Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2539
"นิตยา วิรัชพันธ์ ผู้เปิดฉาก "ไพรเวทแบงกิ้ง"             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย อนุสรา ทองอุไร
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
นิตยา วิรัชพันธุ์
Banking




ด้วยกลยุทธ์ง่าย ๆ "นิตยา วิรัชพันธุ์" สามารถฉ้อโกงแบงก์กรุงเทพมาได้เป็นเงินถึง 266 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เพียงแต่นิตยานั่งทำงานในส่วนที่ไม่ธรรมดา "ไพรเวทแบงกิ้ง" เป็นธุรกิจที่เป็นหน้าเป็นตาของแบงก์กรุงเทพและเป็นการันตีแห่งความน่าเชื่อถือในตัวนิตยา มาวันนี้นิตยาปิด "ธนาคารส่วนตัว" ของเธอพร้อมกับทำลายความน่าเชื่อถือของไพรเวทแบงกิ้งอย่างยับเยิน นิตยาเป็นใคร เธอทำได้อย่างไร เงินหายไปไหน? ตั๋วบี/อีปลอมระบาดไปแค่ไหน? อนาคตไพรเวทแบงกิ้งจะเป็นอย่างไร? และแบงก์กรุงเทพจะลอยตัวจากเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างนั้นหรือ? ไม่น่าเชื่อผู้หญิงตัวคนเดียวจะสั่นสะเทือนถนนสีลมได้ขนาดนี้!

นิตยา วิรัชพันธุ์ เป็นผู้หญิงที่ทำงานเก่ง มีความสามารถ เธอทำงานอยู่ในสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศอย่างธนาคารกรุงเทพฯ อยู่ในส่วนงานที่เป็นหน้าเป็นตาและทำรายได้มหาศาลให้กับแบงก์ นั่นคือ "ไพรเวทแบงกิ้ง" อีกทั้งเป็นพนักงานที่ได้รับความยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้านาย เธอมีโอกาสที่จะเติบโตและไต่เต้าไปข้างหน้า แต่เธอก็ย่อมมีข้อผิดพลาด

ความผิดพลาดประการเดียวของเธอคือ เข้าใจคำว่า "ไพรเวทแบงกิ้ง" ผิดไป เธอเข้าใจไปว่า "ไพรเวทแบงกิ้ง" คือ "ธนาคารส่วนตัว" ที่เป็น "ของเธอ" แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ธนาคารส่วนตัวของ "ลูกค้า"!

ความครึกโครมของชื่อ "นิตยา วิรัชพันธุ์" เริ่มขึ้นเมื่อมีข่าวระแคะคายไปปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่ามีการโกงเกิดขึ้นในไพรเวทแบงกิ้งที่ธนาคารกรุงเทพฯ ต่อมารูป และชื่อของเธอได้รับการตีพิมพ์ล้อมกรอบในหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่าเธอพ้นการเป็นพนักงานของธนาคารตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2538 ต่อมาไม่กี่วัน เธอก็ถูกจับกุมโดยกองงาน 2 กองบังคับการสืบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.)

นิตยา วิรัชพันธุ์ ในฐานะอดีตพนักงานลูกค้าอาวุโสฝ่ายผู้ชำนาญการ สายงานธนบดีธนกิจ (ไพรเวทแบงกิ้ง) ถูกจับเพราะฉ้อโกงลูกค้าไปไม่ต่ำกว่า 17 ราย โดยหลอกให้ลงทุนซื้อตั๋วบี/อีปลอม และได้เงินไปหมุนนอกระบบไม่ต่ำกว่า 266 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายใน 17 รายนี้มีรายใหญ่ 2 รายที่เสียหายมูลค่าเกินกว่า 50-80 ล้านบาท

คดีนี้ก็เหมือนคดีฉ้อโกงธรรมดา แบงก์กรุงเทพก็แจ้งจับนิตยาในข้อหา "ปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์อันเป็นตั๋วแลกเงินปลอม" เท่านั้น แต่เผอิญนิตยาทำงานอยู่ในส่วนไพรเวทแบงกิ้ง ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ธรรมดา

