Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2540
กลุ่ม TPI : เจ็บนี้อีกนาน             
โดย ฐิติเมธ โภคชัย
 

 
Charts & Figures

ราคาเม็ดพลาสติกในประเทศปี 2540


   
www resources

โฮมเพจ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) - ทีพีไอ

   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์
Chemicals and Plastics
Cement




จากที่เคยผงาดอยู่บนเส้นทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและปูนซีเมนต์ของกลุ่ม TPI ด้วยกลยุทธ์ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครบวงจร ปัจจุบันกลับต้องดินรนเพื่อความอยู่รอดเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นจึงต้องเร่งเสริมสร้างสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นขายธุรกิจปูนซีเมนต์ ขายที่ดินหรือหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ เพื่อกลับมาผงาดได้อีกครั้ง !! ในอดีตช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาถ้าใครพูดถึงคำว่า "เศรษฐกิจ" โดยเฉพาะบรรดานักธุรกิจ นักลงทุนในภาคต่างๆ แล้วต้องมีความรู้สึกเหมือนกันหมดว่ากำลังอยู่บนสวรรค์เพราะช่วงนั้นภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เช่นเดียวกันกับคำว่า "เศรษฐกิจ"

นับตั้งแต่ต้นปี 2540 เป็นต้นมาประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงในลักษณะ "ไม่ทันตั้งตัว" ประกอบกับรัฐบาลสมัยพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้บรรดานักลงทุนที่เคยอยู่บนสวรรค์เริ่มพากันทยอยตกสวรรค์ และปัจจุบันก็ตกสวรรค์กันเรียบร้อยหมดแล้ว บริษัทไหนที่มีกิจการขนาดเล็กก็เจ็บตัวบ้างพอสมควร แต่บริษัทไหนมีกิจการขนาดใหญ่ลงทุนระดับหมื่นล้านบาทหรือแสนล้านบาทย่อมเจ็บตัวมากกว่า เห็นได้ชัดคงจะเป็น บมจ.อัลฟาเทค อีเล็คโทรนิคส์ (ATEC) ผู้ผลิต IC รายใหญ่ของไทย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในอาการขั้นโคม่า

ล่าสุด บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการปิโตรเคมีของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ กำลังได้รับความเสียหายอย่างมากจากมรสุมเศรษฐกิจและมูลค่าเงินบาทลดลง หลังจากช่วงที่ผ่านมา TPI ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งจากการดำเนินงานและผลประกอบการ

ย้อนกลับไปดูยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของ TPI หลังจากได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2521 ซึ่งนำทีมโดยประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ได้เปิดศักราชใหม่ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา ประชัยก็นำพา TPI ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านนี้ในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เมื่อปี 2525 โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE : Low Density Polyethylene) แห่งแรกในไทยและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกตั้งขึ้นด้วยเงินทุนเริ่มแรก 300 ล้านบาท และในปี 2529 ได้ขยายโรงงานและเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE : High Density Polyethylene) ด้วยโครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยให้ไทยลดการนำเข้าพลาสติกได้จนสามารถประหยัดเงินตราของประเทศได้ถึงปีละ 300 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมถือหุ้นรายหนึ่งของบมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC) ทั้งโครงการ NPC 1 และ NPC 2 นับแต่นั้นเป็นต้นมา TPI เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องสังเกตได้จากบริษัทมีผลการดำเนินงานดีมาโดยตลอด โดยในปี 2534-2538 มีกำไรสุทธิ 73.09 ล้านบาท, 454.25 ล้านบาท, 1,053.67 ล้านบาท และ 6,093.38 ล้านบาท ตามลำดับ

จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ TPI ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นฝีมือล้วนๆ ของประชัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมี ยิ่งการบริหารในลักษณะ aggressive ผสมผสานกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ TPI มั่นใจยิ่งขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงใช้นโยบายการดำเนินโครงการปิโตรเคมีแบบครบวงจร (Fully Integrated Petrochemical) เพื่อลดความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก ด้วยการย้อนกลับไปเป็นผู้ผลิตขั้นต้น (Upstreem) ถึงกระบวนการผลิตขั้นกลาง (Intermediat)

