"ราชาแห่งการเทกโอเวอร์ของเมืองไทย" ฉายาของปิ่น จักกะพากที่นิตยสารฟอร์จูนประจำเดือนพฤศจิกายน
2536 ตั้งชื่อให้เมื่อเทียบปิ่น จักกะพาก กับสุระจันทร์ จันทร์ศรีชวาลา (เดิมชื่อสุระ
แต่ภายหลังได้ต่อท้ายชื่อเก่าด้วยคำว่า "จันทร์" ซึ่งเป็นชื่อพี่ชายผู้มีพระคุณ)
ทั้งสองมีภาพพจน์เหมือนกันคือเป็นนักเทกโอเวอร์ตัวยงผู้มองเห็นโอกาสช่องทางธุรกิจก่อน
แล้วเดินหมากเกมการเงินรุกฆาตคู่แข่งได้เหนือเมฆ
เส้นทางการเดินของทั้งสองไม่ต่างกัน เป้าหมายคือกำไร สุระจันทร์เดินมาก่อน
จากช่องทางที่ไปเทกโอเวอร์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย
และท้ายสุดจบลงด้วยแบงก์
แต่สิ่งที่ต่างกันคือ สุระจันทร์ไม่ใช่ปิ่น และปิ่นก็ไม่ใช่สุระจันทร์
!
สมัยที่สุระจันทร์ชอบเทกโอเวอร์กิจการที่มีที่ดินซ่อนไว้ เพราะยุคนั้นการกู้ยืมจากแบงก์เพื่อขยายงาน
แบงก์ชาติยังมีกฎเหล็กจำกัดการลงทุนไว้มาก ต้องอาศัยที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ว่าจะกู้แบงก์กรุงไทยหรือแบงก์แหลมทอง
สุระจันทร์จึงรอดจากเงื้อมือกฎหมายได้ก็เพราะป้องกันตัวเองไว้ดีด้วยที่ดินที่ค้ำไว้กับแบงก์คุ้มกับหนี้
แต่สมัยปิ่นใช้กลยุทธ์แปลงหนี้เป็นทุน โดยใช้แหล่งเงินทุนมาจากการระดมทุนจากตลาดหุ้นแทนที่จะกู้แบงก์เป็นหลักดังนั้น
บริษัทเป้าหมายที่ปิ่นเทกโอเวอร์จึงมักเกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อมกับตลาดหุ้นไทย
พอร์ตโฟลิโอของเอกธนกิจจึงมีขนาดใหญ่มาก ๆ ไม่ต่ำกว่า 10,000-14,800 ล้านบาท
เวลาพอร์ตยักษ์นี้ขยับทีจึงสะเทือนตลาดหุ้นเป็นหุ้นทรงอิทธิพลที่ ก.ล.ต.
จับตา
มหกรรมการเทกโอเวอร์ของทั้งสองเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ขณะที่ปิ่นยังนั่งทำงานอยู่ที่เชสแมนฮันตันแบงก์ช่วงปี
2518-2521 สุระจันทร์เริ่มโตด้วยการเทกโอเวอร์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
กิจการบริษัทเงินทุนหลายแห่งประสบปัญหาวิกฤต
บริษัทเงินทุนแห่งแรกที่สุระจันทร์เข้าไปเทกโอเวอร์คือ บริษัทเงินทุนโฮ้วป่า
ที่เป็นของจิม สเลเตอร์ นักเล่นแร่แปรธาตุชาวอังกฤษที่ใช้กลอุบายทางธุรกิจซื้อมาจากเจ้าของยาหม่องตราเสือ
บริษัทนี้ได้ถูกขายให้สุระจันทร์และครอบครัวในปี 2520 โดยแรงสนับสนุนการเงินจากภิวัฒน์
นันทาภิวัฒน์หรือหลานเหน่งของสมบูรณ์แห่งแบงก์แหลมทอง เมื่อสุระจันทร์ต้องเพิ่มทุนจากเดิม
20 เป็น 40 ล้านบาท
สุระจันทร์กลายเป็นเสือติดปีกเมื่อบริษัทเงินทุนมิดแลนด์หรือเดิม บง. โฮ้วป่าสามารถระดมเงินฝากจากประชาชน
ฐานเงินทุนตรงนี้สุระจันทร์เอาไปชอปปิ้งซื้อบริษัทที่มีที่ดินเป็นสินทรัพย์มากแม้จะมีปัญหาดำเนินงานขาดทุน
