|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
|
ชาวไทยให้ความสำคัญแก่ "เสน่ห์ปลายจวัก" สาวไทยจำต้องเป็น "นางก้นครัว" ไปโดยปริยาย อาหารอร่อยสามารถมัดใจผู้ร่วมชีวิตให้กลับมาลิ้มรสมือแม่บ้าน หากหนุ่มไทยจำนวนไม่น้อยมักจะเบื่อ "น้ำพริกถ้วยเก่า" เสียก่อนและแสวงหารสใหม่ๆ "เสน่ห์ปลายจวัก" จึงใช่จะศักดิ์สิทธิ์เสมอไป
ร้านอาหารในเมืองไทยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อ่านพบว่าหนุ่มสาวไฮโซหันมาเรียนทำอาหารเพื่อเปิดร้านอาหารต่อไป ไม่ทราบว่ามีรสมือถึงขั้นหรือไม่ เพราะเชื่อว่า "คุณหนู" ทั้งหลายคงไม่ยอมยืนหน้ามันหน้าเตาในครัวเป็นแน่ และที่แน่ก็คือต้องจ้างแม่ครัวพ่อครัวที่จะเป็นหลักของร้าน
สาวไทยที่สมรสกับชาวฝรั่งเศสมักเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน จึงมองหาลู่ทางในการทำงาน และหากไม่สามารถเจาะเข้าระบบการทำงานที่แตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิงได้ จะมองหากิจกรรมอื่น สิ่งที่พูดกันเสมอคือการเปิดร้านอาหารหรือเปิดสปาที่มีการนวดแผนโบราณของไทย การยื่นคำร้องขอตั้งบริษัทหรือร้านนั้นไม่ยากอย่างที่คิด หากสิ่งที่ยากคือการยืม "จมูก" ผู้อื่นหายใจ ด้วยว่าต่างเคยชินกับการทำงานในออฟฟิศ ใช้ความรู้ที่ศึกษามา การทำร้านอาหารจำต้องหาผู้ร่วมงานมาเป็นแม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ พนักงานล้างจาน สิ่งที่ต้องดูแลเองคือการจัดซื้อและการเงิน มิฉะนั้นจะเกิดการรั่วไหลแถมการทำงานไม่เป็นเวลา กว่าจะปิดร้านอาหารก็ค่ำมืดดึกดื่น อาจก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้
ในทำนองเดียวกัน การทำสปาจำต้องยืม "จมูก" ผู้อื่นหายใจเช่นกัน ไหนจะต้องมีหมอนวด จะนำเข้าอย่างถูกกฎหมายได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสมีกฎเกณฑ์เข้มงวด ไม่ยอมออกวีซ่าแก่ผู้ต้องการมาทำงาน หมอนวดในกรุงปารีสจึงล้วนแต่อยู่อย่างผิดกฎหมาย เพราะหลังจากเดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมายแล้ว จะหลบๆ ซ่อนๆ หลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายที่จะเป็นเหตุให้ถูกจับกุมและส่งตัวกลับในที่สุด ร้านนวดในกรุงปารีสเกือบทั้งหมด จึงไม่ "โปร่งใส" นัก ยิ่งกว่านั้นหากนวดผิดท่า ทำให้ลูกค้าเกิดอาการผิดปกติเจ็บปวดแล้ว เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง
ยิ่งเรียนสูง ยิ่งรู้มาก จึงไม่อยากเสี่ยงทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะจะพลอยทำให้คนข้างเคียงเสียหายไปด้วย จึงเห็นเงื้อง่าอยู่นั่นแล้ว
ชมสารคดีทางโทรทัศน์ พบ "กระแส" ใหม่ในสังคมฝรั่งเศสคือการ เรียนทำอาหาร ไม่ได้หมายที่จะนำไปประกอบอาชีพ แต่เพื่อตนเองที่ชอบทำอาหารเป็นทุนเดิม และเพื่อปรุงอาหารรับรองญาติมิตร ที่น่าสนใจคือผู้ที่ฝึกปรือวิทยายุทธ์นั้นเป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงานที่ให้ความสำคัญแก่ "เสน่ห์ปลายจวัก"
ผู้ประกอบอาชีพนี้มีหลายคนด้วยกัน หนุ่มหนึ่งจัดสอนที่บ้าน สอนทำอาหารหนึ่งมื้อที่มีหลายจานด้วยกัน นับตั้งแต่ entree อาหารจานหลักและเครื่องเคียง สลัดและของหวาน เมื่อทำเสร็จแล้ว "ครู" และ "ลูกศิษย์" รับประทานอาหารมื้อนั้นด้วยกัน อีกหนุ่มหนึ่งเปิดร้านสอนเป็นกิจจะลักษณะ พร้อมกับขายเครื่องมือ "พิเศษ" ที่ใช้ในการเรียนทำอาหารด้วย