วัตถุดิบที่สำคัญที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก ได้แก่ เอทิลีน (Ethylene) โพรพิลีน (Propylene) และสไตรีนโมโนเมอร์ ที่ใช้ผลิตเม็ดพลาสติก HDPE และ LDPE, Polypropylene และ Expandable Polystyrene (EPS) กับ Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) และ Polystyrene (PS) ซึ่ง TPI ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 50,000 ล้านบาท และจะครอบคลุมโครงการหลักๆ คือ โครงการขยายกำลังการผลิต Condensate Splitter, Naphta Cracker หรือโรงโอเลฟินส์และโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Lube Base Oil)

นอกจากบริษัท TPI จะขยายตัวอย่างขนานใหญ่แล้วยังมีอีกกิจการหนึ่งที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอีก คือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ที่ TPI ถือหุ้นอยู่ 49.07% ดำเนินธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์และเม็ดพลาสติก LDPE นับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะเพียงไม่กี่ปี TPIPL สามารถมีส่วนแบ่งตลาดปูนซีเมนต์เป็นอันดับ 3 รองจากปูนซีเมนต์ไทยและปูนซีเมนต์นครหลวง ทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2536-2539 บริษัทมีกำไรสุทธิ 287.25 ล้านบาท, 851.47 ล้านบาท, 830.25 ล้านบาท และ 882.01 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบัน TPIPL มีโรงผลิตปูนซีเมนต์ 3 โรงด้วยกำลังการผลิตประมาณ 9 ล้านตันต่อปี และเม็ดพลาสติก LDPE 1.4 แสนตันต่อปี

การลงทุนหยุดชะงักหลังพิษค่าเงินบาท

จากแนวคิดของประชัยที่จะสร้าง TPI ให้ครบวงจร ปัจจุบันเริ่มส่อเค้าล่าช้าออกไปดยไม่มีกำหนด โดยโครงการที่ต้องชะลอไว้ก่อน ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิต Condensate Splitter, โครงการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานขนาด 3 แสนบาร์เรลต่อวัน (ปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน), โรงงานผลิตโอเลฟินส์, โรงงานขยายกำลังการผลิตโพลิสไตรีน, โรงงานผลิตโพรพิลีนออกไซด์, โรงงานผลิตอะคริโลไนไทรล์ (ACN) รวมทั้งโครงการในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ต้องหยุดชะงักด้วย แม้กระทั่งโครงการผลิตโรงผลิตไฟฟ้าขนาด 900 เมกะวัตต์ก็พลอยหยุดไปด้วย

ในส่วนของโครงการที่ TPIPL ต้องชะลอโครงการไปก่อนก็มีโรงผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ด้วยกำลังการผลิต 3 ล้านตันต่อปี โครงการผลิตปูนซีเมนต์ในลาว จีน และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ความตั้งใจของกลุ่ม TPI ที่จะสร้างโรงงานถลุงเหล็กและผลิตเหล็กครบวงจรตอนนี้คงจะเป็นเพียงแค่ความฝันไปก่อน สาเหตุที่กลุ่ม TPI ต้องจำใจทำเช่นนี้ เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรงเพราะพิษค่าเงินบาทตกต่ำ

จากสถานการณ์บีบรัดดังกล่าวหลายคนมองว่าประชัยสร้างกลุ่ม TPI ให้โตเร็วมากเกินไป จึงส่งผลให้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในขณะนี้ อย่างไรก็ตามบรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าความจริงแล้วจะโทษกล่ม TPI ก็ไม่ถูกเพราะสถานการณ์เช่นนี้เกิดจากภาพรวมมากกว่า ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในเมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างเร็วบริษัททุกบริษัทได้มองไปข้างหน้าว่าอัตราการเติบโตจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นความต้องการก็จะเติบโตขึ้นตามไปด้วย

"ในช่วงนั้นทุกคนมองโลกในแง่ดีกันทั้งประเทศ ว่าเศรษฐกิจไทยคงจะโตไปเรื่อยๆ ถ้ามองไปในอนาคตแล้วบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและมีกำลังการผลิตมากที่สุดจึงจะยืนอยู่ได้ซึ่งในขณะนั้นกลุ่ม TPI เองก็ขยายตัวเต็มที่ แต่บังเอิญมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ก็เจ็บหนักชนิดไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่ถามว่ากลยุทธ์เขาถูกหรือผิด คำตอบคือถูกแน่นอนเพราะถ้ามองอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแถบบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้มีกำลังการผลิตมาก ถ้ากลุ่ม TPI จะไปแข่งขันต้องขยายกำลังการผลิตและทำให้ครบวงจรแต่มาเจอมรสุมเศรษฐกิจก่อน ฉะนั้นถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่ม TPI ในขณะนี้ คำตอบคงจะไม่ต่างกับบริษัทอื่นเท่าใดนัก คือ หนี้สินเพิ่มมากขึ้นแต่รายได้ลดลง โดยสรุปแล้ว กลุ่ม TPI ขาดเงินสดในการดำเนินงาน"

