|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
|
การลุกขึ้นมาแต่งหน้าแต่งตาปรับโฉมให้ดูทันสมัยของ บล.กรุงศรีอยุธยา ถือเป็นก้าวแรกของบริษัทหลักทรัพย์อายุ 30 ปีแห่งนี้ ที่วางเป้าหมายจะก้าวขึ้นสู่โบรกเกอร์ 5 อันดับแรกของไทยภายใน 3 ปี
งานสัมมนา "คัมภีร์การลงทุนปีจอ" ที่ บล. กรุงศรีอยุธยาจัดขึ้นเป็นงานแรกของปีเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้ลูกค้าและโบรกเกอร์รายอื่นได้รับรู้ว่าบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้พร้อมแล้วที่จะรุกตลาดอย่างจริงจัง หลังจากที่ใช้เวลาในปีที่ผ่านมา จัดเตรียมความพร้อมขององค์กรทั้งการเสริมทีมผู้บริหาร เพิ่มธุรกิจ ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ไปจนถึงการปรับภาพลักษณ์ ใหม่ให้สดใสและทันสมัยยิ่งขึ้น
กระบวนการเตรียมความพร้อมของ บล.กรุงศรีอยุธยาเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2548 เมื่อดึงทีมงานจากบริษัทเพลินจิต แอ็ดไวเซอรี่ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเข้าร่วมงาน นับเป็นการสร้างทีมงานด้านวาณิชธนกิจเป็นครั้งแรกของ บล.กรุงศรีอยุธยา โดยได้แต่งตั้ง ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ เพลินจิตแอ็ดไวเซอรี่ ขึ้นรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่คู่กับฉัตรรพี ตันติเฉลิม ผู้บริหารอีกคนหนึ่งของเพลินจิต แอ็ดไวเซอรี่ ซึ่งในภายหลังถูกโยกย้ายไปดูแล บลจ.เอเจเอฟ ที่เป็นอีกกิจการหนึ่งของเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์มีประสบการณ์ในธุรกิจหลักทรัพย์มากว่า 16 ปี โดยก่อนจะเข้าทำงานที่เพลินจิต แอ็ดไวเซอรี่ได้ผ่านงานจากบริษัทหลักทรัพย์มาแล้วทั้ง บล.เอกธำรง บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) และ บล.ไทยพาณิชย์ ได้มีโอกาสทำงานวางแผนการเงินให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีประสบการณ์การปรับโครงสร้างทางการเงิน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไปจนถึงการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition : M & A)
บทบาทหน้าที่ประการหนึ่งเมื่อครั้งอยู่ที่เพลินจิต แอ็ดไวเซอรี่ ก็คือ การวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจให้กับกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่สุดของ บล.กรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน
"ผมเห็นว่าศักยภาพของกลุ่มกรุงศรี อยุธยามีมาก เพราะมีครบในบริการทางการเงิน แต่ในอดีตต่างคนต่างให้บริการโดยที่ไม่ได้เอาภาพรวมของกลุ่มมาผนวกกันเป็นจุดแข็งในการให้บริการ ในส่วนของเราจากเดิมที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรกับแบงก์เท่าไรก็มาทำควบคู่กันไป เพื่อที่ว่าแบงก์ก็จะมองว่าเราเป็น capital market arm ของกลุ่ม" ม.ร.ว.ศศิพฤนท์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ความพยายามในการรวบรวมเอาบริการทางการเงินของเครือกรุงศรีอยุธยามาเสนอให้กับลูกค้าอย่างครบวงจรเกิดเป็นบริการ 3BIZ package ที่เปิดตัวครั้งแรกในงาน SET in the City 2005 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินชิ้นแรกที่มีการผนวกรวมเอาบริการจาก 3 กิจการในเครือ คือ ธนาคารกรุงศรี อยุธยา บล.กรุงศรีอยุธยา และบัตรเครดิตกรุงศรี จีอี เข้าไว้ด้วยกัน (รายละเอียดโปรดอ่านล้อมกรอบ "3 บริการในหนึ่งเดียว")
ปัจจุบัน บล.กรุงศรีอยุธยามีทีมงานที่ตั้งขึ้นโดยเฉพาะ มีหน้าที่มองหาหนทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะเชื่อมโยงเอาบริการจากกิจการในเครือมารวมเข้ากับบริการของตนเองเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในลักษณะเดียวกับ 3BIZ package โดยต้องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีอยู่ ทั้งลูกค้าสถาบันรายย่อย กลุ่ม high net worth รวมไปถึงลูกค้าของฝั่งวาณิชธนกิจด้วย
การผนวกรวมบริการทางการเงินดังกล่าวทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บล.กรุงศรีอยุธยากันใหม่ โดยเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่จาก บง.กรุงศรีอยุธยามาเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้การประสานงานทำได้รวดเร็วและทำงานสอดคล้องกันตามนโยบายของเครือมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมการปรับภาพลักษณ์ใหม่เพื่อให้ดูทันสมัยและกระฉับกระเฉง โดยศึกษาจากความสำเร็จของการปรับภาพลักษณ์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