อีกทั้งตัวเอกและตัวประกอบของเรื่องนี้แต่ละท่านก็ล้วน "บิ๊ก ๆ" ทั้งนั้นนับแต่คนถูกโกงที่เป็นบุคคลในสังคมชั้นสูง แบงก์กรุงเทพที่เป็นผู้ริเริ่มไพรเวทแบงกิ้งเป็นรายแรก กับผลกระทบที่เกิดจากความหละหลวมในการตรวจสอบระบบไพรเวทแบงกิ้ง ที่ทำให้คนรวยบางคน "หนาว" ถึงกับสั่งแบงก์คอยรายงานพอร์ตลงทุนของตัวเองเป็นระยะเมื่อเกิดคดีฉ้อโกงด้วยตั๋วปลอมดังกล่าว

จับนิตยาเพียงคนเดียว แต่สั่นสะเทือนไปทั่วถนนสีลม!

ไพรเวทแบงกิ้งจากจินดาถึงนิตยา

บรรดาเศรษฐีเงินล้าน คหบดีมีอายุ คุณหญิง คุณนาย และนักธุรกิจชั้นสูงที่ร่ำรวยนับพันรายเหล่านี้ต่างก็เป็น "ลูกค้าเกียรติยศ" ของสายงานธนบดีธนกิจซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 20 แบงก์กรุงเทพ ซึ่งเป็นแบงก์ชั้นนำแห่งแรกที่ริเริ่ม โดยมีจินดา จรุงเจริญเวชช์ หรือ "พี่เตี้ย" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เป็นหัวเรือใหญ่สร้าง PROOFIT CENTER นี้ขึ้นมา

บนชั้น 20 ของแบงก์กรุงเทพ ที่ปูพรมหนานุ่มก้าวแรกที่ย่างเท้าออกจากลิฟท์ก็จะมียามต้อนรับอย่างสุภาพอ่อนน้อมและพาไปพบเจ้าหน้าที่ธนบดีธนกิจ ซึ่งหน้าตาสะสวยและบุคลิกดูมีระดับ ภายใต้บรรยากาศอันหรูหราของสถานที่อันทรงเกียรติ

"ลูกค้าคือบุคคลสำคัญสำหรับเรา เราขอยกย่องคุณเป็นบุคคลเกียรติยศของธนาคาร ขอเสนอบริการธนบดีธนกิจ (ไพรเวทแบงกิ้ง) เพื่อคุณ" สโลแกนอันชวนฝันของธนาคารที่เขียนไว้ในโบชัวร์บอกว่าอย่างนั้น

ยังจำได้ว่าเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่สายงานธนบดีธนกิจ บนชั้น 20 ของแบงก์กรุงเทพที่ลงทุนตกแต่งเกือบสิบล้านนั้นสุดหรู เป็นความภูมิอกภูมิใจของผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ จินดา จรุงเจริญเวชช์อย่างมาก ๆ ภาพพจน์เป็นผู้หญิงเก่งระดับไฮโซที่ฉับไวในการสนองตองความต้องการของตลาดคนรวยรายได้ถึงกึ๋น

ประวัติจินดา จรุงเจริญเวชช์หรือที่สังคมไฮโซและเพื่อนร่วมงานที่แบงก์เรียกอย่าง เป็นกันเองว่า "พี่เตี้ย" เป็นศิษย์เก่าคณะพณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ทำงานกับแบงก์กรุงเทพมานานร่วม 40 ปี รักการปลูกต้นไม้ใบหญ้า เป็นเจ้าของรีสอร์ท "แม่สาวัลเล่ย์" ที่จังหวัดเชียงใหม่

ตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 2531 จินดาประสบผลสำเร็จในการประยุกต์คอนเซปท์ไพรเวท์แบงกิ้งที่สถาบันการเงินเฉพาะอันเก่าแก่ และมีชื่อเสียงชั้นนำของโลกทำมานานมาใช้ เช่น ROYAL TRUST PIEROSN HIELDING LANDER BANK และ REPUBLIC NATIONAL BANK OF NEW YORK แม้กระทั่งแบงก์ชั้นนำที่มีเครือข่ายทั่วโลกอย่างซิตี้แบงก์ เชสแมนฮัตตันแบงก์และฮ่องกงแบงก์ก็มีธนบดีธนกิจนี้ด้วย

