|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2549
|
|
หลังมหกรรมการฉ้อฉลในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (BBC) ปิดฉากลงไปได้ 10 ปีเต็ม ทั้งเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และราเกซ สักเสนา ก็มีโอกาสที่จะได้กลับมาพบปะหน้าตากันอีกครั้ง
แต่ในบรรยากาศที่แตกต่างจากที่ทั้งคู่เคยพบกันในอดีตอย่างสิ้นเชิง
วันที่ 28 ธันวาคม 2548 และ 20 มกราคม 2549 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาเกริกเกียรติกับพวกในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ BBC หลายคดี และมีคำสั่งให้จำคุกเกริกเกียรติรวม 50 ปี รวมทั้งสั่งปรับ และให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายอีกเป็นเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยเกริกเกียรติกับพวกได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
วันที่ 3 มีนาคม 2549 ศาลอุทธรณ์ในเมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ได้ตัดสินให้ส่งตัวราเกซ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีเดียวกับเกริกเกียรติในประเทศไทย หลังจากที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งเช่นเดียวกันมาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2543
"...ย่างเข้าปีที่ 4 และ 5 เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ถือหางเสือนำพาแบงก์บีบีซี เข้าสู่การพลิกผันครั้งใหญ่
ช่วงปี 2533-2534 เป็นยุคทองของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป็นยุคอับของตลาดเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำเพราะถูกตรึงเพดานไว้
หนักไปกว่านั้น รัฐบาลประกาศรับพันธะมาตรา 8 และประกาศผ่อนคลายปริวรรตเงินตรา สร้างบรรยากาศการแข่งขันในตลาดการเงิน เพื่อรับมือกับการเปิดเสรีภาคบริการตามแรงกดดันของ GATTS (ปัจจุบันเป็นองค์กร WTO)
แบงก์ชาติ เริ่มมีนโยบายเปิดให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจใน BIBFS (BANGKOK INTERNATIONAL BANKING FACILITIES)
สภาพแวดล้อมใหม่กดดันเกริกเกียรติมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเริ่มวิตกว่า แบงก์บีบีซี ต้องดำรงอยู่อย่างไร ในกติกาใหม่ของโลกการเงิน?
ท่ามกลางความหวังอันมืดมิด เกริกเกียรติเริ่มมองเห็นแสงสว่างรางๆ
ยุคนั้นกิจกรรมในตลาดทุนคึกคักผู้คนในแวดวงการเงินต่างแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะตามมา อาทิ ธุรกิจเวนเจอร์ แคปิตอล (สถาบันการเงินร่วมทุนกับบริษัทลูกค้าตั้งแต่เริ่มจากนั้นผลักดันให้เข้าตลาดแล้วขายหุ้นทำกำไร) ธุรกิจในตลาดหุ้นนอกตลาด (OVER THE COUNTER MARKET) เป็นต้น
ในวงนี้ มีราเกซ สักเสนา เป็นตัวชูโรง ตอนนั้นเขายังเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ บงล.สหธนกิจไทย
ต้นฤดูร้อนของปี 2533 โรงแรมจุลดิศเขาใหญ่ เต็มไปด้วยผู้บริหารระดับกลางถึงสูงของสถาบันการเงินหลายแห่งในงานสัมมนาเรื่องธุรกิจเวนเจอร์ แคปิตอล เอกชัย อธิคมนันทะ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บีบีซี เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสนใจไอเดียของราเกซมากและเอกชัยก็เป็นสะพานเชื่อมราเกซไปยังเกริกเกียรติ
"ความต้องการของราเกซกับผู้บริหารแบงก์บีบีซี เป็นเหมือนแม่เหล็กต่างขั้วกัน พอเจอกันก็ดูดเข้าหากันทันที ราเกซมีโมเดลใหม่ที่เห็นดอกผลสวยงามรออยู่ข้างหน้า แต่จะสำเร็จได้ยากหากไม่มีแบงก์สนับสนุน ขณะที่แบงก์กำลังมองหาวิธีสร้างรายได้เข้ากระเป๋าอยู่พอดี" ผู้บริหารระดับสูงในวงการแบงก์พาณิชย์วิเคราะห์ให้ฟัง
เมื่อแม่เหล็กทั้งสองขั้วมาเจอกัน ชะตากรรมของแบงก์บีบีซีก็เหวี่ยงไปตามเส้นแรงแม่เหล็กแท่งใหม่
ราเกซได้รับเชื้อเชิญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาธนาคารบีบีซีในที่สุดหลังจากอกหักกับวิชัย อัสสรัตน์ แห่ง บงล.สหธนกิจไทย
นับแต่นั้นตำนานอันลือลั่นเร้าใจแห่งทศวรรษของบีบีซีก็เริ่มขึ้น..."
