งในลูกค้าธนบดีธนกิจรายใหญ่ที่เป็นเหยื่อนิตยาอย่างสุรางค์และนิพัทธ์
จุลละมณฑล มหาเศรษฐีสองแม่ลูกตระกูลจุลละมณฑลนี้เป็นตระกูลเก่าแก่ที่ร่ำรวยจากธุรกิจการค้าเพชรพลอย
และเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่หลายแปลง ถือเป็นลูกค้าเก่าของแบงก์กรุงเทพมานาน
จึงได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความมืออาชีพอย่าง สำนักงาน ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน
แจ้งข้อหาทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัท แบงก์กรุงเทพจำกัด (มหาชน) กับพวกรวม
15 คน ฐานผิดสัญญาและละเมิดคดีดำที่ 5439/39
จำเลยได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำเลยที่ 1/นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ จำเลยที่
2/นายชาตรี โสภณพานิช เป็นจำเลยที่ 3/นายดำรงค์ กฤษณามระ จำเลยที่ 4/นายวิระ
รมยะรูป จำเลยที่ 5/นายชาญ โสภณพานิช จำเลยที่ 6/ยายปิติ สิทธิอำนวย จำเลยที่
7/นายอมร จันทรสมบูรณ์ จำเลยที่ 8/นายเดชา ตุลนันท์ จำเลยที่ 9/นายชาติศิริ
โสภณพานิช จำเลยที่ 10/นายธรรมนูญ เลากัยกุล จำเลยที่ 11/นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
จำเลยที่ 12/นางจินดา จรุงเจริญเวชช์ จำเลยที่ 13/นางนิตยา วิรัชพันธุ์ จำเลยที่
14 และนายสุรพงษ์ ใจงามเป็นจำเลยที่ 15 ในข้อหาเรียกให้ชำระหนี้ ผิดสัญญา
ละเมิดและเรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 46,950,530 บาท
เฉพาะลูกค้ารายนี้รายเดียวเจอฤทธิ์เดชของนิตยาไปเกือบ 50 ล้านบาท!
"การที่แบงก์กรุงเทพเป็นจำเลยที่ 1 เพราะว่าลูกค้าเอาเงินไปฝากหรือลงทุนที่แบงก์
เพราะเขาเชื่อในสถาบันและคุณนิตยาคือตัวแทนของแบงก์ ถ้าคุณนิตยาเป็นพนักงานบริษัทเล็ก
ๆ ไม่มีทางที่ลูกค้าจะเซ็นเช็ค 20-30 ล้านให้ง่าย ๆ แต่เพราะแบงก์เปิดแผนกนี้ขึ้นมาและโฆษณาชวนเชื่อ
ลูกค้าจึงเชื่อเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณ และความจริงใจต่อไปที่จะกำหนดให้แบงก์ต้องมีความรับผิดชอบ
และสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าได้ดีกว่านี้" เทวัญ อุทัยวัฒน์ หัวหน้าทีมทนายความที่ดูแลคดีนี้เล่าให้ฟัง
เคยมีคำพิพากษาตัวอย่างของศาลฎีกาที่ 222/2534 ที่ สุชิน จงนิรามัยสถิตเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเงินทุนสหไฟแนนซ์และพวกเป็นจำเลย
ศาลชี้ขาดไว้ว่า ถ้าหากเกิดคดีความคล้ายคลึงกับคดีดังกล่าว ทางสถาบันการเงินที่เป็นต้นสังกัดของผู้กระทำผิดนั้นต้องรับผิดชอบเต็มที่
ในฐานะที่ผู้กระทำผิดเป็นตัวแทนนิติบุคคลนั้น ๆ
"เรื่องที่ลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งบางคนจะฟ้องแบงก์นั้นถ้าเขามีหลักฐานจะฟ้องก็ยื่นมา
สำหรับเรื่องนี้แบงก์ก็พยายามดูว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะคดีโกงเป็นเรื่องระหว่างลูกค้ากับนิตยา"
ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสส์แบงก์กรุงเทพตอบด้วยในหน้าเฉย ๆ ซึ่งประโยคนี้ได้เติมไฟบนเชื้อเพลิงที่ทำให้ลูกค้าฟ้องแบงก์ทั้งทางแพ่งและอาญา
"เรามองว่าทำไมเพ่งเล็งถึงคุณนิตยาคนเดียวเมื่อเหตุการณ์เกิดแล้ว
