ความสำเร็จของ "ปิ่น จักกะพาก" ในวันนี้คืออะไร? ว่ากันว่าที่สำคัญคือ
"ความรู้" ทางการเงินที่เขามีประสบการณ์จากต่างประเทศและสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์
ขณะที่หลายคนมองว่าเขาเป็น "พ่อมดการเงิน" ที่เล่นเกมการเงินอย่างซับซ้อนเท่านั้น
แต่อีกด้านหนึ่งมองว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่เพียงคนเดียวที่กล้าแกร่งพอจะทลายการผูกขาดของสถาบันเก่าแก่ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร วันนี้ปิ่นกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โลกธุรกิจการเงินพลิกโฉมครั้งใหญ่
!
จุดเริ่มต้นของ "ปิ่น จักกะพาก" ที่มักกล่าวอย่างถ่อมตัวเสมอว่า
ไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าคนไทยสองคนคือปิ่นและเติมชัย ภิญญาวัฒน์ทำงานที่เดียวกันที่ธนาคารเชส
แมนฮัตตัน ซึ่งมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจในฐานะแบงก์ฝรั่ง เกิดคุยกันถูกคอและคิดทอฝันแบบคนหนุ่มไฟแรงหัวก้าวหน้าว่า
ทั้งคู่น่าจะทำบริษัทเงินทุนไทยสไตล์ฝรั่งโดยนำเอาความรู้จากการทำงานที่แบงก์ฝรั่งมาบริหารแบบไร้ขีดจำกัด
"เรารู้เรื่องบัญชีและตัวเลขแบบอเมริกันได้ดี และเราก็ปรับมันเข้ากับระเบียบแบบไทยจะยอมอนุญาตให้"
ปิ่นให้สัมภาษณ์นิตยสาร INSTITUTIONAL INVESTOR เมื่อสามปีก่อน
ประสบการณ์ศึกษาในสหรัฐอเมริกาและการทำงานในเชสแมนฮัตตันแบงก์ได้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในตัวปิ่น
นับจากปี 2521 ที่ปิ่นได้ถูกเชสฯ ส่งให้เข้ามาเคลียร์ปัญหาใน บงล. ศรีมิตร
และได้ผกผันให้เขาเป็นแกนนำเพื่อทำ MANAGEMENT BUYOUT (MBO) ด้วยเงินห้าแสนเหรียฐสหรัฐ
จากนั้นก็อำลาเชสฯ
ในปี 2523 คลื่นลูกใหม่อย่างปิ่นและเติมชัยได้ลาออกเข้ามาบริหารงานบริษัทยิบอินซอยเงินทุนและค้าหลักทรัพย์
ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินของครอบครัวจูตระกูลสายทางมารดาของปิ่นเอง บริษัทยิบอินซอยก่อตั้งบริษัทตั้งแต่ปี
2513 ตั้งอยู่ที่ถนนมหาพฤฒารามอันเป็นย่านธุรกิจเก่าแก่มีพนักงานทำงานกันนับได้
3 คน โดยมีวิสุทธิ์ จินดาพลเป็นผู้จัดการ
"ยุคนั้นผู้บริหารสถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เติบโตมากับสถาบัน
ในเรื่องของการวางแผนก็ไม่มีอะไรมากเพียงแต่เราจะดูธุรกิจล่วงหน้า 2-3 ปี
วางแผนโดยหาทุน หาธุรกิจและหาคนมาใส่" ปิ่นเล่าให้ฟังเมื่อหวนรำลึกถึงบรรยากาศบนโต๊ะทำงานทรงเชกโกแบบเก่า
ๆ
สิ่งที่ปิ่นทำในปีแรกที่บริหารคือขยายงานโดยเพิ่มเสริมทีมงานตามฐานธุรกิจที่ขยาย
จนครั้งหนึ่งเอกธนกิจในอดีตได้ชื่อว่าเป็นที่รวมของศิษย์เก่าแบงก์เชส แมนฮัตตันมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากบริษัทเงินทุนอื่น ๆ ตรงที่มีเป้าหมายและทิศทางแตกต่างชัดเจนในเรื่องธุรกิจวาณิชธนกิจหรืออินเวสแมนต์แบงกิงแต่แรกเริ่มที่ปิ่นเข้าทำงานตั้งแต่ปี
2531
สำราญ กนกวัฒนาวรรณ คือหนึ่งในลูกหม้อเก่ารุ่นที่เรียกตัวเองว่า "รุ่นยิบฟินวัน"
ขณะที่สำราญเป็นกรรรมการผู้จัดการฟินวันที่ดูแลสายเครดิตและมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป
"ผมเข้าร่วมกับคุณปิ่นในปี 1981 หลังคุณปิ่นและคุณเติมชัยเข้ามาแล้ว
6 เดือนตอนนั้นออฟฟิศยังอยู่ที่มหาพฤฒาราม โต๊ะเก้าอี้เป็นรุ่นเก่าแบบเชกโก
มีสตาฟประมาณ 10 กว่าคน หลังจากนั้นไม่นานก็ย้ายมาอาคารสิริภิญโญ ในช่วงแรกบริษัทใช้เนื้อที่ชั้นล่างชั้นเดียว
ลักษณะบริษัทเล็ก ๆ สังคมอายุไม่ต่างกันนัก มีเอกภาพในการทำงานเป็นทีม หลังเลิกงาน
รู้จักกันจนถึงชีวิตส่วนตัวสนิทสนมกัน และพึ่งพาอาศัยกัน อย่างปีหนึ่งจะมีปิกนิกครั้งหนึ่ง
ก็พาครอบครัวไปกันทำให้ใกล้ชิดกัน" สำราญเล่าให้ฟัง เรียกว่าคนน้อยแค่
