จับตาซัปพลายคอนโดฯชั้นในกรุงเทพฯปี49 ทำสถิติสูงสุดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจถึง 47,560 ล้านบาท ระบุระดับราคาเสนอขายต่อตร.ม.ขยับสูงกว่า 70,000 บาท ชี้ผลพวงส่วนต่อขยายบีทีเอส-รถไฟใต้ดิน จุดเปลี่ยนทำให้คอนโดฯรอบกรุงเทพฯเฟื่อง ส่วนยอดขายคอนโดฯชั้นในชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ฝ่ายวิจัย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงตลาดคอนโดมิเนียมเขตกรุงเทพฯชั้นในว่า โดยรวมความต้องการในตลาดคอนโดฯในปี 2548 มีระดับใกล้เคียงกับปี 2547 อย่างไรก็ดี เริ่มมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นยอดการขายในช่วงครึ่งหลังของปี48ชะลอตัวลงมาก ทั้งในตลาดคอนโดฯระดับราคาปานกลางและระดับหรู สาเหตุส่วนหนึ่ง คาดว่ามาจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการแข็งขันที่เพิ่มขึ้นกับคอนโดฯโครงการใหม่ๆ ที่ขึ้นในทำเลนอกเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน
โดยพบว่า ราคาขายโดยเฉลี่ยยังคงปรับตัวขึ้นไปได้อีกในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่มีหลายโครงการเป็นโครงการระดับหรูที่มีราคาสูง จึงดึงให้ราคาเฉลี่ยในตลาดสูงขึ้น อาทิเช่น ม.ค.49 ราคาเสนอขายอยู่ระดับ 70,000 กว่าบาทต่อตารางเมตร ขณะที่ม.ค.48 ราคาเสนอขายประมาณ 65,000 บาทต่อตร.ม.ส่วนม.ค.47 ราคาเสนอขายระดับ 50,000 บาทต่อตร.ม.อย่างไรก็ดี จากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นและอัตราการขายที่ช้าลง ทำให้บางโครงการจัดโปรโมชันราคาพิเศษ หรือลดราคาสำหรับยูนิตที่เหลือ
สำหรับอุปทานในปีที่ผ่านมา มีคอนโดฯสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯชั้นใน รวมทั้งสิ้น 4,745 ยูนิต ทำให้เขตกรุงเทพฯชั้นในมีคอนโดฯที่สร้างเสร็จแล้วรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 47,560 ยูนิต จำนวนยูนิตที่สร้างเสร็จเพิ่มขึ้นใหม่ในปีที่ผ่านมานี้ เป็นสถิติสูงสุดนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา สำหรับอุปทานในอนาคตจากปี 2549 ถึง 2452 จะมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จเพิ่มอีก 12,160 ยูนิต ทั้งนี้ หากการก่อสร้างเป็นไปตามกำหนด เฉพาะในปี 2549 นี้ จะมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นอีกถึง 6,350 ยูนิต ซึ่งจะเป็นสถิติรายปีที่สูงที่สุดนับจากปี 2524 ส่วนที่เหลืออีก 5,810 ยูนิตจะทยอยสร้างเสร็จระหว่างปี 2550 ถึง 2552 (3,675 ยูนิต จาก 18 โครงการ ,จำนวน1,740 ยูนิตจาก 2 โครงการและ 397 ยูยิตจาก 1 โครงการในปี 2552)
ในส่วนของโครงการเปิดตัวใหม่ (อาจเริ่มการก่อสร้างแล้วหรือยังไม่เริ่มการก่อสร้างก็ได้) ในปีที่ผ่านมา มีจำนวนยูนิตเสนอขายเข้ามาในตลาดเขตกรุงเทพฯชั้นในรวม 4,530 ยูนิต ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีโครงการเปิดตัวใหม่คิดเป็นจำนวนรวม 80,090 ยูนิต อัตราการขยายตัวที่ชะลอลงของจำนวนยูนิตเปิดตัวใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้พัฒนาโครงการหลายรายได้เลือกเปิดโครงการในทำเลที่กระจายตัวออกนอกเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่มีจุดขายตรงที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน
ฝ่ายวิจัยฯได้บ่งชี้ถึงความต้องการ(อุปสงค์)ซื้อคอนโดฯชั้นในช่วงปีที่ผ่านมาว่า มียอดขายรวม 5,510 ยูนิต (เฉพาะยูนิตมือหนึ่งในโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว กำลังก่อสร้าง หรือยังไม่เริ่มก่อสร้าง) ต่ำกว่าปี 2547 เล็กน้อยซึ่งมียอดขายรวม 5,740 ยูนิต โดยข้อมูลการขายส่งสัญญาณให้เห็นว่า ยอดการขายคอนโดฯในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เริ่มชะลอตัวลงนับจากช่วงครึ่งหลังของปี 2548 เป็นต้นมา โดยในช่วงครึ่งแรกของปีมียอดขาย 3,750 ยูนิต และลดลงเหลือ 1,760 ในครึ่งหลังของปี เชื่อว่าเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการที่แรงซื้อบางส่วนกระจายออกไปในโครงการนอกเขตกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะทำให้ตลาดคอนโดฯชั้นในยังเติบโตมาจาก โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน ได้ขยายโอกาสการพัฒนาโครงการคอนโดฯใหม่ๆ ขึ้น และเมื่อมีการสร้างส่วนขยายของระบบขนส่งมวลชนทั้งสองระบบ จะยิ่งเพิ่มศักยภาพสำหรับทำเลรอบนอกมากขึ้นต่อไป โดยราคาเสนอขายในปี49 คาดว่าจะไม่เคลื่อนไหวมากนัก ในขณะเดียวกัน แม้การแข่งขันจะสูง แต่เชื่อว่าเจ้าของโครงการจะพยายามเลี่ยงการลดราคาโดยตรง แต่จะเสนอส่วนลดทางอ้อมเพื่อจูงใจลูกค้า
|