ดูได้จากผลประกอบการของ TPI ซึ่งเริ่มลดลงแล้ว โดยในปี 2539 มีกำไรสุทธิ 4,041.98 ล้านบาท ลดลงจากปี 2538 จำนวน 2,051.40 ล้านบาท หรือ 33.66% ส่วนงวด 6 เดือนปี 2540 มีกำไรสุทธิ 2,871.59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 1,037.42 ล้านบาท หรือ 56.56%

ด้านผลประกอบการของ TPIPL งวด 6 เดือนปี 2540 มีกำไรสุทธิ 355.09 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนลดลงเป็นจำนวน 255.18 ล้านบาท หรือ 41.81%

หนี้สูงขึ้น เร่งแก้ทั้งระยะสั้นและยาว

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและมูลค่าเงินบาทลดลงทำให้กลุ่ม TPI ได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นแทนที่จะจ่ายหนี้ที่ระดับประมาณ 25 บาท กลับกลายเป็นว่าต้องจ่ายที่ระดับเกือบ 40 บาท จากการเปิดเผยของประชัยว่าหนี้สินของ TPI และ TPIPL ก่อนลดค่าเงินบาทมีมากกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 100,000 ล้านบาท โดย TPI มีหนี้ที่กู้จากต่างประเทศประมาณ 2.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 74,000 ล้านบาท (เมื่อคิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 25.9 บาทต่อดอลลาร์) ส่วน TPIPL มีหนี้ที่กู้จากต่างประเทศประมาณ 1.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท และยังมีหนี้ที่กู้ในประเทศอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่หลังจากลดค่าเงินบาทแล้ว TPIPL มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 47,000 ล้านบาท

"สิ่งที่กลุ่ม TPI จะต้องทำให้เร็วที่สุดตอนนี้คือพยายามเร่งสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้กลับมาดีดังเดิมก่อน ซึ่งในระยะสั้นก็ทำเหมือนกับบริษัทอื่นทำกันด้วยการปรับลดเงินเดือนพนักงานลง 15% ส่วนในระยะยาวก็ต้องชะลอจ่ายหนี้ที่เป็นเงินต้นออกไปก่อน ทั้งหนี้จากสถาบันการเงินและ suppliers โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย แต่ขนาดดอกเบี้ยจ่ายเมื่อปีที่แล้วสูงถึง 999.24 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าคงจะไม่ต่างกันมากนัก" นักวิเคราะห์อธิบาย

นักวิเคราะห์ยังให้ความเห็นต่อไปว่า นอกจากนี้กลุ่ม TPI จะต้องพยายามขายสินทรัพย์ออกไปเพื่อนำเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงกิจการโดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี ดังนั้นกลุ่ม TPI จะต้องตัดใจขาย TPIPL ออกไปหรือหาผู้ร่วมลงทุนเข้ามาเพื่อลดภาระหนี้สิน หรือขายที่ดิน ซึ่งปัจจุบันก็กำลังหาผู้ร่วมทุนให้เข้ามาถือหุ้นโดยคาดว่าจะเป็นการเพิ่มทุนลักษณะขายให้นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) เพื่อนำเงินเข้ามาช่วยลดภาระหนี้สินต่อทุนให้ลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 3 : 1 คาดว่าจะสรุปได้ภายในต้นปีหน้า โดยเม็ดเงินที่ได้มา TPIPL จะนำไปใช้คืนเงินกู้ที่ได้ลงทุนไปบางส่วนในโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ประมาณ 1.5 พันล้านบาท และนำมาเสริมสภาพคล่องของบริษัท เนื่องจากโรงปูนแห่งที่ 3 เพิ่งเปิดดำเนินการทำให้ต้องรับรู้เรื่องค่าเสื่อมราคาและหนี้สินต่างๆ ส่วน TPI ก็ต้องหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาเช่นกัน