โครงสร้างสายงานธนบดีธนกิจที่จะบริการลูกค้าระดับวีไอพี จะแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายบริหาร และฝ่ายผู้ชำนาญการ ซึ่งนิตยาก็อยู่ในฝ่ายนี้ทำหน้าที่การตลาดสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างดี แล้วใช้ปากต่อปากดึงลูกค้าในแวดวงไฮโซผู้ร่ำรวยเข้ามา

บริการระดับ HYPER SERVICE ของไพรเวทแบงกิ้งในหลายบทบาท เป็นทั้งที่ปรึกษาบริหารการเงิน (FIANACIAL SERVICES) และเรื่องส่วนตัว (NON-FINANCIAL SERVICES) ให้อย่างจุใจที่เรียกว่า "เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว" (ONE STOP SERVICE) ไม่ว่าจะเปิดบัญชีเงินฝาก ฝาก-ถอน-โอนเงินให้ลูกหลานหรือญาติมิตรในต่างประเทศ ที่ปรึกษาซื้อขายหุ้น-หน่วยลงทุนหรือเงินตราต่างประเทศ ที่ปรึกษาการลงทุนตั้งบริษัทหรือร่วมลงทุน

หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวอย่างเช่นฝากลูกเรียนในโรงเรียนดัง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ้อขายอัญมณีเครื่องประดับที่บ่อยครั้งจะมีการจัดนิทรรศการแสดงเครื่องเพชรบนชั้น 20 ของแบงก์กรุงเทพ หรือถ้าลูกค้าจะให้จองตั๋วฟุตบอลโลกหรือฟังดนตรีที่ซัลบอร์ก ประเทศออสเตรีย เจ้าหน้าที่ไพรเวทแบงกิ้งก็จะสรรหาความพอใจมาสนองตอบให้อย่างเต็มที่ ยกเว้นขอดาวกับเดือนเท่านั้น

เงื่อนไขประการเดียวที่ไพรเวทแบงก์กิ้งต้องการก็คือ คนๆ นั้นจะต้องมีบัญชีเงินฝากไม่ต่ำกว่า
10 ล้านบาทขึ้นไป หรืออาจวัดความมั่งคั่งจากขนาดสินทรัพย์นับร้อยล้านโดยเงินฝากไม่ถึงก็ได้

เพียง 8 ปี สายธนบดีธนกิจของจินดาก็สามารถระดมเงินฝากได้ถึง 10,200 ล้านบาทจากฐานลูกค้ากว่า 1,100 ราย ซึ่ง 90% เป็นกลุ่มเศรษฐีไทยที่มีเงินฝาก 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่วน 10% เป็นลูกค้าชาวต่างประเทศ แบงก์กรุงเทพได้รายได้ค่าธรรมเนียมจากไพรเวทแบงกิ้งในปีที่แล้วถึง 205 ล้านบาท และตั้งเป้าโตปีละ 10%

นิตยา วัชรพันธุ์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพนักงานดีเด่นคนหนึ่งที่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ไพรเวทแบงกิ้งวางไว้คือ หาเงินฝากจนได้รับรางวัล ทำให้มีลูกค้าระดับเศรษฐีในพอร์ตที่ไว้วางใจให้นิตยาดูแลไม่ต่ำกว่า 40-50 ราย

นิตยาทำงานกับแบงก์กรุงเทพมานานเกือบ 30 ปี เคยเป็นลูกน้องจินดา ขณะอยู่ส่วนโอนเงินต่างประเทศก่อนย้ายมาทำที่ไพรเวทแบงกิ้งตั้งแต่เริ่มแรก ตามคำชวนของ "พี่เตี้ย" หรือจินดา จรุงเจริญเวชช์

ขณะที่คนอย่างจินดามีชาติตระกูลดีและร่ำรวยมาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับนิตยา คนที่พยายามถีบตัวเองเข้าสังคมไฮโซเป็นคนที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่ง

นิตยาเป็นชาวจันทบุรี นามสกุลเดิม "องค์เจริญ" มีน้องสาวชื่อ "ศศิธร ภูมิจิตร" หรือ "หน่อย" ซึ่งทำงานที่ธนบดีธนกิจและสมรสกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่กองตรวจคนเข้าเมือง