(จากเรื่อง "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อวสาน อินทรทูต นิตยสารผู้จัดการ เดือนเมษายน 2539)
ทั้งเกริกเกียรติ และราเกซ ถือเป็นแม่เหล็กคนละขั้วอย่างแท้จริง
เกริกเกียรตินั้นถือเป็นคนในตระกูลบุคคลชั้นสูงในสังคม
"...เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของผู้ก่อตั้งแบงก์เป็นรุ่นที่ได้รับการศึกษาสูงจากต่างประเทศ เขาจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เมื่อจบกลับมาเขาทำงานที่ บงล.ภัทรธนกิจอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็ลาออกไปอยู่แบงก์ชาติ
ตาของเขาคือ "พระพินิจชนคดี" ชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้ดิบ ได้ดีหลุดเข้าไปในวงจรของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น ด้วยการผันตัวเองไปรับราชการตำรวจ และได้แต่งงานกับลูกสาวของพระองค์เจ้าคำรบ (พระบิดาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)
ว่ากันว่าเขาเป็นลูกชายที่อยู่ในโอวาทของมารดามาตลอด
การตัดสินใจเดินออกจากแบงก์ชาติคราวนั้นเขาไม่เต็มใจนัก แต่เมื่อแม่ต้องการเขาก็ขัดไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขารู้ตัวดีว่าสิ่งที่เขาต้องการคือการทำงานในภาคราชการ 10 ปีที่อยู่แบงก์ชาติเป็นช่วงชีวิตที่เขามีความสุขที่สุด และไม่ต้องการจากมาเลย
ตอนจากแบงก์ชาติมา เขาก็ยังอุตส่าห์ขอให้ทำเรื่องยืมตัวเขามา โดยยังไม่ลาออกในทันที และใช้วิธีต่ออายุกันปีต่อปีอยู่ถึง 3 ปีแรก..."
(อีกตอนหนึ่งจากเรื่องเดียวกัน)
เกริกเกียรติเข้ามาทำงานใน BBC ภายหลังปฏิบัติการยึดอำนาจการบริหารงานโดยคนในตระกูลอินทรทูต นำโดยอินทิรา ชาลีจันทร์ แม่ของเกริกเกียรติ ด้วยการขอมติผู้ถือหุ้นปลดธะนิต พิศาลบุตร ออกจากกรรมการผู้จัดการ ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 โดยเธอเข้ามารับตำแหน่งแทน และชักชวนให้เกริกเกียรติลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อมาช่วยงาน
ปัญหาของ BBC ในยุคที่เกริกเกียรติเข้ามา คือการบริหารงานแบบอนุรักษนิยมสุดขั้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ค่อยเต็มใจนำเงินเข้ามาเพิ่มทุนจดทะเบียน ทำให้เงินกองทุนของธนาคารติดเพดานอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 12.5% ตามที่ ธปท.กำหนด จึงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มเพื่อหารายได้เข้ามาได้ ขณะที่ต้องแบกรับภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก จนมีผลให้อัตราทำกำไรของธนาคารแห่งนี้ถดถอยถึงขั้นขาดทุน
(รายละเอียดปฏิบัติการยึดอำนาจใน BBC โดยตระกูลอินทรทูต ที่มาของปัญหาความขัดแย้ง และการแก้ปัญหาในช่วงแรกของเกริกเกียรติ สามารถหาอ่านได้จากเรื่อง "การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของ ROTHCHILD ไทย นาม อินทรทูต!? นิตยสารผู้จัดการ เดือนพฤษภาคม 2529 และเรื่อง "กรุงเทพฯ พาณิชย์การ ยุค อินทรทูตที่นี่ยังไม่มีอะไรใหม่!?" นิตยสารผู้จัดการ เดือนมีนาคม 2530)
เกริกเกียรติใช้เวลานานพอสมควรที่จะแก้เงื่อนปมที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของรายได้ของธนาคาร จนมาได้แนวทางใหม่ เมื่อเขาได้มาพบกับราเกซ ชาวอินเดีย ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรมทางการเงิน
ราเกซเกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2495 เป็นบุตรคนโตในจำนวน 3 คนพี่น้อง จบการศึกษาด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยนิวเดลี และจบปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ (เกียรตินิยม) ในปี 2517 แต่กลับสนใจด้านการเงินมากกว่า หลังจบการศึกษาได้เป็นโบรกเกอร์ค้าเงินให้ SILMAN ในเครือบริษัทโซโลมอน
บอมเบย์ฯ หลังจากนั้น 4 ปี ย้ายไปทำงานที่ฮ่องกงกับ WOCOMGROUP เครือวิงออนแบงก์ และพบรักกับสาวชาวไทย คือสุวรรณา หาญวรเกียรติ ซึ่งสมัยนั้นเป็นพนักงานของไทยประสิทธิประกันภัย สาขาฮ่องกง และแต่งงานกันในปี 2523
ราเกซเข้ามาเมืองไทยประมาณปี 2527 เริ่มต้นอาชีพเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก่อนที่จะออกมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ
"...คู่คิดของนักเลงโบราณโกศล ไกรฤกษ์ ผู้นี้เป็นชาวอินเดียถือกำเนิดในอังกฤษ อายุเพียง 37 ปี แต่มีความรู้ความชำนาญในการตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการคลังให้กับธนาคารไทยหลายแห่ง ล่าสุดเพิ่งให้คำปรึกษาเรื่องการออกพันธบัตรให้แก่ธนาคาร กรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด แต่เผอิญเจอปัญหาเงินเฟ้อเสียก่อนการออกพันธบัตรจึงเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด
ปัจจุบันหนุ่มสองสัญชาติผู้นี้นั่งอยู่ที่ THE ASIANPACIFIC GROUP ในตำแหน่ง CHIEF OPERATING OFFICER ดิเอเชียนแปซิฟิค กรุ๊ป เป็นกลุ่มนักลงทุนในลักษณะโฮลดิ้ง คัมปะนี และจะร่วมทุนถือหุ้นในกลุ่มที่เสนอซื้อตะวันออกฟายแน้นซ์ด้วย..."
(จากเรื่อง "เราเสนอซื้อตะวันออกฯ ด้วยราคาสูงสุดชนิดที่ไม่มีใครกล้าสู้" นิตยสารผู้จัดการ เดือนธันวาคม 2532)
ซึ่งในบทบาทนี้สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับราเกซเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคที่ตลาดหุ้นเฟื่องฟู และกิจกรรมการซื้อ-ขาย ควบรวมกิจการเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด
"...ชื่อของกลุ่มเอเชียน แปซิฟิค ออกจะดูใหม่ในวงการ แต่ชื่อของราเกซ สักเสนา CHIEF OPERATING OFFICER ของกลุ่มฯ นั้นไม่ใหม่เลย ออกจะเป็นที่รู้จักกันดีด้วยซ้ำไป นอกจากซื้อตะวันออกฟายแน้นซ์แล้ว เอเชียน แปซิฟิค กรุ๊ป กำลังดำเนินการซื้อกิจการด้านฟาสต์ฟูด กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปและกิจการอิเล็กทรอนิกส์รวม 3-4 แห่งเข้าไว้ในกลุ่มให้ได้ก่อนสิ้นปี 2532 ด้วย
ส่วนปี 2533 ก็มีเป้าหมายเมื่อถึงสิ้นปีหน้ากิจการที่จะซื้อเข้ามาไว้อีกมากกว่า 10 แห่ง คิดเบ็ดเสร็จก็เท่ากับมีกิจการในกลุ่มมากกว่า 50 แห่ง
แล้วจะไม่ให้เรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นนักซื้อกิจการตัวจริงได้อย่างไร..."
(จากเรื่อง "เอเชียน แปซิฟิค กรุ๊ป : เวนเจอร์ แคปิตอลตัวจริง" นิตยสารผู้จัดการ เดือนมกราคม 2533)
ชื่อเสียงที่ถูกสั่งสม ได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องให้กลายเป็นเครือข่ายการเงินที่กว้างขวางครอบคลุมไปทั่วทุกวงการ
"...สำหรับปี 2537 กลุ่มที่ "ร้อน" และมาแรงที่สุดคือกลุ่มพันธมิตรระหว่าง "เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์-ธีระศักดิ์ สุวรรณยศ-ราเกซ สักเสนา" ถ้าย้อนกลับไปทบทวนการซื้อขายกิจการในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าถ้าไม่นับแอสเซทพลัส ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 3 แล้ว อีกครึ่งที่เหลือเป็นดีลที่เกิดขึ้นจากฝีมือของทั้ง 3 คนนี้..."
