ขึ้นชื่อว่ากีฬา การแพ้ชนะย่อมเป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่ทีมชาติญี่ปุ่นยังไม่ได้เหรียญใดเลยตลอด 14 วันที่ผ่านมาในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 20 นี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ทั้งที่มีเจ้าของสถิติโลก Speed Skating 500 m. ชายอย่าง Joji Kato รวมอยู่ด้วย แม้กระนั้นก็ตามเสียงเชียร์ที่ส่งไปให้ทัพนักกีฬาญี่ปุ่นช่วง 3 วันสุดท้ายใน Torino 2006 Olympic กลับดังมากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในการแข่งขัน Lady's Figure Skating
จากผลการแข่งขันในรอบ Short Programme (SP) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2006 ปรากฏว่า Sasha Cohen จากอเมริกามีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 66.73 คะแนน ตามด้วย Irina Slutskaya (รัสเซีย) 66.70 คะแนน, Shizuka Arakawa (ญี่ปุ่น) 66.02 คะแนน และ Fumie Suguri (ญี่ปุ่น) 61.75 คะแนน ซึ่งคะแนนในรอบนี้จะนำไปรวมกับคะแนนการแข่งขันในรอบสุดท้าย Free Skating
นั่นหมายความว่าโอกาสที่ญี่ปุ่นจะคว้าเหรียญมาได้อย่างน้อย 1 เหรียญ ไม่ใช่แค่ความฝันที่ไกลเกินเอื้อม ดังนั้น เช้าตรู่กลางฤดูหนาวของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ (ตามเวลาในญี่ปุ่น) มีคนค่อนประเทศที่ผละจากผ้าห่มอุ่นตื่นมานั่งลุ้นอยู่หน้าจอโทรทัศน์กันถ้วนหน้า
ลำดับการแข่งขันในรอบ Free Skating จัดขึ้นสอดคล้องกับผลคะแนนจากรอบ SP ซึ่งนักกีฬาที่ถูกจับตามองและน่าจะมีโอกาสได้เหรียญมากที่สุด 4 คนดังกล่าว มีลำดับการแสดงคือ Sasha Cohen (อเมริกา), Shizuka Arakawa (ญี่ปุ่น), Fumie Suguri (ญี่ปุ่น) และ Irina Slutskaya (รัสเซีย) ตามลำดับ
Sasha Cohen ซึ่งมีดีกรีเป็นแชมป์อเมริกาคนล่าสุด ดูเหมือนจะออกอาการตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ warm up 6 นาทีก่อนการแข่งขัน การซ้อมกระโดดหมุนตัวซึ่งพลาดล้มทั้ง 2 ครั้ง แต่เธอก็เชื่อมั่นว่าเธอจะทำได้ดีในการแสดงจริง
แต่แล้วความผิดพลาดก็เกิดเพียง 15 วินาทีแรกของธีม Romeo & Juliet ที่เธอล้มจากการกระโดด Triple Lutz เป็นวินาทีที่ทลายฝันในการเป็นเจ้าเหรียญทอง Lady's Figure Skating ติดต่อกัน 3 สมัยของชาวอเมริกันลง
อย่างไรก็ตาม the show must go on แต่เธอก็พลาดล้มอีกจากการกระโดด combination ครั้งที่ 2 ซึ่งคราวนี้มือทั้งสองข้างของเธอถึงกับเท้าลงบนพื้นน้ำแข็งเพื่อช่วยพยุงตัวขึ้นมาอีกครั้ง เธอได้ให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันว่า "ฉันไม่ได้หวังเหรียญใดอีกเลยจากความผิดพลาดซ้ำในครั้งที่ 2" กระนั้นก็ดี Cohen ได้คะแนน รวม 116.63 คะแนน (ถูกติดลบคะแนนความผิดพลาดไปเพียง 1 คะแนน) แต่เธอขึ้นมานำอยู่ในอันดับที่ 1 ในขณะนั้น
ถัดจากนั้นเป็นการแสดงของ Shizuka Arakawa เป็นที่ทราบกันดีว่าการกระโดดหมุน combination 3 รอบต่อกัน 2 ครั้ง เป็นท่าที่จะมีคะแนนพิเศษซึ่งนำไปสู่เหรียญทองและแน่นอนว่าท่านี้ถูกบรรจุในโปรแกรมการแสดงของเธอในการกระโดดครั้งแรก แต่แล้วเธอกลับกระโดดหมุน Triple Salchow ตามด้วย Double Toe Loop แทนที่จะเป็น Triple อย่างที่ซ้อมมาซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้ชมอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะพิธีกรที่กำลังพากย์สดในรายการ
ไม้ตายที่ใช้เรียกคะแนนเต็มได้จากความสมบูรณ์ของท่า Ina Bauer ซึ่งผสมเข้ากับเอกลักษณ์ของเธอเอง อีกทั้งลีลา step เท้าและการหมุนตัวที่พลิ้วไหวเป็นธรรมชาติเข้ากับอารมณ์เพลงอยู่บนลานน้ำแข็งตลอด 4 นาที เป็น "Clean Performance" ที่จบลงด้วยคะแนนรวม 125.32 แซง Cohen ขึ้นมาเป็นอันดับ 1
