สถาบันดนตรีเคพีเอ็น สบช่องโอกาสธุรกิจดนตรีหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัดรุ่ง ปี 2549 ตั้งเป้าบุกตลาดเพิ่มสาขาแฟรนไชซีอีกไม่ต่ำกว่า 10 สาขา เตรียมเจาะพื้นที่ เชียงใหม่ ภูเก็ต คาดสรุปเร็วๆนี้ ล่าสุดเพิ่มหลักสูตร "คอมพิวเตอร์มิวสิค" รับกระแสฐานลูกค้าหลักวัยรุ่นแห่เรียน ชี้โอกาสการลงทุนสูงคู่แข่งขันไม่มาก เทียบธุรกิจน้ำซึมบ่อทรายภาวะเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบ
สถาบันดนตรีเคพีเอ็น (KPN MUSIC ACADEMY) ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ภายใต้การกุมบังเหียนของ "ณพ ณรงค์เดช " ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ที่เข้าสานต่อธุรกิจ และต่อยอดความสำเร็จจากฐานรากที่คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช สร้างไว้จากการเปิดโรงเรียนสอนดนตรีขึ้นตั้งแต่ปี 2509
โดยนำเสนอคอนเซ็ปต์ของการเป็นสถาบันดนตรี ที่แตกต่าง โดยเน้นการสอนที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันทั้งหลักสูตรการสอน การตกแต่งสถานที่ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจตลอดระยะ 5 ปีได้รับการตอบรับ จากฐานลูกค้า (แฟรนไชซี) จำนวน 30 ราย ส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการกว่า 20,000 คน
และในปี 2549 นี้ เป็นปีที่สถาบันดนตรีเคพีเอ็น เตรียมขยายงานออกสู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่นและหาดใหญ่ เป็นการขยายสาขาแฟรนไชซีจากเดิมมีอยู่ที่ พัทยา ระยอง จันทบุนีและสระบุรี
ณพ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงการรุกขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดว่ามีความพร้อมอย่างมากทั้งหลักสูตรและบุคลากร ทั้งนี้ผ่านการพิสูจน์จากจำนวนผู้เรียนในสาขากรุงเทพกว่า 20,000 รายได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าขยายสาขาอีกกว่า 10 สาขา รวมสิ้นปี 49 ตัวเลขสาขารวมไม่ต่ำกว่า 42 สาขา
เพราะหลักสูตรของสถาบันดนตรีเคพีเอ็น มีสำหรับกลุ่มผู้เรียนตั้งแต่ช่วงอายุ 3 ขวบครึ่งไปจนถึงมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไป โดยได้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ได้แก่การเรียนตามหลักสูตร ได้รับใบรับรองจากสถาบันและหลักสูตรที่ดีไซน์ตามความต้องการของผู้เรียน เช่น เรียนร้องเพลงเพียงไม่กี่เพลงสำหรับการไปร่วมงาน หรือเรียนกีต้าร์ระยะสั้นเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนฝูง นอกจากนี้ยังแยกประเภทของเครื่องดนตรีและประเภทงานดนตรี เช่น คลาสสิค ป๊อป ร็อค อาร์แอนด์บี จึง ทำให้เคพีเอ็นเป็นสถาบันดนตรีที่มีหลักสูตรหลากหลายมากที่สุดสถาบันหนึ่ง
ทั้งนี้ยังเน้นหลักสูตรการเรียน การสอนดนตรีไทย ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เกิดขึ้น โดยวิธีการสอนที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาการเล่นดนตรีไทยสำหรับเด็กยุคใหม่