นี่คือที่มาของการซื้อไทยประสิทธิประกันภัย ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัทยนตรภัณฑ์ซึ่งมีที่ดินผืนงามที่นักเล่นที่ดินอย่างสุระจันทร์ต้องการมาก
ๆ เช่นที่ดินสี่พระยาใกล้ถนนนเรศซึ่งปัจจุบันแบงก์เอเชียเช่าเป็นสำนักงาน
ที่ดินซอยอโศก ที่ดินในต่างจังหวัด เช่น หาดใหญ่ อุดรธานีและนครราชสีมา ที่ดินเหล่านี้บางผืนขายให้กับกลุ่มสุธี
นพคุณ และกลายเป็นเรื่องพัวพันที่ดึงให้สุระเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ จนกระทั่งเทกโอเวอร์โรงแรมรามาทาวเวอร์
บริษัทเงินทุนแห่งที่สองที่สุระไปเทกโอเวอร์คือบริษัทเงินทุนนามทอง ในเวลาไม่ถึงสองเดือนสุระขายต่อให้สถาบันการเงินในลักเซมเบอริ์ก
ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น บีซีซี งานนี้สุระจันทร์ได้กำไรไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน
บริษัทเงินทุนแห่งที่สามคือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ชาร์เตอร์ ซึ่งขายให้สุระจันทร์
ยังไม่ทันหมึกที่เซ็นเช็คจ่ายชาร์เตอร์จะแห้ง สุระจันทร์ก็ขายต่อให้ชวลิต
หล่อไพบูลย์ทันทีได้กำไรมา 10 ล้าน
จะเห็นว่าสิ่งที่สุระจันทร์ทำให้อดีตนั้นเป็นการทำธุรกิจแบบเก็งกำไรอย่างเดียว
มิได้รังสรรค์ผลิตผลทางอุตสาหกรรมการเงินประเภทใดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
สุระจันทร์เพียงแต่ซื้อมาขายไป ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนสมัยปิ่น
มันเป็นเกมธุรกิจที่อเมริกาเล่นกันมาก อย่างกรณีเหมือนการซื้อ อาร์ เจ
เรโนลต์ ซึ่งมีบริษัทลูกหลายสิบบริษัท เมื่อมีการซื้อหุ้นบริษัทแม่ 100%
เอาบริษัทลูกมาขายทิ้งหมด ซื้อบริษัทแม่ 100 บาท พอขายบริษัทลูกทิ้งได้ 150
บาท แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจเลย ซึ่งทำให้เกิดความวิตกในอเมริกาว่า
ไฟแนนเชียลเกมมันเกินเลยไปจุดหนึ่ง การวิเคราะห์วิจัยมีไม่ได้ เพราะมันเป็น
NON-TARGIBLE ASSET
ถ้าจะเทียบระหว่างธุรกิจในกลุ่มของสุระจันทร์กับกลุ่มธุรกิจของปิ่น จักกะพาก
เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า คุณลักษณะในการสร้างสรรค์ของปิ่นมีมากกว่าสุระจันทร์
เพราะปิ่นเมื่อเทกโอเวอร์บริษัทใดขึ้นมาก็ทำให้เจริญเติบโตขึ้น พร้อมกับสร้างคุณภาพของบุคลากรให้ดีขึ้นในสาขานั้น
แทนที่จะมัวยุ่งกับการซื้อมาแล้วขายไป ซึ่งว่าไปแล้วคุณค่าของคนคนนั้นก็ไม่ต่างไปกว่าคนขายของหลุดจากโรงจำนำเลยแม้แต่น้อย
ขณะที่คนแบบปิ่นใช้ยุทธวิธีสร้างความเติบโตของอาณาจักรเอกธนกิจ ที่สามารถครอบครองมาร์เกตแชร์โดยรวมสูงสุดถึง
30% โดยทีมงานของปิ่นเข้าไปศึกษาข้อมูลและซื้อกิจการแบบมีนักกฏหมายอย่าง
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียรเป็นกุนซือ เพราะปิ่นรู้ว่าแบงก์ชาติกำหนดให้สถาบันการเงินอย่างเอกธนกิจ
