|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
|
การผลิดอกเบ่งบานของซากุระ อาจเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สิ่งใหม่ๆ ในสังคมญี่ปุ่น แต่สำหรับ Baby boomer generation การเบ่งบานของดอกซากุระในปีนี้ กำลังเป็นประหนึ่งสัญญาณของการนับถอยหลังเข้าสู่การเกษียณอายุ และการค้นหาคุณค่าใหม่ๆ สำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่
พวกเขาเกิดและเติบโตขึ้นในช่วงเวลา แห่งความยากลำบากที่สาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมญี่ปุ่น ด้วยสถานะของประเทศผู้แพ้สงคราม ท่ามกลางซากปรักหักพังจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สิ้นสุดลงในปี 1945 พร้อมกับภาวะจำยอมที่ต้องถูกลิดรอน เอกราชและถูกครอบครองดินแดนจากกองกำลังต่างชาติ ก่อนที่สถานการณ์แห่งความทุกข์ลำเค็ญจะคลี่คลายอย่างช้าๆ ในเวลาต่อมา
กลุ่มประชากรที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ Baby boomers ของญี่ปุ่นนี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นระหว่างปี 1947-1949 ด้วยปริมาณ การเกิดเฉลี่ยที่มีมากถึง 2.7 ล้านคนต่อปี และทำให้ประชากรที่มีจำนวนรวมมากกว่า 7 ล้านคนดังกล่าว กลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 5 ของประชากร ญี่ปุ่นทั้งประเทศจากการสำรวจเมื่อปี 2004 ที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 8 ในตลาดแรงงานญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ห้วงเวลาแห่งความทุกข์ลำเค็ญในวัยเยาว์ของเหล่า Baby boomers ถูกทดแทนด้วยนวัตกรรมร่วมสมัยจำนวนมากมายที่หลั่งไหลเข้ามารองรับการเติบโตและอำนวยความสะดวก ควบคู่กับความพยายามฟื้นฟูบูรณะประเทศที่เริ่มก่อรูปขึ้นในเขตหัวเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาภาคบังคับ ที่เริ่มมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่เมื่อปี 1947 ซึ่งเปิดโอกาสให้ Baby boomers ในช่วงประถมวัยได้มีโอกาสในการศึกษา
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น Baby boomers จำนวนไม่น้อยได้ผนวกผสานเข้ากับแรงงานและคนหนุ่มสาวจากเขตชนบทห่างไกล เพื่อเข้าแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์สามัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางของทศวรรษ 1960 จากกระแสธารของการย้ายถิ่นที่ไหลบ่าโดยเหล่า Baby boomers นี้
ในช่วงวัยดังกล่าว พวกเขาได้ประจักษ์ถึงความจำเริญเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนเป็นรูปธรรมผ่านทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1964 (Tokyo Olympic 1964) และการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง Tokaido Shinkansen ในปีเดียวกัน รวมทั้งเครือข่ายของระบบทางด่วนที่ล้วนก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาดังกล่าวด้วย
กระนั้นก็ดี ความจำเริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาดังกล่าว มิได้หมายถึงโอกาสของชีวิตสดใส ที่ล่องลอยท่ามกลางสุญญากาศและรอคอยการหยิบฉวยอย่างไร้แรงเสียดทาน หากหมายถึงการแข่งขันอย่างหนักหน่วงในทุกมิติ ซึ่งต้องเรียกร้องศักยภาพส่วนบุคคลอย่างที่ไม่มีคนรุ่นใดของญี่ปุ่นต้องประสบมาก่อน
กับดักของ "การแพ้คัดออก" ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าในฐานะของการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ซึ่งได้รับการกล่าวขานถึงประหนึ่ง examination hell กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประชากรในกลุ่ม Baby boomers มีทัศนะที่มุ่งแสวงหาความเป็นเลิศและการแข่งขันอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ "ผ่านเกิด" หรือถูก "คัดออก" ก็ตาม