"แบงก์กรุงศรีฯ ทำได้สำเร็จ ทำให้คนเห็นว่ามีความทันสมัย ให้บริการได้รวดเร็วและตรงตามความต้องการของลูกค้า เราก็ต้องปรับตัวให้คล้ายกับของแบงก์ ด้วยคาแรกเตอร์ ของเราแต่เดิมจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนสูงวัย ก็ต้องทำให้กระฉับกระเฉง ให้ดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกได้"
นอกจากการออกแบบโลโกและตกแต่งออฟฟิศใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ภายนอกแล้ว บล.กรุงศรีอยุธยายังได้เตรียมความพร้อมภายใน โดยเฉพาะการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้มีความสามารถในการแนะนำบริการทางการเงินให้กับลูกค้าได้ครบวงจร ไม่จำกัดอยู่เพียงเรื่องของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องของการจัดการความมั่งคั่ง (wealth management) ด้วย
ปัจจุบัน บล.กรุงศรีอยุธยามีพนักงานการตลาดอยู่ราว 250 คน และปีนี้จะมีการเปิดรับเพิ่มอีกประมาณ 30 คน ตามแผนงานการขยายสาขาที่กำหนดไว้อย่างน้อยปีละ 1 สาขา จากขณะนี้ที่มีอยู่ 9 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 5 สาขาและต่างจังหวัดอีก 4 สาขา โดยเตรียมจะเปิดสาขาล่าสุดที่ปิ่นเกล้า ในเร็วๆ นี้
กิจกรรมการตลาดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ บล.กรุงศรีอยุธยา จะมุ่งเน้นให้มากขึ้นในปีนี้ โดยหวังผลเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับกลุ่มลูกค้า และหลังจากที่ได้ประเดิมงานสัมมนาเมื่อต้นปีไปแล้วก็เตรียมการที่จะจัดครั้งต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย หรือในหัวข้ออื่นที่ลูกค้าสนใจแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นก็ตาม
"บางช่วงลูกค้าเราอาจจะต้องการอะไรบางอย่างที่เราสามารถจัดหาให้ได้โดยใช้เน็ตเวิร์คของเราโดยที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องหุ้น อย่างตอนนี้มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้ภรรยาเขาเรียนวิธีทำอาหารอิตาเลียน ผมก็ยินดีจะเชิญคนที่ผมรู้จักที่ชำนาญอาหารอิตาเลียนมาสอนการทำอาหารหรือจะให้พาไปชิมก็ยินดี" ม.ร.ว.ศศิพฤนท์กล่าว
บล.กรุงศรีอยุธยาตั้งเป้าหมายในธุรกิจโบรกเกอร์ในปีนี้ จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ถึง 3% จากที่ทำได้ 2.6% ในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะสามารถก้าวขึ้นติดกลุ่ม 1 ใน 5 อันดับแรกโบรกเกอร์ของไทยได้ภายในปี 2551 โดยเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ส่วนงานวาณิชธนกิจซึ่งเป็นความชำนาญโดยตรงของ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์และทีมงานที่โยกย้ายมาจากเพลินจิต แอ็ดไวเซอรี่ นั้นปัจจุบันมีลูกค้าที่บริษัทเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอยู่แล้วกว่า 40 ราย มีทั้งที่ให้คำแนะนำในด้านโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างของแหล่งเงินทุน ไปจนถึงการทำดีลควบรวมกิจการที่มีอยู่ 10 ราย
"เอ็มแอนด์เอทำยาก ทรหด เพราะมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างเยอะ ต้องทำอย่างระมัดระวัง ปีนี้จะเห็นดีลเอ็มแอนด์เอของเราที่แน่ๆ ก็ 2 ดีล ถ้ารวมที่มีโอกาสเป็นไปได้ก็ 4-5 ดีล"
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์เสริมว่า นับจากนี้ไปจะเกิดดีลเอ็มแอนด์เอในไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการทำเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับต่างประเทศ ทำให้มีเม็ดเงินจาก ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเป้าหมายของเงินทุนต่างชาติจะโฟกัสในกลุ่มธุรกิจบริการ ทั้งที่เป็นการสื่อสารการเงิน
นอกจากนี้ยังจะเกิดการควบรวมกันเองของกิจการไทย ส่วนใหญ่จะเป็นภาคธุรกิจการเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิด economy of scale ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น
สำหรับการเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นธุรกรรมหลักของงานวาณิชธนกิจกลับมีไม่มากนัก โดยในปีนี้คาดว่า บล.กรุงศรี อยุธยาจะนำหุ้นเข้าตลาด 3 บริษัทด้วยกัน ทั้งหมดนี้คาดว่าจะทำให้รายได้ของ บล.กรุงศรีอยุธยาในปีนี้มีถึง 680 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโบรกเกอร์ 500 ล้านบาท วาณิชธนกิจ 80 ล้านบาท และรายได้จากการลงทุน ทั้งที่เป็นการลงทุนระยะสั้นและยาวอีกประมาณ 100 ล้านบาท
|
|
|
|
|