เอกธำรงหรือเอกเอเซียลงทุนได้เต็มที่ก็ไม่เกิน 10% จึงหาช่องทางให้บริษัทลูกในเครือไปถือหุ้นแทน
เป็นเหตุให้กลุ่มเอกธนกิจเป็นต้นแบบของครอสโฮลดิ้งหรือถือหุ้นไขว้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้เทคนิคการบริหารพอร์ตที่ปิ่นทำเป็น แต่สุระจันทร์ทำไม่เป็น ก็คือ
บริษัทในกลุ่มเอกธนกิจเกือบทุกบริษัทเช่น เอกธำรง เอกโฮลดิ้ง จะกันเงินกองทุนไว้ส่วนหนึ่ง
ถ้าปีไหนกำไรดีก็ไม่ต้องดึงหุ้นในพอร์ตมาช่วย แต่ถ้าปีไหนตัวเลขไม่สวยต่ำกว่าเป้า
ก็จะโอนหุ้นดีราคาถูกจากพอร์ตกองกลางเข้าบัญชีพอร์ตของบริษัทลูก ทำให้กำไรทะยาน
ผู้ถือหุ้นก็แฮปปี้ถ้วนหน้า กำไรของกลุ่มเอกธนกิจจึงดีมาตลอด เพราะปิ่นและทีมงานมีกลยุทธ์
"ดูแลดีเป็นพิเศษ" ซึ่งปิ่นก็ได้วิธีการนี้มาจากต่างประเทศ ใครไม่เข้าใจความซับซ้อนซ่อนเงื่อนจึงนึกว่าปิ่นเป็น
"พ่อมดการเงิน"
ในปี 2529 ปิ่นเมื่อวัย 36 เป็นพ่อมดน้อยอยากได้ใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์
เพื่อรุกตลาดทุนที่ปิ่นมีข้อมูลว่ารุ่งโรจน์ ทั้ง ๆ ที่ปี 2528 วิกฤตสถาบันการเงินยังเป็นฝันร้าย
ปิ่นเริ่มเทกโอเวอร์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลด์ฮิลล์ จากธานี บรมรัตนธน ทายาทมหาเศรษฐีลิมซิวเหลียง
แล้วภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "บล. เอกธำรง" โดยมี "ภควัตโกวิทพัฒนพงศ์"
อดีตนักเรียนทุนเอ็มบีเอวาร์ตันของกสิกรไทย มาเป็นกรรมการผู้จัดการมาดวิชาการของเอกธำรง
ที่สามารถดันเอกธำรงเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ในอีกสามปีต่อมา เป็นปีทองที่หุ้นบูมมาก
ๆ ในปี 2532-33 เอกธำรงกลายเป็นทั้งนายหน้าและอันเดอร์ไรเตอร์หลักทรัพย์ชั้นนำที่ครองมาร์เกตแชร์สูงสุดและทำกำไรมหาศาลจากปี
2532 กำไร 132 ล้าน กระโดดพุ่งแตะ 1,015 ล้านบาทในปี 2537 เพราะเดินตามนโยบายแม่ที่เลือกลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง
เช่น ถือหุ้นใน บงล. นิธิภัทร เป็นต้น
"โดยทั่วไปนั้น เราต้องซื้อของที่มันสามารถพัฒนาได้ ขณะที่ผู้ขายเองก็ได้ราคาที่พอใจ
คิดว่าวันนี้ถ้าผู้ขายเอกธำรงกลับมาดู VALUE ที่มันมีอยู่ คือมี 5 ล้านหุ้น
ราคาประมาณหุ้นละ 600 บาท ก็ประมาณ 3 พันล้านบาท เขาก็คงเสียดาย แต่ในขณะเดียวกัน
ถ้าจุดที่เราซื้อเขาประมาณ 2 ปีครึ่งมาแล้วนี้ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหุ้นไม่บูม
เขากลับเป็นผู้ชนะ เรากลับเป็นผู้แพ้ มันเป็นการอ่านค่าหรือ VALUE ณ จุดใดจุดหนึ่ง
ดังนั้นการซื้อของนี่เรื่องจังหวะเวลาสำคัญแต่ที่สำคัญกว่าคือ คุณสามารถพัฒนาให้มันมีค่ามากขึ้นกว่าเมื่อตอนคุณซื้อมาหรือเปล่า?"
