เมื่อ กลุ่มตรีอรรถบูรณ์ ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกของไทยตัดสินใจร่วมทุนกับเพอร์สตอร์ปแห่งประเทศสวีเดน
ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของโลกแบบยกตลาดให้เลย งานนี้ต่างคนต่างได้
หรืออย่างไรกันแน่?
ตรีอรรถบูรณ์ เพอร์สตอร์ป คือบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนครั้งนี้ โดย บริษัท
ตรีอรรถบูรณ์ อุตสาหกรรม จำกัด ถือหุ้น 49% ที่เหลือ 51% ถือโดย เพอร์สตอร์ป
แห่งสวีเดน
เป้าหมายของการร่วมทุนครั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตและความเชี่ยวชาญด้านการตลาด เพื่อบุกตลาดในไทยและภูมิภาคเอเชีย
ความพร้อมและสมบูรณ์ด้านเทคโนโลยี แน่นอนว่าต้องมาจากการถ่ายทอดของเพอร์สตอร์ป
กว่า 115 ปีที่กลุ่มเพอร์สตอร์ป ได้ดำเนินธุรกิจมา และหลายทศวรรษมาแล้ว
ที่กลุ่มทุนแห่งนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลก ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทางด้านเคมีภัณฑ์
เช่น วัตถุดินเมลามีน, พลาสติก, ลามิเนทหรือแผ่นฟอร์ไมก้าและอีกหลายด้าน
ปัจจุบันนี้ เพอร์สตอร์ป ได้ขยายงานและกระจายการลงทุนไปยัง 25 ประเทศทั่วโลก
และผลประกอบการปีล่าสุด (ปี 2538) ของกลุ่มทุนแห่งนี้มีถึง 50,000 ล้านบาท
แม้ว่าจะเป็นกลุ่มทุนระดับโลก แต่ถ้ามองถึงภูมิภาคเอเชียแล้ว จนถึงวันนี้เพอร์สตอร์ปยังนับว่าใหม่อยู่มาก
ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าทวีปเอเชียจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ
แต่เพอร์สตอร์ป ก็ยังไม่ได้มุ่งเน้นการลงทุนมาที่นี่ ด้วยปัจจัยหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นการหาคู่ค้าที่เหมาะสม การรอเพื่อให้แน่ใจและความพร้อม จากผลประกอบการ
50,000 ล้านบาทในปีล่าสุดนั้น 70% มาจากยุโรป ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของเพอร์สตอร์ป
อีก 20% จากอเมริกา และที่เหลือ 10% จากเอเชียและภูมิภาคอื่นรวมกัน จากผลประกอบการนั้นเห็นชัดเจนว่า
ตลาดเอเชีย ยังเป็นส่วนน้อยนิดสำหรับ เพอร์สตอร์ป
ต่อเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ การตัดสินใจที่จะต้องเข้าสู่ตลาดเอเชีย ของเพอร์สตอร์ป
ได้บทสรุป การวางแนวทางเพื่อการรุกเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบจึงเริ่มต้นขึ้น
สองปีก่อน เพอร์สตอร์ป เข้าไปลงทุนในมาเลเซีย แต่ก็เพียงการลงทุนในลักษณะบริษัทการตลาดหรือสำนักงานการค้าเท่านั้น
โดยเน้นที่การจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่รับซื้อมาจากโรงงานในมาเลเซียนั่นเอง
ในครั้งแรก เพอร์สตอร์ป ก็ตั้งใจที่จะใช้มาเลเซียเป็นฐานที่มั่นแรกในเอเชีย
แต่จากสภาพการณ์หลายด้านที่ไม่เอื้ออำนวยไม่ว่าจะเป็นตลาดในมาเลเซียเอง หรือฐานธุรกิจของนักลงทุนท้องถิ่นที่มีอยู่
ในมาเลเซีย เพอร์สตอร์ป จึงหยุดบทบาทไว้เพียงแค่นั้น
สำหรับไทย ในเวลาใกล้เคียงกัน เพอร์สตอร์ป ได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มสยามสตีล
ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็ก และเฟอร์นิเจอร์ของไทย เพื่อตั้งโรงงานผลิตลามิเนทหรือแผ่นฟอร์ไมก้า
จากการร่วมทุนครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เพอร์สตอร์ป มองว่าไทยน่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุด
สำหรับใช้เป็นฐานที่มั่นหนึ่งในเอเชีย ของกลุ่มเพอร์สตอร์ป
"ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่เข้ามาลงทุนในไทย และครั้งนี้ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ
ที่จะกระจายการลงทุนรุกมายังเอเชีย เพอร์สตอร์ป นั้นใหญ่ที่สุดในอเมริกาและยุโรป
และวันนี้กำลังจะก้าวเป็นหนึ่งในเอเชียต่อไป" วีกิ้ง เฮ็นริกสัน ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกบริษัท
เพอร์สตอร์ป แห่งสวีเดน กล่าวอย่างมาดมั่น
ในอนาคตอันใกล้ เพอร์สตอร์ป จะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการทำตลาดและรายได้เสียใหม่
โดยหวังจากยุโรป 40% อเมริกาและอื่น ๆ 40% ที่เหลือ 20% เป็นการทำตลาดในเอเชียซึ่งสัดส่วนใหม่นี้
นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทีเดียว
