|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
 |

Iconoclasts เรื่องที่ 2 จากฝีมือกำกับของ Lenard Dorfman เป็นเรื่องของศิลปินร่วมสมัยชื่อดัง Jeff Koons โดยมีนักออกแบบแฟชั่นชื่อดัง Tom Ford เป็นผู้ดำเนินเรื่อง โดยเป็นเรื่องราวของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของ Tom Ford ที่ได้มาจากศิลปิน Jeff Koons
Tom Ford ชายหนุ่มที่ใช้เวลาในการนอนเพียงคืนละไม่กี่ชั่วโมง และข้างเตียงเขาต้องมีกระดาษโน้ตติดไว้ เผื่อเวลาที่ตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมด้วยไอเดียดีๆ จะได้บันทึกไว้กันลืม เขาได้รับการขนานนามให้เป็นอัจฉริยะ ผู้สร้างสรรค์ในการนำเสน่ห์ดึงดูดทางเพศและความงามมาสู่โลกของแฟชั่น เขาเป็นผู้ที่พลิกสถานภาพของบริษัทกระเป๋าเดินทาง Gucci ที่เกือบล้มละลาย มาสู่บริษัทแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่มูลค่าหลายพันล้านในปัจจุบัน จากความสมัครใจพร้อมรับมือกับความเสี่ยงทั้งในเรื่องของการออกแบบและการทำธุรกิจทำให้เขากลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่น และครอบครองรางวัลนับไม่ถ้วน
Ford เกิดที่เมือง Austin ในเทกซัส แต่ไปโตที่เมือง Santa Fe ใน New Mexico พอย่างเข้าวัยรุ่น เขาย้ายไปยังนิวยอร์ก เพื่อเข้าเรียนสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ New York University แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนใจมาเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมที่ Parson School of Design ในนิวยอร์ก และปารีส ในช่วงวัยเรียน เขาเริ่มชีวิตการเดินแบบและนักแสดง โฆษณาบนหน้าจอทีวี ซึ่งเขาเล่าว่า ในตอนนั้นเขาได้แรงบันดาลใจจาก Calvin Klein และ Halston
ในปี 1990 Ford เริ่มงานกับ Gucci ที่มิลาน ในตำแหน่งดีไซเนอร์เสื้อผ้าสตรี หลังจากเริ่มงานได้เพียง 2 ปี เขาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการการออกแบบ และอีก 2 ปีถัดมา เขาก้าวขึ้นเป็น Creative Director ที่ต้องรับผิดชอบการออกแบบของทุกสายผลิตภัณฑ์ของ Gucci ตั้งแต่เสื้อผ้าไปถึงน้ำหอม รวมทั้งภาพลักษณ์ของบริษัท แคมเปญโฆษณา และการตกแต่งร้าน ต่อมาหลังจากที่ Gucci Group เข้าซื้อกิจการของ Yves Saint Laurent และ YSL Beaute เมื่อปี 2000 เขาเข้ารับหน้าที่ Creative Director ที่ Yves Saint Laurent และ YSL Beaute อีกหน้าที่หนึ่งและถัดมาอีก 2 ปี เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานของ Gucci Group จากนั้นในปี 2004 ปีที่ Gucci ถูกเทกโอเวอร์โดย Pinault-Printemps-Redoute ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของยุโรป และเป็นปีที่ Ford อำลาจาก Gucci Group
ระยะเวลา 10 ปีที่ Ford ร่วมงานกับ Gucci เขาสร้างยอดขายให้กับ Gucci จากเดิมในปี 1994 ที่อยู่ที่ 230 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 3 พันล้านเหรียญในปี 2004 และทำให้ Gucci กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก
เรื่องทั้งหมดนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ หลังจากที่ Ford ลาจาก Gucci แต่เขากำลังเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์สำหรับบุรุษภายใต้แบรนด์ Tom Ford โดยมี Domenico De Sole พาร์ตเนอร์คู่ใจที่มาจาก Gucci ด้วยกัน รับหน้าที่เป็นประธาน ของ Tom Ford แบรนด์ใหม่ของตลาดหรู โดยจะเปิดตัวสาขาแรกที่ Madison Avenue ในนิวยอร์กต้อนรับฤดูกาลใบไม้ร่วง และล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วเขาจับมือกับเครื่องสำอาง Estee Lauder เอาใจสุภาพสตรีของเขาด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ชื่อ "Amber Nude" โดย สินค้ารุ่นแรกประกอบด้วยน้ำหอมกลิ่นใหม่ ชื่อ ว่า "Youth Dew Amber Nude" ซึ่งเขาได้ปรับกลิ่นจากน้ำหอม "Youth Dew" ของ Estee ให้มีกลิ่นผสมผสานกลิ่นดั้งเดิมและกลิ่นใหม่ที่นุ่มนวลเร่าร้อนเหมาะกับสาวน้อยร่วมสมัย นอกจากนั้น ยังมีเครื่องสำอางแต่งหน้าสไตล์ธรรมชาติที่คงความเรียบหรูไว้อย่างแนบเนียนอีกด้วย
Ford ประสบความสำเร็จในการช่วยเสริมแต่งฝันให้บุรุษและสตรีมาเป็นเวลานาน เขายังมีฝันของเขาที่อยากให้เป็นจริงคือ การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์...ฝันเขาจะเป็นจริงหรือไม่...แต่เขาไม่เคยละทิ้งแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากลายเป็น Tom Ford ในวันนี้