"ขณะนี้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินของ TPI คือ เชสแมนฮัตตัน และที่ปรึกษาทางการเงินของ TPIPL คือ เมอร์ริลลินช์ กำลังเร่งปรับปรุงสภาพคล่องทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกในขณะนี้มีน้อย โอกาสที่จะขายสินทรัพย์ออกไปก็มีมากซึ่งคาดว่ากลุ่ม TPI คงจะทำตามที่ปรึกษาทางการเงินแนะนำ"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทำการซื้อขายโดยอิงเงินสกุลดอลลาร์ทำให้ทางออกยังไม่ตีบตันเพราะผลดีจากการลดค่าเงินทำให้ TPI สามารถส่งออกเม็ดพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมได้เพียงปีละ 15% ของยอดขายทั้งหมด และปัจจุบัน TPI มั่นใจว่าจะสามารถส่งออกเม็ดพลาสติกได้มากกว่า 40% ของยอดขายทั้งหมด แม้ว่า margin จะต่ำกว่าจำหน่ายในประเทศก็ตาม "ขณะนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลง ราคาผลิตภัณฑ์จึงอยู่ในระดับที่ต่ำและในปีหน้าราคายังคงจะต่ำอยู่แต่คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะกระเตื้องขึ้นในปี 2542 และราคาก็จะดีดตัวสูงขึ้นด้วย พร้อมๆ กับเศรษฐกิจโดยรวมของไทย เพราะธรรมดาแล้วผลิตภัณฑ์พลาสติกจะเติบโตประมาณ 1.6-2 เท่า ของ GDP ของประเทศ" นักวิเคราะห์กล่าว

ส่วนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ขณะนี้อยู่ในภาวะล้นตลาดซึ่งคาดว่ามีประมาณ 6-7 ล้านตัน และแนวโน้มที่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งนั้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีทีท่าว่าจะสดใสในปีไหน ดังนั้น TPIPL จึงต้องปรับกลยุทธ์การตลาดด้วยการหันไปส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเป็นการระบายสินค้าที่เหลือจากภาวะล้นตลาดภายในประเทศด้วย โดยส่งออกปูนซีเมนต์และเม็ดพลาสติกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าปี 2541 จะส่งออกปูนซีเมนต์ได้ประมาณเดือนละ 1 แสนตัน และเม็ดพลาสติก LDPE ประมาณ 35-40% ของกำลังการผลิต

ล้มไม่ได้

จากข่าวลือทั่ววงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่ากลุ่ม TPI กำลังจะล้ม ทำให้ผู้บริหารต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นไปตามที่เป็นข่าว ซึ่งจากความเป็นจริงแล้วบรรดานักวิเคราะห์ต่างก็ให้ความเห็นเหมือนกันว่ากลุ่ม TPI ไม่มีทางล้มเด็ดขาด เพราะนี่คืออุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาของประเทศอีกทั้งรัฐบาลยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

"กลุ่ม TPI มี asset เป็นแสนล้านบาท ถ้าล้มจริงไม่เฉพาะกลุ่ม TPI เจ็บเท่านั้น เศรษฐกิจไทยก็เจ็บด้วย เพราะจะขาดความเชื่อถือจากนักลงทุนต่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องเอาให้อยู่โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ๆ แต่จะทำอย่างไรก็แล้วแต่กลไกของรัฐบาล เช่น ยื้อไม่ให้ลดภาษีการนำเข้าก็ได้หรือลดรายได้ตัวเองลงมา แต่คำถามที่ว่าก่อนที่จะลดภาษีจะทำอย่างไรให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาตัวเอง ลดต้นทุนการผลิตให้ถึงจุดโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ นี่คือโจทย์ที่เขาจะต้องทำในช่วง 2 ปีข้างหน้า" นักวิเคราะห์กล่าว

ดังนั้นกลุ่ม TPI คงจะต้องประคับประคองตัวเองไประยะหนึ่งก่อน ก่อนที่ที่ปรึกษาทางการเงินจะสรุปออกมาว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างในอนาคต ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าน่าจะชัดเจนภายในกลางปีหน้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกลุ่ม TPI จะหันเหไปทางไหนนั้นมีเพียงคนเดียวที่ตอบคำถามได้อย่างชัดเจนซึ่งคนคนนั้นก็คือ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us