"...คนที่สามคือราเกซ สักเสนา นั่งประจำอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ในสถานะที่ไม่ค่อยจะชัดเจนนักว่าเกี่ยวข้องอะไรกับทางธนาคาร ความคล่องแคล่วว่องไวและรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาของเขานั้น เป็นบุคลิกที่ทำให้คนที่รู้จักสามารถเกิดความรู้สึกทั้งเชื่อถือ และไม่ไว้ใจไปพร้อมๆ กันได้
เขาบอกว่ารู้จักกับเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ตั้งแต่สมัยที่เกริกเกียรติยังทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเกริกเกียรติลาออกมาบริหารอยู่ที่กิจการธนาคารของครอบครัว เขาก็มาร่วมงานด้วยตั้งแต่ปี 2530 โดยทำหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายการบริหารเงิน..."
"ผมให้นิยามอาชีพตัวเองว่าเป็นเทรดเดอร์ไม่ใช่นักลงทุน ธุรกิจของผมคือการซื้อขายเงินล่วงหน้าที่ทำกันในตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่ที่นี่" ราเกซพูดถึงงานของตัวเอง
แต่ราเกซในความรับรู้ของคนทั่วๆ ไปนั้น เขาคือ ดีลเมกเกอร์ คนหนึ่ง
"บางครั้งลูกค้าก็มาหาผม หรือไม่ก็เป็นลูกค้าของแบงก์อยู่แล้ว เช่น โกลเบ็กซ์นี่ก็เป็นลูกค้าแบงก์แล้วเราก็คุยกัน เป็นคนติดต่อ ผมให้คำแนะนำปรึกษา ไม่ใช่ว่ามีธุรกิจหรือกิจการต่างหากที่จะมาเกี่ยวข้องหรือได้ประโยชน์จากการทำดีล" ราเกซยังยืนยันว่าการเป็นคนกลางในการเจรจาซื้อขายกิจการไม่ใช่งานหลักของเขา
โกลเบ็กซ์ที่เขาพูดถึงก็คือหัวหอกในความพยายามเข้าเทกโอเวอร์บริษัทฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ นั่นเอง
การเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มผู้ซื้อในการเทกโอเวอร์ฟินิคซ พัลพ์ฯ ของราเกซ เป็นจุดที่ทำให้เขาได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับเชิดศักดิ์ และในการขายหุ้นบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ หรือเอสวีไอ 20.18% ให้กับบริษัทเพรสซิเดนท์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ของณัชชัย ถาวรธวัช และขายหุ้นทีเอทีแอล 19.29% ให้กับบริษัทวินิเวศของสุชาติ ตันเจริญ เมื่อเร็วๆ นี้ เชิดศักดิ์ก็ใช้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน..."