10 คนเลี้ยงโต๊ะจีนก็พอดีหนึ่งโต๊ะ
ด้วยประสิทธิภาพของทีมงาน ในระยะเวลา 15 ปี ก็สามารถเขย่าธุรกิจการเงินด้วยพลังคนหนุ่มสาวที่ก้าวร้าวและรังสรรค์
พลิกฟื้นฐานะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จากต่ำเพียงดินกลายเป็นดาวรุ่งจรัสแสงในฟากฟ้าการเงิน
ปมเด่นในชีวิตของปิ่น จักกะพากนั้นเริ่มต้นมาจากกำเนิดเป็นลูกโทนในชาติตระกูลที่เก่าแก่
และร่ำรวย ทางสายมารดาคือ "จูตระกูล" เจ้าของ "ยิบอินซอย"
ที่โยงกับสายไทคูนเก่าแก่อย่างล่ำซำแห่งแบงก์กสิกรไทย โดยปู่ของปิ่นเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบงก์แห่งนี้
กลุ่มจูตระกูลที่เกี่ยวพันทางสายเลือดกับตระกูลล่ำซำ กลุ่มยิบอินซอยและกลุ่มลายเลิศนั้นในยุคบรรพบุรุษ
เลนำคินซึ่งเป็นทวดของปิ่นคือผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทย ทำให้บริษัทเงินทุนยิบอินซอยมีสาขาในภาคใต้หลายจังหวัด
เนื่องจากเชื่อมโยงกับธุรกิจเหมืองแร่
ส่วนสายทางบิดา ประภาส จักกะพาก อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่สมัยหนึ่งเคยดูแลผลประโยชน์โรงเหล้าแม่โขง
จนมีบารมีเป็นที่นับถือของนายแบงก์หลายตระกูล ในการประนีประนอมศึกชิงแบงก์ระหว่างกลุ่มชลวิจารณ์
อดีตปลัดฯ ประภาสถูกร้องขอให้เป็นประธานกรรมการธนาคารสหธนาคารจนถึงปัจจุบัน
นุกูล ประจวบเหมาะ ก็เป็นหนึ่งในเพื่อนเก่าของประภาสที่ให้ความเมตตาต่อหลานปิ่นเสมอ
เมื่อนุกูลไปนั่งแบงก์เอเชียก็ได้นำแบงก์เอเชียเข้าถือหุ้นร่วมซื้อ บริษัทหลักทรัพย์
ศรีไทย ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เอกเอเชียในปี 2530
ส่วนภรรยาของปิ่นที่ชื่อ เกษมพรรณก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับกรณ์ จาติกวณิช
บุตรชายไกรศรี แห่งเจ.เอฟ. ธนาคม ซึ่งแต่เดิมกรณ์เคยเข้ามาเรียนรู้งานและช่วยภควัต
โกวิทพัฒน์พงษ์ทำงานอยู่ที่ บล. เอกธำรง
รากฐานสายสัมพันธ์ในตระกูลเก่าแก่และร่ำรวยจากรุ่นพ่อตกมาถึงรุ่นลูก ได้นำมาซึ่งความเกื้อหนุนทางธุรกิจของปิ่น
เมื่อครั้งใหม่ ๆ ที่ปิ่นเข้าไปบริหารบริษัทเงินทุนยิบอินซอยเงินทุน แล้วเพิ่มทุนขยายฐานธุรกิจให้มั่นคงกว่าเดิม
กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เข้ามาในปี 2527 นั้นก็คือ ถนัด คอมันตร์และครอบครัว
ชุมพล พรประภาและครอบครัว บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์และพลศักดิ์ บุญทรงษีกุล
"เราต้องการอาวุธและเสื้อเกราะระหว่างที่กำลังสร้างโอกาสเพื่อปกป้องให้พ้นปัญหา
จะได้ไม่ถูกกล่าวร้ายอย่างไม่คาดหมาย" ปิ่นกล่าวปกป้องตัวเองเมื่อครั้งภาพพจน์นักเทกโอเวอร์ของเขาถูกมองไปอย่างติดลบ
สายสัมพันธ์ตระกูลเก่าแก่ทางมารดาระหว่าง จักกะพาก-จูตระกูล-ล่ำซำ-ตู้จินดา
ได้ทำให้ปิ่นทำงานได้สะดวกขึ้นเมื่อตอนที่เข้าเจรจาซื้อหุ้น 20% ของธนาคารไทยทนุ
ปิ่นกับพรสนอง ตู้จินดารู้จักกันไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ต่างก็รู้จักผู้ใหญ่ของแต่ละตระกูลได้ดี
เพราะตระกูลตู้จินดาเป็นเพื่อนบ้านสนิทกับเกษมและคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช
โดยเฉพาะพรสนอง จะเคารพรักผู้มีพระคุณอย่างคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของเอกธนกิจและเป็นประธานในเครือเอกธนกิจ
นอกจากนี้ปิ่นกับพรสนองต่างก็ซื้อคอนโดมิเนียมพักผ่อนริมหาดหัวหินของจูตระกูลที่ชื่อ
"บ้านไข่มุก" ไว้อีกคนละชั้นยิ่งทำให้การพูดคุยเจรจาใกล้ชิดกันมากขึ้น
จนกระทั่งเวลาผ่านไปสองปี จึงมีการแถลงข่าวใหญ่ต้นปีนี้ถึงการผนึกกำลังกันระหว่าง
สองสถาบันที่มีทรัพย์สินรวมกันนับสองแสนล้านบาทที่ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ทางการเงินทีเดียว
