ถึงแม้ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ และผู้ร่วมก่อตั้งรายอื่นของทรีนิตี้ จะมีความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนักกับอดีตผู้ร่วมทุนจากไต้หวัน แต่เมื่อถึงคราวต้องหาพันธมิตรเพื่อรุกตลาดอนุพันธ์ ก็ยังหนีไม่พ้นที่จะเป็นสถาบันการเงินจากไต้หวันอยู่นั่นเอง
ตลาดอนุพันธ์ที่จะเริ่มเปิดซื้อขายวันแรกในวันที่ 28 เมษายนที่จะถึงนี้ เปรียบเสมือนความหวัง ใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้กับเหล่าโบรกเกอร์เพื่อช่วยชดเชยในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซามีมูลค่าการซื้อขายไม่มากนัก โบรกเกอร์ที่ให้ความสนใจในตลาดอนุพันธ์มีจำนวนไม่น้อย แต่ละแห่งก็มีรูปแบบในการรุกตลาดนี้แตกต่างกันไป มีทั้งที่สร้าง ทีมงานขึ้นมาเอง อย่างในกรณีของ บล.ไทยพาณิชย์ และ บล.กรุงศรีอยุธยา หรือหากเป็นโบรกเกอร์ต่างชาติเช่น บล.กิมเอ็ง ก็มักจะใช้เทคโนโลยีและโนว์ฮาว รวมไปถึงฐานลูกค้าจากบริษัทแม่ในต่างประเทศได้เลย
สำหรับกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้เลือกใช้อีกแนวทางหนึ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือการหาพันธมิตรจากต่างประเทศ โดยดึงโพลาริส กรุ๊ปจากไต้หวันเข้าถือหุ้นในบริษัท ทรีนิตี้ ฟิวเจอร์ส ในสัดส่วน 24.5% และเปลี่ยนชื่อเป็น ทรีนิตี้ โพลาริส ฟิวเจอร์ส
โพลาริส กรุ๊ป เป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 เริ่มต้นจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหุ้น ปัจจุบันมีธุรกิจในเครือที่ไต้หวัน ฮ่องกงและจีน ครอบคลุมทั้งในด้านหลักทรัพย์ อนุพันธ์ ประกัน การลงทุนและธนาคาร ก่อนการตกลงร่วมทุนในครั้งนี้ ทรีนิตี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของพันธมิตรจากหลายที่ แต่สุดท้ายก็ตกลงใจกับโพลาริส กรุ๊ป โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ความเป็นผู้นำในธุรกิจอนุพันธ์ที่ไต้หวันของโพลาริส กรุ๊ป
"ที่ไต้หวันฐานลูกค้าจะเหมือนของไทย มีรายย่อยเยอะและต่อมาค่อยพัฒนาเป็นนักลงทุนสถาบัน เราไปดูแล้วรู้สึกว่าตลาดเหมือนไทยมากกว่าที่อื่นและเราสามารถจะใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตรงนี้ได้" ขนิษฐา สรรพอาษา กรรมการ บล.ทรีนิตี้ให้เหตุผล
ตลาด Futures ที่ไต้หวันเปิดดำเนินการซื้อขายครั้งแรกในปี 2541 เริ่มต้นด้วยสินค้าเพียง 1 ตัวคือ Index Futures เช่นเดียวกับตลาดอนุพันธ์ของไทย ในช่วงแรกมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 2,000-3,000 สัญญา หลังจากนั้นก็มีสินค้าเพิ่มขึ้นช่วยให้ปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้น จนปัจจุบันมีการซื้อขายวันละกว่า 540,000 สัญญา คิดเป็นตลาด Futures ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา
Wayne Pai ประธานโพลาริส กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า การเปิดตลาดอนุพันธ์ของไทย ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญมากของตลาดการเงินของไทย เพราะจะทำให้นักลงทุนมีเครื่องมือใหม่ๆ ในการลงทุนและป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
"ตอนที่ไต้หวันเปิดตลาดฟิวเจอร์ทำให้นักลงทุนที่วอลล์สตรีทมาลงทุนที่ไต้หวันมากขึ้น ทั้งที่ตลาดหุ้นและตลาดฟิวเจอร์ส และยังทำให้เกิดการพัฒนาตลาดอื่นขึ้นอีก"
โพลาริส กรุ๊ป เชื่อว่า ความสำเร็จในตลาดฟิวเจอร์ที่ไต้หวันเกิดจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1. ระบบไอที ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมให้บริการลูกค้าได้ในหลายแพลตฟอร์ม 2. การทำตลาดอย่างจริงจัง โดยโพลาริสมีสาขาในไต้หวัน 48 สาขาและมีการจัดสัมมนาให้ความรู้กับลูกค้ามากกว่า 1,000 ครั้ง 3. การร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก 4. ประสบการณ์และความชำนาญในการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วย Financial Engineering
ซึ่งโพลาริส กรุ๊ป จะนำทั้ง 4 ประการนี้มาใช้ในประเทศ ไทยด้วยเช่นกัน โดยจะเน้นที่การให้ความรู้กับผู้ลงทุนในกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงและนักลงทุนเพื่อการเก็งกำไร เพื่อให้สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ภาวะตลาดไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
กลุ่มลูกค้าของทรีนิตี้ โพลาริส ฟิวเจอร์สในระยะแรกจะเน้นไปที่ฐานลูกค้าของบล.ทรีนิตี้ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 12,000 ราย โดยคาดว่าในปีแรกจะมีลูกค้าประมาณ 2,000 รายและยังมีโอกาสที่จะดึงกลุ่มลูกค้าของโพลาริส กรุ๊ปที่มีอยู่ 1 ล้านรายทั้งที่เป็นนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเป็นลูกค้าด้วย โดยชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ ทรีนิตี้ โพลาริส ฟิวเจอร์สคาดว่าจากความร่วมมือกับโพลาริส กรุ๊ปและฐานลูกค้าที่มีอยู่น่าจะช่วยให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในปีแรกได้ถึง 10%
"ช่วง 3-6 เดือนแรกปริมาณการซื้อขายจะยังไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงเรียนรู้ของนักลงทุน หลังจากนั้นจะคึกคักมากขึ้น เราประมาณการว่าปริมาณการซื้อขายในปีนี้จะเฉลี่ยประมาณวันละ 1,000 สัญญา"
หากความร่วมมือระหว่างทรีนิตี้และโพลาริส กรุ๊ปครั้งนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายตั้งความหวังว่าจะต่อยอดนำไปสู่ความร่วมมือในธุรกิจอื่นๆ ตามมาในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมในตลาดหุ้นหรือ asset management ที่จะเป็นตัวสร้างรายได้ จากค่าธรรมเนียมอีกส่วนหนึ่งให้กับทรีนิตี้
ประสบการณ์กับผู้ร่วมทุนไต้หวันสมัยเมื่อครั้งทำงานอยู่ที่ บล.เอกธำรงน่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับผู้บริหารทรีนิตี้ได้นำมาปรับใช้ในการเลือกพันธมิตรอย่างระมัดระวังมากขึ้นในครั้งนี้
|