จากการสร้างข่ายทางตลาดในมาเลเซีย จนถึงการลงทุนในไทย เพอร์สตอร์ป ไม่ได้หยุดนั้น
แผนระยะสั้นภายใน 3-5 ปีนี้ เพอร์สตอร์ป จะเข้าไปลงทุนในจีน เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกและตั้งบริษัทการค้าในฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ยังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการเข้าไปยังประเทศอินเดียด้วย
มองถึงเป้าหมายสำคัญของ เพอร์สตอร์ป ที่จะรุกเข้าสู่ตลาดเอเชียแล้วอาจเข้าใจได้ว่า
การร่วมทุนกับกลุ่มตรีอรรถบูรณ์ ครั้งนี้ไม่ได้มีสาระสำคัญมากไปกว่าการให้ตรีอรรถบูรณ์เป็นแค่ทางผ่าน
แต่แท้จริงนั้น ไม่ใช่เพราะกลุ่มตรีอรรถบูรณ์นั้นนับเป็นกลุ่มธุรกิจแห่งหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียอย่างมาก และมองถึงระดับเทคโนโลยีการผลิตแล้ว
ก็พร้อมที่จะพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ไม่ยาก
ประกอบกับแนวนโยบายของเพอร์สตอร์ป ที่ต้องการรุกสู่เอเชีย ด้วยการหาประเทศที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี
หานักลงทุนท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพียงพอ และเสริมในจุดที่เพอร์สตอร์ป ยังขาดอยู่
กลุ่มตรีอรรถบูรณ์ จึงเป็นตัวเลือกสำคัญสำหรับเพอรร์สอตร์ป ไม่ใช่เพียงตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น
"มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเป็นหนึ่งและรักษาความเป็นหนึ่งให้ได้"
วีกิ้ง กล่าว
"เพอร์สตอร์ป มีสินค้าจำนวนมากมาเสนอ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ตรีอรรถบูรณ์มีความชำนาญด้านการตลาดจึงน่าจะก้าวไปด้วยกัน"
ด๊าก เวสเตอร์ลันด์ กรรมการบริหาร บริษัท ตรีอรรถบูรณ์ เพอร์สตอร์ป กล่าว
วิบูลย์ ตรีอรรถบูรณ์ ประธานกลุ่มตรีอรรถบูรณ์ กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก
มากว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นรายใหญ่ของประเทศมีกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี
ส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 40% โดย 50% ของการผลิต บริษัทได้ทำการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศกว่า
60 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย บริษัทมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก
ความเชี่ยวชาญในตลาดเอเชียที่วิบูลย์กล่าวถึง ก็คือปัจจัยสำคัญที่เพอร์สตอร์ปตัดสินใจ
สำหรับ ตรีอรรถบูรณ์ เพอร์สตอร์ป ที่เกิดจากการร่วมทุนครั้งนี้ ในขั้นแรกจะใช้เงินลงทุน
300 ล้านบาท เพื่อการติดตั้งเครื่องฉีดพลาสติก ขนาดกลางและใหญ่ จำนวน 7 เครื่องซึ่งกำลังการผลิตสูงสุดจะอยู่ที่
12,000 ตันต่อปี เริ่มดำเนินการผลิตได้ปลายปีนี้ (2539)
โดยจะเป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ (CONTAINERS), กระบะรองรับสินค้าเพื่อการเคลื่อนย้าย
(PALLET) และถังขยะมูลฝอยขนาดต่าง ๆ (WASTE HANDNG) ทั้งนี้ในขั้นแรกจะเน้นการจำหน่ายในประเทศ
แต่หลังจาก 3 ปีไปแล้วคาดว่าจะสามารถส่งออกไปได้ 50% ของกำลังการผลิตที่น่าจะเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อยหนึ่งเท่าตัวจากช่วงแรก
ฉัตรชัย ตรีอรรถบูรณ์ รองประธานกลุ่มตรีอรรถบูรณ์และกรรมการบริหารบริษัท
ตรีอรรถบูรณ์ เพอร์สตอร์ป กล่าวว่า การร่วมทุนจะไม่ได้หยุดอยู่แค่อุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเท่านั้น
แต่อนาคตจะเพิ่มสายธุรกิจมากขึ้นเท่าที่เพอร์สตอร์ปจะสามารถถ่ายทอดให้ได้
ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา
"ที่สำคัญ บริษัท ตรีอรรถบูรณ์ เพอร์สตอร์ป แห่งนี้จะเป็นตัวหลักในการก้าวไปลงทุนในกิจการต่าง
ๆ ในสายเคมีภัณฑ์ที่เพอร์สตอร์ป จะรุกเข้ามาสู่เอเชีย หรือย่างน้อย ทางเพอร์สตอร์ปจะต้องเจรจากับเราก่อนว่าสนใจโครงการต่าง
ๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในจีนหรือที่อื่นในเอเชีย ตรงนี้มีการเจรจากันไว้แล้ว
ไม่เช่นนั้นเราคงเสียเปรียบเพราะการร่วมทุนครั้งนี้ดูเหมือนกับว่าเราให้ตลาดในส่วนของลังพลาสติกแก่เขาไป
แต่จริง ๆ แล้วเป็นการประสานประโยชน์มากกว่า คือการทำธุรกิจต้องเชื่อใจกัน"
ฉัตรชัย กล่าว