แรงบันดาลใจของเขาคือ Jeff Koons ศิลปินร่วมสมัยและประติมากรผู้มีชื่อเสียงในการสร้างศิลปะที่ไร้ค่า (Kitsch) ออกมาในรูปของประติมากรรมขนาดใหญ่เกินขนาด โดยเขามีชื่อเสียงในด้านการหยิบยืมผลงานของผู้อื่น มาสร้างใหม่เป็นของตนเอง (appropriation) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถึงอย่างไรผลงานของ Koons ยังคงติดอันดับ งานราคาสูงที่สุดรายหนึ่งของโลก
Jeff Koons เกิดที่เมือง York ใน Pennsylvania เขาเริ่มต้นเรียนการวาดรูปที่สถาบันศิลปะในชิคาโก (Art Institute of Chicago) และใน Maryland (Maryland Institute College of Art) หลังจากเรียนจบเขาเข้าทำงานเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นที่ตลาดหุ้น Wall Street ในนิวยอร์ก นานถึง 6 ปี ในขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างผลงานด้านศิลปะด้วย นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นตัวแทน อาวุโสให้แก่ The Museum of Modern Art อีกด้วย จากประสบการณ์ 2 สายงานที่แตกต่างกัน งานศิลป์ของ Koons จึงเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกธุรกิจและโลกแห่งจินตนาการเข้าไว้ด้วยกัน เขาเริ่มมีชื่อเสียงเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน
งานของ Koons ในช่วงแรกๆ เป็นในรูปแบบของ "conceptual sculpture"และผลงานที่สร้างชื่อให้เขามีชื่อชุดว่า "Equilibrium" หรือ "ดุลยภาพ" เมื่อปี 1985 เป็นผลงานที่ใช้ลูกบาสเกตบอลเป็นแกนหลักในการนำเสนอ เพื่อสะท้อน "ศิลปินผู้ใช้ศิลปะในการตบตาสังคม" ซึ่งงานนี้เขาเสียดสีงานโฆษณาของ Nike แบบไม่อ้อมค้อม จากนั้นในปีถัดมาเขาสร้างงานประติมากรรมโลหะรูปกระต่าย ชื่อว่า "Statuary" หรือ "รูปปั้น" ซึ่งเขาสมมุติให้เป็นตัวแทนของความเฟ้อฝัน จินตนาการของงานศิลปะ ตามมาด้วยในปี 1988 กับงานชุด "Banality" หรือ "ความน่าเบื่อ" ในงานชุดนี้มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่สร้างชื่อและสร้างเงินให้กับ Koons คืองานที่ชื่อว่า "Michael Jackson and Bubbles" ซึ่งถือเป็นงานเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดใน โลกในขณะนั้น โดยสร้างขนาดเท่าตัวจริง และมีผู้ประมูลด้วยราคาสูงถึง 5,600,000 เหรียญ
หลังจากแต่งงานกับดาวโป๊ชาวอิตาลี Koons เริ่มหลุดโลกมากขึ้น โดยผลงานในปี 1991 มีชื่อว่า "Made in Heaven" เป็นงานผสมระหว่างภาพเขียน ภาพถ่าย และประติมากรรม ที่แสดงภาพจริงของเขาและภรรยาแบบโจ่งแจ้ง ทำให้เกิดการถกเถียงมากขึ้นเกี่ยวกับงานของเขาที่ล่อแหลมไปในทางอนาจาร หรือเป็นเพียงแค่งานศิลปะชิ้นหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี เขาแยกทางกับภรรยา แต่เขายังเหลือลูกชายอีกหนึ่งคนที่ศาลสั่งให้เขาเป็นผู้ดูแลแต่เพียงผู้เดียว ผลงานชีวิตจริงชิ้นนี้ของ Koons ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เขายอมรับว่า เขาเกือบสูญเสียความเป็นมนุษย์ ทำให้ทุกวันนี้เขามีความรู้สึกรับผิดชอบในการสื่อสารและแบ่งปันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามจะใจกว้างให้มากเท่าที่จะมากได้ในฐานะของศิลปินคนหนึ่ง
ต่อมาในปี 1992 เขาได้รับมอบหมายให้ครีเอตผลงานหนึ่งชิ้นสำหรับงานแสดงศิลปะที่เมือง Bad Arolsen ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นที่มาของผลงาน "Puppy" เป็นการตัดแต่งพุ่มไม้ (topiary) ให้เป็นลูกสุนัขพันธุ์เทอเรียร์ขนาดสูง 13 เมตร และมีการตกแต่งด้วยดอกไม้นานาพรรณ และในปี 1995 "Puppy" ถูกรื้อและย้ายไปประกอบใหม่ที่ Sydney Harbor ในออสเตรเลีย จากนั้นมูลนิธิ Solomon R. Guggenheim ได้ซื้อไปตั้งที่หน้าพิพิธภัณฑ์ Guggenheim ในเมือง Bilbao ประเทศสเปน และล่าสุดเมื่อปี 2000 "Puppy" ถูกยืมมาแสดง ที่ Rockefeller Center เป็นการชั่วคราว
ปัจจุบัน Jeff Koons ได้รับเลือกเป็นสมาชิกใน The American Academy of Arts and Sciences หลังจากที่เขาผลิตผลงานศิลปะ ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนช่วยให้งานสมบูรณ์
แม้ว่าผลิตผลของ Tom Ford และ Jeff Koons จะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เขาทั้งสองเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะให้กับคนกลุ่มหนึ่งที่รักที่จะเสพงานศิลป์ของพวกเขา
|
|
 |
|
|