ชีวิตส่วนตัวของนิตยาเคยสมรสกับณัฐนาท วิรัชพันธุ์ ทายาทร้านขายเครื่องหมายเก่าแก่ย่านเสาชิงช้า "สุภาพรรณ" มีบุตรด้วยกัน 4 คนเป็นชาย 1 หญิง 3 สามคนแรกทำงานแล้ว ส่วนคนเล็กยังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ต่อมาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว นิตยาขณะอายุได้ 45 ได้หย่าร้างแยกกันอยู่กับสามีและได้รู้จักกับสุรพงษ์ ใจงาม หรือ "เสี่ยปุ้ม" นักธุรกิจหนุ่มที่อายุน้อยกว่านิตยาประมาณ 3 ปี ในงานเลี้ยงแขก วี.ไอ.พี. ของแบงก์กรุงเทพที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จากวันนั้นสุรพงษ์ยึดหม้ายไฮโซ นิตยาไว้ประดุจเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ในฐานะลูกค้าแบงก์กรุงเทพและเพื่อนผู้รู้ใจทุกอย่าง

นิตยาเคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่าสุรพงษ์และตนเองมี "องค์เทพ" ที่ประทับในร่างคู่กันมาแต่ชาติปางก่อนความเชื่อของนิตยาในเรื่องลี้ลับนี้ประจักษ์ชัดเมื่อครั้งหนึ่งคราวเกิดคดีอื้อฉาวของพระยันตระ นิตยาซึ่งเป็นหนึ่งในสานุศิษย์ถึงกับพาเลขานุการของพระยันตระมายืนยันความบริสุทธิ์กับเพื่อนพ้องสายงานธนบดีธนกิจ บนชั้น 20 ของแบงก์กรุงเทพทีเดียว

ความทะเยอทะยานของนิตยาที่มีปมจากสาวบ้านนอกที่แวดล้อมด้วยลูกท่านหลานเธอที่ถูกทาบทามเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่สายงานธนบดีธุรกิจ เป็นจุดหนึ่งของการก่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนิตยาหมุนเงินจากลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งบางส่วนไปเป็น "ธนาคารส่วนตัว" สร้างภาพเข้าวงสังคมชั้นสูง ซื้อรถเบนซ์คันหรูหราขับมาทำงาน เมื่อมีใครถาม นิตยาก็อ้างว่าเป็นเงินมรดกมารดาสามี

โดยไม่มีใครระแคะระคายที่มาของความร่ำรวยผิดปกติของนิตยาเลย

กลวิธีง่าย ๆ แต่สุดยอดความไว้ใจ

กระบวนการหมุนเงินนอกระบบของนิตยาที่ได้รับฉายา "เจ้าแม่ตั๋วบี/อี มหาภัย" เป็นไปในลักษณะมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ โดยอาศัยเวทเมนต์ของไพรเวทแบงเกอร์มืออาชีพ ที่ฉลาดพูดจาน่าเชื่อถือไว้วางใจว่าจะสร้างผลตอบแทนจุใจแก่ลูกค้า

วิธีการของนิตยามีหลักการที่ง่ายมากคือเมื่อนิตยาเสนอให้ลูกค้าซื้อ "ตั๋วบี/อี" เพราะอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงมากทุกเดือน ตั๋วแลกเงินดังกล่าวเป็นที่เข้าใจว่ามีแบงก์กรุงเทพการันตี แต่ปรากฏว่าเอกสารรับเงินชิ้นนั้น "ปลอม" เงินที่ลูกค้าฝากจะไม่ถึงมือแบงก์ แต่เข้าบัญชีส่วนตัวของนิตยาหรือผู้เกี่ยวข้องทันที

กลวิธีง่ายมาก ถ้าไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและความเป็นพนักงาน "ไพรเวทแบงกิ้ง" แทบจะทำไม่ได้เลย!