ฐานดั้งเดิมที่อิงกับจูตระกูลและล่ำซำทำให้สถานที่สำนักงานใหญ่ของปิ่นจะตั้งอยู่บนที่ดินมรดกเก่าแก่ของตระกูล
เช่นในปี 2524 ปิ่นย้ายสำนักงานใหญ่ มาอยู่ที่ตึกเรียนโรงเรียนสิริภิญโญอาคาร
6 ชั้นบนถนนศรีอยุธยา ที่ปัจจุบันเป็นอาคารสิริภิญโญของจูตระกูล ตกแต่งตามสไตล์ยิปฟินคือสีน้ำตาลทอง
วิถีชีวิตปิ่นที่เกิดและเติบโตทำงานในต่างประเทศทำให้โลกทัศน์ของปิ่นกว้างไกล
และส่วนใหญ่ปิ่นจะคิดลงทุนแบบ "คนเอเชียในต่างประเทศ" มากกว่า
"คนไทย" ปิ่นเกิดที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นทำงานเป็นมืออาชีพอยู่ที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน
7 ปีประจำที่ฮ่องกงและเมืองไทย จนครั้งสุดท้ายเป็น SECOND VICE PRESIDENT
ที่เมืองไทยหนึ่งปีก่อนจะลาออกมาทำงานให้ครอบครัว
แรก ๆ ที่ปรับตัวอยู่เมืองไทยปิ่นและครอบครัวชอบพำนักอาศัยในคอนโดมิเนียมที่ดีเยี่ยมย่านสุขุมวิท
เนื่องจากยังติดอยู่กับวัฒนธรรมแบบอเมริกัน ต่อมาได้ย้ายไปซื้อบ้านหลังใหญ่
ปิ่นระดมมืออาชีพที่เป็นศิษย์เก่าเชสแมนฮัตตันแบงก์มาร่วมงานด้วย และเพิ่มทุนให้คนนอกเข้ามาถือ
ในปี 2527 ปิ่นปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่มีชื่อยิบอินซอยปรากฏในบัญชีผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว
ปิ่นนำเอาแบงก์พาริบาส์ ประเทศฝรั่งเศสมาร่วมด้วยเช่น ดร. ถนัด คอมันตร์และครอบครัว
ชุมพล พรประภาและครอบครัว บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
ภาพพจน์อันทันสมัยที่นำความคิดจากแบงก์ฝรั่งมาปรับใช้ กับเอกธนกิจเริ่มต้นในปี
2527 จากคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ตั้งอยู่หน้าห้องปิ่นที่โต๊ะเลขาคือ เพ็ญพรรณ
วิสุทธิ ณ อยุธยาหรือพี่จิ๊ดที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการแผนก คอร์ปอเรทเซอร์วิส
การใช้เครื่องบันทึกการ์ดบัญชียี่ห้อเอ็นซีอาร์ที่มีเสียงสนั่นเลื่อนลั่น
ในปี 2526 ถือว่าเป็นของใหม่ที่นำเอามาใช้ในระบบเงินฝากที่เปลี่ยนจากระบบมือ
นี่คือสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดหนึ่งที่ปิ่นนำเอาประสบการณ์จากทำเชสฯ มาใช้
ปิ่นจับหัวใจทีมงานคนหนุ่มสาวได้ด้วยพลังอันเร้าใจ ปี 2530 ปิ่นจัดให้มีการประกวดตั้งชื่อให้รางวัลห้าพันบาท
เปลี่ยนชื่อจากยิบอินซอยเป็น "เอกธนกิจ" หรือเรียกย่อ ๆ ว่า "ฟินวัน"
ดังนั้นภายใต้ชื่อใหม่วัฒนธรรมองค์กรของฟินวันจึงเป็นไปตามผู้นำอย่างปิ่น
จักกะพาก คือเน้นความทันสมัย ฉับไวต่อการเปลี่ยนแปลงและมืออาชีพในการแข่งขัน
ในสิบปีแรก ธุรกิจเงินทุนยิบอินซอยคือธุรกิจการค้าชนิดหนึ่งเกี่ยวกับการเงินตอนนั้นก็รับเงินฝาก
ปล่อยเงินกู้ ธุรกิจมันก็โตด้วยตัวมันเองค่อนข้างจะเร็วเกือบทุกปี โตในแง่สินทรัพย์
แต่กำไรไม่โตเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งประมาณปี 2530 ซึ่งปีนั้นถ้าจำไม่ผิด
มีกำไรจาก 3 ล้านเป็น 16 ล้านจากนั้นก็เพิ่มทุกปีเป็น 60 ล้าน แล้วก็ 250
ล้านบาท วิธีการทำงานของเอกธนกิจที่ผิดแผกไปจากสถาบันการเงินไทยในช่วงนั้นคือปิ่นและทีมงานมีวิสัยทัศน์ที่มองระยะยาวกว่าชาวบ้าน
"ผมจำได้ในช่วงปีแรก ๆ ที่มาทำงานที่นี่ก็รับเงินฝากจากเพื่อนฝูงแล้วก็ปล่อยเงินกู้แก่ลูกค้าที่เคยรู้จักสมัยอยู่เชสฯ
ความจริงสู้แบงก์ฝรั่งไม่ได้แต่อย่างน้อยก็อาศัยว่าเป็นคนเคยรู้จักก็ช่วยใช้บริการของเรา
จุดเริ่มต้นสร้างจากตรงนั้น เราสร้างจากสินทรัพย์คุณภาพดีตามที่เราทำได้ในช่วงนั้นซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมาเรื่อย
ๆ ผมจำได้ขนาดผู้ตรวจสอบจากแบงก์ชาติเข้ามาตรวจสอบเสร็จเขาก็ถามว่า เรามีอะไรซ่อนเร้นอยู่หรือเปล่า?
