|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
|
วันที่ 8 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ระหว่างช่วงเวลาของการประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน สื่อมวลชนจีนได้รายงานว่า หวังเหวยจง หนึ่งในผู้แทนฯ จากมณฑลจี๋หลินได้ยื่น "ร่างกฎหมายการตรวจสอบข่าวสาร" ให้กับที่ประชุมได้พิจารณา
โดยผู้ยื่น "ร่างกฎหมายการตรวจสอบข่าวสาร" ได้ระบุถึงใจความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวว่า ในสังคมใดๆ การมีระบบการตรวจสอบที่สมบูรณ์นั้นถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นกฎหมายฉบับดังกล่าวในทางหนึ่งจะปกป้องสิทธิของสื่อมวลชนในการทำข่าว สืบค้นข้อเท็จจริง รวมไปถึงการทำข่าวเชิงสืบสวน ขณะที่ในอีกทางหนึ่งก็จะเพิ่มบทลงโทษขึ้นอีกเป็นเท่าตัวสำหรับผู้ที่ทำร้ายนักข่าว
ปัจจุบันในขณะที่ประเทศจีนกำลังเปิดประตูกว้าง เปิดเสรีในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจการค้า การเงิน และสังคม ในทางกลับกันอิสระของสื่อสารมวลชนในประเทศจีนยังถือว่าตกอยู่ในภาวะที่ถูกมัดมือมัดเท้าไว้อย่างแน่นหนาเช่นเดิม
ก่อนหน้าการประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนได้ไม่ถึง 2 เดือนดี รัฐบาลจีนเพิ่งมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อ "ปิงเตี่ยน" หรือแปลเป็นภาษาไทย คือ "จุดเยือกแข็ง" (Freezing Point) อันเป็นหนังสือ แทรกในหนังสือพิมพ์ China Youth Daily ด้วยข้อหาตีพิมพ์บทความวิชาการประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของจีนที่มีเนื้อหาบิดเบือน พร้อมกันนั้นได้มีการปลดบรรณาธิการของปิงเตี่ยนออกด้วย 2 คน
บทความวิชาการชิ้นดังกล่าวที่ถูกตีพิมพ์ในปิงเตี่ยนที่ชื่อว่า "ความทันสมัยและแบบเรียนประวัติศาสตร์" เขียนโดย หยวนเหว่ยสือ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจงซาน (ม.ซุนยัดเซ็น) ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อหาประวัติศาสตร์จีนที่บรรจุอยู่ในหนังสือแบบเรียนของนักเรียนชาวจีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่ายังมีบางจุดที่ยังผูกอยู่กับความเป็นโฆษณาชวนเชื่อ วาดภาพให้ชาวจีนเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมากกว่าที่จะยืนอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริง อย่างเช่น กรณีการเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวนของชาวตะวันตก หรือกรณีกบฏนักมวยในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง
หลังจากบทความชิ้นดังกล่าวลงตีพิมพ์ในหนังสือฉบับวันที่ 11 มกราคม 2549 อีก 2 สัปดาห์ถัดมา หนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ถูกสำนักงานโฆษณาการแห่งชาติจีนสั่งให้ยุติการพิมพ์ พร้อมกับมีการปลดบรรณาธิการและรองบรรณาธิการของปิงเตี่ยน 2 คน โดยมีการย้ายทั้งสองไปยังศูนย์วิจัยข่าวของสำนักพิมพ์แทน
สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของการสั่งให้ยุติการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าว และการปลดบรรณาธิการทั้งสองนั้นมีความเห็นจากคนวงในระบุว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากการตีพิมพ์บทความที่มีการกล่าวหาว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้อันเป็นรากฐานนำมาสู่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลาต่อมา แต่เกิดจากการที่ในช่วงหลังหนังสือพิมพ์ปิงเตี่ยนมักจะตีพิมพ์บทความพาดพิงกฎระเบียบที่เข้มงวดของสำนักงานโฆษณาการอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมาที่สำนักงานโฆษณาการของรัฐบาลจีนแทรกแซงสื่อมวลชนจีนอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อยุคดิจิตอลอย่างเช่น ความเห็นในเว็บบอร์ด (Bulletin Board Systems : BBS) เครื่องมือค้นหาเว็บไซต์ ข้อความสั้นที่ส่งกันทางโทรศัพท์มือถือ Weblog รวมไปถึงการดำเนินคดีและจำคุกนักเขียนที่เผยแพร่บทความทางอินเทอร์เน็ต
จากการรายงานล่าสุดถึงสถานการณ์สื่อมวลชนโลก (A Worldwide Survey by the Committee to Protect Journalists) โดยคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน หรือ CJP ประจำปี 2548 (ค.ศ.2005) ระบุอย่างชัดเจนว่า ในยุคปัจจุบันแม้ประเทศจีนจะมีการเปิดกว้างมากขึ้น และมีการถ่ายโอนผู้นำจากเจียงเจ๋อหมินมาสู่หูจิ่นเทาอย่างเต็มตัวแล้ว แต่ความพยายามแทรกแซงสื่อมวลชนของรัฐบาลจีนก็ยังคงถือว่าโดดเด่นยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก
