|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
|
สายลมที่โชยพัดผ่านทำให้ชมพูพันธุ์ทิพย์ริมรั้วซึ่งออกดอกบานสะพรั่งร่วงพรู ความร้อนอบอ้าวของอากาศยามบ่ายในต้นฤดูร้อนก็เริ่มคลายลง
เดินเลาะเลียบริมคลองเทเวศร์ เข้าซอยเทเวศร์ 1 ผ่านชุมชนเก่าแก่ของชาวบ้านย่านนั้นประมาณ 200 เมตรเยื้องๆ กับโรงเรียนสตรีวรนาถ "พระนครนอนเล่น" โรงแรมเล็กๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางพันธุ์ไม้ใหญ่น้อย
หญิงสาวร่างเล็กบางเดินไปมาเสิร์ฟน้ำให้แขกชาวยุโรปกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-5 คน ใบหน้าของเธอยิ้มแย้ม และดูมีความสุขกับงานที่กำลังทำอย่างมากๆ
"โรงแรมของโรส เป็นโรงแรมเล็กๆ มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่าต้องการให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาได้สัมผัสชีวิตความเป็นไทยให้มากที่สุด อยู่อย่างไทย กินอย่างไทย เป็นอย่างไร โดยที่เราจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง"
เสียงใสๆ ของวริศรา มหากายี เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง หลังจากล่ำลาแขกอยู่พักใหญ่ เธอบอกว่า เดิมทีเดียวที่นี่เป็นโรงแรมเก่ามีห้องพักประมาณ 50 ห้องที่หยุดกิจการไป คุณแม่ของสามีต้องการซื้อไว้ทำเป็นหอพัก โดยให้เธอและสามีเป็นคนดูแล
ภาพหอพักที่เธอและสามีต้องการคือ ที่พักท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหมือนบ้านในต่างจังหวัด เพื่อให้สอดประสานกลมกลืนไปกับชุมชนเก่าในย่านนั้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ ไม่ใช่เพียงห้องเล็กๆ แคบๆ อุดอู้ เพื่อให้คนที่มาพักมีความสุขและผ่อนคลายมากที่สุด เป็นบ้านจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงที่นอนเท่านั้น
การลงมือตกแต่งปรับโฉมใหม่ สร้างความโปร่งสบายก็เกิดขึ้น เริ่มจากการรื้อฝ้า โชว์ฝ้าเพดานแบบเก่า กำแพงที่ดูทึบตันก็ทุบทิ้ง เพื่อขยายต่อเป็นระเบียงเล็กๆ และหาซื้อฝาบ้านไม้เก่าจากต่างจังหวัด มาทำเป็นกำแพงเพื่อสร้างความรู้สึกให้ดูอบอุ่น
อารมณ์ ความรู้สึกที่หลากหลายของคน ถูกสะท้อนออกมายังรายละเอียดภายในห้องที่ตกแต่งไม่เหมือนกัน เช่นบางห้องมีบานเฟี้ยม บางห้องมีบานเปิดบานปิด บางห้องหน้าต่างเล็ก หน้าต่างใหญ่ สี หรือลวดลายการเพ้นติ้งในห้องต่างกัน แม้แต่เตียงก็จะไม่เหมือนกันหมดทีเดียว
"ตอนนั้น แต่ละห้องทำมิเตอร์น้ำไฟ แยกต่างหาก เพื่อเตรียมไว้เป็นหอพัก แต่ทำไปทำมาก็เริ่มเสียดายว่า หากปล่อยให้เช่าเก็บค่าห้องแพงเดือนละ 5-6 พันบาท ก็สงสารคนทำงาน เก็บน้อยกว่านี้เราก็อยู่ไม่ได้ ลงทุนไปเยอะ เลยบอกคุณแม่ว่า ขอเปลี่ยนเป็นโรงแรมก็แล้วกัน ใบอนุญาตโรงแรมก็มีอยู่แล้ว"
การเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ครั้งนี้ทำให้เรื่องง่ายขึ้น เพราะจากคอนเซ็ปต์เดิมที่คงความเป็นไทย เลยโฟกัสไปยังตลาดต่างชาติ เพียงแต่ว่าที่นี่ต่างกว่าที่อื่นๆ โดยไม่ได้หวังจับลูกค้าทั่วไปราคาห้องประมาณ 400-500 บาทต่อคืน เหมือนเกสต์เฮาส์บนถนนข้าวสาร หรือลูกค้าระดับบน เช่น โรงแรมราคาแพงคืนละหลายพันบาท แต่วริศราเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีวิธีคิดไม่เหมือนใคร
ลูกค้าของพระนครนอนเล่น ต้องใช้ชีวิตแบบ slow life ดื่มด่ำกับธรรมชาติ และต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทย ที่นี่ไม่มีทีวีให้ดู มีแต่เพลงบรรเลงเบาๆ เพื่อผ่อนคลาย สูบบุหรี่ไม่ได้ ในเรื่องอาหารก็จะไม่มีอาหารตามสั่ง หรืออาหารประเภทไส้กรอก แฮม ชา กาแฟ เหมือนที่อื่น แต่จะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพแบบไทยๆ ส่วนมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ร้านอาหารอร่อยในชุมชนย่านนั้น จะได้รับการแนะนำให้แขกไปลองชิม แทนการสั่งอาหารในโรงแรม
วริศรากับสามีคลุกคลีกับงานสิ่งแวดล้อมในฐานะกำลังสำคัญของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ เมื่อดึงสิ่งเหล่านี้มาใช้กับธุรกิจของเธอ แม้เป็นอุดมการณ์ที่ดีแต่ต้องต่อสู้กับปัจจัยต้นทุนของการทำธุรกิจ ซึ่งเธอมั่นใจว่าผู้คนที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ ชอบท่องเที่ยวไปในวิถีไทยจริงๆ น่าจะมีไม่น้อย
เส้นทางท่องเที่ยวโดยเรือที่ท่าเรือเทเวศร์ บรรยากาศ 2 ฟากฝั่งเจ้าพระยา คือจุดขายง่ายๆ ที่เธอจะชี้ชวนให้ลูกค้าได้ไปสัมผัสในราคาที่ไม่แพงเลย
"โชคดีที่คุณแม่เข้าใจ แต่ก็บอกว่าให้ลองทำอย่างที่ลูกรัก แค่ 2 ปีนะ ถ้าไม่เวิร์กแม่จะเอากลับมาทำเป็นหอพัก" เธอเล่าเจือด้วยเสียงหัวเราะ
วันเวลาที่ผ่านไป จะเป็นระยะทางของการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้มาหากผนึกรวมกับความตั้งใจจริงและหัวใจในการบริการแล้ว ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี โรงแรมแห่งนี้ที่เปิดให้คนนอนเล่นในช่วงเริ่มต้นเพียง 20 ห้อง อาจจะเปิดเต็มทั้งหมดก็เป็นได้
|
|
|
|
|