เพราะเขาบอกว่าทุกอย่างค่อนข้างจะดีมาก เราก็บอกว่าเราไม่มีอะไร หลังจากนั้นเขาก็มักจะถามต่อว่าถ้าคุณทำดีแค่นี้เมื่อไรจะกำไร
เราก็หวังว่าถ้าสร้างมันใหญ่พอมันก็จะกำไร ไม่ได้มีอะไรพิเศษนอกจากสิ่งที่เราเรียนรู้ตอนอยู่เชสฯ"
บุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตัวที่ปิ่นแสดงออก ทำให้อดนึกถึงภูมิหลังด้านครอบครัวในฐานะลูกโทนคนเดียวของประภาส
จักกะพาก อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา รัฐอิลลินอยส์
ร่ำเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา
ปิ่นรักกีฬาความเร็วเช่นรถแรง ๆ อย่างเฟอร์รารี่ เป็นนักธุรกิจที่ผูกพันกับครอบครัว
ทุกปีปิ่นจะลาพักร้อนช่วงเดือนมีนาคมเกือบทั้งเดือนเพื่อครอบครัวไปพักผ่อนและเล่นสกีในต่างประเทศ
ลูกทุกคนได้รับการศึกษาดี คนเล็กเรียนอยู่สาธิตจุฬาฯ ขณะที่อีกสองคนศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ
ในความเป็นพ่อ ปิ่นคือต้นแบบของลูกๆ แต่ในฐานะผลิตผลของสังคมปิ่นเป็นแบบฉบับของนักธุรกิจดาวรุ่งที่ประสบความสำเร็จ
เป็นผู้รักความก้าวหน้าและนิยมชมชอบการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดคำขวัญที่ปิ่นเขียนส่งความสุขให้กับพนักงานเอกธนกิจเป็นภาษาอังกฤษว่า
"CHANGE IS NEVER EASY-THE NATIVE HAS ALWAYS BEEN THE SAME PROGRESS"
"แม้ว่าเราจะก้าวมาถึงจุดที่เราสบายใจที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสถาบันการเงินเราก็คง
CONTINUE TO CHANGE TO MEET THE CHALLENGE" นี่คือที่มาของคำมั่นสัญญาของคนชื่อปิ่น
"ถ้าถามผมว่า ผมพอใจกับเอกธนกิจไหม?…NO ! ผมไม่มีวันพอใจ คือถ้าถึงวันที่พอใจในธุรกิจ
คณะกรรมการก็ควรจะหาผู้บริหารใหม่ เพราะวันนั้นก็จะเป็นวันที่องค์กรหยุดโต
โดยลักษณะองค์กรหยุดโตเมื่อไร RETURN ของผู้ถือหุ้นจะตก"
"ในขณะเดียวกันสำหรับผมก็ยังเป็นเรื่องที่สนุก มันเหมือนเล่นกีฬาหมากรุก
CHESS คือคุณต้องสามารถคิดก้าวต่อไปก่อนคู่แข่งขัน ก็มีอยู่แค่นั้น ตราบใดที่คุณยังคิดออก
คุณก็ยังสนุกและอยากทำต่อไป" นี่คือสไตล์การทำงานของปิ่นที่ยังมีไฟ
ตลอดระยะเวลา 26 ปี ปิ่นไม่เคยหยุดนิ่ง พลังความคิดของทีมงานของเขาได้ผลักดันให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในอดีตที่มีเกิดขึ้นสามอย่างคือ
การเติบโตของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของคน และการเปลี่ยนแปลงบริการที่ตลาดต้องการ
แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโลกานุวัตรที่กระทบการเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้น
ทางการผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น สมัยก่อนดอกเบี้ยมีเพดาน
ต่อมาก็ปล่อยให้ดอกเบี้ยลอยตัว โครงสร้างสถาบันการเงินเปลี่ยน มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่
ๆ เกิดขึ้นมากและบริษัทชนิดใหม่ก็เข้ามา
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ที่ปิ่นคิดว่าภาคเอกชนน่าจะเข้าไปมีส่วนได้ให้คำแนะนำปรึกษาในการทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
แต่เขาผิดหวัง
"โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นแผนที่ทางการต้องการให้เกิดขึ้นในแง่ทางการอย่างเดียว
ไม่คำนึงถึงทิศทางของธุรกิจซึ่งผมเคยพูดว่าผมผิดหวัง ที่ระหว่างที่ทำแผนแม่บทนี้
ทางการไม่ได้นำเอาเอกชนเข้าไปปรึกษาด้วย และนั่นคือสาเหตุที่สี่ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดมากขึ้น"
เมื่อสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้นำอย่างปิ่นต้องกว้างไกลเพื่อรักษาตำแหน่งแชมป์ให้ดำรงสภาพอยู่ได้ปิ่นได้ว่าจ้าง
BOOZ ALLEN&HAMILTON PROJECT เข้ามาทำการวางแผนใหม่ให้ เพื่อช่วยเป็นกล้องส่องทางไกลวิเคราะห์ว่าในอนาคตโลกจะเกิดอะไรขึ้น