สำหรับสภาวะของสื่อมวลชนจีนในปัจจุบันนั้น ทั่วประเทศจีนมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารรวมทั้งสิ้นกว่า 11,000 หัว ขณะที่มีสถานีวิทยุและโทรทัศน์อยู่ราว 600 แห่ง โดยในช่วงหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ทางด้านรัฐบาลจีนได้มีนโยบายลดการครอบครองและอุดหนุนสื่อให้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ โดยปล่อยให้สื่อเหล่านี้มีการบริหารรายรับ-รายจ่าย และหารายได้เข้าตัวเองมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ในปัจจุบันหนังสือพิมพ์จีนเริ่มมีการแข่งขันกันหาข่าว เจาะข่าว และทำข่าวในเชิงสืบสวนกันมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถดึงดูดผู้อ่านและหาโฆษณาได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานขององค์กรสื่อในระดับนานาชาติได้ชี้ให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจีนจะลดการครอบ ครองและอุดหนุนสื่อลง แต่ก็ไม่ได้หมายว่า การแทรกแซงในด้านเนื้อหาจะลดลงตามไปด้วยเลยไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงในทางตรง หรือการกดดันให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง
CJP ระบุว่าในปี 2548 มีผู้สื่อข่าวจีนถูกฆาตกรรม ถูกทำร้าย ถูกจำคุก มีการดำเนินคดีกับนักข่าวสิงคโปร์ข้อหาจารกรรมข้อมูล (โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาพบกับทนายเพื่อสู้คดี) ขณะที่นักข่าวต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับภาวะความวุ่นวายทางการเมืองในพื้นที่ชนบทแห่งหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ก็ถูกกีดกัน ขู่ และทำร้าย
นอกจากนี้ CJP ยังระบุอีกด้วยว่า นับถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมาประเทศจีนยังถือว่าเป็นประเทศที่มีสถิติการจำคุกผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวต้องกินข้าวแดง-นอนอยู่ในมุ้งสายบัวมากถึง 32 คน
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์จุดเยือกแข็ง (ปิงเตี่ยน) ได้รับไฟเขียวจากสำนักงานโฆษณาการแห่งชาติจีนให้มีการกลับมาตีพิมพ์ได้อีกครั้ง หลังจากทางสำนักงานโฆษณาการถูกโจมตีอย่างหนักจากผู้อ่าน China Youth Daily และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนหัวก้าวหน้าที่เกษียณราชการไปแล้วที่ได้ร่างจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์คำสั่งของสำนักงานโฆษณาการ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับการหวนสู่แผงของปิงเตี่ยนอีกครั้งนั้น แม้จะกลับมาในรูปโฉมเดิม แต่หัวใจของปิงเตี่ยนกลับถูกเปลี่ยนถ่ายไปแล้ว เพราะในส่วนของกองบรรณาธิการ ได้มีการส่งบรรณาธิการหัวอนุรักษนิยมเข้ามาบริหารงานแทนบรรณาธิการเดิมทั้ง 2 คน และในฉบับวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการตีพิมพ์บทความตอบโต้บทความ "ความทันสมัยและแบบเรียนประวัติศาสตร์" ของศาสตราจารย์หยวนเหว่ยสือ
ไม่น่าแปลกใจเลยที่ หลงอิ้งไถ คอลัมนิสต์หญิงชาวไต้หวัน ผู้มีชื่อเสียงด้านการวิพากษ์การเมืองของจีนอย่างเผ็ดร้อน (แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนแผ่นดินใหญ่) และเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ของปิงเตี่ยน จะเขียนจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลจีนส่งไปยังประธานาธิบดี หูจิ่นเทา โดยกล่าวเปรียบเปรยว่า
"ในจำนวนม้าหมื่นตัว มีม้าเหลืออยู่เพียงตัวเดียวและตอนนี้มันก็ถูกตัดคอไปแล้ว..."
ผมกลับมาอ่านรายงานข่าวการยื่น "ร่างกฎหมายการตรวจสอบข่าวสาร" ให้ที่ประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง แล้วผมก็อ่านเจอเนื้อข่าวท่อนสั้นๆ ท่อนหนึ่ง ที่อาจถือได้ว่าเป็นหัวใจของข่าวและเหตุการณ์ทั้งหมด
หวังเหวยจง ผู้แทนจากมณฑลจี๋หลิน ผู้ยื่นร่างดังกล่าวเข้าสภา กล่าวกับที่ประชุม ไว้สั้นๆ ในตอนหนึ่งว่า "ที่ต้องร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นนั้นก็เพราะผู้สื่อข่าวนั้นถือเป็นปากเป็นเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์"
|
|
|
|
|