ขั้นแรก-นิตยาจะเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าเงินเย็น ที่มีบัญชีและหลักทรัพย์โฉนดที่ดินเก็บนอนนิ่งไว้ในตู้เซฟ ได้แก่คหบดีหรือข้าราชการชั้นสูงที่ปลดเกษียณแล้ว หรือคุณหญิงคุณนาย ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันสูงและเรียกใช้เฉพาะนิตยาได้ทุกเมื่อ เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ปั๊บ นิตยา ไปบริการถึงที่ปุ๊บและอ้างอำนาจทำการแทนแบงก์บริการลูกค้านอกสถานที่ประหนึ่ง "ธนาคารส่วนตัว" ของนิตยาที่บริการ ฝาก-ถอน-โอนเงิน โดยใช้รหัสที่ให้ลูกค้าโอนเงินเป็น PB (PRIVATE BANKING) ตามด้วยหมายเลข

ขั้นที่สอง-นิตยาในฐานะผู้ชำนาญการของไพรเวทแบงกิ้ง ได้เลือกปลอมสินค้าล่อในคือตราสารการเงินระยะสั้นอย่างตั๋วแลกเงิน (ตั๋วบี/อี) ที่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาบูมมาก ๆ เพราะง่ายต่อการออกตั๋วซึ่งถือว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อที่แบงก์ชาติไม่ได้เข้ามายุ่ง ที่สำคัญคือจูงใจลูกค้าด้วยผลตอบแทนสูงกว่าฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 15-18%

ในกรณีที่ตั๋วปลอมเป็นชื่อบริษัทอื่นนิตยาก็เอาต้นฉบับจริงมาแต่งเติมเพิ่มจำนวนเงินจาก 1 ล้านเป็น 10 ล้านแล้วนำไปถ่ายเอกสารประทับตราธนาคารลงไปและเซ็นชื่อของตนเองในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสลงไปกำกับ แล้วนำไปหลอกขายลูกค้า หากลูกค้าถามถึงต้นฉบับจริงก็หลอกว่าแบงก์จะให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษถ้าเก็บไว้กับแบงก์

ขั้นที่สาม-หลังจากนั้นเหยื่อที่เป็นลูกค้าเป้าหมายหลงเชื่อและเซ็นเช็คสั่งจ่าย PB 04459 P.B.07741 ซึ่งเหยื่อจะไม่ทราบและเข้าใจว่าเป็นรหัสของไพรเวทแบงกิ้งจากนั้นนิตยาและพวกจะออกหนังสือรับฝากตั๋วแลกเงินปลอมให้ลูกค้าถือไว้ การโกงนี้ถ้าถูกจับได้ นิตยาจะอ้างว่าโอนเงินผิดแล้วรีบหมุนเงินมาใช้คืนทันที

รหัส PB 04459 P.B.07741 กับชื่อ "สุรพงษ์ ใจงาม" มาจากไหน?

เงินส่วนใหญ่ที่นิตยานำมาจากลูกค้าส่วนใหญ่จะไปปล่อยกู้ให้กับ "โครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้" ที่มีสุรพงษ์ ใจงามเป็นเจ้าของในนามบริษัทปราณบุรี พรอพเพอร์ตี้ส จำกัด

นิตยาจึงเปรียบเสมือนธนาคารส่วนตัวหรือแหล่งระดมทุนต้นทุนต่ำให้แก่บริษัท ปราณบุรี พร็อพเพอร์ตี้ส์ อย่างสบายๆ

หากลูกค้าคนใดอยากดูโครงการที่กู้เงินของตนไป หรือลูกค้าคนใดไม่ค่อยเชื่อใจ นิตยากับสุรพงษ์ก็จะพาล่องเรือยอร์ชไปชมโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ที่ปราณบุรี รวมทั้งทั้งคู่ได้อ้างอิงถึงตัวบุคคลในวงสังคมชั้นสูงที่ลูกค้าเชื่อถือด้วย

นิตยา และสุรพงษ์เล็งเจาะเฉพาะคนที่คิดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองได้ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงกับชมรมมูลนิธิอนุรักษ์ และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มี น.อ. (พิเศษ) วีระยุทธ์ ดิษยะศรินเป็นประธาน เนื่องจากภายในโครงการมีสนามบินขนาดเล็กอยู่ด้วย

หรือเมื่อคราวชาตรี โสภณพานิชนำเรือยอท์ยาว 40 ฟุตมาจอดซ่อมที่ปราณบุรี ที่อู่ต่อเรือซิลค์ไลน์ของพลเรือโทบริสุทธิ์ จันทโนทัย สุรพงษ์และนิตยาก็ได้เชื้อเชิญให้ชาตรีล่องเรือเร็วชมทัศนียภาพของโครงการปราณบุรีซิตี้มารีน่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ทั้งหมดด้วย ซึ่งชาตรีก็ย่อมอยากจะมาชมเพราะที่ดินบางแปลงของโครงการจำนองไว้กับแบงก์มูลค่า 280 ล้านบาท