แล้วเอกธนกิจควรจะพัฒนาตัวเองไปทางไหน
ดังนั้นปิ่นจึงถือว่าข้อมูลคืออำนาจที่แท้จริง ที่ทำให้วันนี้ปิ่นผงาดฟ้าเป็น
"เอกธนราชันย์แห่งไฟแนนซ์" ผมไม่ได้เรียนหนังสือทางด้านการเงินมา
ผมเคยพูดว่าบริษัทไฟแนนซ์ นี่คุณทำดีแค่ไหนก็ตาม พอเดินเข้าไปในสังคมไทย
สองคนเดินมา...คนหนึ่งเป็นนายแบงก์ อีกคนทำบริษัทไฟแนนซ์ที่แม้ว่าจะ SUCCESSFUL
แค่ไหนก็ตาม ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักแต่ทุกวันนี้ผมเดินเข้าไปในสังคมที่ไหนก็ได้คนก็รู้จักผมและในช่วง
10 ปีที่ผ่านมา 10 บริษัทไฟแนนซ์ที่ใหญ่ที่สุดก็พิสูจน์แล้วว่าโตเร็วกว่าแบงก์เล็กอีกหลายแบงก์"
ปิ่นเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจในความเป็นราชาเงินทุน
ปัจจุบันหากภาพ "สองคนเดินมา" หมายถึง "ปิ่น" กับ
"ตั้ว" เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ไม่ต้องสงสัยว่าใครคือผู้ยิ่งใหญ่กว่ากัน
เพราะวัดกันที่วิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจการเงินของสองหนุ่มนี้พุ่งไปคนละทาง
ปิ่นพุ่งขึ้นสู่ที่สูงในฐานะนายแบงก์ "ดาวรุ่ง" คนใหม่ที่ก้าวรุกเข้าไปเป็นกรรมการบริหารธนาคารไทยทนุเพราะเอกธนกิจถือหุ้น
20% ขณะที่ตั้วกำลังกลายเป็น "ดาวร่วง" ที่พุ่งลงดิน จากปัญหากดดันอย่างรุนแรงจากทางการให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การ
"เอกธนกิจ" หรือ "ฟินวัน" กลายเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลกลุ่มใหม่ในตลาดเงินตลาดทุนที่โตเร็วมาก
ๆ ใน 16 ปีที่ปิ่น บริหาร จากจุดเริ่มต้นของบริษัทเงินทุนเล็กมาก ๆ ชื่อ
"ยิบอินซอยเงินทุนและค้าหลักทรัพย์" ที่ตั้งปี 2513 ทำอยู่สิบปีมีสินทรัพย์
รวมแค่ 167 ล้านบาท แต่พอปิ่นเข้าไปบริหารใน 15 ปีต่อมา เอกธนกิจกลายเป็นบริษัทเงินทุนยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งที่มีขนาดสินทรัพย์
เท่าแบงก์ขนาดกลางคือ 97,075 ล้านบาท (ณ สิ้นปี 2538) แต่ถ้ารวมบริษัทในเครือเอกธนกิจอีก
19 แห่งสินทรัพย์กลุ่มเอกอาณาจักรจะมีมูลค่ามหาศาลนับ 130,873 ล้านบาท
การแจ้งเกิดดของปิ่นในฐานะนายแบงก์ใหม่นั้นเป็นที่จับตาของมิตรและศัตรู
เพราะบทบาทอันทรงอิทธิพลในอนาคตของปิ่นย่อมสูงขึ้น เหมือนพยัคฆ์ติดปีก ที่จะทำให้ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน
สั่นสะเทือน ให้แบงก์ขนาดเล็กต้องทบทวนตัวเองว่าจะถูกเบียดตกเวทีแข่งขันหรือไม่หากไม่หาพันธมิตรที่แข็งแรงร่วมกัน?
สำหรับแบงก์มหานคร อุทัย อัครพัฒนากูล เอ็มดี กล่าวว่าไม่จำเป็นขณะนี้
ขณะที่แบงก์นครธน ไทยทนุ หวั่งหลีเริ่มมีการเจรจาหาพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศและในประเทศเข้าร่วมถือหุ้นประมาณ
10-15%
ปรากฎการณ์ธุรกิจที่ปิ่นจะสร้างหลังเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง คือการควบกิจการภายในกลุ่มเอกธนกิจ
โดยเฉพาะกลุ่มเอกธนกิจโบรกเกอร์ถึง 5 แห่งที่ทรงอิทธิพลในอนาคต อีก 5 ปี
ยุทธศาสตร์การเติบโตของแบงก์ไทยทนุขยายตัวออกไปมาก อาจจะต้องเพิ่มทุนจากปัจจุบัน
1,210 ล้านบาท และอีกครั้งที่หุ้นไทยทนุอาจจะกลายเป็นหุ้นทรงอิทธิพลอีกตัวตามสไตล์สร้างมูลค่าแบบหุ้นตระกูลเอก
ซึ่งมี 5 บริษัทได้แก่ บล. เอกธำรง บล. เอกธนา บล. เอกเอเซีย บล. เจ.เอฟ.ธนาคม
และบงล. เอกสินที่ครองส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 30% ทำให้กลุ่มเอกธนกิจได้เข้าเป็นกรรมการตลาดหุ้นไทยที่มีส่วนกำหนดนโยบาย
ภาพพจน์ของปิ่น จักกะพาก แบบ "ราชาเงินทุน" ที่ทรงอิทธิพลในตลาดหุ้นได้กลายเป็นเป้าหมายสร้างข่าวลือหาประโยชน์ดังเช่นเมื่อต้นปี
2537 ที่ปิ่นและเติมชัยหงุดหงิดกับกระบวนการปล่อยข่าวลือว่าปิ่น ถูก ก.ล.ต.