วันรุ่งขึ้นแบงก์ไปแจ้งจับคุณนิตยา และบอกให้ผู้เสียหายคนอื่นไปเป็นพยานแจ้งจับคุณนิตยาตอนแรกแบงก์เองก็ขอเวลาระยะหนึ่งว่าจะตรวจสอบ
ภายในและแก้ไขปัญหาเองก่อน ขอให้ลูกค้าใจเย็น ๆ ซึ่งเราก็ว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะธนาคารเองก็พยายามแสดงความรับผิดชอบก็คิดว่าเรื่องจะคลี่คลายได้"
เทวัญให้ข้อสังเกต
หลายคนยังเชื่อว่านิตยายังมีความสามารถนำเงินมาคืนได้ หรือแบงก์อาจจะหาทางช่วยเหลือ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐีผู้เสียหายในจำนวนนี้มีทั้งหมดประมาณ 17
ราย แต่ที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ สศก. มีเพียง 3-4 รายเท่านั้น เช่น ปัญญา
โกสินานนท์ ผู้จัดการสาขาของแบงก์กรุงเทพและรสริน ธนิตานันท์
อีกรายหนึ่งเป็นคุณยายวัย 85 ปีที่เข้าร้องทุกข์และแจ้งความกับ สศก.ว่าถูกนิตยา
ปล้นเงียบจากกรณีตั๋วบี/อี ปลอมเช่นกัน มูลค่าความเสียหายของคุณยายก็ประมาณ
10 ล้านบาทเศษ ๆ
คุณยายผู้นี้ขอไม่เปิดเผยชื่อแต่เล่าให้ฟังสั้น ๆ ว่าเป็นลูกค้าของนิตยา
ตามคำแนะนำของพวกพ้อง ตอนแรกไม่ทราบว่ามีการโกงกันเกิดขึ้นจนมาทราบข่าวประกาศจับนิตยา
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ถึงได้ชวนหลานเข้ามาแจ้งความกับ สศก. แต่ตอนนี้คุณยายก็ยังไม่ได้หาทนายเพื่อจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับนิตยาแต่อย่างใดเพราะจะรอดูท่าทีก่อน
คดีนี้ดูเหมือนคดีฉ้อโกงธรรมดาเพราะปลอมตั๋วขายแล้วเชิดเงินหนีไปแต่ไม่ได้ทำให้แบงก์เสียหายด้านสินทรัพย์
แต่เผอิญความเป็นคนพิเศษที่ทั้งอิทธิพลและเงินฝากหรือสินทรัพย์เกิน 10 ล้านบาท
เรื่องนี้ไม่จบลงง่าย ๆ
"แต่การที่แบงก์เองเป็นบริษัทมหาชน จะนำเงินร้อยล้านบาทมาใช้หนี้ใครโดยพลการไม่ได้
อาจจะถูกผู้ถือหุ้นฟ้องร้องเอาได้ ยกเว้นว่าต้องให้เป็นคดีความก่อนซึ่งทางเราก็ได้ฟ้องคดีแพ่งไปแล้วเมื่อวันที่
3 เม.ย. และในวันที่ 9 เม.ย. ก็ฟ้องคดีอาญาด้วย" เทวัญ อุทัยวัฒน์ เล่าให้ฟัง
"ทางลูกความเองก็ไม่ต้องการให้เป็นคดีความกัน เพียงแต่ต้องการเงินคืน
อยากให้มาเคลียร์กัน เราเรียกร้องในแง่ของความรับผิดชอบของแบงก์มากกว่า จริง
ๆ แล้วไม่อยากให้มาดูเรื่องกฎหมาย"
"นี่ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวต่อไปเราจะไว้ใจแบงก์ได้อย่างไรเพราะถ้ามีปัญหาแล้วแบงก์ไม่รับผิดชอบ
การที่ลูกค้าเดินเข้าไปเพราะมีความเชื่อในตัวสถาบัน ไม่ใช่ในตัวคุณนิตยาเพราะถ้าคุณนิตยา
อยู่ในไฟแนนซ์เล็ก ๆ ลูกค้าจะกล้ายอมเซ็นเช็คทีละ 20-30 ล้านหรือ เท่าที่ทราบคุณนิตยา
ดูแลลูกค้าทั้งหมดกว่า 50 ราย ที่มีปัญหาราว ๆ 17 ราย ผมเชื่อว่าลูกค้าที่เหลือก็คงไม่มั่นใจแล้วว่าเงินของตนยังอยู่ครบดีหรือไม่"
เทวัญทนายหนุ่มกล่าว
ความเสียหายมูลค่า 266 ล้านที่เกิดขึ้นกับลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งครั้งนี้
ใครจะกล้าแอ่นอกรับผิดชอบ นิตยาซึ่งอยู่ในคุกจะมีความรับผิดชอบออกมาเคลียร์ตามที่รับปากกับลูกค้าหรือ
หลายคนตั้งเป้าไปที่แบงก์กรุงเทพ ซึ่งคงต้องรอให้คดีมีผลตัดสิน ก่อนที่จะผลีผลามตัดสินใจใด
ๆ ไป
แต่ถึงวันนี้ แบงก์กรุงเทพขอซื้อเวลาและความรับผิดชอบไปก่อน !