|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลังความล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมกองทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่ามุ่งหน้าสู่หัวเมืองภาคตะวันออกเพื่อสร้างฐานที่มั่นกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า การกอบกู้เอกราชและการรวบรวมราชอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นเป็นภารกิจสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี
งานส่วนใหญ่ของราชสำนักเวลานั้นจึงเป็นเรื่องการจัดการเรื่องสงครามและการเมืองเป็นด้านหลัก การจัดการและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการค้าการขายกับต่างประเทศเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3
ชาวนาเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสังคมไทย ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์อันยาวนานของสยาม การปลูกข้าวเพื่อส่งออกและเพื่อการค้าภายในเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2500 ต้นๆ สินค้าส่งออกเกษตรมีสัดส่วน 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด สังคมเกษตรกรรมช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่อเนื่องจนถึงราว พ.ศ. 2490
สังคมภาคเกษตรในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยชาวนาอิสระจำนวนมาก และ ชาวนาเหล่านี้ก็สามารถจับจองพื้นที่ในการเพาะปลูกได้ สังคมแบบนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมแห่งการพึ่งตัวเอง ให้คุณค่ากับความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน มีประเพณีช่วยเหลือเกื้อกูลและมีน้ำใจต่อกัน
อย่างไรก็ตามในสมัยอยุธยานั้น กิจการค้าข้าวส่งออกไปต่างประเทศยังไม่เฟื่องฟูเต็มที่ เนื่องจาก ชนชั้นนำเวลานั้นจัดการเรื่องข้าวอยู่บนพื้นฐานของการบริโภคภายในและเป็นเสบียงสำหรับกิจการสงคราม มากกว่า จะนำไปส่งออกเพื่อหารายได้ การส่งออกข้าว น้ำตาล และสินค้าเกษตรอื่นๆเริ่มมาเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากที่สยามได้เซ็นสัญญาสนธิสัญญาบาวริ่งสยามส่งออกข้าวเพียง 15,000 กว่าต้นในปี พ.ศ. 2393 พอปี พ.ศ. 2403 ปริมาณส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาเป็น 62,000 ต้นต่อปี และในช่วงทศวรรษ 2470 การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาเป็น 100,000 ตันต่อปี
ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่พันธุ์ข้าวของไทยกำลังถูกแย่งชิงไปอย่างแยบยลด้วยเกมทรัพย์สินทางปัญญาการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการผลิตข้าว จากการผลิตเพื่อการยังชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงดั้งเดิม เป็น การผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นทำให้พ่อค้านักธุรกิจและรัฐเข้ามามีบทบาทเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรมากขึ้น
สังคมชาวนาอิสระที่มีวัฒนธรรมแบบเสมอภาคค่อยๆเสื่อมลง สังคมชาวนาแบ่งแยกเป็นชาวนาร่ำรวยเจ้าของทุนและผืนดินขนาดใหญ่ กับ ชาวนาไร้ที่ดิน การเพิ่มจำนวนคนในสังกัด และ การเพิ่มจำนวนประชากร เป็นทั้งความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการเมือง การทำนาและการผลิตภาคเกษตรต้องการแรงงานจากไพร่ทาสจำนวนมาก
เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน จึงต้องมีระบบเกณฑ์แรงงาน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการปรับปรุงระบบการจดทะเบียนไพร่โดยการสักที่ข้อมือ มีการส่งข้าราชการไปตรวจสอบดูว่า ใครข้อมือขาวให้ตามล่ามาสักข้อมือเสียเพื่อจะได้เข้าระบบบังคับเกณฑ์แรงงาน มีการสึกพระให้ออกมาเป็นไพร่เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานหากพระรูปนั้นสอบตกในการทดสอบความรู้ของพระสงฆ์
ไพร่นั้นแบ่งออกเป็นไพร่สม และ ไพร่หลวง โดยไพร่หลวงทำงานโครงการก่อสร้างวัง ขุดคลอง สร้างวัดตามโครงการของพระมหากษัตริย์ ขณะที่ไพร่สมจะทำงานให้กับขุนนางหรือมูลนายต่างๆ นอกจากการทำงานให้มูลนายแล้ว ไพร่สมยังต้องส่งส่วยเป็นอาหารและของใช้จำเป็นอื่นๆให้แก่มูลนาย
นอกจากไพร่แล้ว ยังมีแรงงานอีกกลุ่มใหญ่ คือ ทาส มีทั้งที่เป็นชาวไทย และถูกกวาดต้อนจากดินแดนอื่นในฐานะเชลยศึก ส่วนหนึ่งต้องโทษทางอาญา หรือ ตกเป็นหนี้จนต้องขายตัวเป็นทาส ทาสไม่มีสิทธิในที่ดินจึงไม่มีโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจในยกระดับฐานะตัวเอง เพราะที่ดิน คือ ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดเวลานั้น นอกเหนือจากแรงงาน
การซื้อขายทาสนั้นมีอยู่ในสังคมสยามก่อนสมัยรัชกาลที่ห้า กษัตริย์นักปฏิรูปผู้เลิกทาส แต่สยามไม่ได้มีตลาดค้าทาสเหมือนยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา และทาสในสยามเองก็มีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าทาสในประเทศอื่นๆ
ความรุนแรงทางการเมืองและทางสังคมจากการลุกอือเพื่อต่อสู้การกดขี่ในสังคมจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นมานักในประวัติศาสตร์ของสังคมสยาม
การค้าต่างประเทศและการค้าในประเทศอยู่ในการควบคุมของชนชั้นนำและราชสำนัก ตรงนี้มีนัยยสำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของสยาม เราจะขยายความกันต่อในสัปดาห์หน้า ครับ
|
|
|
|
|