|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"แบงก์ทหารไทย"(TMB) เชื่อผู้คนคงเข้าใจและไม่คิดว่าทุนสิงคโปร์ "ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง"ที่ถือหุ้น 16%จะเข้าครอบงำ โลโก้ที่ก่อตั้งมาโดย 3 เหล่าทัพ ยอมรับหลังรีแบรนดิ้งองค์กร ยังอยู่ห่างคู่แข่งอย่าง แบงก์กรุงศรีฯและเคแบงก์ตระกูล K ฮีโร่ถึง 2 ก้าว ขณะที่ปี 2549 เตรียมเทงบไปกับการปลุกปั้น "อิมเมจ" แบงก์ทหารไทยให้ทันสมัยและมีสีสัน....
การควบรวมระหว่างแบงก์ทหารไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT) และแบงก์ดีบีเอสไทยทนุ ทำให้แบงก์ทหารไทยยุคใหม่ที่เกิดจากการควบรวมต้องลดฝีเท้าลง แต่ภายหลังการควบรวมไม่นาน ในเดือนพฤศจิกายน 2548 ก็มีการรีแบรนดิ้งองค์กรเพื่อไล่ให้ทันคู่แข่งที่ออกสตาร์ทล่วงหน้าไปก่อนหน้านั้นหลายก้าว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือ การประกาศเพิ่มทุนท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมของการเมืองในประเทศ อันเป็นผลมาจากโครงสร้างการถือหุ้นที่มีทุนจากสิงคโปร์ ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ตัวแทนผลประโยชน์รัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ 16% ทำให้เกิดข้อครหามากมาย โดยเฉพาะประเด็นการแอนตี้ "ไม่เอา" ไม่ซื้อสินค้า ไม่ใช้บริการธุรกิจที่มีกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เป็นพันธมิตร ในขณะที่เจ้าของเม็ดเงินก็เริ่มลังเลใจต่อเหตุการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายลงในเร็ววัน
ปัจจุบัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นธนาคารทหารไทยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น31% ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง สิงคโปร์ ถือ 16% สามเหล่าทัพ 5% ไทยประกันชีวิต 1-2% ที่เหลือเป็นรายย่อย 45%
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนโดยการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้อยสิทธิ์กึ่งทุน และการเพิ่มทุนใหม่ ก็ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อนำไปไถ่ถอนแคปส์จำนวน 5 พันล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ที่มีต้นทุนสูง และขยายธุรกิจ
สุภัค ศิวะภักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย ยังต้องตอบคำถามผู้คนที่สงสัยในตัวผู้ถือหุ้นกลุ่มทุนสิงคโปร์ โดยออกตัวว่า แบงก์ทหารไทยเกิดจาก 3 เหล่าทัพเป็นผู้ก่อตั้ง จึงเชื่อว่าคนจะเข้าใจ และคงไม่แอนตี้กลุ่มดีบีเอส ที่ถือหุ้นในแบงก์ทหารไทย นอกจากนั้นก็คิดว่าผู้คนคงแยกแยะได้ เพราะถ้าคิดว่ามีการครอบงำก็คงแย่เอาการ
ขณะที่ปีนี้ ได้เตรียมงบโฆษณาภายใน 2-3 เดือนประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อพยายามเข้าใกล้แต่ละครัวเรือน โดยการปรับอิมเมจ โลโก้ ของแบงก์ให้มีสีสันทันสมัยและมีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อจากการ "รีแบรนดิ้ง" ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา
สุภัคบอกว่า หากเทียบกับคู่แข่งอย่างแบงก์กรุงศรีอยุธยาและเคแบงก์หรือ Kฮีโร่ ทหารไทยยังห่างอยู่ถึง 2 ก้าว เพราะช่วงแรกของการรีแบรนดิ้งอยู่ในขั้นเปลี่ยนแปลงแบรนด์โลโก้ สาขา รวมถึงคำขวัญ การปรับปรุงรูปโฉมภายในองค์กร เพื่อให้คนยอมรับ
" แบงก์อื่นๆเขาปรับปรุงคุณภาพ การบริการ ทำให้บางแบงก์ก้าวหน้าไปไกลกว่าเรา ส่วนเรายังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน"
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปของทหารไทยก็คือ อยู่ในช่วงปรับปรุงสินค้า หลังจากมีการปรับปรุงสาขาไปแล้ว 50-100 แห่ง ก็จะเริ่มเน้นการอบรมพนักงาน เพื่อทำหน้าที่ขายสินค้าหน้าเคาท์เตอร์
โดยไตรมาส 2 ปีนี้แบงก์ทหารไทยอยู่ระหว่างคัดเลือกพันธมิตรเพื่อเป็นตัวแทนขายประกันภัย ประกันชีวิต เพื่อให้เหลือเพียงรายเดียว จากปัจจุบันที่มีอยู่หลายรายจากผู้วิ่งไล่ตามอยู่ข้างหลังมานานหลายปี หลังจากนั้นแบงก์ทหารไทยก็จะเริ่มเบียดเข้าประชิดตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีอาการสะดุดจากกระแส "ไม่เอา" ทุนสิงคโปร์ เป็นอันดับแรกเสียก่อน....
|
|
|
|
|