Arakawa ได้ให้สัมภาษณ์หลังจบการแสดงถึงเหตุผลในการเปลี่ยนท่ากระโดด combination ไว้ว่า "ในจังหวะการหมุนครั้งแรกนั้นไม่สมดุลกับการหมุน 3 รอบในครั้งที่ 2 ถ้าฝืนหมุนตามที่ซ้อมมาอาจเสี่ยงต่อการล้มและไม่เข้ากับจังหวะของเพลง Turaudot (เป็นเพลงที่เธอชอบมากที่สุด) ซึ่งเธอจดจำโน้ตทุกตัวของเพลงได้และช่วยให้การแสดงออกมาจากใจและความรู้สึก" ดังนั้นเธอจึงเลือกที่จะลดคะแนนลงดีกว่ามีคะแนนติดลบจากการพลาดล้ม
Fumie Suguri เป็นอีกคนหนึ่งที่จบลงด้วย "Clean Performance" ถึงแม้ combination ของเธอไม่สามารถเรียกคะแนนเต็มได้แต่เธอคือ skater ที่หมุนตัวต่อเนื่องได้เร็วและสมบูรณ์แบบที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ ด้วยคะแนนที่ห่างจากอันดับ 1 อยู่ 5 คะแนน ในรอบ SP ทำให้คะแนนรวมของ Suguri อยู่ในอันดับ 3 ที่ระดับ 113.48 คะแนน
การแสดงเป็นคนสุดท้ายของแชมป์ยุโรปอย่าง Irina Slutskaya จะเป็นการชี้ชะตาเหรียญโอลิมปิกในครั้งนี้ ซึ่งการแสดงของเธอไปได้สวยหากไม่มีความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวจากการกระโดด Triple Loop ในช่วงกลางของการแข่งขัน ซึ่งทำให้เธอมีคะแนนติดลบ 1 คะแนนและการที่ไม่มี combination jump ทำให้คะแนนรวมของเธอลดลงมาที่ 114.74 คะแนนแซง Suguri ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3
จากสัมภาษณ์ของ Slutskaya เธอรู้สึกเสียใจกับการผิดพลาดดังกล่าวทั้งที่ Triple Loop เป็นเรื่องง่ายที่ไม่เคยมีปัญหาสำหรับเธอเลย
แน่นอนแล้วว่าเหรียญทองเป็นของ Shizuka Arakawa ซึ่งทำคะแนนทิ้งห่างเพื่อนร่วมชาติและคู่แข่งต่างชาติกว่า 9 คะแนน หากพิจารณาคะแนนของอันดับ 2, 3, 4 ที่ไล่เลี่ยกันไม่ถึง 1 คะแนนนี้ John W. Emerson ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางสถิติจาก Yale University ได้วิเคราะห์ถึงระบบการคิดคะแนนแบบใหม่ (http://skatefair.com) ที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้นั้นอาจจะช่วยแก้ปัญหาการตัดสินคะแนนด้วยความลำเอียงและคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นข่าวคาวในโอลิมปิกฤดูหนาวคราวก่อนที่ Salt Lake 2002 แต่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่นักกีฬา
ระบบการคิดคะแนนแบบใหม่ของ International Skating Union (ISU) จะใช้คอมพิวเตอร์เลือกสุ่มคะแนนมา 9 ตัวอย่าง จากกรรมการซึ่งไม่เปิดเผยชื่อและสัญชาติ 12 คน ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบของผลคะแนนทั้งหมด 220 แบบ ในจำนวนนี้มีเพียง 50 แบบ ที่ให้ผลการตัดสินออกมาเหมือนกันในขณะที่อีก 170 แบบ จะทำให้เกิดผลคะแนนที่ต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น 1 ใน 170 รูปแบบ อาจเป็นไปได้ว่าคะแนนรวมของ Slutskaya> Suguri>Cohen ซึ่งจะทำให้ผลการตัดสินเหรียญรางวัลนั้นต่างไปโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นความไม่แน่นอนสูงที่เข้ามาเกี่ยวข้องนี้ทำให้คำตัดสินเป็นเหมือนการหมุนวงล้อเลขหมายลอตเตอรี่ ซึ่ง Cohen ได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า "It was a nice surprise!!"
ประเด็นอยู่ที่ว่าการพึ่งผลคะแนนจากการสุ่มตัวอย่างของคอมพิวเตอร์ล้วนๆ นั้น จริงอยู่ว่าอาจเป็นวิธีที่ลดปัญหาการฉ้อฉลเหรียญรางวัลได้แต่เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดแล้วหรือไม่?