ขณะเดียวกันวิโรจน์ นวลแข ที่กำลังขมักขะเม้นกับโครงการ "ภัทรมารีน่ายอท์ชคลับ" ที่ปากน้ำปราณบุรี ก็เคยร่วมโต๊ะสนทนากินข้าวกับสุรพงษ์ฉันท์เพื่อนบ้านเรือนเคียง อีกทั้งสุรพงษ์ก็จำนองที่ดินบางส่วนกับภัทรธนกิจในมูลค่า 45 ล้านบาทด้วย

ปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ พยุงไว้ด้วยเงินจากนิตยา

จากความคืบหน้าของโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ซึ่งเป็นที่ผ่องถ่ายเงินจากนิตยา เชื่อกันว่าวงจร "ธนาคารส่วนตัว" ของนิตยาและพวกดูดเงินจากไพรเวทแบงกิ้งมานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี แม้ว่าส่วนหนี้ที่โผล่เป็นข่าวจะมี 266 ล้านบาท แต่คนวงในอ้างว่าอาจสูงถึง 500 ล้านบาท !

หลายคนไม่เชื่อว่า นิตยาจะกระทำเรื่องทั้งหมดโดยลำพัง โดยปราศจากการร่วมมือจากคนในแบงก์ด้วยกัน บางคนสงสัย ว่าจะมีเครือข่ายแอบแฝงในแบงก์กรุงเทพจัดตั้งเป็นกระบวนการแชร์ลูกโซ่อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้จัดการสาขาแบงก์ที่รู้ข้อมูลบัญชีของเศรษฐีที่มีเงินฝากระดับสิบล้านขึ้นไปจัดหาลูกค้าป้อนนิตยา ซึ่งจะตอบแทนด้วยรายได้คอมมิชชั่นเป็นล้านหรรือกินเปอร์เซนต์

หรือบ่อยครั้งในปีที่ผ่านมา ที่นิตยากับสุรพงษ์บินด้วยชั้นเฟิร์สคลาสไปสร้างสัมพันธ์แนบแน่นกับเศรษฐีไทยในอเมริกา และซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยใช้เครดิตเพื่อนเศรษฐีจ่ายไปก่อน แล้วตนเองจะโอนเงินจ่ายให้ภายหลัง โดยอ้างว่าเพื่อจะได้ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนอันงดงาม

ปีที่ผ่าน ๆ มานิตยาเป็นกำลังหลักการบริหารการเงินเข้า-ออกของโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ซึ่งเนรมิตขึ้นบนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นนากุ้งที่ชาวบ้านไม่คิดว่าจะขายได้ แต่สุรพงษ์ได้บินสำรวจถ่ายภาพกลางอากาศและเห็นว่าภูมิทัศน์นี้งดงามที่จะทำ "ปราณบุรี ซีตี้มารีน่า" ได้อย่างเหมาะสม จึงได้เริ่มยุทธการกว้านซื้อที่ดินราคาถูกแต่มาปั่นราคาให้จดจำนองแพงขึ้น โดยผ่านกลไกประเมินราคาของพนักงานสินเชื่อแบงก์และสำนักงานที่ดินที่เป็นพวกเดียวกัน

"นิตยาจะเซ็นเช็คไว้เป็นเล่ม และให้สุรพงษ์กรอกจำนวนเงินเพื่อเอาไปใช้มัดจำที่ดิน หรือหมุนเวียนในการก่อสร้างหรือซื้อของเอาไว้" คนใกล้ชิดนิตยาเล่าให้ฟัง

แต่ระบบแชร์เจ้าแม่ตั๋วบี/อีปลอมก็ไม่สามารถพยุงฐานะกิจการที่เต็มไปด้วยภาระหนี้สินมหาศาลที่ครบกำหนดจ่ายได้ทันการ เพราะนิตยาเจอปัญหารุมเร้าจากปัญหาความหวาดระแวงของลูกค้าตั๋วบี/อี ปลอม ขณะเดียวกันตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นมูลค่า 3 ล้านบาทที่สุรพงษ์ไปทำไว้กับภัทรธนกิจก็เริ่มถึงกำหนดชำระเงินกู้คืน เหตุนี้เองทำให้ปลายปีที่แล้วนิตยาจึงเจอปัญหาหมุนเงินไม่ทัน