จับ กรณีปั่นหุ้น ข่าวลือนี้ฉุดดัชนีตกต่ำถึง 104 จุด และผู้ที่ได้ประโยชน์คือคนที่เทขายหุ้นในขณะที่ดัชนีอยู่ที่
1,700 จุดนั่นเอง
ดังนั้นไม่ว่าหุ้นตระกูลเอกจะมีการเพิ่มหรือลดราคาหุ้น ปิ่นล้วนหงุดหงิดกับข่าวลือ
แต่ก็ต้องทำใจ และคอยทำจดหมายชี้แจงตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ร่ำไป
ดังเช่นกรณีมติเพิ่มทุนเอกธนกิจ 3.76 พันล้านขณะนั้น ที่ส่วนจัดสรรหุ้นให้ประชาชนราคาหุ้นละ
450 บาทต่ำกว่าราคาตลาดขณะนั้นที่ยืนอยู่ 568 บาท ทำให้เกิดความปั่นป่วนหนัก
ภาพพจน์ปิ่นจึงติดลบเวลานั้น และเป็นบทเรียนครั้งต่อไป ที่ปิ่นหรือคนของปิ่นจะขยับทำอะไรใหม่
ๆ ที่แปลกใหม่สำหรับตลาดเงินไทย จะต้องให้ทีมพีอาร์มืออาชีพที่นำโดยชรัส
เฟื่องอารมย์และสุภาณี เครือรัตนกุล จัดงานแถลงข่าวเช่นกรณีเอกธนกิจออกตราสารหนี้ตัวใหม่ที่เรียกว่า
AMORTIZING DEBENTURE ให้กับโรงไฟฟ้าขนอม (KEGCO) กิติวลัย เจริญสมบัติอมร
พร้อมทีมงานหนุ่มฝ่ายตลาดการเงินได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้อันใหม่ด้วย
ถึงกระนั้นกระบวนการสร้างข่าวลือก็ทำให้ภาพพจน์ปิ่นติดลบบางครั้ง แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติ
วิจิตร สุพินิจ ก็ยังสนับสนุนให้หน่อธุรกิจการเงินใหม่อย่างเอกธนกิจได้เกิดและเติบโตใหญ่เป็นแบงก์พาณิชย์สำหรับคนรุ่นใหม่
หลายปัญหาอุปสรรคที่เป็นขีดจำกัดจึงถูกขจัดไปด้วยความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ว่าเรื่องคลังและแบงก์ชาติเปิดไฟเขียวเป็นกรณีพิเศษแก่เอกธนกิจในการทำครอสโฮลดิ้งได้ถึง
30% และอนุมัติให้ไทยทนุรับปิ่นและเติมชัยเป็นกรรมการบริหารใหม่
ไทยทนุยุคปิ่นและเติมชัยเป็นกรรมการบริหาร จะประสบความสำเร็จหรือไม่? ยังเป็นที่น่าสงสัยถึงบทบาทที่เคยเป็นมาในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลยุทธ์การลงทุนแบบก้าวหน้า
และปรับโครงสร้างธุรกิจแบบโตแล้วแตกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรุกก้าวในธุรกิจวาณิชธนกิจหรืออินเวสท์เมนท์แบงกิงที่ปิ่นได้รับรางวัล
"MERCHANT BANKER OF THE YEAR 1991" จากนิตยสารเอเชียมันนี่แอนด์ไฟแนนซ์
(ฮ่องกง)
ล่าสุดปิ่นได้รับการลงมติให้เป็นประธานสมาคมบริษัทเงินทุนต่อไปเป็นสมัยที่สอง
เพราะปิ่นกล้าคิดและกล้าพูดไม่เห็นด้วยกับแผนแม่บทการเงินสมัย รมว. คลัง
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ที่ขาดการปรึกษาภาคเอกชน ทั้ง ๆ ที่ภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากแผนนี้โดยตรง
ปิ่นเป็นนักธุรกิจเชิงรุกคนแรกที่นำเอานักกฏหมายและนักบริหารธุรกิจการเงินมาสร้างวิศวกรรมทางการเงินที่เหนือเมฆ
ทีมงานที่มีประสิทธิภาพประดุจมือขวามือซ้ายไม่ว่าจะเป็นเติมชัย ภิญญาวัฒน์
ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประภัศร์ ศรีสัตยากุลและนักกฏหมายชื่อดังอย่าง ดร.สุวรรณ
วลัยเสถียร
ปิ่นกลายเป็นเอกธนราชันย์ไฟแนนซ์รุ่นใหม่ที่ทำแนวทางการลงทุน ผนวกสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์รวมกันไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านหลัง
จากที่เคยเป็นนักเทคโอเวอร์ที่สร้างอาณาจักรตระกูลเอกแล้วเตรียมตัวพร้อมสู้รบในทศวรรษ
2000
นี่คือที่มาของบารมีในนิยามใหม่ของ ปิ่น จักกะพาก ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเอกธนกิจให้เป็นบริษัทเงินทุนยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่ง
จนกระทั่งผงาดเป็นคู่แข่งที่อาจหาญสู้อย่างทระนงกับนายแบงก์ตระกูลเก่าแก่
ที่เป็น CARTEL ผูกขาดระบบธนาคารกับเศรษฐกิจไทยได้ในทศวรรษนี้