ปิ่นเล่าในวาระครบรอบ 25 ปีของเอกธนกิจเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538
ปีต่อมา 2530 ปิ่นซื้อบริษัทหลักทรัพย์ศรีไทย ภายหลังเปลี่ยนเป็น บล. เอกเอเซีย
ซึ่งขณะนี้กิตติรัตน์ ณ ระนองบริหารอยู่ กิตติรัตน์เกิดและโตมาจากเอกธำรงที่มีภควัตเป็นครู
และให้โอกาสกิตติรัตน์ไปบุกเบิกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณอินเวสเมนท์
ก่อนจะไปเป็นเอ็มดี. ของเอกเอเซียตามคำขอของปิ่นเพื่อฟื้นฟูพอร์ตลงทุนให้มีคุณภาพดีกว่าเดิม
ปี 2531 ร่วมกับจาร์ดีน เฟรมมิ่ง จากฮ่องกง และครอบครัวไกรศรี จาติกวณิช
ซึ่งผูกพันโดยสายภรรยาปิ่น ซื้อบริษัท ไอ.เอส.ที.แอล ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์
เจ.เอฟ.ธนาคม แล้วย้ายกรณ์ จาติกวณิช จากเอกธำรงไปเป็นใหญ่ระดับกรรมการผู้จัดการที่นี่
ปี 2533 ซื้อบริษัทเอเซีย อิควิตี้ โฮลดิ้ง 45% โดยอาศัยสายสัมพันธ์กับเพื่อนพ่อ
นุกูล ประจวบเหมาะซึ่งเป็นประธานแบงก์เอเชียยุคนั้น ดึงแบงก์เอเชียเข้าเป็นพันธมิตรธุรกิจด้วย
ปี 2534 ซื้อบริษัทฟิลาเท็กซ์ผู้ผลิตยางยืดและที่สำคัญเป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหุ้นด้วยมูลค่า
200 ล้านบาท และเอาฟิลาเท็กซ์ ไปซื้อบริษัทท่าจีนอีก 255 ล้านบาท เป็นกลยุทธ์ของปิ่นในการสร้างรายได้ให้ฟิลาเท็กซ์พ้นภาวะขาดทุน
นอกจากนี้หวังให้ฟิลาเท็กซ์ระดมทุนจากตลาดหุ้นเข้าพยุงอุตสาหกรรมเรียลเอสเตทในเครือเอกธนกิจด้วย
ปัจจุบันฟิลาเท็กซ์คือบริษัทเอกโฮลดิ้ง
ปี 2535 เทกโอเวอร์ บงล. ธนานันต์ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาที่สะท้อนวิสัยทัศน์และการจัดการลงทุนของปิ่นอย่างชัดเจนกรณีของ
"บงล. เอกธนา" ที่เดิมชื่อ บงล. ธนานันต์ ปิ่นซื้อในปี 2535 ซื้อเพราะอยากได้ใบอนุญาตเงินทุนหลักทรัพย์ที่ครบ
8 ใบ มีสาขามากที่สุดถึง 14 แห่งและมีหลักทรัพย์ที่ดินติดปลายนวมมาอีกไม่ต่ำกว่าพันไร่
เหนือสิ่งอื่นใดธนานันต์มีเก้าอี้โบรกเกอร์หรือเป็นบริษัทสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
ปิ่นตัดสินใจต้องเทกโอเวอร์ บงล. ธนานันต์ให้ได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่เห็นว่าธนานันต์เป็นบริษัทเน่า
ๆ ที่สะสมปัญหาซึ่งเกิดจากการควบกิจการบริษัทการเงิน 6 แห่งในกลุ่มสากลเคหะและความเละเทะของการบริหารของทางการในโครงการสี่เมษา