หากจะดูลำดับภาระหนี้สินที่บริษัทปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้กู้ยืมจากสถาบันการเงินหลายแห่งนั้น จนนิตยาไม่สามารถหมุนเงินได้ทันนั้น มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 375 ล้านบาท

ลำดับภาระหนี้จากเฟสที่ 1 -เนื้อที่ ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งยังไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโครงการ 100 ไร่มูลค่า 75 ล้านบาท แต่โซน 2 ของที่ดิน 40 ไร่จดจำนองกับภัทรธนกิจได้เงินกู้มา 55 ล้านบาท ส่วนโซน 3 อยู่ในลักษณะโอนที่ดินให้คนอื่น 28 ไร่มูลค่า 20 ล้านบาท

"การจำนองที่ดินแปลงโฉนดที่ 11697-98 ดังกล่าวเพื่อประกันหนี้ตามสัญญาจำนองที่ลงวันที่ 12 มกราคม 2538 ทั้งนี้บริษัทปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ได้มีการขอเพิ่มวงเงินที่ได้จดจำนองไว้อีกจำนวน 45 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มเงินครั้งที่ 1 และเมื่อคิดเป็นเงินที่จำนองเป็นประกันจะมีมูลค่าทั้งหมด 55 ล้านบาท" แหล่งข่าวในภัทรธนกิจกล่าว

ภาระหนี้ในเฟสที่ 2-เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ แป็นที่ดินที่ยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์โครงการ 80 ไร่มูลค่า 85 ล้านบาท กับที่ดินอยู่ในลักษณะการโอนที่ดินให้ผู้อื่น 170 ไร่มูลค่า 35 ล้านบาท

ภาระหนี้เฟสที่ 3-เนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ มีภาระหนี้ในที่ดินที่ยังไม่ได้โอนจำนวน 30 ไร่มูลค่า 30 ล้านบาท

ภาระหนี้เฟสที่ 4-เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ติดจำนองประกันเงินกู้จากภัทรธนกิจจำนวน 50 ล้านบาท และอยู่ในลักษณะโอนที่ดินให้ผู้อื่นมูลค่า 25 ล้านบาท

นอกจากนี้ปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ยังมีภาระหนี้สินที่กู้ยืมจากแบงก์กรุงเทพอีก 280 ล้านบาทซึ่งกำหนดชำระคืนทั้งหมดในปี 2539 นี้ไม่รวมถึงหนี้ส่วนตัวที่กรรมการผู้จัดการอย่างสุรพงษ์ก่อไว้อีก 35 ล้านบาท

นิตยาคงฝันหวานตามแผนการดำเนินงานของโครงการที่สุรพงษ์คาดว่ารายได้จากการขายบ้านและที่ดินในโครงการประมาณ 300 ล้านบาทนั้นจะไหลเข้ามาช่วยได้ภายในเดือนมิถุนายน 2539 และอีกประมาณ 300 ล้านบาทจะเข้ามาภายในเดือนธันวาคมปีนี้

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่วาดหวังไว้ต้องพลอยล่มสลาย เมื่อนิตยาถูกจับ ไม่มีแผนอื่นรองรับโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้อีกต่อไป ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงด้วยเงินหมุนที่มาจากผู้หญิงคนเดียวที่ชื่อว่า "นิตยา วิรัชพันธุ์"


จุดจบของนิตยา วันปิดฉาก "ธนาคารส่วนตัว"

วันที่เกิดเหตุ 12 ธันวาคม 2538 จีรจิตต์ จำรัสโรมรัน ซึ่งเป็นลูกค้าในพอร์ตของนิตยา ได้ส่งโทรสารขอภาพถ่ายตั๋วแลกเงินเลขที่ 027500 จำนวนเงิน 10 ล้าน ออกโดยบริษัท เอส. พี. อินเตอร์เนชั่นแนล ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตั๋วแลกเงิน เพราะได้รับการบ่ายเบี่ยงจากนิตยาตลอด เมื่อจีรจิตต์ติดต่อขอขายตั๋วแลกเงินดังกล่าว