(จากเรื่อง "พ่อมดการเงิน คนพันธุ์ใหม่ในตลาดทุนไทย" นิตยสาร ผู้จัดการ เดือนกรกฎาคม 2537)
การได้ราเกซมาเป็นคู่คิดบุกเบิกธุรกิจใหม่ให้กับ BBC ทำให้เกริกเกียรติวาดฝันอนาคตของ BBC ไว้อย่างสวยหรู
รายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพื่อเทกโอเวอร์กิจการ คือธุรกิจใหม่ที่เกริกเกียรติคาดว่าจะทำรายได้ให้กับ BBC อย่างมโหฬารตามการเติบโตของตลาดหุ้น
แต่เขาก็ต้องติดกับอยู่กับโครงสร้างที่ซับซ้อนจากวิศวกรรมการเงินที่ราเกซสร้างขึ้น จนถึงขั้นต้องนำ BBC ทั้งธนาคารเข้าไปร่วมเสี่ยงด้วยกับโครงสร้างดังกล่าว
เป็นโครงสร้างลักษณะที่มีการตั้งบริษัทกระดาษ ทุนจดทะเบียนแค่ 1 หมื่นบาท แต่สามารถขอกู้จากธนาคารได้วงเงินหลักร้อย หลักพันล้านบาท
"...ตรรกะของราเกซก็คือ เมื่อผู้เข้าฟื้นฟูบริษัทใหม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัท ราคาหุ้นย่อมเพิ่มขึ้น ถึงเวลานั้นเมื่อนำหุ้นออกขาย ทุกคนก็จะได้กำไรส่วนต่างจากราคาที่เพิ่มขึ้น
วิธีนี้แบงก์จะมีรายได้จากค่าที่ปรึกษาพร้อมกับยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น
ผู้ซื้อเดินมาตัวเปล่าเพียงมีอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งมาจำนองไว้กับแบงก์ก็สามารถมีสิทธิกู้เงินไปซื้อหุ้น เมื่อราคาหุ้นขึ้นก็ขายเอากำไร และนำเงินมาชำระหนี้
ส่วนตัวกลางคือราเกซ จะมีหุ้นเดิมในบริษัทนั้นที่ตัวเองกว้านซื้อไว้ในต้นทุนต่ำกว่าทุกคน ส่วนต่างกำไรก็สูงขึ้น
ทุกคนได้ประโยชน์หมด ถ้า...ราคาในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มดังที่ต้องการ
แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็มีแต่ราเกซที่ลอยตัว เพราะไม่มีอะไรที่จะเสียเนื่องจากหุ้นที่ซื้อมาก็ราคาต่ำอยู่แล้ว ส่วนแบงก์ก็ค่อยหาทางล้างหนี้ต่อไป....."
(อีกตอนหนึ่งของเรื่อง "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อวสาน อินทรทูต นิตยสารผู้จัดการ เดือนเมษายน 2539)
"...18 มีนาคม 2539 แบงก์ชาติจึงตัดสินใจเข้าจัดการกับบีบีซีอย่างเฉียบพลันตามมาตรา 24 ทวิวรรค 3 ว่าด้วยความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มทุนหรือลดทุน เพื่อให้แบงก์พยุงฐานะและสามารถดำเนินการต่อไปได้ แบงก์ชาติสามารถสั่งให้มีการเพิ่มทุน หรือลดทุนได้ทันที คำสั่งนี้ถือเป็นมติประชุมผู้ถือหุ้นทันที
เกริกเกียรติประหลาดใจพอๆ กับนักข่าวที่มาฟังแถลงข่าวในวันนั้น ไม่คิดว่าการจัดการปัญหาแบงก์บีบีซีของแบงก์ชาติครั้งนี้ จะจู่โจมแบบไม่ทันให้ตั้งตัว
เขานั่งเท้าคางฟังแถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจากจรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการอย่างครุ่นคิด
เขาไม่ตอบคำถามอะไร นอกจากสรุปเพียงสั้นๆ ว่า "คุณจรุงว่าอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรขัดข้องเมื่อคุณขอมาเราก็ให้อยู่แล้ว" ก่อนจะเดินฝ่าวงนักข่าวออกไปขึ้นรถที่ประตูแบงก์ชาติ
ตำนานการต่อสู้อันเร้าใจของอินทรทูต สิ้นสุดลงด้วยฝีมือของเขา "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์..."
(บทสรุปปิดท้ายจากเรื่องเดียวกัน)
มีนาคม 2529 เป็นปีที่ "อินทรทูต" ปฏิบัติการยึดอำนาจการบริหาร BBC กลับมาไว้ในมือ
มีนาคม 2539 เป็นปีที่ BBC ภายใต้การบริหารงานของอินทรทูต ถูก ธปท.ใช้ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ยึดอำนาจการบริหารงานมาเป็นของทางการ เพราะเห็นความผิดปกติในธุรกรรมปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทกระดาษ เพื่อนำเงินไปเทกโอเวอร์กิจการอื่น ก่อนที่จะถูกสั่งปิดในเวลาต่อมา
ทั้งเกริกเกียรติและราเกซถูกทางการดำเนินคดี แต่ราเกซชิงหนีไปอยู่แคนาดาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2539
มีนาคม 2549 บทสรุปของคดีที่ยืดเยื้อมา 10 ปี เริ่มมองเห็นปลายทางที่เด่นชัดขึ้น พร้อมกับอาการเสียวสันหลังของคนในสังคมไทยหลากหลายวงการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอื้อฉาวครั้งนี้
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก www.gotomanager.com
|
|
|
|
|