เมื่อ Baby boomers ข้ามพ้นจากระบบการศึกษา ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาได้นำพาทัศนะของการแข่งขันและการแสวงหาความเป็นเลิศเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งกรณีดังกล่าวได้กลายเป็นจักรกลสำคัญที่เร่งเร้าให้เกิดความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับนานาชาติในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1970-1980 และดำเนินไปท่ามกลางพลังการผลิตที่มี Baby boomers เป็นแกนกลางประหนึ่งกระดูกสันหลังนี้ ส่งผลให้ Baby boomers กลายเป็นฐานของผู้บริโภคที่เปี่ยมด้วยกำลังซื้อขนาดใหญ่ ที่พร้อมจะเสริมสถานภาพทางสังคม ด้วยสินค้าเชิงสัญลักษณ์ของความทันสมัยและมีรสนิยมวิไลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยกระแสความนิยมในแฟชั่นล้ำสมัยหลากหลายสะท้อนออกเป็นวัตรปฏิบัติของ Baby boomers ไม่ขาดสาย
บทบาทของ Baby boomers ในกรณีดังกล่าว ผนวกกับสถานะของการเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม ส่งผลให้ Baby boomers เป็นประหนึ่ง change agent ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นอย่างไม่อาจเลี่ยง และได้รับการกล่าวถึงในฐานะ nodular generation (Dankai no Sedai) ที่ได้ผลิตสร้างรูปการณ์จิตสำนึกร่วมสมัยที่เชื่อมโยงสังคมญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามเข้ากับกระแสสังคมระดับนานาชาติด้วย
ประพฤติกรรมของ Baby boomers ญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา จึงมีสภาพไม่ต่างจากการเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก และเป็นตัวแบบของบรรทัดฐานที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมญี่ปุ่นได้อย่างเด่นชัด โดยในหลายกรณีปรากฏการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นแรงบีบอัดที่กดทับสู่คนรุ่นหลังไปโดยปริยาย ท่ามกลางการเปรียบเทียบทั้งในเชิงกระบวนการและผลแห่งความสำเร็จที่ Baby boomers ได้ผลิตสร้างขึ้นในอดีต
แม้ว่า Baby boomers จะเป็นกลไกสำคัญที่เกื้อหนุนพัฒนาการของสังคมญี่ปุ่นมาอย่างเนิ่นนาน แต่สถานะของ baby boomers กลับตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญี่ปุ่นต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่ง Baby boomers จำนวนมากถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนงานหรือแม้กระทั่งการออกจากงานด้วยมาตรการเกษียณอายุก่อนเวลา (early retirement) และการปลดออก (lay-off) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายและแปลกแยกจากค่านิยมว่าด้วยการจ้างงานตลอดชีพ (lifetime employment) ที่พวกเขาคุ้นชินอย่างมาก
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ช่วงอายุในวัย 50 ปี ของบรรดา Baby boomers ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต หลังจากที่พวกเขาได้ลงแรงทำงานอย่างหนักเพื่อให้เติบโตและก้าวหน้ามาสู่การเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร มีสภาพไม่ต่างไปจากฝันร้ายที่คุกคามความเชื่อมั่นศรัทธาที่พวกเขาเคยมี ซึ่งผลจากกรณีดังกล่าวทำให้ Baby boomers บางส่วนถูกกล่าวถึงด้วยถ้อยคำปรามาสรุนแรงในฐานะ deadwood ที่เป็นภาระของสังคม
การเคลื่อนเข้าสู่วัยเกษียณอายุของ Baby boomers ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2007 ในด้านหนึ่งอาจสะท้อนภาระหนักของสังคม เมื่อเป็นที่คาดการณ์ว่าเงินอุดหนุนที่พวกเขาจะได้รับจากการเกษียณอายุนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านล้านเยน (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท)
แต่ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวกำลังเปิดเผยให้เห็นศักยภาพอีกด้านหนึ่งของ Baby boomers เพราะนอกจากพวกเขาจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหญ่ของผู้ผลิตสินค้า และบริการหลากหลายแล้ว ด้วยเงินออมและเวลาที่มีอยู่อย่างล้นเหลือหลังการเกษียณอายุ Baby boomers ในวัย 60 ดูเหมือนจะพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างคุณค่าและมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น
แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะผ่านประสบการณ์ และเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุมานานกว่า 3 ทศวรรษ แต่การเกษียณอายุของ Baby boomers นับจากนี้ อาจนำไปสู่การสร้างกระแสวัฒนธรรมใหม่ เป็นวัฒนธรรมของผู้ใหญ่วัยเกษียณที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|