"ตลอดสองปีคุณริช (ชื่อเล่นจีรจิตต์) จะได้รับดอกเบี้ยมาตลอดตามกำหนด แต่ระยะหลังคุณริชต้องการเงินก้อนเอาไปใช้ จึงจะเอาตั๋วบี/อีปลอมนั้นมาขึ้นเงินที่แบงก์ เรื่องก็เลยแดงขึ้นมา" แหล่งข่าวกล่าว

จากจุดผิดสังเกตนี้เองที่กลายเป็นคราวซวยของนิตยา จีรจิตต์โทรมาขอขึ้นเงินวันนั้นนิตยาไม่อยู่ จินดาเป็นคนรับเรื่องเอง จึงรู้ว่าเป็นตั๋วปลอม โดยฉบับแท้จริงมีเงินเพียง 1 ล้านและแบงก์ได้ขายลดตั๋วนี้ไปแล้วกับลูกค้าที่ชื่อจรันจรัส ทัพพยุทธพิจารย์แล้ว

"ถ้าไม่มีเรื่องนี้แดงขึ้นมา เราก็ตรวจไม่เจอ เพราะเงินไม่เคยเข้าแบงก์เลย ถ้าหากว่าเงินเข้าแบงก์แล้ว นิตยาชักออกไปก็จะเจอ ปกติเราก็มีการตรวจสอบอยู่แล้วที่เขาทำได้นี้ เขาใช้ความสามารถส่วนตัวและเท่าที่เราดูพอถึงครบกำหนด เขาก็หาเงินให้เอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ย อย่างนี้เป็นลูกโซ่ไปเรื่อย" จินดา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายธนบดีธนกิจกล่าว

เรื่องนี้จบลงที่จีรจิตต์ได้รับการชดใช้เต็มจำนวนจากแบงก์กรุงเทพที่สามารถไล่เบี้ยกับนิตยาให้เอาเงินมาคืนจีรจิตต์ได้ครบ 10 ล้าน ซึ่งจีรจิตต์บอกว่าเรื่องได้เงินคืนนี้ถือเป็นเทคนิคเฉพาะตัว

"จริง ๆ แล้วดิฉันก็มีวิธีการของตัวเองที่จะไปเรียกร้องเงินคืนและมีทนายเก่งเรื่องก็เลยง่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นเชื่อว่าคุณนิตหมุนเงินไม่ทัน ถ้าเรื่องไม่แดงเสียก่อนเธอคงเอาเงินมาใช้ให้ แต่บางครั้งลูกค้าเองก็ไม่รอบคอบด้วย ไม่ได้ไปทำสัญญาที่แบงก์ เพราะเชื่อใจและคุ้นเคยกับคุณนิตมากเกินไป ส่วนตัวดิฉันเองนั้นไม่ได้จะฟ้องร้องคุณนิต แต่ให้เวลาไประยะหนึ่งจนเธอเคลียร์ปัญหาและหาเงินมาใช้ให้จนครบ ส่วนลูกค้ารายอื่น ๆ คงต้องรอเวลาแบงก์คงต้องหาทางออกให้ได้ ดิฉันเชื่ออย่างนั้น จีรจิตต์ จำรัสโรมรัน นักธุรกิจหญิงวัย 50 ที่มีสามีเป็นนายพลตำรวจเล่าให้ฟังอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

ในวันรุ่งขึ้นแบงก์กรุงเทพก็แจ้งความกับ สศก. แต่นิตยาหลบลี้ภัยไม่มาทำงานอีกเลย จนกระทั่งแบงก์ต้องประกาศให้สินบนนำจับ 3 แสนบาทและประกาศให้นิตยาพ้นสภาพพนักงาน ในที่สุดก็วางแผนจับตัวนิตยาได้ที่โรงแรมวงศ์อมาตย์พัทยา ขณะที่อยู่ห้องพักเดียวกับสุรพงษ์ ใจงามผู้อยู่เบื้องหลังนิตยา

"ธนาคารส่วนตัว" ของนิตยา วิรัชพันธุ์ปิดฉากลงในวันนั้นอย่างเป็นทางการ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us