ตลาดหุ้นไทยรูดต่อ 8 จุดนักลงทุนต่างชาติทิ้งอีก 1.1 พันล้าน สำรวจพบเดือนมี.ค.หุ้นมาร์เกตแคปใหญ่ 10 อันดับแรกราคาร่วงเกือบทุกตัว ยกเว้นหุ้นไทยออยล์-ปตท.สผ.-ปูนซีเมนต์ไทย ขณะที่หุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นหลุดสิบอันดับแรก เหตุราคาร่วงหนักถึง 20%บล.ทีเอสอีซี ชี้นักลงทุนหวั่นสถานการณ์การเมืองระอุ หลังกลุ่มพันธมิตรเรียกชุมนุมครั้งใหญ่ 25 มี.ค.นี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์ถูกทิ้งหนัก เหตุกองทุนฟื้นฟูเตรียมขายหุ้นธนาคารกรุงไทย-นครหลวงไทย "มาริษ ท่าราบ"ผู้บริหารกองทุนบ่นเสียดายหุ้นน่าลงทุน แต่กองทุนหุ้นทุนไม่มีเงิน เหตุนักลงทุนหันไปสนใจลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นแทน
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้(22 มี.ค.) ดัชนีช่วงเช้าเปิดในแดนบวกก่อนจะแกว่งตัวในทิศทางขาลงในช่วงบ่ายเนื่องจากนายก
รัฐมนตรีมีการเรียกประชุมคณะความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนดัชนีปิดที่ 724.41 ลดลง 8.07 จุด หรือ 1.10% โดยจุดสูงสุดระหว่างวันอยู่ที่ 734.51 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 724.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 13,601.08 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,134.75 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 398.95 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,533.70 ล้านบาท
นางสาวอรุณรัตน์ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง
เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลต่อความคลุมเครือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ประกอบกับยังวิตกต่อการเรียกประชาชนเข้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันเสาร์ที่ 25 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีการประกาศขีดเส้นภายใน 48 ชั่วโมง ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งในเรื่องดังกล่าวยังถือได้ว่าเป็นปัจจัยทางการเมืองที่กดดันตลาดหุ้นไทย
การที่ดัชนีหลุดแนวรับที่ 730 จุด ลงมาในทางด้านเทคนิคเป็นการส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่ดัชนีอาจจะปรับตัวลดลงมาทดสอบแนวรับที่
723-720 จุด โดยในวันนี้แนวต้านอยู่ที่ระดับ 734-730 จุด
นางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่าภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้
ปรับตัวลดลงเนื่องจากปัจจัยทางการเมืองยังคงกดดันและในช่วงบ่ายได้มีการปรับตัวลดลงมากกว่าในช่วงเช้าจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการเคลื่อนไหว โดยได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคง
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มธนาคารมีการปรับตัวลดลงจากที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะมีการปรับลดสัดส่วนการถือ
หุ้นของ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาให้นักลงทุนมีการขายหุ้นกลุ่มธนาคารออกมา
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าดัชนีจะมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยทางการเมืองซึ่งจะครบ 48 ชั่วโมงที่กลุ่มพันธมิตรฯมีการยื่นคำขาดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีและจะต้องติดในเรื่องของ บริษัท กฟผ.ที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีการ พิจารณาว่ากฟผ.สามารถที่จะขายหุ้นต่อประชาชนได้หรือไม่ โดยมองแนวรับที่ระดับ 720 จุด แนวต้านที่ระดับ 730 จุด
****หุ้นแบงก์ถูกเทขายหนัก
นักวิเคราะห์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงจากปัจจัยทางการเมือง ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลจึงขายหุ้นออกมาก่อน ทำให้ดัชนีของเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลง ซึ่งหุ้นกลุ่มธนาคารก็มีการปรับตัวลดลงจากการที่กองทุนฟื้นฟูจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้น ของ ธนารกรุงไทยและธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนทำให้มีการขายหุ้นกลุ่มดังกล่าวออกมารวม ซึ่งวันนี้หุ้นที่มีการปรับตับเพิ่มขึ้นในหุ้นขนาดเล็ก
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าปัจจัยการเมืองยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยมองแนวรับที่ระดับ 718 จุด แนวต้านที่ระดับ 728 จุด
หุ้นธนาคารที่ราคาปรับตัวลดลงประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย หรือ KTBราคาปิด 11.30 บาทลดลง 0.50 บาทหรือ 4.24% มูลค่าการซื้อขาย 865.63 ล้านบาท,ธนาคารนครหลวงไทย หรือ SCIB ราคาปิด 23.70 บาทลดลง 1 บาทหรือ 4.05% มูลค่าการซื้อขาย 456.90 ล้านบาท,หุ้นธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ราคาปิด 107 บาทลดลง 3 บาทหรือ 2.73% มูลค่าการซื้อขาย 1,095.19 ล้านบาท
หุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ราคาปิด 16.80 บาทลดลง 0.40 บาทหรือ 2.33% มูลค่าการซื้อขาย 23.27 ล้านบาทและธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK ราคาปิด 63 บาทลดลง 1 บาทหรือ 1.56% มูลค่าการซื้อขาย 306.61 ล้านบาท
***หุ้น SHIN หลุดท็อปเทน
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมสูงสุด 10 อันดับแรกประกอบด้วยบมจ.ปตท หรือ PTT, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือ ADVANC, บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL,บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK, บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ SHIN, บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI, บมจ.ธนาคารกรุงไทย หรือ KTBและบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ซึ่ง ณ สิ้นวันที่ 28 ก.พ.2549 ซึ่ง 10 บริษัทมีมาร์เกตแคปรวมทั้งสิ้น 2,516,819 ล้านบาท
ขณะที่มาร์เกตแคปของ 10 อันดับบริษัทจดทะเบียนที่มีมาร์เกตแคป 10 อันดับแรกสูงสุดล่าสุด(21มี.ค.) อยู่ที่ 2,475,002 ล้านบาท โดยลดลง 46,217 ล้านบาท หรือ 1.83%จากช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงอันดับบริษัทจดทะเบียนที่มีมาร์เกตแคปสูงสุด
โดยบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เลื่อนลงไปอยู่ในอันดับที่ 11 ขณะที่บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 ในส่วนของมูลค่ามาร์เกตแคปของบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นลดลงจาก 141,375 ล้านบาท ณ วันที่ 28 ก.พ. โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. มาร์เกตแคปอยู่ที่ 117,152 ล้านบาท ลดลง 24,222 ล้านบาท หรือ 17.13%
สำหรับด้านราคาหุ้น 10 บริษัทดังกล่าวในช่วงวันที่ 1 มี.ค.-21 มี.ค.ประกอบด้วย1. PTT ราคาปิดที่ 240 บาท ลดลง 10 บาท หรือ 4% 2.PTTEP ราคาปิดที่ 532 บาท เพิ่มขึ้น 12 บาท หรือ 2.31% 3.SCC ราคาปิดที่ 242 บาทไม่มีการเปลี่ยนแปลง 4.ADVANC ราคาปิดที่ 93 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ1.59%
อันดับ 5.BBL ราคาปิดที่ 110 บาท ลดลง 7 บาท หรือ 5.98% 6.KBANK ราคาปิดที่ 64 บาท ลดลง 3 บาท หรือ 4.48% 7.TPI ราคาปิดที่ 7.20 บาท ลดลง0.50 บาท หรือ 0.69% 8.KTB ราคาปิดที่ 11.80 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 4.07% 9.TOP ราคาปิดที่ 64.50 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท หรือ 6.61% 10.SCBราคาปิดที่ 63.50 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 2.31% ขณะที่ในส่วนของ SHIN ราคาปิดที่ 38.75 บาท ลดลง 9.75 บาท หรือ 20.10%
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การที่หุ้นมาร์เกตแคปขนาดใหญ่ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีแรงเทขายของนักลงทุนต่างประเทศ จึงส่งผลทำให้ดัชนีของตลาดหุ้นไทยไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ เพราะหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่นั้นจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นอย่างมาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่หุ้น SHIN หลุดจากการติดอันดับ 10 หุ้นที่มีมาร์เกตแคปขนาดใหญ่จะส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนสถาบัน รวมถึงกองทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการพิจารณาเลือกลงทุนของกองทุนขนาดใหญ่จะมีการเลือกพิจารณาสัดส่วนการลงทุนจากมาร์เกตแคปของบริษัทเป็นประเด็นสำคัญ
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวอาจจะส่งผลทำให้นักลงทุนสถาบันที่ถือครองหุ้น SHIN มีการขายหุ้นออกมาเนื่องจากอาจจะมีการลดสัดส่วน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเกี่ยวกับความไม่มั่นใจจากสถานการณ์ในบ้านเมืองกับฐานะความมั่นคงของบริษัท
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้คือนักลงทุนสถาบันบางรายจะมีการขายหุ้น SHIN ที่ถือครองออกมาอย่างแน่นอน เนื่องจากหากพิจารณาการปรับลดลงของราคาหุ้นตั้งแต่มีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ราคาหุ้นปรับลดลงมาแล้วกว่า 20% ซึ่งเท่ากับว่านักลงทุนจะต้องแบกรับผลขาดทุน
***กองทุนมองหุ้นน่าลงทุนเสียดายไม่มีเงิน
นายมาริษ ท่าราบ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้แม้ว่าราคาหุ้นในกระดานจะต่ำกว่าราคาพื้นฐานแต่นักลงทุนสถาบันก็ไม่มีเงินที่จะเข้าไปช้อนซื้อหุ้นในช่วงนี้ เนื่องจากนักลงทุนไม่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนโดยโยกเงินไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นแทนเพราะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอยู่ในระดับ 3.8-4%และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งปัจจุบันปัญหาทางการเมืองยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนทำให้ดัชนีตลาดทรงตัว ทั้งนี้ บลจ.ไอเอ็นจี มองกรอบเป้าหมายดัชนีตลาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 710-800 จุด
|