สารคดีนำเสนอการดำรงชีวิตของ "ลูกศิษย์" บางคน สาวหนึ่งเชิญเพื่อนมารับประทานอาหารค่ำ หนึ่งในแขกรับเชิญคือเพื่อนชายที่ร่วมเรียนการทำอาหารและพูดคุยกันถูกคอ โดยหวังจะมีการสานต่อ หากก็ไม่มี สิ่งที่เห็นคือการประกอบอาหารที่ละเมียดละไม
อันที่จริง โรงเรียนที่สอนการทำอาหารมีอยู่หลายแห่งเช่น Ecole Ritz Escoffier ย่านปลาซ เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) นักเรียนจะเป็นมือสมัครเล่นที่ขอมาเรียนการปรุงอาหารกับเชฟที่มีดาวประดับ จะใช้เวลาครึ่งวันหรือเต็มวันขึ้นอยู่กับมื้ออาหารและสนนราคาที่ต้องจ่าย มือสมัครเล่นเหล่านี้มาสมัครเองบ้างด้วยต้องการปรุงอาหารรสเลิศให้แฟนได้ลิ้มรส บ้างก็มาเพราะภรรยาซื้อคอร์สให้สามีมาเข้าเรียนเพื่อที่จะได้มีงานอดิเรกทำหลังเกษียณ
ผู้บริหารของโรงเรียน Ritz Escoffier กล่าวว่าการเรียนทำอาหารกลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว แต่ละปีโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนนับพันคน ในปี 2005 ผู้ที่สมัครเรียนเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์
เฟรเดริก เชส์โน (Frederic Chesneau) ผู้ก่อตั้ง Atelier de Fred โรงเรียนสอนทำอาหารอีกแห่งหนึ่ง สังเกตว่าคุณแม่ทั้งหลายในยุคทศวรรษ 1960 ไม่ได้ถ่ายทอดวิทยายุทธ์และสูตรพิเศษของครอบครัวไว้ให้ลูกหลาน นักเรียนของ Atelier de Fred ส่วนใหญ่อายุประมาณ 30 ปี ล้วนตื่นตระหนกที่ต้องตระเตรียมมื้ออาหารสำหรับรับแขก จึงมาสมัครเรียนฝึกวิทยายุทธ์
การสอนทำอาหารเริ่มแพร่หลาย จำนวนไม่น้อยต้องการฝึกปรือกับเชฟชื่อดัง ค่าเล่าเรียนจึงแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังในกรณีของอแลง ดูกาส (Alain Ducasse) ซึ่งสอนทำอาหารและขนมทั้งวันราคา 290 ยูโร หากเรียนเฉพาะช่วงเย็น 145 ยูโร ส่วนปอล โบกุส (Paul Bocuse) แห่งเมืองลิอง (Lyon) สอนเคล็ดลับในการปรุงอาหาร 175 ยูโรสำหรับทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสมัครแล้วจะได้เรียนทันที ด้วยว่ามีผู้สมัครจำนวนมาก จึงต้องรอเรียกตัว ดังในกรณีการสอนวิธีทำ foie gras ของ Ritz
Escoffier นั้นต้องสมัครล่วงหน้าเป็นเวลาหนึ่งปี นอกจากนั้น Ritz Escoffier ยังเสนอโครงการสอนพนักงานบริษัทหลังเลิกงาน นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1988 Ritz Escoffier มีแต่ได้กำไร
Atelier des chefs des freres Bergerault สอนทำอาหารที่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไป แทนที่จะใช้เนื้อกระต่าย ก็ใช้เนื้อที่ราคาย่อมเยากว่าสำหรับการปรุงอาหารสูตรเดียวกัน ผู้สนใจไม่ต้องใช้เวลาทั้งวัน เพราะสามารถเรียนช่วงเวลาพักอาหารกลางวัน ค่าเล่าเรียน 30 นาทีเป็นเงินเพียง 15 ยูโร นิโกลาส์ แบร์เจอโรต์ (Nicolas Bergerault) จบการศึกษาจากโรงเรียนพาณิชย์ชั้นสูง เคยทำงานกับ L'Oreal และ Nestle ส่วนพี่ชายคือฟรองซัวส์ (Fran"ois) เคยตั้งบริษัทที่ปรึกษามาก่อน และแล้วเมื่อกลางปี 2004 พี่น้องสองหนุ่มร่วมลงทุน 400,000 ยูโร เพื่อตั้งโรงเรียนสอนทำอาหาร สามารถรับนักเรียนได้ครั้งละ 20 คน โดยมีสัญญากับ Nestle ว่าจะใช้ผงช็อกโกแลตของ Nestle เพื่อทำขนมเท่านั้น กิจการดำเนินไปด้วยดี เพียงแค่ปีเดียว สองพี่น้องได้ทุนคืนแล้ว และตั้งเป้าที่จะเปิดสาขาในเมืองมาร์แซยและลิอง
|
|
|
|
|