"เมื่อเทียบดนตรีกับกีฬา จะเห็นว่ากีฬาเข้าถึงง่ายกว่า โดยเราพยายามทำให้ดนตรีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีหลักสูตรต่างๆ ทำให้เด็กมีความสนใจมากขึ้น จะเห็นว่าตอนเด็กๆ เล่นดนตรีไม่เป็นพอมาเรียนดนตรีต้องเล่นเพลงของโชแปง โมซาส บีโทเฟ่น ในขณะที่เราชอบเพลงร็อค การเรียนดนตรีจึงเป็นปิระมิด ซึ่งสิ่งที่เคพีเอ็นทำคือปิระมิดซ้อนปิระมิด ทำให้เด็กวัยรุ่นอยากเข้ามาเรียนดนตรีกับเราเพราะมีแนวดนตรีที่ตรงใจเขา อยากเล่นป๊อปเราก็สอน ขณะเดียวกันก็สอนพื้นฐานดนตรีคลาสิคควบคู่ด้วย ซึ่งเป็นวิธีการที่เราคิดค้นขึ้นและทำมาตลอด”
สำหรับบุคลากรนั้น ปัจจุบันมีคณาจารย์ผู้ทรวงคุณวุฒิจำนวน 15 ท่าน ที่เป็นบุคคลชั้นนำในวงการดนตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะแบ่งสายงานดูแลอย่างชัดเจน เช่น อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ หัวหน้าภาควิชาขับร้อง อาจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำ หัวหน้าภาควิชาไวโอลิน อาจารย์เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี ที่ปรึกษาภาควิชา Dance
"จากบุคลากรและหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรลิขสิทธิ์ของเคพีเอ็นนั้น ได้รับการยอมรับปัจจุบันมีหลักสูตรให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น เอแบค และการผลิตบุคลากรในวงการบันเทิงในผู้อยู่เบื้องหน้าศิลปิน นักร้องและผู้ทำงานเบื้องหลัง ทั้งนี้ภาพของสถาบันดนตรีเคพีเอ็นไม่ใช่เพียง weekend school ซึ่งเป็นมากกว่าหรือเปรียบได้กับการเป็น OEM ให้กับวงการดนตรี"
ณพ กล่าวเพิ่มเติมว่า และไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 จะเพิ่มหลักสูตรใหม่ “คอมพิวเตอร์มิวสิค” เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยทำงานเพลงขณะนี้หลักสูตรพร้อมแล้วอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ในการอิมพีเม้นท์มิวสิคเทคโนโลยี ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวสอดรับกับความต้องการตลาดโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นตลาดหลัก ที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะกับงานเพลงทำให้ต้องพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ณพ ได้กล่าวถึงการเข้ามาลงทุนของแฟรนไชซีว่า ได้กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำที่ 250 ตารางเมตร เป็นค่าแฟรนไชฟี 625,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี ค่ารอโยตี้ฟี ปีที่ 1-5 7% ของรายได้รวมต่อเดือนก่อนหลักค่าใช้จ่าย (กำหนดขั้นต่ำเดือนละ 20,000 บาท) ทั้งนี้ไม่รวมค่าเครื่องดนตรี ค่าหนังสือและอุปกรณ์อื่นๆ ค่าเงินประกันและค่าตกแต่ง ซึ่งประมาณการลงทุนรวม 4-5 ล้านบาท
โดยสิทธิ์ที่แฟรนไชซีได้รับคู่มือการดำเนินกิจการพร้อมหลักสูตร สิทธิ์การใช้เครื่องหมายในการโฆษณาระดับท้องถิ่น ให้คำปรึกษาด้านทำเล หลักสูตรที่เหมาะสมกับแฟรนไชซีนั้นๆ ฝึกอบรมอาจารย์และบุคลากร ให้การสนับสนุนด้านการตลาดและให้คำปรึกษา