ขณะนั้นธนานันต์มีสินทรัพย์ 9,000 ล้านบาท หนี้สิน 8,806 ล้านบาท และเงินกองทุนติดลบ
69 ล้านบาท นับว่าเป็นบริษัทเน่า ๆ ที่ปิ่นเข้าไปซื้อจริง ๆ
งานนี้ปิ่นกับทีมงานต่อรองจนได้เงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำธุรกิจได้ที่เอกธนกิจควักเนื้อเพียง
300 กว่าล้านบาทตอนเพิ่มทุนก่อนเข้าไปบริหารกิจการ แต่เงินก้อนใหญ่ที่ได้มาจากการรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนและสิทธิซื้อหุ้นทางการ
ก็ใช้วิธีค้างยอดจ่ายอีก 5 ปีข้างหน้าพร้อมดอกเบี้ยแค่ 8% ซึ่งถูกมาก วิธีนี้เรียกว่าซื้อกันด้วยกระดาษซึ่งเป็นวิถีสากลทางการเงินที่ยอมรับกัน
ปิ่นแก้ปัญหาเคลียร์หนี้สินที่มีปัญหา หาบริษัทมาซื้อหลักทรัพย์ที่ดินเอาไปพัฒนา
ทำให้บริษัทฐานะดีขึ้น เพราะไม่ต้องรับภาระทรัพย์สินที่ไม่ก่อรายได้ ผลประกอบการใหม่ก็จะมีกำไร
จากนั้นเพิ่มทุนนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ และได้กำไรจากส่วนเกินมูลค่าหุ้นอีกมหาศาล
ปี 2535 ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มยังเติร์ก เช่น อนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์
ธาตรี บุญดีเจริญจากยูนิเวสท์กรุ๊ปเข้าถือหุ้นแบงก์เอเชียรวมกัน 5 กลุ่ม
จนเป็นที่หวาดระแวงและถูกต่อต้านจากกลุ่มเดิมคือตระกูลเอื้อชูเกียรต ิและภัทรประสิทธิ์ทำให้ปิ่นไม่ประสบความสำเร็จที่จะซินเนอยี่กับแบงก์เอเชีย
ปลายปี 2538 ร่วมลงทุน เอกธนกิจถือหุ้น 20% ในแบงก์ไทยทนุซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดสู่ฐานะนายแบงก์ของปิ่น
งานนี้คุณหญิงชัชนี จาติกวณิชเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของดีลประวัติศาสตร์นี้
ที่ทำให้สองปีที่ปิ่นแอบปิดลับเจรจากับพรสนองจบลงได้ด้วยการผนึกกิจการแบบฉันมิตร
มิใช่แบบปรปักษ์เหมือนสุระจันทร์ทำกับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์จนพ่ายแพ้กระอักเลือด
จะอย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่ากรณีการเทกโอเวอร์ข้างต้นนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า
สุระจันทร์และปิ่น ต่างเป็นนักธุรกิจที่มีความรู้สึกไวต่อช่องทางทางธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมธุรกิจที่เกี่ยวพันกับเงิน ๆ ทอง ๆ เพียงแต่ถ้าสุระเกิดช้ากว่านี้
คงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับปิ่น