"ผมคิดว่าการเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดก็เป็นปัญหาเหมือนกัน คือคุณต้องรักษาความเป็นบริษัทแนวหน้าอยู่ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกัน การเป็นบริษัทแนวหน้า ถ้าเราบอกว่าเรามีพอร์ตโฟลิโอที่ดีที่สุด
มีทุนที่ดีที่สุด และมีบุคลากรที่ดีที่สุด ทั้งสามอย่างถ้ารวมกันกับการดูอนาคตที่ชัดกว่าคนอื่น
เราก็จะสามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้แต่สิ่งที่เราจะพลาดได้ก็คือ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
เราดูอนาคตไม่ดีเท่าเขา แต่ถ้าเราดูอนาคตอย่างน้อยเท่ากับเขา และในปัจจุบันพื้นฐานเราดีกว่าเขา
ยังไง ๆ เราก็ MAINTAIN COMPETITIVE POSITION ของเราไว้ได้" แรงผลักดันที่ปิ่นเล่านี้เป็นภารกิจหลักที่ปิ่นต้องรักษาผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว
โดยพัฒนาธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นดีขึ้น และเสริมสร้างจุดแข็งให้แก่อาณาจักร
ดังนั้นนโยบาย แผนดำเนินงานระยะยาว 5 ปี นับเนื่องจากปี 2538 ที่เอกธนกิจครบรอบ
25 ปี จอมวางแผนอย่างปิ่นจึงกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเป้าหมายชัดเจนที่จะก้าวไปสู่ยูนิเวอร์แซลแบงกิงให้ได้
เพื่อรองรับการขยายฐานธุรกิจในอนาคตของกลุ่มเอกธนกินที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีเครือข่ายแบงก์สนับสนุน
นี่คือคำตอบว่าทำไมปิ่นจึงต้องลงทุนในแบงก์ไม่ว่าแบงก์เอเชียหรือแบงก์ไทยทนุ?
ปิ่นเคยอธิบายเหตุผลลึก ๆ ว่าเขาไม่ต้องการเป็นนายแบงก์แต่ต้องการลงทุนในช่องทางธุรกิจบริการทางการเงินของแบงก์ให้ครบวงจรเพื่อช่วงชิงโอกาสที่เปิด
การที่บริษัทเงินทุนจะโตได้ก็ต้องเอาธุรกิจบางอย่างของแบงก์มาผนึกด้วย
การผนึกรวมระหว่างเอกธนกิจกับแบงก์เก่าอย่างไทยทนุที่มีอายุ 47 ปี สิ่งที่กลุ่มเอกธนกิจได้ทันทีก็คือ
"สาขา" นับร้อยแห่ง โดยไม่ต้องเสียเวลารอใบอนุญาตแบงก์พาณิชย์ใหม่ที่เกิดและโตลำบากจากเงื่อนไขที่ปกป้องแบงก์เก่า
หรือไม่ต้องเอาสำนักงานใหญ่ไปต่างจังหวัด และไม่ต้องลงทุนในสาขา
"ถ้าเปรียบเทียบโดยนำเงิน 7,500 ล้านบาทที่จะตั้งแบงก์ใหม่ ไปฝากแบงก์ภายใน
5 ปี จะได้ผลตอบแทน ซึ่งสูงกว่าการนำไปลงทุนจัดตั้งแบงก์ใหม่ถึงเท่าตัวซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทเงินทุนไม่กี่แห่งที่มีทุนจดทะเบียนสูงถึง
7,500 ล้านบาท ประกอบกับในปีหน้า หากแบงก์ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานบีไอบีเอฟสามปีก็ปรับเป็นธนาคารสาขาเต็มรูปแบบได้
ขณะที่คนไทยต้องลงทุนถึง 7,500 ล้านบาท ซึ่งทางการควรจะให้เท่าเทียมกัน"
ปิ่นเปิดใจที่ถอนตัวออกจากการเป็นแกนนำยื่นขอตั้งแบงก์ใหม่ที่ร่วมกับกลุ่มอิตัลไทยฯ
ปิ่นเรียนลัดด้วยแผนเหนือเมฆด้วยวิธีการ "ต่อยอด" จากฐานเดิมของไทยทนุ
หลังจากที่ดีดลูกคิดรางทองคำแล้วว่า
"การซื้อของเก่ามันเร็วกว่าทำของใหม่แน่นอน โดยเฉพาะกรณีแบงก์ บริษัทไฟแนนซ์ถ้าจะโตในอัตราที่โตต่อไปก็ควรจะเอาธุรกิจบางอย่างของแบงก์มาผนึกด้วย
สิ่งหนึ่งที่แบงก์เก่าให้ทันทีคือ สาขา (DISTRIBUTION POINTS)" ปิ่นกล่าว
นอกจากนี้ ปิ่นยังมั่นใจที่จะตั้งเป้าปีนี้เอกธนกิจจะบุกสินเชื่อนำเข้า-ส่งออกและค้าเงินตราต่างประเทศ
ซึ่งแบงก์ชาติอนุมัติหลังจากที่แบงก์ชาติเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก
บริการทางการทั้งสองอย่างนี้
ลูกค้าเอกธนกินที่จะทำเทรดไฟแนนซ์นำเข้าวัตถุดิบต้องทำทีอาร์หรือเปิดแอลซีสั่งของ