ในกรณีของนักกีฬาซึ่งได้เหรียญเงินที่มีความผิดพลาด 2 ครั้ง (ติดลบ 1 คะแนน) ในขณะที่คนที่ได้เหรียญทองแดงผิดพลาดเพียงครั้งเดียวและติดลบ 1 คะแนนเท่ากัน หรือแม้กระทั่งผู้แข่งขันที่ได้อันดับ 4 โดยไม่มีความผิดพลาดใดๆ เลยแต่โชคไม่ช่วยนั้น "ยุติธรรม" แล้วหรือ?
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะก่อนหน้านี้ 10 วัน ในการแข่งขัน Pair Figure Skating ซึ่งคู่ของ Dan Zhang/Hao Zhang จากจีนซึ่งเกิดความผิดพลาดล้มลงและได้รับบาดเจ็บจน the show ที่ must go on นั้น could not go on ทำให้การแสดงต้องระงับไประยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเริ่มแสดงต่อและจบลงด้วยเหรียญเงิน ซึ่งในกรณีนี้อีกเช่นกัน ที่อันดับหนึ่ง 1 (รัสเซีย) ทำคะแนนทิ้งห่างอย่างเหนือชั้นถึง 10 คะแนนและอันดับ 2, 3, 4 ที่ทิ้งกันราว 1 คะแนน แต่บังเอิญที่อันดับ 2, 3, 4 เป็นทีมของประเทศจีนทั้งหมดจึงไม่มีผลต่อประเทศที่ได้รับเหรียญ
สี่ตีนยังรู้พลาดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สองเท้าบนพื้นน้ำแข็งจะรู้พลั้งและนี่คือเสน่ห์ของ Figure Skating ที่ skater จะแสดงความสามารถลื่นไปบนลานน้ำแข็งเข้ากับธีม และเพลงที่กำหนดไว้ภายใต้สภาวะกดดันของการแข่งขันได้สมบูรณ์แบบเพียงใด ด้วยเหตุนี้ความไม่แน่นอนของระบบการคิดคะแนนที่หยิบยื่นความโชคดีให้กับเหรียญเงินที่ไม่สมบูรณ์ทั้งสองเหรียญนั้นคู่ควรกับการแข่งขันในระดับที่เรียกว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของโอลิมปิกอย่างนั้นหรือ??
แม้กระนั้นก็ดีกฎก็ยังคงเป็นกฎอยู่เสมอซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ Emerson จึงได้เสนอทัศนะไว้ว่าการใช้ข้อมูลดิบทั้งหมดจากกรรมการทั้ง 12 คนน่าจะช่วยลดความผิดพลาดของผลการตัดสินลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ชัยชนะอันงดงามของ Shizuka Arakawa ในครั้งนี้มีความหมายในหลายมิติ เธอเป็นคนถักทอฝันของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศให้เป็นจริงได้ในยามที่ยังไม่มีเหรียญใดเลยในโอลิมปิกคราวนี้และเธอยังได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬา Figure Skating โลกในฐานะสตรีเอเชียคนแรกที่คว้าเหรียญทองในประเภทนี้มาได้สำเร็จจากการแข่งขันที่มีมากว่าร้อยปี
Shizuka Arakawa เริ่ม Figure Skating ตั้งแต่อายุ 5 ปีและสามารถคว้าแชมป์ในรายการ Japanese Junior National Champion 3 ปีซ้อน (1995-1997) ตระเวนแข่งสะสมประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศจนกระทั่งได้เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่น
ครั้งแรกใน Nagano 1998 Olympic เมื่ออายุ 16 ปี ซึ่งในครั้งนั้นเธออยู่ในอันดับที่ 13 และเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Miki Ando ที่นั่งดูการถ่ายทอดสดอยู่หน้าจอโทรทัศน์
จากวันนั้น Ando (อายุ 19 ปี) กลายมาเป็นตัวแทนญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งใน Torino 2006 Olympic ที่มีเส้นทางคล้ายกับ Arakawa เมื่อ 8 ปีก่อนคือจบด้วยอันดับ 15 ในการแข่งครั้งแรกแต่ Ando เองพอใจกับการกระโดดหมุน 4 รอบสำเร็จในการแข่งขัน
เช่นเดียวกัน Shizuka Arakawa ได้เป็นแม่แบบให้ Mao Asada แชมป์โลกรายการ ISU Grand Prix Final 2005 ด้วยวัยวุฒิเพียง 15 ปีที่ไม่สามารถลงแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ได้ ซึ่งทั้ง Ando และ Asada จะกลายมาเป็นกำลังหลักใน Vancouver 2010 Olympic
นอกจากนี้แล้ว Arakawa ยังเป็นภาพลักษณ์ของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ใส่ใจกับการเรียนและกีฬา เดิมทีเธอเป็นเจ้าของตำแหน่งชนะเลิศในรายการ World Championships 2004 ที่ Dortmund, Germany ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Arakawa จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย top-class ของญี่ปุ่นอย่าง Waseda University
และ 2 ปีให้หลัง Shizuka Arakawa ได้พิสูจน์แล้วว่าเธอคือ Cool Beauty ตัวจริงใน Torino 2006 Olympic
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก Yahoo Japan, Sponichi, Asahi Shimbun
|