อย่างไรก็ตาม ณพ มองว่าโอกาสธุรกิจของสถาบันสอนดนตรีนั้นนั้นมาก ทั้งนี้จากตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการล่าสุด ระบุว่าจำนวนผู้อยู่ในวัยเรียน (ไม่รวมระดับมหาวิทยาลัย) มีจำนวนกว่า 10 ล้านคน จากการสำรวจพบว่ามีโอกาสเรียนดนตรีไม่ถึง 200,000 คน แบ่งจากฐานตัวเลขที่กระจายตามสถาบันดนตรีรายใหญ่ในตลาดต่างๆ กว่า 100,000 คนโดยมีฐานของเคพีเอ็นประมาณ 20,000 คนนอกนั้นกระจายตามสถาบันดนตรีเล็กๆ อีกประมาณ 100,000 คน
จะเห็นได้ว่ายังมีช่องว่างอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นลูกค้าของสถาบันดนตรี และการแข่งขันธุรกิจสถาบันสอนดนตรียังไม่สูง มีรายใหญ่ในตลาดประมาณ 3 รายเท่านั้น และเมื่อเทียบกับเม็ดเงินการลงทุนระดับ 4-5 ล้านบาทกับธุรกิจประเภทอื่น
กับโอกาสของธุรกิจดังกล่าว สำหรับสถาบันดนตรีเคพีเอ็นได้มีแผนงานธุรกิจในการสนับสนุนแฟรนไชซีทั้งรายใหม่และรายเดิมที่เป็นแฟรนไชซีอยู่แล้วนั้น ด้วยมาร์เก็ตอีเวนต์เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์และสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้จัดประกวดร้องเพลงถ้วยพระราชทานชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (KPN AWARD) การประกวดร้องเพลงยุวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (KPN JUNIOR AWARD ) และการประกวดวงดนตรีชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (KPN THAILAND BAND COMPETITION)
รวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับแฟรนไชซี เช่น ขณะนี้บริษัทได้เริ่มบริการรับเล่นตรีตามงานต่างๆ เช่น วันเกิด งานสังสรรค์ ตามบ้านหรือโรงแรม มีบริการประเภทดนตรี เครื่องดนตรีและจำนวนชิ้นหรือเต็มวง ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจะเริ่มจากแฟรนไชซีที่มีศักยภาพได้ก่อน
และหลักสูตรดนตรีสำหรับสถานศึกษาในจังหวัดนั้นๆ โดยเบื้องต้นบริษัทเป็นผู้ดำเนินการหากเล็งเห็นแฟรนไชวีรายใดสามารถดำเนินการได้ก็สามารถทำได้ เหล่านี้เป็นรายได้เสริมนอกจากรายได้หลักคือ ค่าเล่าเรียนเฉลี่ย 1,600-20,000 บาทต่อคลาส ค่าขายหนังสือคู่มือและค่าขายเครื่องดนตรี
ณพ กล่าวในตอนท้าย สิ่งสำคัญต่อการเข้ามาทำธุรกิจคือผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่ต้องมีความใส่ใจกับธุรกิจ มีเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่เคพีเอ็นย้ำมาก เพราะเป็นงานบริการที่ต้องสัมผัสกับผู้เรียนหรือลูกค้าในส่วนนี้จำเป็นมากที่บริษัทได้ลงทุนกับระบบไอทีในการติดต่อสื่อสารกับแฟรนไชซีสะดวกด้วยระบบออนไลน์ที่กำลังพัฒนารวมถึงอาจารย์ผู้สอน ที่ได้นำข้อมูลลูกค้าเพื่อทราบความต้องการของหลักสูตร การบริการ มาพัฒนาธุรกิจ
"แฟรนไชซีที่ประสบความสำเร็จเกิดจากความเอาใจใส่ เพราะบางสาขาที่เปิดใหม่โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดจำนวนผู้เรียนเดือนแรกสูงถึง 200 คน เดือนที่ 2 ที่ 3 เพิ่มเป็น 400-500 คน ณ จุดนั้นเขาก็เริ่มทำกำไรได้แล้ว" ณพ กล่าว
สำหรับทิศทางของสถาบันดนตรีเคพีเอ็น ธุรกิจแฟรนไชส์นับเป็นจิ๊กซอร์ตัวแรกในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ภายใต้การบริหารงานของ "ณพ ณรงค์เดช" แล้ว ยังจะได้เห็นจิ๊กซอร์ในตัวต่อๆไป ในยุคของธุรกิจดนตรีเมืองไทยที่มีโอกาส และช่องทางอีกมาก
|