และฟอเร็กซ์ก็จะได้รับความสะดวกแบบครบวงจรจากผลพวงควบกิจการ ขณะเดียวกันไทยทนุก็ทำให้เอกธนกิจตั้งหลักระบบงานได้เร็วกว่าคู่แข่งที่ต้องใช้เวลา
2-3 ปีกว่าจะตามทัน และในเรื่องการ CHECKING ACCOUNT กรณีโอนเงินลูกค้าและการเคลียริ่งเช็คที่รวดเร็วกว่าไม่ต้องข้ามวันเหมือนสมัยเป็นไฟแนนซ์
ขณะที่ผลประโยชน์ที่ฝ่ายแบงก์ไทยทนุจะได้จากการแต่งงานครั้งนี้คือ ผู้ถือหุ้นรวยขึ้น
กิจการมีแหล่งเงินทุนที่ดี เพราะระดมทุนแบบก้าวกระโดดได้เงิน 4,200 ล้านบาทที่ส่งผลให้แบงก์ไทยทนุมีเงินกองทุนมากกว่า
5,000 ล้านบาทและเพิ่มอำนาจในการปล่อยสินเชื่อได้กว่า 140,000 ล้านบาท และได้เสริมจุดแข็งด้านงานวาณิชธนกิจและคอร์ปอเรทไฟแนนซ์จากเอกธนกิจ
เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น
ดีลประวัติศาสตร์นี้ ธนาคารไทยทนุขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนถึง 24.2 ล้านบาท
หรือประมาณ 20% ของทุนจดทะเบียนใหม่ 1,210 ล้านบาทให้กับเอกธนกิจ ในราคาหุ้นละ
140 บาทซึ่งทำให้ราคาหุ้นไทยทนุ (TDB) พุ่งขึ้นวันต่อมาราคาถูกเสนอซื้อในวันแรกหลังปลดป้าย
150 บาทและราคา สูงสุดถึง 198 บาท
"ผมเชื่อว่าถ้าหากมีการเช็กรายชื่อผู้ถือหุ้นกันใหม่ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว
เพราะว่านักลงทุนจำนวนมากคงเข้ามาลงทุนตามเอกธนกิจกันมากเพราะ ชื่อเสียงของเอกธนกิจก็เป็นที่เชื่อถือกันดี
และผู้ถือหุ้นเก่าของเราก็ถือมาในราคา 100 บาทกันมานานแล้ว อาจจะมีการขายทำกำไรกันบ้าง
แต่คราวนี้ทุกคนในไทยทนุก็น่าจะได้ประโยชน์" พรสนองกล่าว
นับว่าเป็นโชคของปิ่นที่ทำงานหนักแล้วสมหวังที่ผนึกกับไทยทนุได้ แถมยังเลือกจังหวะเวลาในการประกาศได้อย่างเหมาะสมในช่วงปลายปีที่ก่อให้เกิดผลบวก
ด้านราคาในช่วงต้นปีนี้ ที่สร้างความพอใจและมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นไทยทนุ
ฐานเงินทุนที่ปิ่นจะนำมาซื้อหุ้นแบงก์ ไทยทนุ มาจากการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ
(ECD) อายุ 5 ปีมีอัตราดอกเบี้ย 5-6% ที่มีต้นทุนเงินต่ำกว่าการกู้ยืมจากประชาชนที่ดอกเบี้ยสูง
11-12%
ตามแผนการระดมเม้ดเงินจำนวน 5 พันล้าน ปิ่นได้วางแผนจะออกหุ้นกู้แปลงสภาพ
(ECD) ขายให้ต่างประเทศ 3 พันล้าน และในประเทศ 2 ล้าน งานนี้สองนายแบงก์ใหม่ของไทยทนุคือปิ่นและเติมชัย
ภิญญาวัฒน์ตะลุยแดนยุโรปออกโรดโชว์ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยพรสนอง ตู้จินดา
ร่วมเดินทางไปสร้างเครดิตแก่กลุ่มเอกธนกิจด้วย ซึ่งต่างกันกับคราวโรดโชว์ที่ไปฮ่องกง
เพื่อระดมทุนเข้าถือหุ้นในแบงก์เอเชีย ปิ่นโดนนักลงทุนซักจนคอแห้ง
แต่พอเดือนมีนาคม เจอปัญหาภาวะตลาดซบเซาและอัตราดอกเบี้ยผันผวน จนทำให้เติมชัย
ภิญญาวัฒน์ เอ็มดีคนเก่งของปิ่นต้องออกมาแถลงเลื่อนการขายหุ้นกู้แปลงสภาพที่จะขายในประเทศออกไปโดยยังไม่ยื่นข้อมูลการจัดจำหน่าย
ECD แก่ ก.ล.ต.
อาณาจักรเอกธนกิจในยุคควบกิจการจะเพิ่มช่องทางขยายธุรกิจครบวงจรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยอาศัยเครือข่ายของแบงก์ไทยทนุเป็นสปริงบอร์ด ขึ้นสู่เวทีแข่งขันระหว่างประเทศที่มีคู่แข่งเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ
เป็นที่คาดว่าปิ่นจะเปลี่ยนแปลงแนวทางดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ โดยนำธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่
ๆ เข้ามาขยายส่วนแบ่งตลาดก่อนหน้าแบงก์พาณิชย์คู่แข่งหน้าใหม่ ที่จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า
5 รายตั้งแต่เดือนเมษายนนี้
ดังนั้นเส้นทางปิ่นในความใหญ่ที่ถอยไม่ได้ คือต้องเป็นนายแบงก์ชั้นนำ!